ThaiPublica > คอลัมน์ > I Corrupt All Cops ประวัติย่อบนแผ่นฟิล์มของหน่วยปราบปรามคอร์รัปชันฮ่องกง

I Corrupt All Cops ประวัติย่อบนแผ่นฟิล์มของหน่วยปราบปรามคอร์รัปชันฮ่องกง

4 สิงหาคม 2015


Hesse004

… กล่าวกันว่า ฮ่องกง คือ โมเดลปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เหตุผลที่ฮ่องกงได้รับการยกย่องเช่นนี้ เนื่องจากในอดีต ฮ่องกงเผชิญปัญหาคอร์รัปชันอย่างรุนแรง ชนิดที่เรียกว่า แค่ย่างเท้าก้าวออกจากบ้านก็มีอันต้องจ่ายสินบน ค่าน้ำร้อนน้ำชาให้เจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อยคนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สังคมฮ่องกงยังมีความหวังที่จะลุกขึ้นมาสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรัฐบาลอังกฤษเริ่มเอาจริงเอาจังและตั้งใจจะกวาดล้างการทุจริตไม่ให้บานปลายไปมากกว่านี้

ช่วงต้นทศวรรษที่ 70 รัฐบาลอังกฤษส่ง Murray MacLehose มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเกาะฮ่องกง (Governor of Hong Kong) ผลงานชิ้นสำคัญของ MacLehose คือ การตั้งหน่วยงานปราบปรามการทุจริต ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1974

หน่วยงานนี้มีชื่อว่า Independent Commission Against Corruption หรือ ICAC

สัญลักษณ์ของ ICAC หน่วยงานปราบปรามคอร์รัปชั่นที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ที่มาภาพ : http://corruption-econgrowth.wikispaces.com/
สัญลักษณ์ของ ICAC หน่วยงานปราบปรามคอร์รัปชันที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ที่มาภาพ : http://corruption-econgrowth.wikispaces.com/

แต่เดิมการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันในฮ่องกงเป็นเพียงแผนกหนึ่งของกรมตำรวจฮ่องกง แต่ทว่า ตำรวจฮ่องกงในยุค 50 – 70 ขึ้นชื่อในเรื่องเรียกร้องสินบนมากที่สุด ชนิดชาวบ้านร้านตลาดต่างเอือมระอา

ภาพลักษณ์ตำรวจฮ่องกงในยุคนั้นไม่ต่างอะไรกับ “โจรในเครื่องแบบ” ที่รีดไถเก็บค่าคุ้มครองสุจริตชน หนำซ้ำยังอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มแก็งค์มาเฟียโดยแลกกับผลประโยชน์จากการรับส่วย สภาพความเป็นอยู่เช่นนี้ ทำให้ชาวฮ่องกงมีต้นทุนในการดำรงชีวิตแพงขึ้น เพราะต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อแลกกับการใช้บริการภาครัฐ หรือไม่ก็แลกกับการที่ผู้รักษากฎหมายจะไม่มากลั่นแกล้งหรือยัดเยียดข้อหาให้

ภาพที่กล่าวมาข้างต้นนี้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์ ชื่อ I Corrupt All Cops (2009) ผลงานการกำกับของ หว่อง จิ้ง (Wong Jing)

หว่อง จิ้ง เติบโตทันที่จะเห็นสภาพสังคมฮ่องกงในยุคที่ ตำรวจกับโจรแทบไม่ต่างกัน มาจนกระทั่งในช่วงทศวรรษที่ 80 – 90 ที่ผู้ปกครองฮ่องกงปราบปรามคอร์รัปชันอย่างจริงจัง จนทำให้วันนี้ ฮ่องกงกลายเป็นเมืองที่มีความโปร่งใสมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

I Corrupt All Cops เริ่มต้นด้วยการฉายให้เห็นความฟอนเฟะของสังคมฮ่องกงยุค 50 – 70 ที่ตำรวจในฐานะผู้รักษากฎหมาย คือ “หัวโจก” ใหญ่ของการรีดนาทาเร้นประชาชน โดยรัฐบาลที่ปกครองเกาะฮ่องกง ทำได้แค่ “หลี่ตา” แถมตัวหัวหน้าตำรวจยังรู้เห็นเป็นใจกับแก็งค์มาเฟีย โดยรับส่วยแลกกับการให้ความคุ้มครองอย่างถูกกฎหมายและไม่ต้องถูกจับ

I Corrupt All Cops หนังที่เล่าเรื่องประวัติการก่อตั้งหน่วยงาน ICAC ผลงานกำกับของหว่อง จิ้ง (Wong Jing) ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/en/3/37/I_Corrupt_All_Cops_poster.jpg
I Corrupt All Cops หนังที่เล่าเรื่องประวัติการก่อตั้งหน่วยงาน ICAC ผลงานกำกับของหว่อง จิ้ง (Wong Jing) ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/en/3/37/I_Corrupt_All_Cops_poster.jpg

หนังเรื่องนี้ได้ดาราดังอย่าง Tony Leung Ka Fai รับบทเป็น Chinese Chief Inspector Lak หรือหัวหน้าตำรวจ จอมขี้ฉ้อที่โกงทุกรูปแบบ ทำตัวราวกับเป็น “มาเฟียในเครื่องแบบ” ขณะที่ Anthony Wong รับบทเป็นนายตำรวจชั้นประทวนกิ๊กก็อก ติดการพนัน ขี้เหล้า เมาหยำเป แถมรับส่วย เรียกค่าคุ้มครอง แต่สุดท้ายเขากลับใจมาช่วยทำงานให้ ICAC เพื่อเรียกศักดิ์ศรีของตัวเองกลับคืนมา

การก่อตั้งหน่วย ICAC กลายเป็นความหวังที่เหลือของคนฮ่องกง แม้ว่าช่วงแรก ๆ คนจะมองว่าเป็นเพียงหน่วยงาน “เสือกระดาษ” ที่ตั้งขึ้นมาก็ไม่แตกต่างจากตำรวจทั่วไป แต่โชคดีที่หน่วยงานใหม่นี้เต็มไปด้วย คนหนุ่มไฟแรง นักศึกษาจบใหม่ที่มีอุดมการณ์ต่อต้านคอร์รัปชัน อยากเห็นสังคมฮ่องกงดีขึ้น ต่างเข้ามาสมัครเป็น ICAC Investigators

ภายในช่วงเวลาไม่กี่ปี ICAC สามารถจับ “ปลาใหญ่” ประเภทระดับหัวหน้าใหญ่ในกรมตำรวจ เช่น Peter Godber อดีต Chief Superintendent of the Royal Hong Kong Police Force

การจับปลาใหญ่ และลงโทษจริงจัง ไม่ใช่แค่ “ลูบหน้าปะจมูก” เหมือนบางประเทศ ทำให้เหล่าปลาซิวปลาสร้อยต่างหวาดกลัว จนท้ายที่สุด การเรียกรับสินบนและจ่ายส่วยในฮ่องกงค่อย ๆ ลดลง

ภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังนำเสนอ วิธีการสืบสวนกับเหล่าคนโกง โดยเจ้าหน้าที่สืบสวน ICAC จะไม่ใช้วิธีการข่มขู่ คุกคาม หรือทรมานร่างกาย แต่พวกเขาจะใช้วิธีคลาสสิค “กดดัน” เช่น ปรับอุณหภูมิแอร์ในห้องสอบสวนให้เย็นจัดจนทำให้คนโดนสอบต่างหนาวจนไม่มีเวลาจะคิดโกหก หากาแฟรสชาติ “ห่วยแตก” ให้คนถูกสอบกิน หรือใช้โคมไฟสว่าง ๆ ร้อน ๆ ฉายใส่หน้าคนถูกสอบ รวมถึงใช้จิตวิทยาดึงเกมส์สลับกับการสร้างความเครียดให้ผู้ถูกสอบกังวล กลัว จนกระทั่ง ผู้ถูกสอบเหนื่อยล้า และยอมรับสารภาพในที่สุด

เทคนิคต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะถูกวิจารณ์ว่า ป่าเถื่อนและหยาบคาย แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ ICAC นั้นกลับมองว่า ถ้าจะสู้กับคนโกงก็ต้องฉลาดที่จะสู้ และต้องใช้เทคนิคที่เหมาะสม โดยไม่ต้องทรมานผู้ต้องหาแบบที่ตำรวจทั่วไปชอบทำกัน

ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา มีสถิติที่น่าสนใจว่า เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเรียกรับส่วยสินบนของตำรวจนั้นลดลงถึง 70% นับจากปี ค.ศ.1974 ที่มีเรื่องร้องเรียน 1,443 เรื่อง ปี ค.ศ. 2007 มีเรื่องร้องเรียนเหลือเพียง 446 เรื่อง และ ณ วันนี้ 3 ใน 10 ของเรื่องร้องเรียนเป็นเรื่องทุจริตคอ์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ นอกนั้นเกี่ยวกับการทุจริตของภาคเอกชน (Corruption in Private Sector)

ICAC คือ โมเดลปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่กว่าจะประสบผลสำเร็จเช่นนี้ได้ พวกเขาต้องผ่านร้อนผ่านหนาว ถูกทำร้าย ถูกขู่ ถูกวิพากย์วิจารณ์ และโดนตำหนิหลายครั้ง

แต่ท้ายที่สุด พวกเขาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า 40 ปีที่ผ่านมา ถ้าทำงานบนหลักการของความถูกต้อง เคารพข้อเท็จจริงและยึดหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัดแล้ว พวกเขาย่อมได้รับการยอมรับจากผู้คนทั่วโลก