ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > วช.ระดมสมอง “รถเมล์ไฟฟ้า” – เอกชนขอวิจัย “ลดน้ำหนักมอเตอร์-แบตเตอรี่ชาร์จเร็ว”

วช.ระดมสมอง “รถเมล์ไฟฟ้า” – เอกชนขอวิจัย “ลดน้ำหนักมอเตอร์-แบตเตอรี่ชาร์จเร็ว”

22 สิงหาคม 2015


DSC_0040

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดการประชุมระดมสมองเรื่อง “วิจัยรถเมล์ไฟฟ้า” เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถด้านการวิจัยในการใช้พลังงานในภาคขนส่งและเป็นทางเลือกใหม่ของรถเมล์ไทย โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ รศ. ดร.อังคีร์ ศรีภคากร หัวหน้าศูนย์วิจัยยานยนต์และระบบขนส่งอัจฉริยะ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.ทวารัตน์ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน, นายเขมทัต สุคนธสิงห์ ประธานกรรมการ บริษัท สิขร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตรถเมล์ไฟฟ้าในปัจจุบัน, ดร.โกศล สุรโกมล ที่ปรึกษา บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) และนายเกริกกล้า สนธิมาศ ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย สมาคมไทยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน

นายเขมทัตกล่าวว่า จากประสบการณ์ของบริษัทของตนที่ได้ผลิตรถเมล์ไฟฟ้าใช้งานและทดสอบระบบต่างๆ มาเป็นระยะเวลากว่า 12 ปี พบว่าอุปสรรคหลักๆ ของการใช้รถเมล์ไฟฟ้าคือความไม่สอดคล้องกันของต้นทุนแบตเตอรี่รูปแบบต่างๆ กับการคิดค่าโดยสารที่ระดับต่างๆ กัน ทำให้รูปแบบของรถเมล์ไฟฟ้าที่เหมาะสมจะต้องแตกต่างกันด้วย แต่โดยรวมแบ่งออกได้ 4 รูปแบบ ได้แก่

1) เป็นรถขนส่งคนเข้าระบบคมนาคม (Feeder) ลักษณะแบบ BRT ของ กทม. ที่ดำเนินการอยู่มีการคิดค่าโดยสารถูกและระยะทางระดับสั้น การใช้แบตเตอรี่ตะกั่วกรดที่มีราคาถูกสุดจะคุ้มค่าที่สุด แต่อาจจะมีปัญหาที่ต้องชาร์จไฟบ่อยครั้ง ขณะเดียวกัน จากค่าโดยสารระดับปานกลาง ทำให้รถโดยสารรูปแบบนี้อาจจะสามารถยกระดับมาใช้แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนได้ ถึงแม้จะมีราคาสูงขึ้นบ้างแต่จะมีความต่อเนื่องของการบริการมากกว่า

2) รถวิ่งเข้าเมือง ลักษณะแบบรถตู้ที่วิ่งจากนอกเมืองเข้ามายังในเมือง มีการคิดค่าโดยสารที่สูงและมีระยะทางปานกลาง รูปแบบนี้จะเหมาะกับแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน เนื่องจากค่าโดนสารที่สูงกว่า เพียงพอที่จะชดเชยต้นทุนที่สูงกว่าได้

3) เขตจราจรหนาแน่น ลักษณะของรถสองแถวในซอย คิดค่าโดยสารถูกมากและวิ่งระยะทางสั้นๆ เหมาะสมกับแบตเตอรี่ตะกั่วกรด

4) การเดินทางระยะปานกลาง จากการทดสอบของบริษัท พบว่าไม่สามารถใช้รถไฟฟ้าได้ 100% แต่ควรจะใช้เป็นระบบผสมจะเหมาะสมกว่า

“ดังนั้น การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าและนำไปใช้จริง ภาครัฐหรือผู้เกี่ยวข้องจะต้องออกแบบเส้นทางต่างๆ และเลือกใช้รูปแบบยานยนต์ไฟฟ้าให้เหมาะสมตามความจำเป็น รวมไปถึงปรับราคาค่าโดยสารให้สอดคล้องกัน เพื่อให้สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุด”

ส่วนแนวทางหรือหัวข้อการวิจัยที่ควรจะทำต่อในอนาคต นายเขมทัตกล่าวว่าจะต้องเน้นเป็น 2 ส่วน 1) ส่วนของแบตเตอรี่ จะต้องเพิ่มความเร็วในการชาร์จมากขึ้น โดยไม่ทำให้แบตเตอรี่ร้อนเกินไป ไม่ให้เกิดการระเบิด และไม่เสื่อมเร็วเกินไป ทั้งนี้ปัจจุบันที่บริษัททำได้ 6 นาทีต่อการชาร์จเต็มแบตเตอรี่ 1 ครั้ง นอกจากนี้ จะต้องมีการวิจัยวัสดุที่จะนำมาใช้สร้างแบตเตอรี่ โดยจะต้องทำให้เก็บพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น 2) ด้านมอเตอร์ จะต้องทำให้น้ำหนักเบาลง ซึ่งอาจจะต้องศึกษาเรื่องของวัสดุศาสตร์เพิ่มเติม เนื่องจากการทำงานของมอเตอร์ในปัจจุบันทำได้ดีแล้ว นอกจากนี้ จะต้องสร้างอุปสงค์ให้มีขนาดที่ใหญ่เพียงพอด้วย เพื่อให้คุ้มค่าต่อการลงทุนสร้างแบบหล่อมอเตอร์ใหม่ อีกด้านหนึ่งจะต้องสร้างซอฟต์แวร์ในการควบคุมระบบขับเคลื่อนมอเตอร์ เพื่อให้ยานยนต์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนี้ จะต้องสร้างสถานีทดสอบระบบ (Lab Test) ต่างๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานของการผลิตอย่างก้าวกระโดดและสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทตนเองสามารถทดสอบได้บางรายการ ขณะที่บางรายการยังต้องส่งไปทดสอบต่างประเทศและบางครั้งก็ไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะส่งไปทดสอบได้ ภาครัฐจึงควรเข้ามาสนับสนุนการสร้างสถานีทดสอบระบบ

ด้าน รศ. ดร.อังคีร์ กล่าวถึงการสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าว่า รถเมล์ไฟฟ้าจะมีประโยชน์และประเด็นที่ต้องพิจารณาแบ่งเป็น 3 ประเด็น ได้แก่ 1) เป็นเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีข้อได้เปรียบกว่ารถเมล์รูปแบบอื่นอยู่แล้ว แต่การจะเดินหน้าเพื่อประโยชน์ตรงนี้ต่อไปจะต้องหาราคารวมของวัฏจักรการใช้งานทั้งหมดของรถเมล์ไฟฟ้าแต่ละประเภทให้ได้ เพื่อให้สามารถประเมินความคุ้มค่าของรถเมล์ไฟฟ้าแต่ละแบบได้ถูกต้อง นอกจากนี้ อาจจะใช้คาร์บอนเครดิตมาเป็นส่วนช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความคุ้มค่าได้อีกทางด้วย 2) การบริการสาธารณะ ซึ่งรถเมล์ไฟฟ้าได้เปรียบ ไม่ว่าจะเป็นความเงียบ อัตราเร่ง แต่ถ้าจะขยับจากรถเมล์ดีเซลเป็นรถเมล์ไฟฟ้าอย่างสมบูรณ์ ฝั่งเอกชนกำลังรอเรื่องมาตรฐานและศูนย์ทดสอบมาตรฐานจากภาครัฐ เพื่อให้เกิดการแข่งขันในการเข้ามาบริการประชาชน และ 3) การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ต้องมีกลไกที่สร้างนวัตกรรมในท้ายที่สุด เพื่อให้สามารถสร้างยานยนต์ไฟฟ้าได้จริง แทนที่จะเป็นเพียงการจ้างประกอบเท่านั้น(อ่านเพิ่มเติม)

รถยนตร์ไฟฟ้า

ด้านนายเกริกกล้ามองว่า ควรจะมองการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในลักษณะของการยกระดับระบบโลจิสติกส์ของประเทศ แทนที่จะมองในมุมของรถเมล์ไฟฟ้าซึ่งขนส่งคนเพียงอย่างเดียว โดยอาจจะเริ่มพัฒนาวิจัยชิ้นส่วนร่วม (Common Part) ที่อาจจะใช้ร่วมกันได้ระหว่างรถเมล์กับรถบรรทุก ซึ่งจะช่วยให้โฉมหน้าของระบบโลจิสติกส์เปลี่ยนไปด้วยในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ภาครัฐควรจะมีการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนและครอบคลุมระบบโลจิสติกส์ทั้งระบบ ไม่ว่าจะขนส่งสินค้าหรือขนส่งคน โดยจะต้องสร้างแผนแม่บทว่าพื้นที่ใดจะต้องปลอดจากการใช้ยานยนต์น้ำมันภายในระยะเวลากี่ปี แต่ละขั้นตอนต้องปฏิบัติหรือมีข้อกำหนดอะไรบ้าง เช่น ไม่ให้ส่งสินค้าในช่วงกลางวัน ให้ย้ายโกดังสินค้าออกไปนอกพื้นที่ เป็นการช่วยให้ภาคเอกชนและระบบโลจิสติกส์ทั้งระบบสามารถปรับตัวไปได้พร้อมๆ กัน

ด้าน ดร.โกศล กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของการสร้างยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยคือประโยชน์จากการลดมลพิษในเมือง โดยปัจจุบันประเทศต้องเสียค่าใช้จ่ายกว่าหมื่นล้านบาทไปกับความเจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศ ดังนั้น การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าสำเร็จจะช่วยให้ประเทศและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขณะที่แนวทางการพัฒนาในอนาคต ส่วนของแบตเตอรี่มีการคาดการณ์ว่าปัญหาแบตเตอรี่แพงในยานยนต์ไฟฟ้าจะบรรเทาลงไปเรื่อยๆ โดยราคาอาจจะลดลงกว่าครึ่งหนึ่งภายใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยให้คุ้มทุนมากขึ้นในอนาคต ส่วนการพัฒนามอเตอร์ของยานยนต์ไฟฟ้าถือว่าปัจจุบันประเทศทำได้ในระดับหนึ่งแล้ว การพัฒนาในขั้นตอนต่อไปจะต้องอาศัยการสร้างตลาดให้มีผู้ใช้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เอกชนหันมาลงทุนและพัฒนาได้มากขึ้น

ส่วนดร.ทวารัตน์กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนนโยบายภาพรวมขึ้นมา 2 แผน ได้แก่ 1) แผนอนุรักษ์พลังงาน โดยส่วนที่เกี่ยวข้องกับรถเมล์ไฟฟ้าในแผนอนุรักษ์พลังงานจะปรากฏอยู่ในส่วนของการอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่ง โดยจะลดจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 1,000 ล้านลิตรเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือคิดเป็น 4% ของเป้าหมายในแผนอนุรักษ์พลังงานอีก 20 ปีข้างหน้า 2) แผน Smart Grid ซึ่งมี 3 มิติสำคัญได้แก่ ระบบที่ฉลาด การใช้ชีวิตที่ฉลาด และการมุ่งสู่สังคมปราศจากคาร์บอน (Smart System Smart Life & Zero-Carbon Society) โดยหัวใจอยู่ในระบบที่ฉลาด ไม่ว่าจะเป็นการจัดการระบบไฟฟ้า การจัดการระบบสำรองไฟฟ้าในแบตเตอรี่ ซึ่งส่วนหลังจะมาโยงกับยานยนต์ไฟฟ้าโดยตรง

“เพราฉะนั้น เรียนง่ายๆ ว่ากระทรวงพลังงานทำอะไรสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า มี 2 เรื่อง เรื่องแรก ในแผนอนุรักษ์พลังงานมีเป้าหมายจะลดการใช้พลังงานจากยานยนต์โดยหันมาใช้ไฟฟ้าแทน เรื่องที่ 2 คืออยู่ในแผน Smart Grid โดยหัวใจจะต้องทำโครงการนำร่องให้สำเร็จได้และหนึ่งในนั้นคือการสร้างยานยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถเก๋ง ค่อยว่ากัน” ดร.ทวารัตน์กล่าว

DSC_0034