ThaiPublica > คอลัมน์ > แก่นการปฏิรูปคืออะไร? …คณะกรรมการหรือสภาชุดต่างๆ? …คณะรัฐประหาร? …หรือกลไกที่เหมาะสม?

แก่นการปฏิรูปคืออะไร? …คณะกรรมการหรือสภาชุดต่างๆ? …คณะรัฐประหาร? …หรือกลไกที่เหมาะสม?

9 สิงหาคม 2015


บรรยง พงษ์พานิช

วันที่กระแสการปฏิรูปมาแรงอีกครั้งหนึ่ง

ในชีวิต 62 ปีอันค่อนข้างยาวนานของผม ได้ยินคำว่า “ปฏิรูป” ครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 22 ปี ในตอนเย็นวันประวัติศาสตร์เลือด 6 ตุลาคม 2519 เมื่อฝ่ายขวาสร้างสถานการณ์ “ขวาพิฆาตซ้าย” ขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วคณะทหารที่นำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ก็เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่อ่อนแอของ มรว.เสนีย์ ปราโมช แห่งพรรคประชาธิปัตย์

ตอนรอฟังเพลงปลุกใจทางทีวีตอนเย็นวันนั้น ทุกคนก็คิดว่าจะต้องได้ยิน “ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 1” อันคุ้นเคยมาตลอด 16 ปีช่วงยุคเผด็จการยาวนาน “สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส” แต่พอเอาเข้าจริง (อาจจะด้วยความขวยเขิน หรือเพื่อให้แตกต่าง) เขากลับเรียกตัวเองว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ซึ่งตอนแรกก็วางโรดแมปทำท่าจะปฏิรูปใหญ่จริง เพราะรัฐบาลหอย ที่นำโดยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร วางแผนขอเว้นวรรคประชาธิปไตย 12 ปี (ปีนะครับ ไม่ใช่เดือน) เพื่อเตรียมความพร้อมของประชาชน ที่จะให้ปกครองตนเอง

แต่พอเอาเข้าจริง ทำไปได้แค่ปีเดียว 20 ตุลาคม 2521 คณะทหารชุดเดิมก็ลุกขึ้นมายึดอำนาจอีกครั้ง แล้วก็เลยสถาปนา “ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ” อันยาวนาน 10 ปี ยอมให้มีเลือกตั้งบ้างแต่สุดท้ายก็ต้องไปเชิญผู้นำกองทัพมาเป็นนายกฯ ซึ่งก็ได้ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เจ้าของสูตรแกงเนื้อใส่บรั่นดีอันลือลั่น เป็นผู้นำ (2520-2523) แล้วต่อด้วย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ อีก 8 ปี (2523-2531)

ช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบนี้ พอจะกล่าวได้ว่า มีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจอย่างมาก ภายใต้ความช่วยเหลือของกลุ่มข้าราชการ “เทคโนแครต” ประกอบกับมีการพบก๊าซธรรมชาติ “โชติช่วงชัชวาลย์” มีการย้ายฐานการผลิตและโลกาภิวัตน์ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมากเฉลี่ยเกือบ 10% ต่อปี ประเทศไทยปรับสภาพจากประเทศกสิกรรม มาเป็นประเทศอุตสาหกรรมเกิดใหม่ได้อย่างน่าชื่นชม ก่อนที่เราจะเปลี่ยนเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มใบยุค “บุฟเฟ่ต์คาบิเนต” แล้วก็เข้าสู่ยุคฟองสบู่จนเกิดวิกฤติ ซึ่งในช่วงที่บิ๊กจ๊อด บิ๊กสุ เขารัฐประหาร2534 เขาก็ไม่เรียกตัวว่า “ปฏิรูป” อีก แต่เรียกเป็น “คณะรักษาความสงบฯ” แทน และก็ดูเหมือนจะไม่ได้ปฏิรูปอะไรจริงจัง นอกจากวางแผนสืบทอดอำนาจอยากให้กลับไปเป็นครึ่งใบ จนนำไปสู่เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ซึ่งถือเป็นจุดจบของ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” อย่างเป็นทางการ

เรามาได้ยินคำว่า “ปฏิรูป” กันอีกครั้งก็ในสมัยของคุณบรรหาร ศิลปอาชา เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองในปี 2538 จนนำไปสู่รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งพอจะถือได้ว่าเป็นความพยายามปฏิรูปการเมืองที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด แต่เราก็โชคร้ายที่เมื่อใช้เลือกตั้งครั้งแรกในปี 2544 ดันนำไปสู่ระบบ “เผด็จการรัฐสภา-กินรวบประเทศไทย” จนปี 2549 บิ๊กบัง พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ต้องลุกขึ้นมายึดอำนาจและจัดตั้ง “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ชื่อยาวเหยียดขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรจริงจังเลย จนคนเขาว่า “เสียของ” พอเลือกตั้งปี 2550 “คณะกินรวบ” ชุดเดิมก็เลยกลับมาเถลิงอำนาจอีก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

พอตุลาการภิวัฒน์ช่วยกันพลิกผล สร้าง “งูเห่า 2” ความแตกแยกในชาติรุนแรงขึ้นทุกที ทีนี้เราเลยได้ยินคำว่า “ปฏิรูป” บ่อยหน่อย กลางปี 2553 หลังเหตุการณ์นองเลือดราชประสงค์ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่งตั้ง 3 คณะรวด คือ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) มีท่านอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน คณะสมัชชาปฏิรูปประเทศ (คสป.) ที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นหัวเรือ และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ที่นำโดย ดร.คณิต ณ นคร ซึ่งทั้งสามคณะที่รวมเอาคนดีคนเก่งแทบทั้งประเทศก็ได้ทำงานกันอย่างหนัก มีข้อเสนอดีๆ มากมาย แต่แทบไม่ได้รับการรับรู้จากสังคมเลย และแน่นอนครับ แทบไม่มีผลในทางปฏิบัติเลย

มาสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พอการเมืองใกล้ถึงทางตัน นางก็กระโดดไปหวังพึ่งคำ “ปฏิรูป” กันอีก กลางเดือนสิงหาคม 2556 พยายามจัดตั้ง “คณะปฏิรูป” ขึ้นมาอีก ไปขอให้ท่านบรรหาร ศิลปอาชา เป็นคนประสานสิบทิศพยายามจัดตั้ง แต่พอเห็นหน้าคนที่มาร่วมแถลงประชุมเตรียมตั้ง ทั้งบรรหาร วราเทพ สุวัจน์ อุทัย อนุทิน ฯลฯ บรรยากาศคุ้นๆ คล้ายกับงาน “เลี้ยงบุฟเฟ่ต์” คนเลยไม่ค่อยมีใครเอาด้วย กลัวจะเป็น “คณะกรรมการแบ่งเค้กประเทศไทย” เสียมากกว่า แผนการเลยค่อยๆ ฝ่อไปเอง คุณยิ่งลักษณ์เลยไปเสนอตั้ง “สภาปฏิรูปประเทศ” เอาตอนต้นปี 2557 เลือกจากทุกอาชีพ 499 คน หวังให้เป็นฟางเส้นสุดท้าย หลังจากวืดเสนอกฎหมายนิรโทษเหมาเข่ง แต่ก็ช้าไปเสียแล้ว บิ๊กตู่เข้ามาล้มกระดานเสียก่อน ล้มเสร็จก็เลยยึดไปทั้งกระดาน

พอมายุค คสช. ก็แน่นอนครับ กระแส “การปฏิรูป” ย่อมมาแรง มีการจัดตั้ง “สภาปฏิรูป” กันอย่างเอิกเกริก เลือกแต่ “คนดี” 250 ท่าน เข้าไปช่วยกันทำงาน ให้มีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่างๆ กับมีหน้าที่หลักในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะเป็นแกนในการขับเคลื่อนประเทศ ทำงานกันมาแล้วสิบเดือน ข้อเสนอการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมยังไม่ค่อยมีความชัดเจนนักสักด้าน (ยกเว้นเสนอให้มีการตั้งกรรมการขับเคลื่อนมาทำงานสานต่อสานสิ่งที่ยังไม่ได้เริ่มไว้นะ) แม้งานสำคัญที่สุดคือร่างรัฐธรรมนูญก็ยังมีปัญหา ถูกวิจารณ์กันอย่างหนักจากแทบทุกภาคส่วน ยังไม่รู้เลยว่าจะทำให้โรดแมปของท่านผู้นำจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรหรือไม่

และท่ามกลางความสับสนนี้ ท่ามกลางความวุ่นวายงุนงงว่าจะปฏิรูปอะไรบ้าง แค่ไหน อย่างไร ก็เกิดเสียงตะโกนก้องสั่งว่า “ต้องเอาให้เสร็จ ต้องปฏิรูปให้เสร็จ ไม่อย่างนั้นก็ห้ามเลือกตั้ง” ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าคนตะโกน คนสั่งนั้น เขาหมายความว่าอย่างไร อย่างไหนถึงจะเรียกว่า “เสร็จ” ถามไปก็ไม่ตอบบอกแค่ว่า “เอาน่าทำให้เสร็จก็แล้วกัน” ประมาณว่า “ถ้ากูคิดว่าเสร็จเมื่อไหร่กูจะบอกเอง” ก็เขาปฏิรูป เขาทำกันมาสี่สิบปีแล้วยังคืบบ้างไม่คืบบ้าง เดินหน้าบ้างถอยหลังบ้าง เหลียวไปดูทั่วโลกเค้าก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นปฏิรูปกันมาเป็นพันปี ยังไม่เห็นที่ไหนบอกว่า “เสร็จแล้ว” เลยสักประเทศเดียว

ที่เขียนเล่ามายืดยาวถึงประวัติ 40 ปีการปฏิรูปไทยเท่าที่ผมรู้เห็นนั้น ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า “การปฏิรูป” นั้นมันก็เป็นแค่กระบวนการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตามเงื่อนไขบริบทของสังคมในแต่ละขณะ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมของโลก (เรื่องหลังนี่สำคัญมากนะครับ ไม่สนใจคนนอกนั้นนำมาซึ่งหายนะแน่นอนครับ) มันเป็นกระบวนการที่ “ไม่มีวันเสร็จ” และเนื่องจากทุกอย่างไม่นิ่ง มีพลวัตตลอดเวลา อย่างที่เขาบอกว่า “การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์” นั่นแหละครับ การปฏิรูปที่ดีจึงมักเป็นแค่การวางหลักการ วางกรอบกติกา สร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้กระบวนการดำเนินไปได้ตามพลวัตอนาคตซึ่งไม่มีใครรู้ใครคาดการณ์ได้ถูกต้องทุกอย่าง มากกว่าการที่ไปกำหนดให้ต้องปฏิรูปอย่างนั้นอย่างนี้ ตามวิสัยทัศน์ของใครคนใด

แล้วเราจะ “ปฏิรูปให้เสร็จ” ได้อย่างไรล่ะครับ พูดว่า “ปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง” ก็เท่ากับพูดว่า “ห้ามเลือกตั้งตลอดไป” นั่นแหละครับ

ก่อนจะปฏิรูปอะไร ลองมาสำรวจกระบวนการคิดของเราเองสักหน่อยดีไหม ว่าสมควรได้รับ “การปฏิรูป” หรือไม่

ตีพิมพ์ครั้งแรก: เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2558