ThaiPublica > คอลัมน์ > ปริญญาจอมปลอม?

ปริญญาจอมปลอม?

16 สิงหาคม 2015


อานิก อัมระนันทน์

ได้ยินมานาน แต่เพิ่งได้อ่านเฟซบุ๊กที่คนบ่นว่า เขารับแปลงานวิจัยปริญญาเอกแต่ปวดหัวใจที่คุณภาพทางวิชาการต่ำอย่างไม่น่าเชื่อ บางอันมีการลอกเลียนแบบจับได้ง่ายๆ บ่อยครั้งที่เขาต้องปฏิเสธงานเพราะรับแต่การแปล ไม่รับทำรายงานเนื่องจากผิดจรรยาบรรณ เขาสรุปว่าต้องปฏิรูปจิตสำนึกของคน โดยหวังว่า “สักวันจะเห็นคนส่วนใหญ่อายที่จะถือ “ปริญญาจอมปลอม” มากกว่าอายที่จะเรียนไม่จบ”

อันที่จริงแม้ไม่จบหรือไม่ได้เรียนปริญญาก็ไม่ควรเป็นเรื่องน่าอับอาย ตราบใดที่คนเราประกอบอาชีพโดยสุจริต ก็ควรจะมีฉันทะและภาคภูมิที่มองเห็นคุณค่างานของตนต่อสังคม แม้จะเป็นเพียงงานเล็กๆ ก็มีความหมาย

ที่สำคัญ ต้องปฏิรูปการศึกษาเพราะรัฐไม่ควรปล่อยให้ “ปริญญาจอมปลอม” เกิดขึ้นอีกต่อไป ส่วนการปลอมใบปริญญาก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย

วัตถุประสงค์ของปริญญา(ตรี) คือ ปลูกฝังความรู้ในสาขาวิชาหลักที่เรียน พัฒนาความคิดวิเคราะห์ ฝึกวินัยและความรับผิดชอบ ปริญญาที่ดีช่วยฝึกให้คนรู้จักเรียนรู้สิ่งใหม่ๆด้วยตนเอง เพื่อให้สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต

นอกจากนี้ ปริญญาควรจะเปิดโลกทัศน์ ทั้งในแนวลึกของสายวิชาที่เลือกเรียน และโลกทัศน์ในแนวกว้างของความรู้รอบ ซึ่งนำร่องโดบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2504 นักศึกษาทุกคนไม่ว่าจะมุ่งเรียนคณะใด ต้องเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไปที่คณะศิลปศาสตร์ก่อน เพื่อให้เข้าใจในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคม ตลอดจนความเชื่อมโยงของวิทยาการแขนงต่างๆ จะได้นำความรู้แขนงที่ตนจะศึกษาไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและตนเองได้ดียิ่งขึ้น

ปริญญาไม่เหมือนสินค้าทั่วไปที่ผลิตกันง่ายๆ แต่ต้องอาศัยกระบวนการที่ละเอียดอ่อน การบริหารอย่างมืออาชีพ

ปริญญาควรจะยกระดับศักยภาพของคนอย่างมีนัยสำคัญ แต่ความสำคัญของปริญญามีนัยลึกซึ้ง เนื่องด้วยค่านิยมคือ ต้องได้ปริญญาชีวิตถึงจะได้ดิบได้ดี ปริญญาเป็นใบเบิกทางเข้าสู่งานที่มีค่าตอบแทนสูงและตำแหน่งที่ “ดูดี”

การเติบโตของเศรษฐกิจทำให้ปริมาณงานที่ “ดูดี” มีมากขึ้น ภาครัฐเองก็สร้างมหาวิทยาลัยมากขึ้น ส่วนหนึ่งรองรับความต้องการทางเศรษฐกิจ อีกส่วนคงเป็นนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ และสนองค่านิยมปริญญาด้วย

แต่..ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสเชิงการเมือง!!! ให้มีการเสนอและสร้างมหาวิทยาลัยเป็นดอกเห็ดทั่วประเทศ ในขณะที่สายอาชีวะไม่ค่อยได้รับการส่งเสริมเท่าที่ควร ทั้งที่มีความต้องการทั่วไปในอุตสาหกรรมและสำนักงาน

หลายครั้งนักการเมืองและผู้เกี่ยวข้องอยากสร้างผลงานว่ามีส่วนผลักดันให้เกิดมหาวิทยาลัยในจังหวัดนั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของตลาดและคุณภาพของปริญญา บางกรณีผลักดันเพราะมีที่ดินจะขาย หรืออยากได้งบก่อสร้างลงพื้นที่

สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) มีหน้าที่กำหนดและกำกับมาตรฐานของปริญญา แต่ดูเหมือนจะไร้ผล ส่วนหนึ่งเพราะการกระจายอำนาจการศึกษา ทำให้อำนาจไปตกอยู่กับคนที่ไม่มีศักยภาพ หรือไม่เข้าใจเรื่องการบริหารคุณภาพการศึกษา บ้างก็เน้นเชิงพาณิชย์ สภามหาวิทยาลัยต่างๆเลือกทางเดินได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลพวง

ไม่แปลกที่มี “ปริญญาจอมปลอม” เกิดขึ้นมากมาย ทำให้สังคมไม่ว่าจะนายจ้างภาครัฐหรือเอกชน หรือตัวนักศึกษาเอง ไม่สามารถใช้ปริญญาเป็นมาตรฐานวัดศักยภาพคนได้ และจะมีผลกระทบกว้างขวาง

ปัญหาเริ่มตั้งแต่การศึกษาพื้นฐานที่อ่อนแอ ทำให้การคัดกรองรับนักศึกษาสำคัญมาก ซึ่งจำนวนไม่น้อยอาจเหมาะกับการศึกษาแบบอาชีวะมากกว่า การจัดการสอนการเรียนรู้แบบต่างๆ จนถึงการสอบและวัดผลการศึกษาเพื่อให้ “บัณฑิต” ทุกคนได้มาตรฐาน ..ขั้นต่ำเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็มีมาตรฐานสูง

นอกจากคุณภาพแล้วปริมาณก็เป็นปัญหา ในแต่ละปีประเทศไทยทั้งระบบเปิดรับนักศึกษากว่า 100,000 คนแต่มีผู้สมัครเพียงประมาณ 80,000 คน! โดยส่วนหนึ่งอาจไม่เหมาะกับการเรียนปริญญา ซึ่งแปลว่าปัญหาอุปทานล้น หรือ over supply นี้หนักหนากว่าตัวเลขที่เห็น

ยังไม่นับ over supply เทียบกับงานที่ “ดูดี” หรือจำเป็นต้องใช้คนจบปริญญา ค่านิยมปริญญา – ซึ่งครอบงำผู้หางานและนายจ้างบางส่วน – จึงทำให้ต้องแห่กันไปเรียนปริญญาโทปริญญาเอก เพื่อ “ยกระดับ” ตนให้สูงกว่าคนอื่น เช่นมีอักษร “ดร.” นำหน้าชื่อ แต่ก็เกิดปัญหาคุณภาพอีก

รัฐต้องหยุดสร้าง-ขยายมหาวิทยาลัยได้แล้ว!

ต้องหันมาเน้นคุณภาพของปริญญาแม้จะยากและต้องใช้เวลานาน ต้องคำนึงถึงความต้องการของตลาดในอนาคต ทั้งสาขาวิชาและปริมาณ มหาวิทยาลัยแห่งไหนหรือส่วนใดไปไม่ไหวก็ต้องล้มเลิก ไม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณ โดยใช้วัตถุและคนที่ค้างอยู่ให้เป็นประโยชน์ด้านอื่น นอกจากนี้ ต้องปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อให้นักเรียนพร้อมที่จะเป็นนักศึกษาปริญญาจริงๆ ..หรือรู้ตัวว่าตนเหมาะกับการพัฒนาด้านอื่นเช่นอาชีวะมากกว่า ขณะเดียวกันรัฐก็ต้องนำตลาดการจ้างในการให้คุณค่าวุฒิอาชีวะมากขึ้นด้วย
ช่วง คสช.ในปัจจุบันเป็นโอกาสที่พิเศษ …อุทาหรณ์การปฏิรูประบบในปี 2504 นั้นเกิดขึ้นช่วงรัฐบาลสฤษดิ์ แม้นักศึกษา(และคณาจารย์)จำนวนมากจะต่อต้าน แต่เมื่อจบปริญญาไปทำงานแล้วกลับบอกกันว่าเป็นประโยชน์เกินคาดในอาชีพต่างๆของเขา มหาวิทยาลัยอื่นๆ จึงปรับหลักสูตรให้มีการสอนวิชาพื้นฐานทั่วไปตราบจนปัจจุบัน

จึงขอฝากไปยังท่านผู้มีอำนาจให้กล้าทำในสิ่งที่ถูก ถึงแม้จะมีคนต่อต้าน ..เพราะถ้าไม่ทำตอนนี้แล้ว ยิ่งยากที่จะแก้ไขภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตย

หมายเหตุ : ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิใช่ขององค์กรใด ตีพิมพ์ครั้งแรก นสพ. โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันพุธที่ 5 สิงหาคม 2558