ThaiPublica > เกาะกระแส > “ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูปประเทศไทย” (3): องค์กรใหม่ไม่ใช่เทพที่จะป้องกันและแก้ได้ทุกเรื่อง คนเป็นเทพจริงๆ คือประชาชนที่ต้องช่วยกันตรวจสอบ

“ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูปประเทศไทย” (3): องค์กรใหม่ไม่ใช่เทพที่จะป้องกันและแก้ได้ทุกเรื่อง คนเป็นเทพจริงๆ คือประชาชนที่ต้องช่วยกันตรวจสอบ

24 กรกฎาคม 2015


เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2558 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนา “ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูปประเทศไทย” โดยมีวิทยากรคือ นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ซึ่งวิทยากรทั้งสามเป็นกรรมการคณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ดำเนินรายโดย ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ในตอนที่ 1เสนอในประเด็นว่าทำไมต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ โดยนายบรรยง พงษ์พานิช ไปแล้ว ส่วนตอนที่ 2 เป็นการอธิบายหลักการกฏหมายใหม่ โครงสร้างรัฐวิสาหกิจ องค์กรกำกับดูแล บทบาทและหน้าที่จะเป็นอย่างไร โดยนายกุลิศ สมบัติศิริ และตอนสุดท้ายเป็นรายละเอียดใน ร่าง พ.ร.บ.การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ พ.ศ. …. โดยนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้กล่าวว่าร่าง พ.ร.บ.การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ พ.ศ. …. แนวทางการปฏิรูปที่ปรากฏมี 2 ส่วน ส่วนแรกจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการกำกับการดูแลรัฐวิสาหกิจในภาพโดยรวม ส่วนที่สองเป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องกับบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่บริหารรัฐวิสาหกิจที่ได้แปลงรูปเป็นบริษัท

ในส่วนแรก การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในภาพรวม

1. การตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีกฎหมายรองรับ มีหน้าที่กำกับรัฐวิสาหกิจในภาพรวม

2. รัฐวิสาหกิจจะต้องมีการทำแผน 5 ปี ถามว่าทำแผนนี่สำคัญอย่างไร ก็จะมาสอดคล้องที่ว่า รัฐวิสาหกิจเป็นแขนขาของรัฐ ที่ไม่ใช่แอบทำ จะทำอะไรต้องเปิดเผยให้ประชาชนได้ทราบว่า รัฐวิสาหกิจนั้นๆ ต้องทำอะไร นั่นคือคีย์ เพราะถ้าเปิดเผยแล้ว คนจะตรวจสอบได้ว่าทำในสิ่งที่สมควรจะทำ หรือไม่สมควรจะทำ ทำในกระบวนการที่ทำให้มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่

3. การดำเนินนโยบายตามรัฐบาล หากถูกสั่งการให้ดำเนินการ ซึ่งอาจทำให้รัฐวิสาหกิจประสบปัญหาฐานะการเงิน รัฐจะต้องจัดงบประมาณมาชดเชยให้ โดยต้องจัดงบประมาณมาให้ก่อนทำ ไม่ใช่เอารัฐวิสาหกิจเป็นตัวประกัน เช่น กรณี ธ.ก.ส. ที่ทำจำนำข้าว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสมควรหรือไม่สมควร…ไม่ใช่บอกให้ ธ.ก.ส. ทำไปก่อนนะ พอทำๆ ไป 4-5 ปี แล้วค่อยมาดูว่าจะขาดทุนเท่าไหร่ ลองนึกภาพว่า คนที่เริ่มทำกับคนที่มารับผิดชอบ หากเป็นคนละรัฐบาลกัน รัฐบาลที่มาทีหลังก็แย่ ก็จะมีการตั้งคำถามว่า แล้วจะปล่อยให้รัฐวิสาหกิจนั้นล้มเหรอ นี่คือการเอารัฐวิสาหกิจเป็นตัวประกัน ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง

“ดังนั้น หากรัฐบาลใดจะทำอะไร จะทำนโยบายพิเศษอะไร หรือรัฐมนตรีแต่ละคนที่เข้ามามีไอเดียบรรเจิดแค่ไหน ไม่เป็นไร แต่ให้เข้าสู่กระบวนการรัฐสภา เข้าสู่กระบวนการที่จะต้องจัดสรรงบประมาณ ฝ่ายค้านก็ไปด่ากันในสภาได้ ชาวบ้านจะได้ได้ยินด้วย จะได้เข้าใจด้วย ไม่ใช่เอาเงินของรัฐวิสาหกิจที่จริงๆ แล้วเป็นเงินของประชาชนทุกคน เพราะรัฐวิสาหกิจเป็นของที่คนไทยเป็นเจ้าของ หากเอาไปใช้ก่อนและเกิดความเสียหายขึ้น แล้วต้องเอาเงินมาชดเชย แบบนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูก ต้องทำอะไรที่เบื้องต้น ต้อง up front (จัดสรรงบประมาณมาให้) ให้เห็นภาพเสียก่อน”

4. การสรรหาและแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ มีความโปร่งใส มีการทำชอร์ตลิสต์ กำหนด skill matrix (การกำหนดสมรรถนะที่จำเป็นของกรรมการรัฐวิสาหกิจ)ของแต่ละรัฐวิสาหกิจ

5. การเปิดเผยข้อมูลและการตรวจสอบ จะเห็นว่าเวลาเราพูดถึงรัฐวิสาหกิจ มีเรื่องการเมืองเข้ามา จะโดยชอบหรือไม่ชอบก็แล้วแต่ หรือเรื่องเกี่ยวกับประสิทธิภาพ ถามว่าใครรู้ ถ้าใครสงสัยว่ารัฐวิสาหกิจไหนทำงานมีประสิทธิภาพหรือไม่ ดูจากอะไร มองไม่เห็น ก็ได้แต่ภาพรวม ดังนั้น กฎหมายตัวนี้บังคับให้รัฐวิสาหกิจต้องเปิดเผยข้อมูลว่าผลประกอบการเป็นอย่างไร ปัญหาคุณอยู่ตรงไหน กรรมการคุณเป็นอย่างไร ได้รับการแต่งตั้งมาอย่างไร กรรมการเหมาะสมไหม ทำข้อมูลทั้งหมดให้ออกมาอยู่ในมือประชาชน ที่สามารถมองเห็นได้ว่า รัฐวิสาหกิจนี้ถูกปู้ยี่ปู้ยำหรือไม่

“นอกจากนั้น ตัวกรรมการจะต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมาย เพราะว่าจริงๆ แล้วเขาดูแลรัฐวิสาหกิจในลักษณะเป็นคณะกรรมการ หากคณะกรรมการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความรับผิดชอบตามกฎหมาย ต้องดูแลไม่ให้เกิดความเสียหาย ต้องใช้ความระมัดระวัง รัฐวิสาหกิจซึ่งจริงๆ เป็นของประชาชนทุกคนยิ่งต้องมีหน้าที่ตรงนี้”

6. การประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้มั่นใจว่ารัฐวิสาหกิจดำเนินการสอดคล้องกับภารกิจจัดตั้งและนโยบายภาพรวมของรัฐ รัฐวิสาหกิจที่ให้บริการสาธารณะทุกแห่งต้องจัดให้มีการประเมินผลความพึงพอใจในการใช้บริการของประชาชนอย่างน้อยปีละครั้ง โดยหน่วยงานที่เป็นกลาง และกำหนดให้ผลการประเมินเป็นหนึ่งในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ ส่วนรัฐวิสาหกิจภายใต้บรรษัทฯ จะพิจารณาแนวทางการประเมินที่เหมาะสมต่อไป

7. การปรับปรุงกิจการสำหรับรัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหาให้ชัดเจนขึ้นเพื่อให้มีการแก้ไขได้ทันท่วงที

บรรษัทวิสาหกิจ

ส่วนที่สอง การจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ

1. สถานะทางกฎหมายของบรรษัทฯ เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่ใช่เป็นส่วนราชการ และมีสถานะเป็นนิติบุคคล มีทุนประเดิม 1,000 ล้านบาท กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด กำหนดไม่ให้นำหุ้นบรรษัทฯ ออกจำหน่าย ไม่ว่ากรณีใดๆ

2. การรับโอนรัฐวิสาหกิจ ที่มีสถานะเป็นบริษัทจำนวน 12 แห่ง โดยมีบรรษัทฯ เป็นผู้ถือหุ้นทั้ง 12 แห่ง

“ทั้งหมดไม่ใช่เกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ มันไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการเอารัฐวิสาหกิจออกมาขาย เรากำลังจะบอกว่าเอาเรื่องเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจที่แต่ก่อนเคยติดอยู่กับกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจริงๆ มีผู้ถือหุ้นที่เป็นประชาชนเข้ามาถือหุ้นอยู่ด้วย แต่ก่อนถามว่าการแต่งตั้งกรรมการ การกำกับดูแล ขึ้นอยู่กับต้นกระทรวง ก็มีเรื่องเกี่ยวกับงบลงทุน การคอร์รัปชัน ปนเข้ามาหมด

“เวลาเราไปว่ารัฐวิสาหกิจมากๆ ทำไมตัวไม่ดี ทำไมไม่มีประสิทธิภาพ ทำไมๆๆ ในมุมมองของผม ผมมองกลับกัน เหมือนกับบอกว่าเด็กทำไมทำตัวไม่ดี เราไปด่าเด็กว่าเป็นเด็กไม่ดี มันไม่ถูกเท่าไหร่ ต้องไปว่าพ่อแม่ ก็คือดึงออกมาจากการกำกับดูแลของต้นกระทรวง”

ถามว่าใครดูแล อันนี้เป็นแนวความคิดที่ตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ เป็นบริษัทโฮลดิ้งคอมพานี ถามว่าบรรษัทฯ นี้ทำหน้าที่อะไร ทำหน้าที่เป็นผู้ถือหุ้น ในการไปประชุมผู้ถือหุ้น ตั้งเงื่อนไขในการบริหารทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ คุณกำลังแข่งขันกับใคร ทำไมคุณไม่มีประสิทธิภาพเท่าเขา ปัญหาของคุณอยู่ตรงไหน เรื่องการแต่งตั้งกรรมการคุณมาอย่างไร เรื่องเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล เรื่องการทำตามแผนนโยบาย ทำไมคุณทำได้ไม่ดีเท่ากับคู่แข่งของคุณในธุรกิจเดียวกัน

การทำทั้งหมดพวกนี้ ในที่สุด น่าจะได้ 2-3 อย่าง คือ ตัวรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทมหาชนอยู่แล้ว ก็น่าจะถูกกำกับเหมือนบริษัทมหาชนทั่วไป มีสิ่งที่เรียกว่าธรรมาภิบาลที่ดี corporate governance ที่ดี มีการแต่งตั้งกรรมการที่เหมาะสมกับตัวรัฐวิสาหกิจนั้นๆ มีเป้าหมายในการดำเนินการในแข่งขันกับคู่แข่ง มีผลกำไรที่ดีที่ผู้ถือหุ้นพึงได้รับ และองค์กรนี้จะเป็นผู้ถือหุ้นในการดูแลรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ว่าคุณตอนนี้เป็นเอกชนแล้วนะ แต่รัฐถือหุ้นอยู่ แต่ในการเป็นเอกชน คุณต้องทำตัวเป็นเอกชนให้ได้ อันนี้คือคีย์ของเรื่อง

3. ความคล่องตัวในการบริหาร เมื่อรัฐวิสาหกิจเหล่านี้เป็นบริษัทมหาชนจำกัด แข่งขันกับเอกชน เพราะฉะนั้น เขาควรได้รับการปลดโซ่ตรวนต่างๆ ที่ใช้บังคับกับราชการมาใช้กับรัฐวิสาหกิจ บริษัทเหล่านี้ต้องแข่งขันกับเอกชน การเอากฎเกณฑ์ราชการมาล็อกคอเขาไว้ จะแข่งขันได้อย่างไร นี่คือคีย์คอนเซ็ปต์ของเรื่อง ว่าบริษัทเหล่านี้เป็นเอกชน เวลาคุณทำอะไรต้องถูกประเมิน ดูแล เปรียบเสมือนเอกชน โดยผู้ถือหุ้นที่เข้าไปทำหน้าที่อย่างจริงจัง คือบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ

4. การสรรหา การแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหาร เรื่องนี้มีคำถามตลอดว่า การเอารัฐวิสาหกิจออกมาเช่นนี้ จะปลอดจากการเมือง ทำได้จริงหรือ ทำได้จริงหรือเปล่า ในตรงนี้ ก็ต้องบอกว่าไม่มีใครการันตีได้ ตราบใดที่นักการเมืองอยากล้วงมือ สาวยืดเข้ามา เพียงแต่กฎหมายนี้พยายามทำได้คือ คณะกรรมการสรรหา เอากรรมการที่เป็นข้าราชการเป็นคนทำหน้าที่สรรหา บังคับให้ต้องเปิดเผยในเรื่องเกี่ยวกับการสรรหา ผมว่าคีย์สำคัญอยู่ตรงนั้น บังคับให้ต้องเปิดเผยในกระบวนการสรรหา

“แล้วตัวบรรษัทฯ เมื่อมีคณะกรรมการ มีผู้บริหาร กรรมการผู้จัดการตัวของบรรษัทฯ เองจะต้องเปิดเผยว่าตัวเองทำอะไรอยู่ให้ประชาชนได้รับรู้ ไม่ใช่แค่รายงาน ครม. ไม่มีประโยชน์ ต้องเปิดเผยว่าตัวเองใช้ตัววัดประสิทธิภาพใดในการดูแลรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทแล้ว ตัวเองไปประชุมผู้ถือหุ้นให้ความสำคัญเรื่องอะไร ทำไมถึงโหวตด้วยกับผู้บริหาร หรือไม่โหวตด้วยกับผู้บริหาร บังคับให้บริษัทต้องขับเคลื่อนเป้าในเรื่องอะไรบ้าง นี่คือเรื่องเกี่ยวกับตัวบรรษัทฯ “

5. การเงินของบรรษัทฯ และผลกระทบต่องบประมาณ ถามว่าเงินที่ตัวรัฐวิสาหกิจโอนไป อย่างเงินปันผล ต้องส่งคืนรัฐ เพราะสิ่งที่เราพยายามทำบรรษัทฯ คือเป็นตัวผ่าน บรรษัทฯ ไม่ต้องเก็บเงินปันผล เพราะประเทศเรายังเป็นประเทศที่ฐานะการคลังติดลบอยู่ เพราะฉะนั้นเงินปันผลรัฐวิสาหกิจต้องกลับคืนสู่งบประมาณ เงินที่บรรษัทเก็บไว้ได้จะเป็นเพียงระดับเดียวที่ให้บรรษัทฯ สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่กำไรต้องคืนกลับไปสู่รัฐ

บรรษัทฯ ไม่มีหน้าที่เอาหุ้นรัฐวิสาหกิจขาย ต้องเป็นมติ ครม. ต้องอย่าลืมว่ารัฐวิสาหกิจเป็นของรัฐ จะแปรรูปหรือทำอะไรต้องเป็นนโยบายของรัฐ แต่ตราบใดที่ได้มีการขายหุ้น กระจายหุ้นไปสู่มือประชาชนแล้ว การบริหารจัดการควรเป็นเอกชน อันนื้คือคีย์

6. ระบบการบัญชี การตรวจสอบต้องทำตามมาตรฐานบัญชี และการตรวจสอบตัวกรรมการบรรษัทฯ ต้องมีหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นกรรมการบริษัทมหาชนเช่นกัน หากไปทำให้รัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลเสียหาย เขาก็ต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมาย

นี่คือเรื่องโครงสร้างของการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ภายใต้ พ.ร.บ. ฉบับนี้

“สิ่งที่ทำอยู่นี้ ไม่ได้สร้างองค์กรเทพ เพราะว่าองค์กรเทพมันไม่มี คนที่เป็นเทพคือพวกเราที่จะต้องไปใช้สิทธิ และบอกว่าทำไมคุณไม่ทำหน้าที่ของคุณจากข้อมูลที่คุณเปิดเผยมา ทำไมคุณถึงไม่ทำ นี่คือเทพตัวจริง แต่เราไปหวังว่าจะต้องมีองค์กรเทพขึ้นมาหนึ่งองค์กร มาปกป้องดูแลทรัพย์สินของประเทศอย่างเต็มที่ ไม่ให้ตกไม่ให้หล่นอันนี้ต้องบอกว่าเตรียมผิดหวัง มันไม่มีในโลกนี้”

คำถามจากผู้เข้าร่วมเสวนา

คำถามที่ 1. ร่าง พ.ร.บ. จะถึง ครม. เมื่อไหร่

นายกุลิศ: เมื่อวันศุกร์ที่ 17 ก.ค. 2558 คนร. มีมติรับหลักการและให้ไปทำรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดือนสิงหาคมจะมีการประชุม คนร. อีกครั้ง เราจะเอารายละเอียดทั้งหมดจากการไปรับฟังความเห็นมาเสนอ เมื่อเห็นชอบทั้งหมดแล้ว จะเสนอคณะรัฐมนตรีประมาณปลายสิงหาคมต้นกันยายน จากนั้นไป สนช. คาดว่าพิจารณา 2-3 เดือน ประมาณ พย.-ธค. สนช. ผ่านกฎหมาย เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ไตรมาสแรกปี 2559 จะดำเนินการจัดตั้งองค์กร สรรหากรรมการต่างๆ น่าจะดำเนินการภายในไตรมาสแรก 2559

คำถามที่2. ขอภาวนาให้ซูเปอร์บอร์ดเป็นองค์กรอิสระจริงๆ ที่จะมาล้างบางนักการเมืองที่จะเข้ามาปู้ยี่ปู้ยำรัฐวิสาหกิจ ที่ผ่านมารัฐมนตรีมาใหม่ก็ปลดบอร์ด งานชะงักกันไปเป็นครึ่งปี หาก พ.ร.บ. ชุดนี้ออกมาขอให้ทำอย่างซื่อสัตย์ โปร่งใส ให้รัฐวิสาหกิจได้ผุดได้เกิดเสียที

นายบรรยง: จริงๆ คณะกรรมการชุดนี้ คนร. หรือซูเปอร์บอร์ด เมื่อกฎหมายนี้เสร็จ ก็จบภาระกิจไป แต่ที่สิ่งที่พยายามทำไว้คือตัวกฎหมาย แน่นอน กระบวนการคัดสรรคน ตั้งแต่บอร์ด คนร.ตามกฏหมายใหม่ ในโครงสร้างของบอร์ด คนร. จะเปลี่ยนไป ให้มีการคานกันระหว่างนักการเมือง รัฐวิสาหกิจหนีไม่พ้นเป็นเครื่องมือในการบริหารนโยบาย ใครที่ชนะเลือกตั้ง ได้รับมอบฉันทะจากประชาชน ให้มาบริหารประเทศ เขามีสิทธิที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการทำให้เกิดผลตามนโยบาย แต่ทำอย่างไรที่จะทำให้การบริหารนโยบายนั้นเป็นไปอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามสิ่งที่ควรจะเป็น

ที่จะกล่าวคือ ระยะยาวกลไกนี้จะทำงาน เนื่องจากมีองค์ประกอบคือ “ความโปร่งใส” อันนี้เป็นคีย์สำคัญ ถ้าสังเกตมีคำสั่งมา 7-8 เดือน ให้รัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง จะต้องเปิดเผยข้อมูลในเบื้องต้นเทียบเท่าบริษัทจดทะเบียนตาม 56-1 เมื่อก่อนจะทำกับรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียน แต่ตอนนี้ต้องทำทั้ง 56 แห่ง และหลายรัฐวิสาหกิจได้ทำไปแล้ว นี่แค่เริ่มต้น ตอนนี้อาจจะไม่สมบูรณ์ สามารถเข้าไปดูได้ แต่เข้าไปอาจจะผิดหวังในมาตรฐาน เพราะต้องทำจากสิ่งที่เป็นจริงเสมอ ไม่สามารถกระโดดข้ามขั้นตอนไปได้

“หลักใหญ่ในการบริหารจัดการที่เป็นตามร่าง พ.ร.บ. ที่ทำอยู่ คือเริ่มด้วยความโปร่งใส จากนั้นการติดตามไม่ใช่ภาครัฐอย่างเดียวแล้ว มันคือกลไกของประชาชน ภาคประชาสังคม ที่จะช่วยกันติดตามดูแล สอดส่อง เพียงแต่ว่าให้ความโปร่งใสเป็นพื้นฐานของทุกอย่าง”

คำถามที่ 3. โครงสร้างรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง กลุ่มหนึ่งอยู่ภายใต้บรรษัทวิสาหกิจฯ และอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ภายใต้ สคร. ในแง่การบริหารรัฐวิสาหกิจมีความแตกต่างกันในแต่ละแห่ง มีลักษณะการดำเนินงานที่แตกต่างกัน จะแน่ใจได้อย่างไรและจะมีขบวนการในการดูแลอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพ

นายรพี: ในประเด็นที่รัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทอยู่แล้วถูกโอนไปบรรษัทฯ คำถามแรกว่าจะดูแลกันอย่างไร เพราะมีรัฐวิสาหกิจหลายอุตสาหกรรม ลองนึกภาพกลับกัน นักลงทุนที่เป็นนักลงทุนสถาบัน ปกติเวลามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์บ้านเราเขาไม่ได้ลงทุนแค่ตัวสองตัว ลงทุนที 50 ตัว เขามีทีมนักวิเคราะห์ในการมานั่งดูรีเสิร์ช ไปใช้สิทธิออกเสียง เขาเป็นพอร์ตฟอลิโออินเวสเตอร์ เป็นคนที่เข้าไปดูจริงๆ ว่าทำไมคุณไม่สามารถจะทำการเงินได้ดีเท่ากับชาวบ้าน ทำไมคุณไม่สามารถจะแข่งขันได้ ปัญหามันอยู่ตรงไหน ถ้ารัฐวิสาหกิจนั้นบอกว่าปัญหาเพราะรัฐบาลสั่งมาให้ทำอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่สมควรทำ มันก็จะกลับไปมาตราในร่าง พ.ร.บ. ที่บอกว่า อะไรที่ไม่อยู่ในแผนนโยบายของรัฐวิสาหกิจนั้น ไปทำอะไรที่ไม่สมควรทำ รัฐบาลต้องตั้งเงินงบประมาณมาชดเชย ไม่ใช่เอาเรื่องที่เขาไม่ควรจะทำ

“เพราะฉะนั้น ตัวบรรษัทฯ จะเป็นคนเข้าไปดูแลในลักษณะอย่างนี้ ผมคิดว่าการเข้าไปดูในลักษณะมุมมองทางด้านการเงิน 12 แห่ง ไม่ใช่เยอะเกินเหตุ ไม่ได้มากด้วยซ้ำ”

ส่วนกลยุทธ์ของรัฐวิสาหกิจอันไหนที่ควรคงอยู่ อันไหนควรแปรสภาพ อันไหนควรแปรรูป อะไรต่างๆ พวกนี้ อันนั้นคือบทบาทของ คนร. ที่ปัจจุบันยังคงทำอยู่ ซึ่งมีตัวกฎหมายใหม่รองรับ คนร. และ คนร. ต้องประกาศว่าทำอะไร ทำหน้าที่อะไรอยู่ ดูเรื่องการกำหนดกลยุทธ์พวกนี้เป็นอย่างไร

นายกุลิศ: รัฐวิสาหกิจอันไหนควรปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใด ควรเพิ่มประสิทธิภาพ ควรคงอยู่ หรือควรยุบเลิก ยุบรวม หรือลดบทบาทต่างๆ มันมีแผนศูนย์อยู่ คือ ณ ตอนนี้ ตั้งแต่ตั้ง คนร. ขึ้นมา ปีที่แล้ว มีคณะอนุกรรมการต่างๆ คือ อนุกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์ มีคุณอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม เป็นประธาน ได้ดำเนินการทำแผนตรงนี้ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน โทรคมนาคม พาณิชยกรรม ฯลฯ เรามีแผนโครงสร้างอุตสาหกรรมอยู่ว่าจะเป็นอย่างไร ทิศทางเป็นอย่างไร รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในสาขาเหล่านี้ ควรยุบรวม ควรลดบทบาท ควรเพิ่มประสิทธิภาพอย่างไร ควรปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรอย่างไร แผนนี้เราทำออกมาด้วย

เมื่อกฎหมายออกมาใช้บังคับสิ้นปีนี้ กว่าจะเริ่มดำเนินการรวบรวมทำแผนใหม่มาได้ จะใช้เวลาไปปีกว่า แผนอันนี้ที่ออกมาจะเป็นแผนที่จะถูกทบทวนเมื่อมีกฎหมายบังคับใช้ ทิศทางในชุดปัจจุบันเริ่มดำเนินการอยู่แล้ว น่าจะเสร็จพอๆ กับเสนอกฎหมายเดือนสิงหาคมกันยายนนี้ ว่าแผนทิศทางยุทธศาสตร์ของรัฐวิสาหกิจจะเป็นอย่างไร

เสวนาปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ

คำถามที่ 4. งบลงทุนภาครัฐถือว่าเป็นความหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ตัวเลขการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจแค่ 25% คิดว่ามาจากการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจด้วยหรือไม่ สิ้นปีนี้น่าจะมียอดการเบิกจ่ายเข้ามากระตุ้นได้เยอะแค่ไหน

นายกุลิศ: ผมได้เร่งรัดการเบิกจ่ายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐวิสาหกิจแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่ใช้ปฏิทินตามปีงบประมาณ มี 30 กว่าแห่ง และปีปฏิทิน 10 กว่าแห่ง แต่งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 60-70% เป็นปีปฏิทิน (มค.-ธค.) เช่น กฟผ. การบินไทย ปตท. ทอท. การเบิกจ่ายแค่ไตรมาสสอง การเบิกจ่ายลงทุนเป็นไปตามเป้าหมายน่าจะได้ 80% ขึ้นไป สำหรับรัฐวิสาหกิจประเภทนี้

ส่วนรัฐวิสาหกิจที่เหลืออีก 3 เดือนตามปีงบประมาณ ส่วนใหญ่ที่เบิกช้ามาก เช่น การรถไฟ ตั้งแผนไว้ 9,000 ล้านบาท แต่เบิกได้ 32 ล้าน เนื่องจากโครงการล่าช้า การก่อสร้าง หรือ ขสมก. การซื้อรถเมล์ คตร. ตรวจสอบอยู่ ทาง สคร. ก็บอกว่าคุณต้องไปปรับแผนกับสภาพัฒน์ แผนจริงๆ ของคุณ 20,000 ล้านบาท ใช้แค่ 100-200 ล้าน ต้องปรับให้ถูก แล้วส่งผลต่อแผนลงทุนในปีหน้าด้วย จะมาใส่ว่าตัวเองลงทุน 30,000-40,000 ล้านบาท ไม่ได้แล้ว ต้องดูความสามารถในการลงทุนของคุณว่าคุณลงทุนได้แค่อย่างเก่ง 2,000 -3,000 แล้วลดวงเงินงบลงทุน เราได้บอกไปแล้ว อย่าง ขสมก. ใส่มา 10,000 ล้านบาท ซื้อรถเมล์ 3,000 คัน เอาเข้าจริงๆ 489 คัน ยังซื้อไม่ได้เลย เงิน 10,000 ล้านบาทยังไม่ได้ใช้ ซึ่งที่ช้าไม่เกี่ยวกับการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ แต่เมื่อมีการปฏิรูปแล้ว ทุกอย่างจะเป็นระบบ ทุกอย่างจะถูกเปิดเผยข้อมูล ทุกอย่างจะใช้ความจริงมากขึ้น

นายบรรยง: คำถามเป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจระยะสั้น ผมเองได้รับการตำหนิว่าจู้จี้จนลงทุนไม่ได้เลย ผมเรียนว่างานที่เราทำเป็นเรื่องระยะยาว ส่วนเรื่องระยะสั้น พยายามไม่ให้มีผลกระทบ งบลงทุนหลายงบ มันไปเพิ่มจีดีพีจีน เราไม่ต้องห่วงมาก ไม่ใช่จีดีพีเรา ผมอยากฝากนักวิเคราะห์ อย่าไปตีรวมว่างบลงทุนรัฐจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเรา

“การปฏิรูปใหญ่ซึ่งจะส่งผลในระยะยาว แต่ระยะสั้นอาจจะกระทบบ้าง ถามว่าอยากให้ลงทุนเพื่ออะไร เพื่อระยะสั้นได้มีกิจกรรม เพื่อระยะยาวเพื่อลงทุนจะได้สร้างฐานการแข่งขัน ศักยภาพการแข่งขันดีขึ้น ทั้งสองอัน ต้องบอกว่าเราทำเพื่อมุ่งระยะยาว แต่เราดูระยะสั้นด้วย แต่งบลงทุนทีเบรกๆ เป็นจีดีพีใครก็ไม่รู้”

“ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า พอเข้ามา รัฐวิสาหกิจ 7 แห่งที่มีปัญหา คณะอนุกรรมการสั่งให้ไปทำแผนแก้ปัญหา เชื่อไหม แผนเหมือนกันหมด คือขอลงทุนเพิ่ม การบินไทยขอซื้อเครื่องบินอีก 20 กว่าลำ พิจารณาไปมา บอกให้ไปขาย 30 ลำ การรถไฟขอลงทุนเป็นแสนล้าน ขสมก. ขอซื้อรถเมล์ 4,700 คัน เอสเอ็มอีแบงก์ขอเพิ่มทุน ธนาคารอิสลามขอเพิ่มทุน หลายหมื่นล้าน เพื่อขยายสินเชื่อ TOT ขอลงทุน 4G จาก ขณะที่ 3G ที่ได้สิทธิลงทุน 20,000 ล้าน ก่อนคนอื่นเขาสองปี ไม่ต้องจ่ายสัมปทาน ค่าคลื่นความถี่ใดๆ ทั้งสิ้น มาวันนี้คนอื่นลงไปแล้วมี 85 ล้านเลขหมาย TOT มีส่วนแบ่งไม่ถึง 500,000 เลขหมาย จาก 85 ล้าน แล้วจะลงทุน 4G จะให้อนุมัติคงไม่ไหว ยอมให้การลงทุนชะลอดีกว่า”

“ที่เล่าตรงนี้ไม่ได้ประณามใคร เพื่อจะบอกว่าในอดีตเวลามีปัญหา เราลงทุน ทำไมรัฐวิสาหกิจถึงมีสินทรัพย์เป็น 12 ล้านล้าน จาก 4 ล้านล้าน เพราะมีปัญหาก็ขอลงทุนเพิ่มไว้ก่อน มันหมายถึง 3 อย่าง 1. ซุกปัญหาไว้ใต้พรมได้ 2. ผลักปัญหาไปวันหน้า 3. คำว่าลงทุน ใครเกี่ยวข้องชอบหมด ในอดีตมันถึงเบ่งมาก”

ดังนั้นแนวคิดเพื่อปฏิรูป ไม่ให้เป็นอย่างนั้นอีก โดยใช้กลไกของระบบ กลไกของสังคม ความโปร่งใส เข้าไปควบคุม ผมไม่ปฏิเสธว่าในหลายมุมอาจจะทำให้ระยะสั้นมันไม่ได้ลงทุน แต่การลงทุนอย่างนั้นมันไม่ส่งผลเพิ่มศักยภาพในระยะยาวแน่นอนที่สุด แม้แต่ในระยะสั้นก็ตาม เป็นการกระตุ้นที่มีแต่เม็ดเงินลงไป แต่ต้นทุนที่จะเป็นของลูกหลานใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

คำถามที่ 5. มี 3 ประเด็น คือ ความขัดแย้งผลประโยชน์จะทำให้หมดได้จริงไหม จะหยุดนักการเมืองที่จะเข้ามามีบทบาทในรัฐวิสาหกิจ จะสามารถเลือกบุคคลที่มีประสิทธิภาพมาสร้างประสิทธิผลให้รัฐวิสาหกิจอย่างไร หากนักการเมืองจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงกฎหมายหลังจากนี้เป็นไปได้ไหม

นายกุลิศ: การตั้งบอร์ด มีการถกกันเยอะ บางกฎหมาย เช่น ธ.ก.ส. กำหนดว่า รมต.คลังเป็นประธานธนาคาร พวกนี้จะต้องเปลี่ยนแปลงหมด หรือกรรมการโดยตำแหน่งก็ต้องลด ทางกระทรวงต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขกฎหมาย ก็ต้องทยอยแก้ และเป็น skill matrix อย่างที่ได้เรียนข้างต้นว่าคุณสมบัติต้องการประเภทไหน ข้าราชการอย่างพวกผม หากจะเป็นกรรมการ ต้องสมัครผ่านหรือเสนอผ่านคณะกรรมการสรรหา ไม่ใช่อยู่ดีๆจะเข้าไปได้ เรืองโควตากระทรวงนั่นนี่ ตรงนี้จะหมดไป ทุกอย่างจะผ่านกระบวนการในการสรรหา

อันที่สองที่ถาม อนาคตกฎหมายนี้จะถูกแก้ได้ไหม แก้ได้แน่นอน หากเขาไม่พอใจ เสนอผ่าน ครม. ไปสภานิติบัญญัติ ไปวุฒิสภา ก็แก้ได้ แต่สิ่งที่จะป้องกัน หากของมันดีจริง ทุกอย่างเป็นระบบ เปิดเผยข้อมูล โปร่งใส ช่วยให้รัฐวิสาหกิจทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภาคประชาสังคมจะต้องปกป้องพวกเรา ว่ากฎหมายอันนี้ไม่สามารถแก้ได้ เพราะมีข้อดี คนที่จะแก้ก็ต้องคิดหนัก หากแก้ว่าจะถูกต่อต้านไหม ก็คงต้องพิสูจน์กันว่าหากกฎหมายดี ภาคประชาสังคมก็ต้องช่วยออกมาคัดค้าน

นายรพี: จริงๆ เป็นคำถามที่เราคาดหวังว่าบรรษัทฯ ต้องไปถามตัวบริษัทจดทะเบียน ถามว่าคุณตั้งกรรมการเหล่านี้มาทำอะไร ให้เพิ่มมูลค่าอะไรกับตัวบริษัทของคุณ แล้วบรรษัทรัฐวิสาหกิจก็ต้องเปิดเผยว่าสิ่งที่เขาทำไป นโยบายในการโหวต เวลาคุณจะโหวตให้กรรมการ คุณใช้มาตรการอะไร

“ผมว่ากลับมาที่เรื่องการตั้งองค์กรใหม่ ไม่ใช่บอกว่าเขาเป็นเทพที่จะมาทำอะไรทุกอย่าง แต่สิ่งที่เราพยายามคือ เวลาคุณทำอะไรแล้ว คุณต้องเปิดเผยต่อประชาชน แล้วให้ประชาชนใช้สิทธิใช้เสียงเข้าไปไล่บี้เขาอีกที อันนั้นจึงเป็นกระบวนการ หากเราบอกว่าเปิดเผยไปแล้ว ประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นเจ้าของ ก็ไม่เดือดร้อน ไม่สะดุ้งสะเทือน ไม่ไปไล่จี้ว่าทำไมคุณไปใช้สิทธิใช้เสียงไม่ถูกต้อง มันก็ไม่มีประโยชน์”

ดังนั้น สิ่งที่ทำอยู่นี้ ไม่ได้สร้างองค์กรเทพ เพราะว่าองค์กรเทพมันไม่มี คนที่เป็นเทพคือพวกเราที่จะต้องไปใช้สิทธิ และบอกว่าทำไมคุณไม่ทำหน้าที่ของคุณจากข้อมูลที่คุณเปิดเผยมา ทำไมคุณถึงไม่ทำ นี่คือเทพตัวจริง แต่เราไปหวังว่าจะต้องมีองค์กรเทพขึ้นมาหนึ่งองค์กร มาปกป้องดูแลทรัพย์สินของประเทศอย่างเต็มที่ ไม่ให้ตกไม่ให้หล่นอันนี้ต้องบอกว่าเตรียมผิดหวัง มันไม่มีในโลกนี้

นายบรรยง: มีการพูดถึงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ มันเป็นเรื่องที่มีอยู่ตลอดเวลา ผมคิดว่ามีได้ ไม่ได้ห้าม เพียงแต่ต้องเปิดเผย บอกให้เห็นว่าขัดแย้งอย่างไร มีหลายระดับ ห้ามเลย บางจุดมีวิธีจัดการของมัน ไม่งั้นมันจะหาคนไม่ได้เลยในประเทศนี้ ในกฎหมายที่ระบุไว้ การสรรหากรรมการ จะเน้นความโปร่งใสเป็นสำคัญ ว่าโดย skill matrix แล้วมันครบถ้วนในแต่ละกิจการหรือไม่ รวมไปถึงการคอมเมนต์ถึงผลตอบแทนโบนัส จริงๆ ในความเห็นผมส่วนตัว ผมว่ามากไม่เป็นไร ขอให้คุ้ม ผมมองต่าง แต่ต้องเปิดเผย

สรุป ที่พยายามทำมา 1 ปี จะมีคำถามหรือข้อวิจารณ์ 2-3 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 ดูเหมือนไม่ค่อยทันใจ ไม่เห็นมีอะไรหวือหวา หลายท่านบอกว่าผิดหวังด้วยซ้ำไป

ประเด็นที่ 2 มักจะมีคำถามว่าแน่ใจได้อย่างไร คำนี้โดนถามในทุกประเด็น เช่น แน่ใจได้อย่างไรว่ามันจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น แน่ใจได้อย่างไรว่าการทุจริตมันจะหายไป

ประเด็นที่ 3 มักจะมีคำถามว่าทำไมไม่ทำอย่างนี้ ทำไมไม่ทำทั้งหมดเลย ทำไมต้องแบ่งเป็นสองข้าง
ผมจะเรียนว่าทั้งหมด 1. เป็นความพยายามที่จะแก้ที่โครงสร้าง มากกว่าที่จะทำรายตัว เพราะรายตัวก็ทำไป พอทำไปก็พบว่าถ้าแก้โครงสร้างใหญ่ ถ้ามันจะอยู่ต่อไปมันจะเริ่มแก้ ตอบคำถามที่ว่าอันไหนควรยุบ ควรแก้ มันจะเดินไปตามมิติการพิจารณาแบบใหม่ การปฏิรูปมันไม่มีเสร็จ ยิ่งเราตั้งโรดแมปทำอะไรได้บ้างใน 1-2 ปี นี่คือแนวคิดที่จะทำ แล้วหวังว่ากลไกที่วางไว้จะเดินต่อไป

แล้วข้อสำคัญการปฏิรูปทุกอย่างมันต้องเริ่มจากสิ่งที่มันเป็นอยู่และสิ่งที่เป็นจริง เช่น สายการบินแห่งชาติบางคนบอกว่าไม่เห็นจะต้องมี มีทำไม ก็มันมีอยู่ มีทรัพย์สินเป็นแสนล้าน ก็ต้องแก้กันไป TOT ไม่เห็นต้องมีเลย แต่มีพนักงาน 22,000 มีทรัพย์สินเป็นแสนล้าน มีพันธสัญญา มันต้องแก้จากจุดที่เป็นอยู่เสมอ

เราทำงานมา 1 ปี หวังว่ากลไกที่พยายามเริ่มต้นจะได้รับการเข้าใจจากภาคสังคม และการปฏิรูปอะไรจะเกิดผลหรือไม่ มันอยู่ที่ประชาชน มันอยู่ที่ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมด้วย รวมถึงสื่อ จะตอบรับ ควบคุมกำกับอย่างไร