ThaiPublica > คนในข่าว > “สาลินี วังตาล” เปลี่ยนบทผู้กำกับสถาบันการเงิน เป็นนายธนาคาร เล่นเกมรุกเพิ่ม good loan “เติมน้ำดีไล่น้ำเน่า” ฟื้นเอสเอ็มอีแบงก์

“สาลินี วังตาล” เปลี่ยนบทผู้กำกับสถาบันการเงิน เป็นนายธนาคาร เล่นเกมรุกเพิ่ม good loan “เติมน้ำดีไล่น้ำเน่า” ฟื้นเอสเอ็มอีแบงก์

13 กรกฎาคม 2015


ผ่านมากกว่า 1 ปีสำหรับวาระ “ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ” ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 75/2557 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2557 หรือเพียงเดือนเดียวหลังจากปฏิวัติยึดอำนาจการปกครอง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ขึ้นมาสะสางปัญหาที่ค้างคาของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง รวมทั้งการจัดตั้ง “ซูเปอร์โฮลดิ้ง”เพื่อถือหุ้นและเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจ, ริเริ่มนำระบบตรวจสอบความโปร่งใสต่างๆ มาปฏิบัติ เช่น หลักความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) หรือสัญญาคุณธรรม (Integrity Pact) เป็นต้น

อย่างไรก็ตามภาระเร่งด่วนของ“ซูเปอร์บอร์ด” มีหน้าที่ต้องฟื้นฟูกิจการรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหา 7 แห่งซึ่งหนึ่งในนั้นคือธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือเอสเอ็มอีแบงก์)

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

“สาลินี วังตาล” ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถูกเลือกให้เข้ามาฟื้นฟูกิจการแบงก์นี้ ในฐานะที่เคยเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ํธปท.) และเป็นผู้ที่เคยกำกับและตรวจสอบธนาคารนี้มาก่อน จึงถูกทาบทามให้มาดำเนินการฟื้นฟู ให้เอสเอ็มอีแบงก์กลับมาทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ช่วยเอสเอ็มอีเล็กๆ ให้สามารถยืนหยัดและพัฒนาเพื่อก้าวเป็นฐานรากสำคัญของเศรษฐกิจประเทศต่อไป โดย นางสาลินีให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดและวิธีการบริหารจัดการแบงก์ที่เสียหายให้กลับมามีกำไรได้อย่างไร

ไทยพับลิก้า: ตอนที่ถูกทาบทามมานั่งประธานกรรมการแบงก์เอสเอ็มอี รู้สึกอย่างไร

รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้แปลกใจอะไร เพราะก่อนหน้านี้ก็เป็นผู้ตรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย เคยเข้ามาตรวจธนาคารแห่งนี้หลายครั้งแล้ว ที่พูดกันดราม่าเกินเหตุ เรารู้ฐานะจริงๆ ของเอสเอ็มอีแบงก์ เห็นว่าลูกหนี้ของแบงก์ไม่ใช่ลูกหนี้ปลอม เป็นลูกหนี้ที่ทำธุรกิจ ทำกิจการ แม้จะชำระหนี้ไม่ได้ แต่ก็มีหลักประกัน มันไม่ได้ย่ำแย่ขนาดนั้น

ตอนที่ได้รับคำชวน ก็ไม่ได้ปฏิเสธ ตอนนั้น ดร.วิรไท สันติประภพ เป็นคนมาทาบทาม รู้จัก ดร.วิรไทตอนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ทางแบงก์ชาติให้ไปประสานงานกับกระทรวงการคลังสมัยคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งคุณธารินทร์ชวนทั้ง ดร.วิรไทและ ดร.เศรษฐพุฒิ (สุทธิวาทนฤพุฒิ) มาทำงานที่กระทรวงการคลัง ก็เลยรู้จัก ดร.วิรไท และเป็นคนโทรมาชวนมาเป็นประธานที่นี่

ก็บอกว่าลองทำดู เมื่อรับปากมาทำ ก็มาดูในรายละเอียดเพิ่มเติม ก็เห็นว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ มันเป็นบวก แสดงว่ากิจการมันไม่ได้ยิ่งทำยิ่งเจ๊ง ดังนั้น ถ้าเราทำดีๆ พยายามไม่ให้ต้องกันสำรองเพิ่ม แบงก์ก็จะไปได้

ตอนที่มาอยู่ จึงพยายามทำในสิ่งหนึ่งที่เน้นมากๆ คือ พยายามปล่อยสินเชื่อ good loan ออกไปให้ได้ เพื่อจะมีดอกเบี้ยรับใหม่เข้ามา ตรงนี้อยู่ในพันธกิจของธนาคารด้วย

ตอนนั้นทุกคน แม้แต่ คนร. พยายามให้เน้นในเรื่องแก้เอ็นพีแอล แต่ในความคิดพี่ การแก้ไขแบงก์ที่เสียหาย คุณต้องปล่อย good loan ให้ได้ก่อน มันจะได้ดอกเบี้ยรับเข้ามา ของเสียมันก็คือเสียไปแล้ว ถ้าแก้กลับคืนมาได้ก็ถือว่าเป็นโบนัส

ทั้งนี้มาจากประสบการณ์วิกฤติปี 2540 มีธนาคารที่เสียหายและพยายามปล่อย good loan ตอนนั้นมีธนาคารศรีนคร คุณสมชาย สกุลสุรรัตน์ ไปดูแล และฐานะของธนาคารก็กระเตื้องขึ้นมา ทั้งๆ ที่มีเอ็นพีแอลเยอะมาก แต่ว่าธนาคารอื่นที่แบงก์ชาติเข้าไปดูแล หยุดทุกอย่างหมดเลย ทั้งๆ ที่มีเอ็นพีแอลเยอะมาก ทำให้ฐานะกลับยิ่งทรุด แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่สนใจแก้ปัญหาเอ็นพีแอล เราต้องสนใจด้วยนะ

จากประสบการณ์ดังกล่าว เราจึงต้องให้ความสำคัญเรื่องการปล่อย good loan ให้ได้ ซึ่งมันทำยากกว่า เพราะระบบต่างๆ ของธนาคาร ณ ขณะนั้นไม่เอื้อ เพราะถ้าปล่อย good loan ได้จริง สถานะของธนาคารต้องไม่ทรุดลงไปขั้นนั้น แสดงว่าคนที่ทำงานหรือระบบงานในธนาคารไม่อำนวยให้ปล่อย good loan เราจึงพยายามแก้ระบบการประเมินราคาหลักประกันให้เร็วขึ้น แก้เรื่องการวิเคราะห์สินเชื่อ และพยายามบอกว่าให้ออกไปหาลูกหนี้เล็กๆ ที่ไม่เกิน 15 ล้านบาท จัดเจ้าหน้าที่ตั้งเป็นแผนกวิเคราะห์ไปไว้ตามเขตต่างๆ หลังจากที่ทำไปแล้ว 3 เดือน ก็พอจะเริ่มปล่อยสินเชื่อได้ เริ่มหมุนได้ แบงก์มีรายได้รับเข้ามา

บังเอิญได้เจอคุณอภิศักดิ์ (ตันติวรวงศ์) อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย คุณอภิศักดิ์ก็บอกว่าคุณทำถูกแล้ว อย่าหยุดปล่อย good loan ถ้ามันหยุดปล่อยเมื่อไหร่ เจ๊งเลยนะ พี่ก็บอกว่า ใช่ แต่ไม่มีใครเข้าใจ ตรงจุดนี้ ทุกคนบอกว่าไปปล่อยกู้อีกทำไม มันมีความเสี่ยง แต่ทุกคนไม่เข้าใจว่าการแก้แบงก์ที่เสียหายจะต้องปล่อย good loan ให้ได้ และต้องพยายามอย่าทำให้สินเชื่อที่ปล่อยใหม่เป็นหนี้เสีย ซึ่งวิธีการทำไม่ให้เป็นหนี้เสียก็ยาก แต่เราก็รู้ว่ามีวิธีการที่พอจะทำได้ คุณอภิศักดิ์บอกคุณทำถูกแล้ว แต่คนอื่นไม่เข้าใจ

สิ่งที่จะได้ตามมาจากการปล่อยgood loan คือ

1. เราทำตามพันธกิจได้
2. ในกระบวนการที่ไปแก้ระบบต่างๆ จะกระตุ้นทำให้สิ่งที่ไม่ค่อยถูกต้องในองค์กรมันกลับเข้าที่เข้าทาง พอเริ่มปล่อยสินเชื่อได้ เริ่มทำให้แบงก์มีรายได้รับเข้ามา โชคดีที่แบงก์เอสเอ็มอีปล่อยกู้ใหม่ไปได้ 2-3 เดือน ก็เริ่มเห็นกำไร ประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายน 2557 เริ่มกำไรสุทธิ ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีกำลังใจที่จะทำงานต่อ ไม่อย่างงั้นคุณไม่มี “บวก” อะไรเลย คนในองค์กรก็จะมีความรู้สึกเหมือนน้ำเน่า เพราะไม่มีของใหม่ดีๆ เติมเข้ามา ไม่มีความหวังอะไรเลย ไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร
คือถ้าคนไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง และจะไม่พยายามให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ (good loan)

ไทยพับลิก้า: เป็นเพราะคุณสาลินีเคยทำหน้าที่กำกับและตรวจสอบแบงก์

พี่เคยดูแลแบงก์ตอนปี 2540 อย่างใกล้ชิด นั่นอันที่หนึ่ง อันที่สองเป็นคุณูประการที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ท่านอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ที่ทำให้ไปอยู่แบงก์ทหารไทย 2 ปี ก็ไปอยู่กับคุณสมชาย ทำให้เข้าใจสินเชื่อมากขึ้น ตอนนั้นเข้าใจวิธีให้สินเชื่อมากขึ้น

ตอนที่เริ่มเข้าใจว่าการแก้แบงก์เสียต้องปล่อย good loan ให้ได้ ตอนที่เห็นคุณอภิศักดิ์และคุณสมชาย โดยเปรียบเทียบกับแบงก์ศรีนครตอนนั้น จริงๆ ตอนนั้นถ้าให้เวลาศรีนครอีกหน่อย อาจจะไม่จำเป็นต้องยึดใบอนุญาตแบงกิ้ง ในความเห็นของตัวเองนะ น่าจะเก็บเอาแล้วนำมาขายต่อจะได้กำไรมากกว่า ตอนนั้นไม่น่าไปยุบรวมเลย แต่ตอนนั้น IMF บังคับ

ไทยพับลิก้า: คุณสาลินีใช้ประสบการณ์วิกฤติปี 2540 มาฟื้นฟูแบงก์ตอนนี้

คือมองแล้วก็คิดเปรียบเทียบ ว่าในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ มันมีของเสียตั้งหลายสิ่ง แต่ทำไมแบงก์ศรีนครตอนนั้น เสมือนหนึ่งว่าจะผงกหัวขึ้นมาได้ แต่บังเอิญไปจับควบรวมกับธนาคารนครหลวงไทยก่อน มองว่าจริงๆ แล้ว ถ้าค่อยๆ แก้ไปแบบนี้ (กรณีเอสเอ็มอีแบงก์) คือต้องมองก่อนว่า กำไรจากการดำเนินงานก่อนตั้งสำรองฯ เป็นบวกหรือไม่ ถ้า EBITDA เป็นบวกก็เหมือนกิจการทั่วไป ไม่ใช่ยิ่งทำยิ่งเจ๊ง ยิ่งทำต้องยิ่งดี แต่ทำอย่างไรที่จะอุดไม่ให้ต้องการกันสำรองหนี้สงสัยสูญเพิ่มขึ้น มันก็จะไปได้

การไม่ให้สำรองฯ เพิ่มขึ้น มันไม่ใช่การแก้เอ็นพีแอลนะ แต่เป็นการสะกัดไม่ให้ลูกหนี้เดิมตกชั้นต่างหาก ดังนั้นเวลาที่แบงก์เกิดเสียหาย การมุ่งไปแก้ไขที่เอ็นพีแอล มันแก้ไม่ครบจุด

“เหมือนเล่นฟุตบอล ถ้าเอาแต่ตั้งรับ คุณไม่มีวันชนะ คุณได้แต่เยื้อๆ ไป อย่างมากสุดก็แค่เสมอ แต่มักแพ้ ไม่มีแม้แต่เสมอด้วยซ้ำ แต่ถ้าคุณไม่ค่อยเก่ง แต่เสี่ยงเอา บุกไปเผื่อยิงประตูได้ ถ้าคุณจะแก้ธนาคารที่เสียหาย โดยเอาแต่ก้มหน้าก้มตา เอาแต่จะแก้หนี้เสีย พี่คิดว่าคุณแก้ไม่สำเร็จ คุณจะต้องทำไปพร้อมกัน 3 สิ่ง สิ่งที่หนึ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องปล่อย good loan ให้ได้ เป็นเรื่องที่พูดง่ายทำยากมาก เพราะคุณต้องแก้ไขระบบที่มันไม่เวิร์กในธนาคารนั้น ให้กลับมาเวิร์กให้ได้

สิ่งที่สอง คือ คุณต้องสกัดไม่ให้ลูกหนี้ที่สถานะปกติตกชั้นให้ได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องตั้งสำรองฯ เพิ่ม สิ่งที่สาม ที่คุณต้องทำคือคุณแก้เอ็นพีแอลให้ได้ ถ้าคุณแก้ได้มันเป็นโบนัส

สาลินี วังตาล

ไทยพับลิก้า: อันนี้เรียกว่ากระบวนการฟื้นฟูได้หรือไม่

ไม่รู้ เราทำของเราอย่างนี้ และเราก็เห็นว่ามันได้ผลสำหรับที่นี่ ที่แบงก์เอสเอ็มอีทำได้ผล และถ้าเทียบกับสมัยคุณสมชายทำที่แบงก์ศรีนครเมื่อยุคก่อนและมีแนวโน้มว่ามันจะทำได้ และคนมายืนยันความคิดนี้คือคุณอภิศักดิ์ ที่บอกว่าทำถูกแล้ว ปล่อย good loan ไปเลย หยุดหมุนเมื่อไหร่เจ๊งนะ

ไทยพับลิก้า: วันนี้สิ่งที่ทั้งสองพูดเป็นจริงแล้ว ว่ามันใช่

ก็ผลประกอบการมันออกมาก็ใช่

ส่วนเรื่องการออกแคมเปญดอกเบี้ย 4% หรือการตั้งกองทุนร่วมลงทุน (venture capital) และการพัฒนาผู้ประกอบการเป็นสิ่งที่ตามมา เพราะสามารถปล่อย good loan ได้ ภายใต้เศรษฐกิจที่ชะลอแบบนี้ เราจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีเล็กๆ ได้อย่างไร ด้วยดอกเบี้ยต่ำ หากเราไม่ปล่อย good loan ให้ได้ ใครจะให้เราทำ มันเป็นไม่ได้อยู่แล้ว

ดังนั้น เราอาจจะคิดต่างกันจากคนอื่น

ไทยพับลิก้า: วันนี้ good loan เพิ่มขึ้นเดือนละเท่าไหร่

ประมาณเดือนละ 2,000 ล้านบาท บางเดือนก็เพิ่มเป็น 3,000 ล้านบาท อย่างเดือนมีนาคม 2558 กับเดือนมิถุนายน 2558 ก็ถือว่าดีนะ เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของธนาคาร แบงก์ถึงมีกำไร (พร้อมเปิดสมุดบันทึกส่วนตัวมาดูสถานะของแบงก์)

“พี่จดของพี่เอาไว้ พี่ไม่อยากอธิบายความคิดของพี่ให้คนฟัง เพราะอธิบายไปคนก็ไม่เชื่อ เอาตัวเลขให้ดูเลยดีกว่า แต่ข้อดีคือคณะกรรมการธนาคาร ท่านเหล่านั้นก็ไว้ใจเรา บอกว่าลงเรือลำเดียวกันแล้วก็แก้ไป”

ตอนที่เข้ามาเดือนสิงหาคม 2557 เราใช้งบการเงินมิถุนายน 2557 ตอนนั้นมีสินเชื่อรวมอยู่ 88,000 ล้านบาท เป็นเอ็นพีแอล 35,000 ล้านบาท คิดเป็น 39.6% เป็นสินเชื่อปกติ (Performing Loan: PL) ประมาณ 53,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อดีๆ ไม่เคยค้างชำระหรือไม่มีตำหนิ 36,000 ล้านบาท และมีตำหนิคือปรับโครงสร้างหนี้ ยอมไกล่เกลี่ยในศาลบ้าง มีประมาณ 17,000 ล้านบาท

สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 มีสินเชื่อรวมอยู่ 86,000 ล้านบาท ก็ขายออกไปบ้าง ลูกหนี้ดีๆ ก็มาชำระหนี้ รายใหญ่ก็ให้รีไฟแนนซ์ ส่วนเอ็นพีแอล 27,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 31.3% สินเชื่อปกติ PL เพิ่มจาก 53,000 ล้านบาท เป็น 59,000 ล้านบาท ในจำนวน 59,000 ล้านบาทนี้เป็นสินเชื่อไม่มีตำหนิเลย 40,000 ล้านบาท และมีตำหนิบ้าง 19,000 ล้านบาท นี่คือคำตอบว่าทำไมธนาคารนี้ถึงได้กำไร เพราะมีสินเชื่อปกติเพิ่มขึ้น แค่นี้เอง

การที่สินเชื่อรวมหดตัวลง มันไม่ได้หมายความต้องแย่ลงเสมอไป สินเชื่อรวมลดลงเพราะขายบางส่วนออกไป มีการรีไฟแนนซ์ออกไป ลูกหนี้ดีๆ เวลาชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยสินเชื่อก็ลดลงได้ แต่อย่ามองแค่สินเชื่อรวม ต้องมองว่าสินเชื่อ PL เพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งที่นี่ PL มันเพิ่มขึ้นจาก 53,000 ล้านบาท เป็น 59,000 ล้านบาท

ไทยพับลิก้า: ประธานดูตัวเลขแค่นี้

ใช่ เราจะให้เอ็นพีแอล 27,000 ล้านบาท กลับมาเป็นสินเชื่อที่ดีได้อย่างไร วิธีที่ดีที่สุด คือปรับโครงสร้างหนี้ แต่ถ้าปรับโครงสร้างหนี้ไม่ได้ก็ต้องไปฟ้องศาล ดีถัดมาอีกนิดคือไปประนีประนอมยอมความในชั้นศาล ก็ยังดี แต่ถ้าไม่ไหวเลย เลิกกิจการ ซึ่งถ้าเลิกกิจการมีวิธีแก้ไข 2 ทาง 1. ถ้าหลักประกันดีเลิศ ก็อย่าไปขายทิ้งตอนเป็นเอ็นพีแอล คุณต้องรอจนกว่าจะบังคับคดีแล้วเอาหลักประกันมาขายจะทำให้คุณได้กำไร แต่ถ้าหลักประกันเขามี แต่ไม่ดีเท่าไหร่ ก็ขายเป็นกองเอ็นพีแอลไป ยอมขายลดราคาไป แต่ทรัพย์สินที่ดีเลิศก็อาจจะคัดออกมาขายเดี่ยว ขายแบบไม่ยอมลดราคาเลย

ไทยพับลิก้า: เป็นครั้งแรกที่แบงก์เอสเอ็มอีเริ่มขายหนี้เอ็นพีแอลออก

น่าจะใช่ เพราะสถานการณ์ที่นี่ไม่ปกติ ก็ต้องขายเอ็นพีแอลออก ก็ต้องขอบคุณกรรมการท่านอื่นๆ ที่เข้าใจตรงจุดนี้ คือการแก้ปัญหาหนี้เสียจำนวนมาก มันเป็นไปไม่ได้ที่จะค่อยๆ ทำ ปรับโครงสร้างหนี้ไปทีละรายๆ คุณก็ต้องคัดลูกค้า ถ้าเป็นลูกหนี้ยังประกอบกิจการอยู่ก็ไปปรับปรุง แต่ถ้าลูกหนี้ไม่ประกอบกิจการแล้ว จะไปปรับโครงสร้างหนี้อย่างไร ก็มีอยู่ทางเดียว ก็ต้องหาทางขายออก เพราะมันเยอะมาก ถ้าไม่ขาย อีกทางเลือกหนึ่งคือไปฟ้องศาล กว่าศาลจะพิพากษาจบก็อีก 5 ปี เมื่อศาลพิพากษาจบ ก็ต้องเข้ากระบวนการขายทอดตลาด ธนาคารก็ไปซื้อทรัพย์มา ซื้อด้วยราคาอะไร ถ้าซื้อในราคาเต็มๆ พอเอาทรัพย์เข้าแบงก์ ทรัพย์ก็จะด้อยค่า คุณก็ขาดทุนตรงนั้นอยู่ดี แต่ถ้าซื้อมาในราคาที่ต่ำ คุณก็ขาดทุนตอนซื้อทรัพย์อีก ไม่มีผลดีตรงไหนเลย เว้นแต่จะมีทรัพย์บางชิ้นที่มันดีมากๆ ยอมที่จะถือ 4 ปี และไปประมูลแข่งตรงนั้น

แต่สมมติว่าทรัพย์มีมูลค่า 300 ล้านบาท แต่ลูกหนี้เป็นหนี้แค่ 100 ล้านบาท แม้จะบวกดอกเบี้ยค้างรับไม่เกิน 15% เป็นหนี้แค่ 200 ล้านบาท ณ เวลานั้นถ้าขายทอดตลาดได้ 300 ล้านบาท คุณไม่มีสิทธิได้ 300 ล้านบาท คุณได้แค่ 200 ล้านบาทตามยอดหนี้เท่านั้น เพราะโลกนี้ต้องมีความยุติธรรม ส่วนที่เกินมูลหนี้ ต้องเป็นของเจ้าของทรัพย์แต่เดิม

หรือลูกหนี้กู้ 100 ล้านบาท ดอกเบี้ย 80 ล้านบาท แบงก์ซื้อทรัพย์มาโดยไม่มีคนอื่นแข่งได้ทรัพย์มาราคา 180 ล้านบาท ถือไว้ 4 ปี ในอนาคตนำออกมาขายต่อ 200-300 ล้านบาท ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ทำไมคนอื่นที่เขาเป็นนักค้าที่ดินไม่มาชิงซื้อ ณ วันที่ประกาศขายทอดตลาด ยอดหนี้คุณ 180 ล้านบาท เขาก็ต้องเข้ามาชิงซื้อ สัก 200 ล้านบาท ถ้าแบงก์ซื้อจะต้องควักอีก 20 ล้านบาท ธนาคารก็ทำไม่ได้ สู้ไม่ได้อยู่แล้ว ก็ต้องปล่อยให้คนอื่นซื้อไปที่ราคา 200 บาท ธนาคารก็จะได้เงิน 180 ล้านบาท อีก 20 ล้านบาท ก็ตกเป็นเจ้าของทรัพย์อยู่ดี กระบวนการเป็นอย่างนี้

สาลินี วังตาล

ดังนั้น ใครก็ตามที่ชอบมาคอมเมนต์ ขายทรัพย์ตอนนี้ (เอ็นพีแอล) ขายได้ราคาถูก ขายไปทำไม พี่คิดว่าเขาไม่เข้าใจกระบวนการ

ประการที่ 1 ถ้าเรามีทรัพย์อยู่เยอะมาก เป็นโรงงาน โรงสี ในต่างจังหวัด ใครเขาจะมาชิงซื้อจากแบงก์ แบงก์ต้องขาดทุนอยู่แล้ว ดังนั้น สู้ยอมขาย ณ วันนี้ไปดีกว่า เพื่อตัดเอ็นพีแอลออกจากบัญชีของแบงก์ และการที่มี เอ็นพีแอลอยู่ 27,000 ล้านบาท และเป็นรายย่อยๆ 20,000 กว่าบัญชี ก็ต้องจัดพนักงานไปดูแล ต้องทำอะไรเยอะแยะไปหมด แต่ถ้าเราจัดกระบวนการให้มันขายออกไปได้ พนักงานที่ดูแลทรัพย์ก็น้อยลง เอาพนักงานมาทำ good loan ดีกว่า

และถ้ารอไปจนถึงจบกระบวนการอย่างที่บอก คือขายทรัพย์ทอดตลาด ไม่มีคนอื่นซื้อ ตัวเองต้องซื้อเอง ซื้อในราคาต่ำ ธนาคารก็ขาดทุนตรงนั้นอีก ทรัพย์ที่ซื้อมาได้ก็เป็นทรัพย์สินรอการขายของธนาคาร ต้องมีค่าดูแลอีก กระจายอยู่ทั่วประเทศ แค่ จ.สมุทรปราการ เป็นโรงงาน ไม่มีพนักงานไปดูแล คนมารื้อโรงงานไปหมดเลย ต้องตีขาดทุนอีก 40 กว่าล้านบาท ที่ผ่านมาเป็นอย่างนี้ ถึงมีงบประมาณไปดูแลก็เป็นภาระหนักมาก เพราะกระจายอยู่ทั่วประเทศ ถ้ามีสิ่งปลูกสร้าง แบงก์ดูแลไป ก็ไม่คุ้ม และต้องหักค่าเสื่อมราคาอีก

ดังนั้น การถือไว้จนจบเป็นอะไรไม่คุ้มที่สุด ถ้าเป็นไปได้ควรขายได้ระหว่างทางเพื่อให้ได้เงินกลับมา เอาเงินจำนวนนี้ไปปล่อยสินเชื่อได้ดอกเบี้ยไป 7-8% และที่สำคัญ ไม่ต้องเอาพนักงานมานั่งดูแลตรงนี้ เอาพนักงานไปปล่อยสินเชื่อดีกว่าไหม

เอ็นพีแอล 27,000 ล้านบาท ไม่ว่าจะขายหรือทำอะไร หรือไม่ทำอะไร สมมติถ้าไม่ลดเลย อยู่อย่างนี้ ถามว่าจะมีผลเสียอะไรไหม เพราะมันไม่มีอะไรที่จะทำร้ายธนาคารอีกแล้ว แต่ถ้าเปลี่ยนเอ็นพีแอล ปรับโครงสร้างหนี้เอามันกลับมาเป็น good loan ได้ ก็ดีมาก อันที่ 2 ถ้าขายออกไปได้ เอาเงินมาปล่อย good loan ก็ดีมาก แต่ถ้าทำอะไรไม่ได้เลย ทิ้งไว้ 27,000 ล้านบาท ก็ไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้ แต่ถ้าแบงก์อยู่เฉยๆ แบงก์ไม่เพิ่ม good loan ขึ้นจาก 59,000 ล้านบาท คุณอาจจะขาดทุนได้

“ดังนั้น จุดเน้นจึงต้องอยู่ที่ good loan ตอนที่มาอยู่ที่แบงก์นี้ใหม่ๆ คนชอบมาถามว่า มีวิธีแก้ไขเอ็นพีแอลอย่างไร พี่รำคาญ หงุดหงิด พยายามอธิบายสิ่งที่จะทำให้ธนาคารรอดคือการเพิ่ม good loan ก็ไม่มีคนฟัง จน 1 ปีผ่านไป ต้องเอาตัวเลขมาให้ดู”

ไทยพับลิก้า: ที่ผ่านมา ภาพเอสเอ็มอีเป็นแบงก์ที่ติดลบ ตอนเข้ามามองเห็นว่าเป็นอย่างไร

อย่างที่กล่าวมาตอนต้น 1. กำไรจากการดำเนินงานของแบงก์มันเป็นบวก 2. จากการสำรวจสาขารอบๆ กรุงเทพฯ เพื่อดูว่าพนักงานสาขาทำสินเชื่อเป็นไหม เพราะการจะปล่อยสินเชื่อใหม่ good loan ต้องเพิ่มจากสาขา ถ้าพนักงานสาขาทำไม่ได้ เลิกดีกว่า ก็สำรวจแล้ว พบว่าพนักงานสาขาเขาทำเป็น และเขาไม่ได้มีใจที่ไม่สุจริตด้วย เพียงแต่เขาไม่รู้ว่าทำไมแบงก์ที่เขาทำอยู่มันถึงเป็นอย่างนี้ จึงอนุมานว่าสาขาทำสินเชื่อได้ หากเราจะปล่อยสินเชื่อรายที่ไม่ใหญ่มาก ก็ไปควรทำที่เขต ที่สาขา ไม่ต้องให้สำนักงานใหญ่ทำ

และที่ผ่านมา สำนักงานใหญ่ปล่อยสินเชื่อเสียหาย เป็นสินเชื่อขนาดใหญ่และขนาดกลาง เกิดที่สำนักงานใหญ่ต่างหาก เราก็อย่าให้ทำ เป็นเพราะความด้อยประสิทธิภาพของพนักงานส่วนหนึ่งที่ทำให้ธนาคารเสียหาย และส่วนหนึ่งเพราะมีใบสั่ง แต่เพราะความด้อยประสิทธิภาพในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้หนี้ยิ่งเสียไปกันใหญ่ ไม่ใช่ทำตามใบสั่งอย่างเดียว

ที่นี่เดิมทีมีแผนกสินเชื่อขนาดกลางอยู่ 4 ฝ่าย ในเมื่อเราไม่ได้ให้สินเชื่อเกิน 15 ล้านบาทแล้ว เราก็ยุบเหลือ 2 ฝ่ายก็พอ สินเชื่อเดิมก็ต้องดูแลไป ทบทวนวงเงิน ดูแลลูกค้าไม่ให้เสีย ส่วนอีก 2 ฝ่ายก็ไปตั้งใหม่เป็นภาค เดิมมี 9 ภาค ก็เป็น 11 ภาค เมื่อก่อนแต่ละภาคดูแลหลายจังหวัด อย่างเช่น ภาคที่ 1 ดูตั้งแต่กรุงเทพฯ ถึงประจวบคีรีขันธ์ ถ้าเรามีภาคเพิ่ม ก็ให้ดูกรุงเทพฯ ถึงนครปฐม และจากราชบุรีไปถึงประจวบคีรีขันธ์ก็เป็นอีกภาคหนึ่ง เพราะพื้นที่มันกว้าง ทางภาคเหนือ ก็เป็นเช่นนี้

นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงกระบวนการพิจารณา เดิมเจ้าหน้าที่สาขาทำทุกอย่าง ไปหาลูกค้า มาเขียนคำขอและร่วมกันตั้งเป็นคณะกรรมการอนุมัติสินเชื่อ สาขา เขต ทำทุกอย่างทั้งหมด หลังจากอนุมัติสินเชื่อแล้ว ก็มีพิธีการทำสัญญาเบิกจ่าย นี่พูดถึงสินเชื่อไม่เกิน 15 ล้านบาท ถ้าเกินจะเข้ามาที่สำนักงานใหญ่ แต่ตอนนี้เราไม่ทำอย่างนั้นแล้ว วันนี้เรามีสาขาและมีแผนกวิเคราะห์ ขึ้นกับฝ่ายบริหารความเสี่ยง ไม่เกี่ยวกัน มาคอยคานกัน คอยช่วยกันพิจารณา เมื่อผ่านการพิจารณาก็จะมี 3 คน ช่วยกันอนุมัติสินเชื่อ มีสินเชื่อ 2 คน และวิเคราะห์ 1 คน ช่วยกันอนุมัติก็ได้แล้ว

สาลินี วังตาล

ไทยพับลิก้า: จะสร้างคน สร้างระบบ ป้องกันใบสั่งได้อย่างไร

ใบสั่ง ตอนนี้คงไม่สั่งแล้ว เพราะ 1. เป็นสินเชื่อขนาดเล็กๆ จะไปสั่งทำไม 2. เรามีระบบสาขานำเสนอ แล้วมีฝ่ายวิเคราะห์ช่วยดู เมื่อก่อนมันไม่มีคนคาน อย่างไรก็ตาม ระบบทุกระบบ ถ้าคนตั้งใจโกง มันก็โกง ดังนั้น ใจของคนที่ทำมันต้องสุจริตก่อน ใจของคนจะสุจริตได้อย่างไร คนที่อยู่ในระดับสูงๆ ก็ต้องเป็นคนสุจริตชนก่อน และเป็นแบบอย่างที่ดี พนักงานระดับล่างก็มองคนที่สูงกว่า ถ้าคนที่สูงไม่สุจริต คนข้างล่างก็เอาด้วย แต่ถ้าข้างบนสุจริต ข้างล่างก็ไม่กล้า เราต้องทำให้เห็นว่าของเดิมๆ ที่ผ่านมาเคยทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็ต้องถูกลงโทษ เราต้องจับให้ได้มากที่สุดมาลงโทษให้ได้ เขาจะได้ไม่กล้าทำผิดอีก

ไทยพับลิก้า: ตอนนี้มีการลงโทษไปบ้างแล้ว

ตอนนี้ลงโทษผู้บริหารระดับสูงให้ออกไป 3 คน ระดับล่างๆ ให้ออกก็หลายคน และเมื่อเดือนที่ผ่านมา มีรองกรรมการผู้จัดการและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการออกจากตำแหน่ง 2 คน รอการสอบสวน คือการทำผิดไม่ได้มีแต่เฉพาะเรื่องไม่สุจริตนะ บางทีละเลยมากจนเกิดความเสียหายก็ผิดนะ การละเลยมาก เราก็ไม่รู้ ต้องไปสอบสวนก่อน ว่าสาเหตุที่ทำให้คุณละเลยมากขนาดนี้ เป็นเพราะคุณโง่จริงๆ คุณประมาทเลินเล่อจริงๆ หรือ คุณไปแอบมีวาระซ่อนเร้นอยู่ในใจ คุณเลยแกล้งทำเป็นละเลย

“คุณเกริก วณิกกุล (อดีตรองผู้ว่าการ ธปท.ด้านเสถียรภาพการเงิน) เคยพูดประโยคหนึ่ง ที่ชอบมากๆ ที่ว่า จริงๆ แล้วการประมาทเลินเล่อก็โกงนั่นแหละ แต่มันไม่มีใบเสร็จให้จับได้ ก็เลยใช้คำว่า gross negligence ประมาทเลินเล่ออย่างรุนแรง แต่จริงๆ โกงนั่นแหละ ถ้าโกงก็จับได้ว่าโกงไปเลย หลักฐานชัดเจนอย่างนี้ก็ไม่ต้องพูดกัน แต่บางทีโกงแต่จับไม่ได้ พฤติกรรมมันส่อหมด ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ต้องลงโทษประมาทเลินเล่ออย่างรุนแรง แต่ในความผิดของคำว่าประมาทเลินเล่ออย่างรุนแรง ก็ควรจะลงโทษเทียบเท่าโกง เพราะว่าความเสียหายมันเหมือนกัน คือ คุณโกง คุณเอาไป แต่คุณประมาทเลินเล่ออย่างรุนแรง จนวิญญูชนไม่มีใครทำแบบคุณ มันเสียหายเหมือนกัน ก็ควรจะลงโทษเท่ากัน ที่ผ่านมา ที่เคยเห็นโดยทั่วไป ถ้าประมาทเลินเล่ออย่างรุนแรงและเสียหายมาก เอกชนจะลงโทษเท่าโกง แต่ไม่รู้ว่ารัฐวิสาหกิจลงโทษแค่ไหน แต่ในความคิดพี่คือเท่ากัน มิฉะนั้นคนที่ทำงานประมาทเลินเล่ออย่างรุนแรง ได้รับโทษน้อยกว่าก็ยังคงอยู่ในองค์กร เป็นแบบอย่างที่เลว และจะเที่ยวพูดต่อไป เห็นไหมไม่เห็นโดนอะไรเลย ไม่เอา ไม่ได้ มันเป็นเชื้อที่ไม่ดี ต้องกำจัด”

ไทยพับลิก้า: รัฐบาลมีวาระแห่งชาติเรื่องเอสเอ็มอี เอสเอ็มอีแบงก์จะช่วยผลักดันอะไรบ้าง

อันนี้พยายามทำอยู่เท่าที่กำลังที่มีอยู่จะทำได้ เราตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ได้ 40,000 ล้านบาท ถามว่าเยอะไหม ก็เยอะเมื่อเทียบกับขนาดของธนาคาร

เป้าสินเชื่อใหม่ 40,000 ล้านบาท มันเยอะมาก แต่การประเมินผลงานของ TRIS ถ้าได้คะแนน 5 คือมากที่สุด ถ้าได้ 1 คือน้อยสุด ที่ผ่านมาธนาคารเคยปล่อยสินเชื่อปีละ 10,000-20,000 ล้านบาท แต่ในภาวะที่ธนาคารพยายามปล่อยกู้ จะทำได้ประมาณ 30,000 ล้านบาท ดังนั้น ถ้าแบงก์ปล่อยกู้ได้ 30,000 ล้านบาท TRIS ควรให้คะแนน 3 แต่ถ้าปล่อยกู้ได้ 40,000 ล้านบาท TRIS ควรให้คะแนน 5 เต็ม แต่หารือแล้ว ถ้าปล่อยกู้ได้ 40,000 ล้านบาท ได้ 3 คะแนน แต่ถ้าได้ 30,000 ล้านบาท ถือว่าสอบตก

ดังนั้น เมื่อกำหนดพันธกิจแล้วควรกำหนดตัวชี้วัดในการประเมินผลให้สอดคล้องกับพันธกิจ อย่างสินเชื่อ ที่พยายามได้ตามกำลังปกติ ได้คะแนน 3 แต่สิ่งที่ทำเกินปกติ หากเขาทำได้ ควรเป็นโบนัส ไม่ใช่ให้คะแนน 3 เท่ากัน

นี่คือระบบประเมินผล ต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับพันธกิจ ต้องสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อให้พนักงานทำงาน ทำงานบรรลุเป้าหมายให้ได้

สาลินี วังตาล

ไทยพับลิก้า: คดี FRCD ไปถึงไหนแล้ว

คดีความของแบงก์ คุณสุพจน์ อาวาส (กรรมการผู้จัดการ) และกรรมการธนาคารท่านดูแล จะตอบเรื่องนี้มากนักไม่ได้ คดีนี้เป็นคดีใหญ่ที่สุดของธนาคาร ที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เป็นโจทก์ฟ้องร้อง บอกได้เพียงว่าอยู่ในศาลชั้นต้น สาเหตุที่การดำเนินคดีช้ามาก เพราะโจทก์มักจะขอเลื่อนคดี

“คดียังไม่ไปถึงไหน อาจจะใช้เวลา 10 ปีก็ได้ ใครจะแพ้ชนะไม่รู้ แต่รู้ว่ามีการร้องเรียนเรื่องนี้ไปที่ ป.ป.ช. ซึ่งธนาคารเป็นโจทก์เป็นผู้เสียหาย ว่ามีการทำไม่ถูกต้องระหว่างธนาคารสแตนดาร์ดฯ กับพนักงานของแบงก์ แต่คดีของ ป.ป.ช. เรื่องคืบหน้าไปพอสมควร น่าจะชี้มูลได้อีกไม่นาน”

ถามว่า เมื่อถูกฟ้องร้อง ธนาคารได้มีการตั้งสำรองฯ โดยตั้งบนสมมติฐานที่ว่าถ้าธนาคารชนะคดีที่อยู่ในศาล กรณีนี้ธนาคารต่อสู้ว่าให้ศาลตัดสินว่าธุรกรรมนี้เป็นโมฆะ หากเป็นโมฆะ ธนาคารก็ต้องจ่ายเงินบางส่วนให้ธนาคารสแตนดาร์ดฯ อยู่ เงินจำนวนที่ต้องจ่ายบวกดอกเบี้ยตามอัตราที่บวกกันทั่วไป ก็ตั้งสำรองไว้ 2,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเพียงพอ แต่ไม่รู้ว่าแพ้หรือชนะ

ไทยพับลิก้า: การฟื้นฟูของเอสเอ็มอีแบงก์ถือว่าเป็นตัวอย่างการฟื้นฟูกิจการของรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ได้ไหม

แต่ละกิจการรัฐวิสาหกิจไม่เหมือนกัน โดยหลักใหญ่ๆ เราไม่ให้เขาหยุดดำเนินกิจการ และทำต่อไปในการให้มีรายได้เพิ่ม เพราะเชื่อว่าการทำแบบนั้นเป็นการทำให้น้ำไม่เน่า จะมีน้ำใหม่เติมเข้ามา

ไทยพับลิก้า: การฟื้นฟูทำได้เร็วกว่าแผนหรือไม่ และตอนนี้ได้เงินเพิ่มทุนอีก 1,000 ล้านบาท

ก็ทำไปตามแผน ที่ได้เงินเพิ่มทุนมาเพราะว่า ตัวเลขผลการดำเนินงานสนับสนุน เราได้กำไร เอ็นพีแอลลดลง มีการปรับปรุงกิจการ และเอสเอ็มอีแบงก์ยังพอทำประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการดูแลเอสเอ็มอีในภาวะเช่นนี้ เพราะเอสเอ็มอีเล็กๆ ก็ไม่มีคนดูแลเลย

ไทยพับลิก้า: แล้วการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีในลักษณะการร่วมลงทุน

เป็นเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่มีศักยภาพ เขาไม่ได้อ่อนแอ เขาอยากจะขยายกิจการ หากจะให้กู้ทรัพย์ก็หมด ก็ไม่มีหลักประกันแล้ว หรือยังมีอยู่ ไปเอาหลักประกันของพ่อแม่มา สัดส่วนหนี้สินต่อทุนก็จะสูงมาก เขาทำมาหากินได้ เงินจะมาจ่ายแบงก์หมด ดังนั้น หากเป็นแบบนี้ เอสเอ็มอีเล็กๆ หลายๆ แห่งเขาคิดว่าเขาไม่ขยายกิจการดีกว่า อยู่ไปแบบนี้เขาได้กำไรสบายๆ 20-30 ล้าน เพียงพอไหม มันพออยู่

ณ วันนี้ เอสเอ็มอีขนาดกลางของไทย มีแค่ 40,000 ราย ที่เหลือหายไปไหน ที่จะชูธงไปค้าในเออีซี ขยายกิจการมาอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และที่บอกว่าเอสเอ็มอีมี 2.7 ล้านราย แต่ที่เป็นขนาดกลางที่แข็งแรงจริงมีแค่ 40,000 ราย ที่เหลือขยายไม่ได้ ขึ้นจากขนาดเล็กมาขนาดกลางไม่ได้ เพราะปัจจัยหลายๆ อย่าง การทำเวนเจอร์แคปปิตอล ก็คือการพยายามทำให้ขนาดเล็กขึ้นมาเป็นขนาดกลางให้ได้ เพราะการขยับจากขนาดเล็กมาขนาดกลางโดยใช้แต่เงินกู้มันเป็นไปไม่ได้ กองทุนนี้ก็เป็นการเข้าไปร่วมลงทุนด้วย นโยบายชัดเจน ไม่ฮุบกิจการ ทำด้วยความโปร่งใส