ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. ลดปล่อยน้ำ 4 เขื่อนหลัก หวั่นน้ำไม่พอใช้ ไฟเขียวสร้าง Motorway 3 สาย 1.6 แสนล้าน ขยายอายุคง VAT 7% อีก 1 ปี

ครม. ลดปล่อยน้ำ 4 เขื่อนหลัก หวั่นน้ำไม่พอใช้ ไฟเขียวสร้าง Motorway 3 สาย 1.6 แสนล้าน ขยายอายุคง VAT 7% อีก 1 ปี

15 กรกฎาคม 2015


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

ขอเกษตรกรงดใช้น้ำชั่วคราว – ยันมีมาตรการช่วยเหลือ

พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) เพิ่มเติมอีก 3 สาย รวมมูลค่า 1.6 แสนล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ หลังจากที่เคยเห็นชอบไปก่อนหน้านี้ 2 สาย มูลค่า 1 แสนล้านบาท แต่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นถนน รถไฟ น้ำ ไฟฟ้า และประปา อาจต้องกลับมาทบทวนว่าโครงการใดที่สามารถทำได้ในรัฐบาลชุดนี้ก็ให้เดินหน้าทำไปเลย แต่โครงการทำไม่ทัน ก็ชะลอไว้ให้รัฐบาลชุดหน้าเข้ามาดำเนินการต่อ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะให้มีน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค จึงอยากขอร้องเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้ชะลอการนำน้ำไปใช้ในการเกษตร ไม่เช่นนั้นอาจเหลือน้ำไม่พอจนถึงเดือนสิงหาคม 2558 ซึ่งเกษตรกรรายใดได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลยืนยันว่าจะมีมาตรการในการช่วยเหลือ โดยอาจจะใช้วิธีการจ้างงานทดแทน ส่วนเรื่องการให้เงินชดเชย ในใจตนก็อยากจะให้อยู่แล้ว แต่ต้องดูว่าถ้าให้อาจจะกระทบการแก้ไขปัญหาอื่น ซึ่งอาจทำให้มีงบประมาณไม่เพียงพอ

“ขอให้สื่อช่วยกันพูดว่าอย่าเพิ่งทำการเกษตรตอนนี้เลย ถ้าเดือดร้อนรัฐบาลจะดูแลให้ ไม่เช่นนั้นอาจไม่เหลือน้ำกระทั่งสำหรับการอุปโภคบริโภค” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่าจำเป็นต้องตั้งกระทรวงน้ำขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ วันข้างหน้าก็อาจจะเกิดขึ้นมาก็ได้ แต่การแก้ปัญหาขณะนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ควรจะหาวิธีทำอย่างไรถึงจะทำให้มีประสิทธิภาพมาก

ลดปล่อยน้ำ 4 เขื่อนหลัก – “เอลนีโญ” อาจสะเทือนยันปีหน้า

ต่อมา พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันแถลงข่าวถึงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

พล.อ. อนุพงษ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้ลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนหลัก 4 แห่ง ประกอบด้วยเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จากเดิมวันละ 28 ล้าน ลบ.ม. ให้เหลือวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. โดยจะทยอยลดการปล่อยน้ำตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป วันละ 2 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป คาดการณ์ว่าจะเป็นช่วงวิกฤติที่ฝนทิ้งช่วง และกว่าจะมีฝนตกลงมาอีกครั้งก็ราวกลางเดือนสิงหาคม 2558 จึงจำเป็นต้องรักษาน้ำไว้สำหรับการอุปโภคบริโภคและการไล่น้ำเค็ม ทั้งนี้ จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับทหารลงไปขอความร่วมมือกับประชาชนไม่ให้สูบน้ำไปใช้ในการเกษตร ซึ่งคงไม่ถึงขั้นไปบังคับหรือจับกุมดำเนินคดี รวมถึงจะสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเรือกสวนไร่นา เพื่อเตรียมไว้เป็นข้อมูลในการให้ความช่วยเหลือต่อไป โดยปัจจุบัน ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกไปแล้วกว่า 4 ล้านไร่ จากทั้งหมด 7 ล้านไร่

“มีการประเมินกันว่าปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้จะแรงมาก โดยจะส่งผลให้ฤดูฝนของไทยสั้นกว่าปกติ จนอาจต้องเตรียมตัวต่อไปว่าในเดือนเมษายน 2559 ไทยจะอยู่กันอย่างไร เพื่อให้มีน้ำอุปโภคและบริโภค รวมถึงการเกษตรในรอบถัดไป” พล.อ. อนุพงษ์ กล่าว

ยันมีน้ำใช้ถึง ส.ค. 58 ไม่ต้องกักตุน

พล.อ. อนุพงษ์ กล่าวว่า ถ้าบริหารจัดการน้ำเช่นนี้ พื้นที่ในการดูแลของการประปานครหลวง (กปน.) ยืนยันว่าจะมีน้ำให้ใช้ได้ถึงเดือนสิงหาคม 2558 ได้อย่างไม่มีปัญหา การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) บางพื้นที่อาจมีปัญหา แต่จะเป็นส่วนน้อย ด้านประปาหมู่บ้าน กระทรวงมหาดไทยจะดูแลอยู่อย่างใกล้ชิด ส่วนพื้นที่แล้งซ้ำซากราว 9,000 หมู่บ้าน จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำน้ำไปให้ใช้

“เวลานี้ต้องช่วยกันประหยัด เพราะเราไม่รู้ว่าฝนจะตกลงมาเมื่อไร แต่ไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนกไปกักตุนน้ำไว้ เพราะจะมีน้ำใช้ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2558 อย่างแน่นอน” พล.อ. อนุพงษ์ กล่าว

เมื่อถามว่า การจำเป็นต้องลดการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมด้วยหรือไม่ พล.อ. อนุพงษ์ กล่าวว่า โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมากส่วนใหญ่จะอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทางภาคตะวันออก ซึ่งมีระบบการจัดการน้ำของตัวเอง จึงต้องช่วยตัวเองไปก่อน เพราะรัฐบาลไม่สามารถนำน้ำจากระบบชลประทานไปให้ได้

เมื่อถามว่า รัฐบาลเตรียมมาตรการใดไว้ช่วยเหลือเกษตรกร พล.อ. อนุพงษ์ กล่าวว่า นายกฯ ได้กล่าวในที่ประชุม ครม. ว่า ไม่อยากให้พูดเรื่องตัวเลข เพราะอาจทำให้เกษตรกรไม่พอใจ เช่น หากใช้ตัวเลขเดิมให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 113 บาท สูงสุดไม่เกิน 30 ไร่ เกษตรกรก็อาจรู้สึกว่าต้นทุนที่จ่ายไปแล้วสูงกว่าได้ จึงอยากให้บอกเพียงว่าได้เตรียมการช่วยเหลือเอาไว้แล้ว

เล็งหาแผนสำรอง หากฝนไม่ตก

นายปีติพงศ์กล่าวว่า พื้นที่เพาะปลูกของไทยมี 3 ส่วน 1. พื้นที่ที่ไม่มีชลประทานเลย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2. พื้นที่มีชลประทานอ่างน้ำเดี่ยว ปัจจุบันมีอ่างน้ำอยู่มากกว่า 30 อ่างน้ำ และ 3. ระบบน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีเขื่อนขนาดใหญ่อยู่ 4 เขื่อน และระบบน้ำในลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกใน 2 ส่วนแรกไม่มีปัญหาอะไร เหลือแค่ส่วนที่ 3 โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีฝนตกต่ำกว่าที่คาดการณ์ถึง 50% เป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องลดการส่งน้ำ

“การบริหารจัดการน้ำในเวลานี้ค่อนข้างวิกฤติ ต้องคำนึงถึงน้ำที่มีและเวลาที่ฝนจะตก ที่มีสมมติฐานว่าฝนน่าจะตกในเดือนสิงหาคม 2558 ซึ่งหากเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ รัฐบาลก็ต้องหามาตรการแก้ไขปัญหาต่อไป เพราะเราไม่สามารถไปควบคุมดินฟ้าอากาศได้” นายปีติพงศ์กล่าว

580714ปีติพงศ์อนุพงษ์
(จากซ้ายไปขวา) นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ไฟเขียวสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สาย 1.6 แสนล้าน

สำหรับผลการประชุม ครม. อื่นๆ ที่สำคัญ

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบโครงการก่อสร้าง Motorway จำนวน 3 สาย รวมวงเงิน 160,420 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. โครงการ Motorway สายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงิน 55,620 ล้านบาท ระยะทาง 96 กิโลเมตร ขนาด 4-6 ช่องจราจร มีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไปแล้วตั้งแต่ 2541 และปี 2546 2. โครงการ Motorway สายพัทยา-มาบตาพุด วงเงิน 20,200 ล้านบาท ระยะทาง 32 กิโลเมตร ขนาด 4 ช่องจราจร และ 3. โครงการ Motorway สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา วงเงิน 84,600 ล้านบาท ระยะทาง 196 กิโลเมตร ขนาด 4-6 ช่องจราจร มีการทำอีไอเอไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2549

ต่อเวลาลด VAT เหลือ 7% อีก 1 ปี

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่าง พรฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยสาระสำคัญคือการขยายเวลาการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 10% ให้เหลือ 7% ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2558 ไปเป็นสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2559 เนื่องจาก ครม. เกรงว่าหากมีการขึ้น VAT ในช่วงเวลานี้ อาจเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม ต้องชี้แจงว่านี่เป็นมาตรการชั่วคราวที่จะทำตลอดไปไม่ได้ แต่การกำหนด VAT ต้องพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจเป็นปีๆ ไป

“ต่อไปนี้คงไม่มีเสียงลือว่าจะมีการขึ้น VAT อีกแล้ว เพราะ ครม. ได้ยืดเวลาการลด VAT เหลือ 7% ออกไปอีก 1 ปี” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

แก้เกณฑ์ค้ำประกัน SMEs

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ยังพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการค้ำประกันสินเชื่อโครงการ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 5 หรือโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ ครม. เคยอนุมัติงบประมาณให้ 50,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมาเกิดอุปสรรค จึงต้องมีการขอมติ ครม. เพื่อแก้ไขปัญหาใน 2 เรื่อง คือ 1. ให้ SMEs นำเงินกู้จากโครงการนี้ไปใช้ในการรีไฟแนนซ์ได้หาก SMEs นั้นไม่มีรายชื่อติดอยู่ในเครดิตบูโร และ 2. เพิ่มวงเงินค้ำประกันให้กับธนาคารพาณิชย์หากการปล่อยสินเชื่อเกิดความเสียหาย จากเดิมกำหนดไว้ที่ 18% ของวงเงิน เพิ่มเป็น 30% ของวงเงิน

ไฟเขียว กม.เบอร์ฉุกเฉินกลาง 911

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติ พ.ศ. …. เพื่อกำหนดหมายเลขโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินจากเดิมที่มีหลายหมายเลขซึ่งสร้างความสับสนให้กับประชาชนมาเป็นเพียงหมายเลขเดียว โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้เสนอให้ใช้หมายเลข 191 แต่ ครม. อยากให้เป็นหมายเลขที่มีการใช้กันอย่างสากล ซึ่งมีอยู่ 2 หมายเลข ได้แก่หมายเลข 911 และ 112 โดยหลังจากพิจารณาแล้วเห็นว่า หมายเลข 911 มีความเหมาะสมกว่า จึงกำหนดให้เป็นหมายเลขโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินกลาง โดยจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และมีการกำหนดโทษสำหรับผู้ที่โทรศัพท์มาก่อกวนด้วย

เด้งอธิบดีกรม “น้ำบาดาล-ควบคุมมลพิษ”

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า วันเดียวกัน ที่ประชุม ครม. ยังพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รวม 5 ตำแหน่ง ประกอบด้วย 1.นายวิจารย์ สิมาฉายา รองปลัดกระทรวง ทส. ไปเป็นอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ 2.นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง จากอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ไปเป็น รองปลัดกระทรวง ทส. 3.น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ รองปลัดกระทรวง ทส. ไปเป็นอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล 4.นายปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง ทส.และ 5.นางรวีวรรณ ภูริเดช ผู้ตรวจราชการกระทรวง ทส. ไปเป็นเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุผลเพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียนและทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังแต่งตั้งให้นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แทน พล.อ. วิโรจน์ บัวจรูญ ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุคราบ 65 ปีบริบูรณ์

ให้ ครม. เร่งลงพื้นที่แก้ปัญหาประชาชน

พล.ต. สรรเสริญ ยังกล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้กล่าวในที่ประชุม ครม. ว่า ขณะนี้ คสช. ได้จัดทำข้อมูลเรื่องทัศนคติของประชาชนต่อการทำงานของ คสช. และรัฐบาล รวมถึงสิ่งที่ต้องการให้ปรับปรุง ซึ่งจะแจกให้กับรองนายกฯ และรัฐมนตรีทุกคนไปพิจารณาลงพื้นที่แก้ไขปัญหาของประชาชนโดยไม่จำเป็นต้องรอให้นายกฯ ลงพื้นที่ ซึ่งสามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป

“นายกฯ ยังได้สั่งการในที่ประชุม ถึงกรณีข้าราชการซึ่งถูกพักงานหรือย้ายออกจากตำแหน่งเดิม เพราะถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการทุจริต ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ว่า กรณีที่เป็นข้าราชการระดับสูง ตั้งแต่ซี 8 ขึ้นไป อยากให้องค์กรตรวจสอบไม่ต้องรีบร้อนสอบสวน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาว่ามีข้อมูลตกหล่น แต่ก็อย่าชักช้าเกินไปจนถูกวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนกรณีข้าราชการระดับกลางและล่าง ตั้งแต่ซี 8 ลงไป ให้หน่วยงานต้นสังกัดเร่งสอบสวน โดยเห็นชอบให้สามารถใช้คณะกรรมการสอบสวนชุดเดียวกันได้ หากข้าราชการหลายคนถูกกล่าวหาในความผิดกรณีเดียวกัน” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว