ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประมนต์” เผยเตรียมส่งร่าง พ.ร.บ.คุมงบซื้อสื่อ-ข้อมูลข่าวสารฉบับใหม่ ให้ ครม. พิจารณาโดยตรง – ไม่รอ สปช.

“ประมนต์” เผยเตรียมส่งร่าง พ.ร.บ.คุมงบซื้อสื่อ-ข้อมูลข่าวสารฉบับใหม่ ให้ ครม. พิจารณาโดยตรง – ไม่รอ สปช.

13 กรกฎาคม 2015


นายประมนต์ สุธีวงศ์
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สปช.

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2558 นายประมนต์ สุธีวงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เปิดเผยว่า ได้เสนอรายงานผลการพิจารณาของ กมธ. ทั้งหมด ให้ที่ประชุม สปช. ชุดใหญ่พิจารณา ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2558 อย่างไรก็ตาม จะเสนอหาวิธีร่างกฎหมาย จำนวน 2 ฉบับ ที่ กมธ. พิจารณาเสร็จแล้ว ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. …. และ ร่าง พ.ร.บ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ พ.ศ. …. ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาโดยตรง ไม่ต้องรอพิจารณาร่วมกับรายงานผลการพิจารณาของ กมธ. เพราะจะทำให้ช้า เชื่อว่าจะผลักดันร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ให้ออกมาบังคับใช้ได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ คงไม่ไปรอให้รัฐบาลชุดต่อไปเข้ามาพิจารณาการปฏิรูปประเทศในระยะที่ 2

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. …. เป็นการออกกฎหมายเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของภาครัฐขึ้นมาใช้แทน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ที่ใช้มากว่า 18 ปี โดยไม่เคยถูกแก้ไขมาก่อน ทำให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้ โดยเฉพาะเรื่องขั้นตอนที่ล่าช้า และการปิดข้อมูลโดยอ้างว่าอยู่ในข้อยกเว้น

นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในฐานะอนุ กมธ.พิจารณาแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 เปิดเผยว่า กฎหมายข้อมูลข่าวสารฉบับใหม่จะมีสาระสำคัญที่แตกต่างจาก พ.ร.บ.ฉบับเดิม 6 ประการสำคัญ ประกอบด้วย

1. กำหนดนิยามใหม่ ให้ข้อมูลที่เกิดจากการดำเนินงานของรัฐ ไม่ว่าจะใช้อำนาจหรือใช้งบประมาณ ถือเป็น “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” ที่ต้องเปิดเผย ไม่ใช่ “ข้อมูลข่าวสารของราชการ” ตาม พ.ร.บ.ฉบับเดิม

2. ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นทุกประเภท จะต้องนำขึ้นไปอยู่บนเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการนั้นๆ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึง

3. ทุกหน่วยงานราชการจะต้องมีจุดให้บริการ (service point) สำหรับประชาชนในการขอตรวจดูข้อมูลข่าวสาร และต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ทำงานด้านนี้โดยตรง

4. กำหนดบทคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ได้รับการคุ้มครองไม่ต้องถูกลงโทษทางวินัย หากการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นไปโดยสุจริต

5. แก้ไขเรื่องข้อยกเว้นในการไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ชัดเจนมากขึ้น ไม่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้ดุลยพินิจ เช่น หากเป็นข้อมูลข่าวสารที่อาจกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล ก็จะระบุให้ชัดว่าเฉพาะที่มีกฎหมายรองรับไว้เท่านั้น เช่น ประวัติคนไข้ คดีความในศาล เป็นต้น

6. เปลี่ยนโครงสร้างสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) จากเดิมเป็นหน่วยงานใต้สังกัดสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) แต่ในร่าง พ.ร.บ. นี้ ให้ไปอยู่กับผู้ตรวจการแผ่นดิน

(อ่านประกอบ “เยี่ยมศักดิ์ คุ้มอินทร์” ผู้อำนวยการ สขร. เปิดจุดอ่อน กม.ข้อมูลข่าวสาร ใช้ 18 ปีไม่เคยแก้ – วัฒนธรรมข้าราชการไทย “อำนาจตามอำเภอใจ” อุปสรรคสำคัญ)

สำหรับร่าง พ.ร.บ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ พ.ศ. …. หรือ “ร่างกฎหมายคุมงบซื้อสื่อ” มีสาระสำคัญคือการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด มีสมาชิก 9 คน ประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ อีก 6 คน มาเป็นผู้ช่วยกลั่นกรองโครงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานภาครัฐ ก่อนที่จะส่งเรื่องให้สำนักงบประมาณเบิกจ่ายเงิน เนื่องจากที่ผ่านมาการใช้งบประชาสัมพันธ์ของภาครัฐซึ่งมีมูลค่ารวมกันราว 8 พันล้านบาท/ปี (ไม่รวมถึงงบจัดอีเวนต์อีกราว 8 พันล้านบาท/ปี) มักมีปัญหาใน 3 ประเด็น คือ 1. ทำให้เกิดการคอร์รัปชัน มีการเรียกเงินใต้โต๊ะ 30-70% หรือเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพวกตัวเอง 2. ใช้เงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ถูกฝ่ายการเมืองนำไปใช้โฆษณาตัวเอง และ 3. ทำให้เกิดการแทรกแซงสื่อ ใช้งบโฆษณาเป็นเครื่องมือให้สื่อนำเสนอแต่ข่าวที่ผู้มีอำนาจต้องการ