ThaiPublica > เกาะกระแส > กรุงเทพมหานคร-UddC เสนอโครงการ “กรุงเทพฯ 250” เชื่อมเมืองสู่ย่าน สร้างเมืองสู่วิถีชีวิตใหม่ โครงการนำร่องกะดีจีน-คลองสาน

กรุงเทพมหานคร-UddC เสนอโครงการ “กรุงเทพฯ 250” เชื่อมเมืองสู่ย่าน สร้างเมืองสู่วิถีชีวิตใหม่ โครงการนำร่องกะดีจีน-คลองสาน

30 กรกฎาคม 2015


กรุงเทพมหานครร่วมกับ UddC เผยผลการศึกษาโครงการ “กรุงเทพฯ 250: อนาคต ความหลากหลาย โอกาสของทุกคน” โครงการว่าด้วยการออกแบบฟื้นฟูเมืองกรุงเทพฯ ใน 17 เขตย่านเมืองเก่า และเสนอแผนแม่บทอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่นำร่องย่านกะดีจีน-คลองสาน ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องที่พร้อมนำไปปฏิบัติในงบประมาณ 390 ล้านบาท เพื่อเริ่มต้นสร้างกรุงเทพฯ ใหม่ที่จะเห็นผลใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 250 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ ด้านผู้ว่า กทม. ยืนยันเริ่มโครงการตามแผนภายในปี 2560

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 สำนักงานผังเมืองกรุงเทพมหานครร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) นำเสนอ “โครงการจัดทำผังแม่บทการฟื้นฟูย่านเมืองเก่าและการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน หรือ กรุงเทพฯ 250: อนาคต ความหลากหลาย โอกาสของทุกคน” โดยโครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 หลังจากโครงการเสร็จสิ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ทางกรุงเทพมหานครจะนำแผนแม่บทฯ นี้เริ่มปฏิบัติจริงภายในปี 2560 ก่อนหมดวาระอีกประมาณ 1 ปีครึ่ง

ผศ. ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการ UddC กล่าวว่า โครงการกรุงเทพฯ 250 มีจุดหมายสำคัญในการวางแผนผังเมืองกรุงเทพฯ ในอีก 20 ข้างหน้า คือปี 2575 ซึ่งตรงกับวาระเฉลิมฉลอง 250 ปี ในการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และครบรอบ 100 ปี การปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการใน 2 ระดับ คือ 1. ผังยุทธศาสตร์การฟื้นฟูย่านเมืองเก่า ครอบคลุม 17 เขตของกรุงเทพฯ และ 2. ผังแม่บทอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่นำร่องย่านกะดีจีน-คลองสาน

โครงการกรุงเทพฯ 250 ที่มาภาพ : http://www.uddc.net/
โครงการกรุงเทพฯ 250 ที่มาภาพ : http://www.uddc.net/

กรุงเทพฯ 250 (2)

ผศ. ดร.นิรมลกล่าวต่อว่าอีก 20 ปีข้างหน้ากรุงเทพฯ จะเปลี่ยนแปลง โดยประมาณการณ์ว่าจะมีประชากรเพิ่มเป็น 18 ล้านคน เนื่องจากประชากรจะกลับเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้น ดูได้จากการเติบโตของคอนโดมิเนียม และการพัฒนาขนส่งระบบรางที่มีการลงทุนถึง 1 ล้านล้านบาท ในขณะที่ด้านกายภาพของเมืองไม่ได้เปลี่ยนแปลงให้สอดรับกับโครงข่ายสาธารณะ ทำให้การคมนาคมเชื่อมต่อกันไม่สนิท ปัจจุบันกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความหนาแน่นต่ำ แต่มีความแออัดสูง จะเห็นได้ว่าบางเขตพื้นที่มีประชากรลดลงเรื่อยๆ เช่น บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ธนบุรี คลองสาน ดุสิต ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ระบบรางเข้าไม่ถึง ในขณะที่บางเขตพื้นที่เริ่มแก่ คือ มีประชากรสูงวัยมากกว่าร้อยละ 10 เช่น พระนคร บางรัก บางกอกน้อย ดังนั้น การฟื้นฟูเมืองเป็นงานที่คนกรุงเทพฯ ต้องเริ่มทำในศตวรรษนี้แล้ว เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนเมือง

“ผลลัพธ์จากการศึกษาแบ่งเป็น 1) 10 เทรนด์กรุงเทพฯ และ 8 ย่านที่สำคัญของกรุงเทพฯ 2) ผังยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูเขตเมืองชั้นใน และ 3) โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่นำร่องย่านกะดีจีน-คลองสาน” ผศ. ดร.นิรมลกล่าว

10 เทรนด์ 8 ย่านการใช้ชีวิตในเขตเมืองชั้นใน

ผศ. ดร.นิรมลกล่าวต่อว่า 10 เทรนด์ที่เกิดขึ้นแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ

1. ด้านเทคโนโลยี มี 4 เทรนด์ คือ ชีวิตเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา มีระบบรางเชื่อมเมือง มีอิสระแห่งการทำงาน และมีบริการสาธารณะที่สะดวก

2. ด้านเศรษฐกิจ จะมีการเปลี่ยนรูปแบบให้สนองความต้องการของประชากรได้มากขึ้น มี 3 เทรนด์ คือ บูรณาการของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อุตสาหกรรมใหม่กลางเมืองซึ่งมีขนาดเล็กลง และแหล่งพลังงานหลากหลายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

และ 3. ด้านสังคมและประชากร มี 3 เทรนด์ คือ โครงสร้างประชากรใหม่ ความปกติใหม่ของชีวิตคนเมือง และการพัฒนาอย่างทั่วถึง

สำหรับ 8 ย่านที่สำคัญ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ย่านที่มีอยู่เดิมในปัจจุบันและในอีก 20 ปีข้างหน้าก็ยังคงมีอยู่ ได้แก่ ย่านประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม เช่น ธนบุรี รัตนโกสินทร์ ย่านศูนย์กลางพาณิชยกรรม เช่น ตากสิน ปทุมวัน-บางรัก ย่านราชการ เช่น ดุสิต-พญาไท และย่านที่อยู่อาศัย เช่น จรัญสนิทวงศ์ ยานนาวา-บางคอแหลม

ส่วนย่านที่จะเกิดขึ้นใหม่มี 4 ประเภท ได้แก่ ย่านสร้างสรรค์ คือ พื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม มีการรวมกลุ่มของคนด้านศิลปะ ดนตรี วรรณกรรม ย่านนานาชาติ คือ พื้นที่ที่คนต่างชาติเข้ามาอาศัยอยู่ ย่านการผลิตใหม่ คือ พื้นที่ของอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ เช่น อุตสาหกรรมสีเขียว หรืออุตสาหกรรมที่มีการผลิตขนาดเล็ก และย่านอัจริยะ คือพื้นที่ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารแบบออนไลน์

“เมื่อ 10 เทรนด์ x กับ 8 ย่าน จะทำให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น ทั้งเรื่องบ้าน อาคาร และคนในเรื่องรสนิยมและชาติพันธุ์ ที่จะกลายเป็นความหลากหลายในสังคม 3 ระดับ คือ ระดับย่าน ระดับระหว่างย่าน และระดับเมือง ซึ่งจะเชื่อมโยงความหลากหลายทุกระดับทั้งด้านกายภาพ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การใช้ประโยชน์ที่ดิน และด้านโลกเสมือน เช่น สื่อ แต่สิ่งที่กรุงเทพฯ ยังขาดอยู่ในปัจจุบันคือ “ความหลากหลายระหว่างย่าน” ดังนั้นจึงต้องเชื่อมโยงย่านต่างๆ เข้าด้วยกันให้ได้ด้วย 3 ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะเชื่อมย่านสู่เมืองและสร้างเมืองสู่วิถีชีวิตใหม่” ผศ. ดร.นิรมลกล่าว

กรุงเทพฯ 250

ยุทธศาสตร์การเชื่อมย่านสู่เมือง

ผศ. ดร.นิรมลกล่าวเพิ่มเติมว่า ยุทธศาสตร์การเชื่อมย่านสู่เมืองมี 3 ยุทธศาสตร์ คือ 1. กำหนดจุดยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟู โดยเลือกจุดสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร จุดส่งเสริมกิจกรรมเชิงพาณิชยกรรม และจุดส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สาธารณะ 2. ฟื้นฟูพื้นที่ย่านที่มีเอกลักษณ์ โดยเลือกจากพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่เล่าเรื่องราวแต่ละยุคสมัย พื้นที่พาณิชยกรรมที่มีเอกลักษณ์ในเชิงวัฒนธรรมหรือพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และพื้นที่ราชการที่มีศักยภาพพัฒนาใหม่ และ 3. เชื่อมโยงจุดยุทธศาสตร์ด้วยโครงข่ายต่างๆ ได้แก่ โครงข่ายสัญจรทางรางและทางน้ำ และระบบสัญจรรอง เช่น รถจักรยานยนต์รับจ้าง โครงข่ายพื้นที่สีเขียวระดับเมือง เชื่อมโยงพื้นที่ใต้ทางยกระดับ และโครงข่ายการเดินเท้าและทางจักรยาน

ทั้งนี้คาดว่า ถ้าทำตามยุทธศาสตร์ได้สำเร็จจะสามารถเพิ่มจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ ได้อีก 3 แสนคน ทำให้มีที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นประมาณ 2 แสนหน่วย และมีพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 3 ตารางเมตรต่อคน รวมถึงมีการจ้างงานเพิ่มอีกประมาณ 6 แสนคน

โครงการนำร่องกะดีจีน-คลองสาน

ผศ. ดร.นิรมลกล่าวว่า การพัฒนาให้พื้นที่กะดีจีนคลองสานมีการคมนาคมเชื่อมสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา และมีการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเพื่อเชื่อมพื้นที่ในชุมชนออกสู่ด้านนอกได้ จะทำให้เกิด 9 เทรนด์ที่สำคัญในปี 2575 คือ

1. ความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพราะพื้นที่กะดีจีนมีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมกว่า 100 แห่ง 2. การท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์บนพื้นฐานทางวัฒนธรรม 3. สังคมเปิด เพราะมีการเชื่อมต่อกับสังคมภายนอก 4. นวัตกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดิน เนื่องจากมีคนมากขึ้นจึงมีความหลากหลายในการใช้ประโยชน์มากขึ้น 5. ไลฟ์สไตล์ริมน้ำ 6. อาหารสำเร็จรูปเฉพาะย่าน 7. โลกเสมือนกะดีจีน-คลองสาน เนื่องจากปัจจุบันชุมชนสื่อสารผ่านเสียงตามสาย แต่ต่อไปเทคโนโลยีเข้าไปช่วยให้เกิดการสื่อสารผ่านออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊กกะดีจีน-คลองสาน 8. กฎหมายสำหรับทุกคน สืบเนื่องจากการการใช้ประโยชน์ที่ดินทำให้ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ และ 9. วิวัฒนาการของสถาบันหลักเพื่ออนาคต เนื่องจากผู้คนเข้าถึงมากขึ้น ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น

ที่มาภาพ : โครงการกรุงเทพฯ 250
ที่มาภาพ : โครงการกรุงเทพฯ 250

โดยการออกแบบจะคำนึงถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูที่สำคัญ 5 ด้าน คือ 1. เครือข่ายท่องเที่ยวมรดกท้องถิ่นชั้นนำ 2. ต้นแบบธุรกิจมรดกท้องถิ่น 3. ชุมชนสร้างสรรค์ร่วมสมัย 4. ที่อยู่อาศัยริมน้ำที่มีความหนาสูงและมีคุณภาพดี และ 5. พื้นที่สาธารณะร่วมของหลากหลายวัฒนธรรม

สำหรับการพัฒนาพื้นที่กะดีจีนคลองสานนี้จะทำผ่านโครงการ “ย่านแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมริมน้ำที่สร้างสรรค์เพื่อทุกคน” ซึ่งประกอบด้วยด้วย 5 โครงการ คือ

1. โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเดินริมน้ำย่านกะดีจีนให้สวยงามมากขึ้นและผู้คนเข้าถึงได้มากขึ้น

2. โครงการศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยวทางน้ำ-จักรยาน สะพานพุทธฯ โดยสร้างให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดเชื่อมโยงการสัญจรทางน้ำ เนื่องจากมีท่าเรือเก่าที่สามารถปรับปรุงให้ใช้งานได้ สร้างทางจักรยานเพิ่ม

3. โครงการสะพานด้วน สวนลอยฟ้า โดยใช้สะพานพระปกเกล้าที่มีอยู่เดิมมาปรับปรุงทางเดินและทางจักรยานเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่าง 2 ฝั่งเจ้าพระยา และจัดสวนให้มีภูมิทัศน์สวยงาม

4. โครงการพัฒนาทางเดินริมน้ำย่านคลองสาน ซึ่งปัจจุบันมีโครงข่ายแล้วเพียงแต่ยังไม่เชื่อมต่อ ดังนั้น ต้องพัฒนาทางสัญจรให้เชื่อมต่ออย่างครบวงจร

และ 5. โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนโอชาท่าดินแดง โดยจัดระเบียบทางเท้า และสร้างเป็นถนนคนเดิน

“สำหรับทั้ง 5 โครงการข้างต้น มีการประเมินค่าใช้จ่ายไว้แล้วที่ประมาณ 390 ล้านบาท โดยทาง กทม. สามารถทำแผนดังกล่าวเริ่มปฏิบัติงานได้ทันที” ผศ. ดร.นิรมลกล่าว

นอกจากการพัฒนาในพื้นที่สาธารณะแล้ว อาจต้องมีมาตรการควบคุมการก่อสร้างอาคารสูงในพื้นที่ที่จะบดบังหรือทำลายภูมิทัศน์ของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมบางแห่งที่เป็นจุดสายตาที่สำคัญด้วย

การพัฒนาย่านอื่นๆ

ย่านพาณิชยกรรม เช่น ปทุมวัน-บางรัก เสนอให้พัฒนาพื้นที่รอบสถานีบีทีเอส เชื่อมโยงถนนหรือซอยต่างๆ ให้สามารถเดินถึงกันได้ หรือย่านสีลม-สาทร อาจพัฒนาพื้นที่คลองให้เป็นพื้นที่นันทนาการ หรือพื้นที่ใต้ทางด่วนศรีรัช ก็พัฒนาเป็นทางจักรยาน ย่านหัวลำโพง อาจพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่เชื่อมต่อกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือย่านมักกะสัน สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะได้

ย่านที่อยู่อาศัย เช่น ย่านยานนาวา-บางคอแหลม เนื่องจากเป็นพื้นที่ริมน้ำจำนวนมาก จึงสามารถพัฒนาพื้นที่ริมน้ำให้เป็นโครงข่ายสัญจรทางน้ำ รวมถึงพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะริมน้ำ เช่น บริเวณหน้าองค์การสะพานปลา

ย่านศูนย์กลางพาณิชยกรรมตากสิน สามารถพัฒนาพื้นที่โดยรอบเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรที่สำคัญ และกระจายการสัญจรออกด้วยการเพิ่มเส้นทางจราจร หรือย่านวงเวียนใหญ่ เป็นพื้นที่ที่มีร้านค้าที่ดีอาหารอร่อยจำนวนมาก ก็พัฒนาทางเท้าและทางจักรยานเพิ่มขึ้น

กรุงเทพฯ 250 (4)

กรุงเทพฯ 250 (6)

ย่านราชการ-ที่อยู่อาศัย เช่น ดุสิต-พญาไท มีโครงข่ายถนนที่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ระบบการสัญจรไม่เชื่อมโยงกันทั้งระบบรางและทางน้ำ ดังนั้นต้องพัฒนาโครงข่ายให้เชื่อมโยงกัน รวมถึงพัฒนาพื้นที่รอบสถานีบีทีเอสด้วย หรือย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สามารถออกแบบให้เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรทั้งทางรถ ราง และเดินเท้า

ย่านที่อยู่อาศัย เช่น จรัญสนิทวงศ์ ปัจจุบันรถติดตลอดเวลา เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานไม่มีถนนเชื่อมโยงไปหาแหล่งทำงานในทิศตะวันออกและตะวันตก หรือสะพานข้ามแม่น้ำ ทั้งนี้ ปัจจุบันสามารถพัฒนาคุณภาพการอยู่อาศัยให้ดีขึ้นได้ เพราะมีระบบรางเข้าถึงแล้ว

“การนำไปปฏิบัติจริงเน้นที่การเชื่อมโยงโครงข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบราง เรือ และรถ ต้องเชื่อมกันอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งปัจจุบัน กทม. มีแผนดำเนินการแล้ว ด้านระบบขนส่งมวลชนต้องจัดระบบใหม่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง นอกจากนี้อาจมีกลไกด้านกฎหมาย ทั้งผังเมืองรวม และผังเมืองเฉพาะในพื้นที่ที่มีความซับซ้อนน้อยส่วนด้านการเงิน อาจมีการร่วมทุนกันระหว่างรัฐและเอกชน หรือมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งการขับเคลื่อนทั้งหมดต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนระหว่างรัฐ เอกชน ประชาสังคม ชุมชน และสื่อ” ผศ. ดร.นิรมลกล่าว