ThaiPublica > คนในข่าว > “ซูซี ปุดจิอาสตูติ” โอชินแดนอิเหนาผู้กล้ากระตุกหนวดมังกร

“ซูซี ปุดจิอาสตูติ” โอชินแดนอิเหนาผู้กล้ากระตุกหนวดมังกร

24 มิถุนายน 2015


รายงาน..อิสรนันท์

ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนและในยุคสมัยใด หนึ่งในรัฐมนตรีเกรดต่ำสุดที่ซุกอยู่ในมุมมืดที่สุดของคณะรัฐมนตรีจนแทบไม่มีใครจดจำชื่อของเจ้ากระทรวงได้ก็คือกระทรวงประมง อันเนื่องจากแทบไม่มีผลงานที่ต้องรับผิดชอบปรากฏให้เห็น แม้กระทั่งในประเทศหมู่เกาะที่มีชายฝั่งยาวเป็นอันดับ 2 ของโลก แถมยังเป็นชายฝั่งที่มีปลาชุกชุมมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกอย่างแดนอิเหนาอินโดนีเซีย ชื่อของเจ้ากระทรวงประมงก็ถูกลืมเลือนเหมือนกับไม่มีตัวตนอยู่ในคณะรัฐบาล

แต่เมื่อภาพของเรือประมงต่างชาติกว่า 40 ลำที่ถูกทางการอิเหนาระเบิดจนจมสู่ก้นทะเลในวันตื่นตัวแห่งชาติ เพื่อรำลึกถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งแรกของอินโดนีเซียเพื่อกู้เอกราชกลับคืนมาปรากฏไปทั่วโลก ทำให้เจ้าของอุตสาหกรรมประมงทั้งจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย ถึงกับสะอึกไปตามๆ กันและต้องจดจำชื่อของซูซี ปุดจิอาสตูติ หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ซูซี่” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการทางทะเลและประมงคนใหม่ไปอีกนาน ในฐานะหญิงเหล็กสุดห้าวหาญผู้ไม่หวาดหวั่นต่ออิทธิพลใดๆ เดินหน้าสั่งจมเรือประมงต่างชาติทุกลำเพื่อเตือนว่าแดนอิเหนาจะไม่อดทนอีกต่อไปกับการลักลอบเข้ามาจับปลาในน่านน้ำ ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่าคนรุ่นลูกรุ่นหลานจะได้ประโยชน์จากความมั่งคั่งทางทะเลของประเทศ

ซูซี ปุดจิอาสตูติ ที่มาภาพ : http://cdn.tmpo.co/data/2015/06/16/id_410241/410241_620.jpg
ซูซี ปุดจิอาสตูติ ที่มาภาพ: http://cdn.tmpo.co/data/2015/06/16/id_410241/410241_620.jpg

ใช่เพียงเท่านี้ สาวใหญ่หน้าเข้มตาคมวัย 50 ปียังลงทุนเป็นพรีเซนเตอร์โปสเตอร์ขนาดยักษ์ ยืนอยู่หน้ากระทรวงประมงด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม สวมแว่นตาดำที่สะท้อนภาพเรือประมงที่ถูกยิงจมพร้อมกับข้อความว่า “ลำต่อไปอยุู่ที่ไหน” ท่ามกลางคำเตือนของนักวิจารณ์หลายคนว่า แม้กฎหมายของอินโดนีเซียจะเปิดทางให้ทำเช่นนี้่้ได้ แต่เกรงว่าในระยะยาวแล้วจะได้ไม่คุ้มเสียและจะส่งผลกระทบตามมา เพราะแม้ว่าไทยและเวียดนามอาจจะยอมรับผลของการกระทำนี้ แต่ยากจะเชื่อว่าจีนจะยอมรับมาตรการนี้แต่โดยดีโดยไม่หาทางตอบโต้ให้สาสม

อย่างไรก็ดี ซูซีโต้ทันควันว่า ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศนี้ต้องสูญเสียรายได้จากการถูกลักลอบจับปลาในน่านน้ำถึงปีละ 25,000 ล้านดอลลาร์ แต่ตัวเลขจริงคงจะสูงกว่านั้นมาก ขณะที่ชาวประมงท้องถิ่นมีแต่ลดลงเนื่องจากจับปลาได้น้อยลงจนไม่พอกินพอใช้ ไม่สามารถสู้กับเรือประมงขนาดใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้านได้ แถมการส่งปลาก็ยังมีปัญหาเนื่องจากเป็นประเทศหมู่เกาะ เต็มไปด้วยภูเขาสูง

“นี่ก็เหมือนกับผลกระทบของโดมิโน เรือประมงต่างชาติหลายพันลำเข้ามาขโมยปลาในน่านน้ำของเราในแต่ละวัน ทำให้ชาวประมงพื้นเมืองมีแต่ยากจนลงๆ และต้องหาทางเอาตัวรอดด้วยวิธีง่ายๆ อย่างเช่นใช้แหอวนที่มีขนาดเล็กลง ซึ่งก็จะไปทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่เราต้องการอวนที่ดีขึ้น มีการฝึกการจับปลาด้วยวิธีที่ทันสมัยขึ้น และมีห้องเย็นไว้แช่ปลามากขึ้น”

กระนั้น ซูซียืนกรานว่าจะไม่มีการลงทุนในอุปกรณ์การประมงที่ดีขึ้น จนกว่าจะสามารถสกัดกั้นเรือประมงต่างชาติให้ยุติการลักลอบเข้ามาจับปลาในน่านน้ำของอินโดนีเซียก่อน

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ซึ่งตั้งเธอเป็นรัฐมนตรีประมงเมื่อราวปลายเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว ได้ออกปากรับประกันคุณสมบัติคับแก้วของเธอที่จะเข้ามาดูแลทรัพยากรทางทะเลของประเทศว่าซูซีเป็นผู้หญิงที่ทำงานหนักมาก เริ่มต้นธุรกิจจากศูนย์กระทั่งประสบความสำเร็จในธุรกิจทางทะเลและการเดินอากาศ จากความสำเร็จนี้ทำให้เชื่อว่าเธอจะมาช่วยปฏิรูปเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ซึ่งซูซีก็ตอบว่า “นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 33 ปีที่ฉันมีเจ้านายแล้ว” พร้อมกับเล่าว่าได้ย้อนถามประธานาธิบดีว่าแน่ใจมากแค่ไหนที่เลือกเธอเป็นรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่าจะต้องมีปัญหาขัดแย้งตามมา ประธานาธิบดีโจโกวีตอบว่าประเทศกำลังต้องการคนที่พร้อมลุยอย่างเธอ โดยเฉพาะในช่วงที่ตัวเองต้องการฟื้นฟูความเป็นมหาอำนาจทางทะเลอีกครั้ง และเธอก็สนองนโยบายนั้นทันควัน

ไม่ทันไร สาวห้าวที่แกร่งไม่แพ้ชายก็กลายเป็นขวัญใจของสื่อและประชาชนจากการใช้กำปั้นเหล็กจัดระเบียบเรือประมงต่างชาติ ด้วยการออกกฎกระทรวงด้านประมงใหม่ 4 ฉบับก่อนจะออกเพิ่มอีกอย่างน้อย 10 ฉบับ ส่วนใหญ่เน้นเรื่องการห้ามเรือประมงขนาดใหญ่ของต่างชาติลอยลำเข้าน่านน้ำของประเทศเด็ดขาด หากจับได้ก็จะถือเป็นเรือเถื่อนพร้อมจมเรือทิ้ง โดยเธอเชื่อว่าเป็นเรื่องง่ายกว่าและใช้เงินน้อยกว่าในการปกป้องน่านน้ำของประเทศ ซึ่งได้ส่งออกผลิตภัณฑ์ทางทะเลมากเป็นอับดับ 5 ในอาเซียน ดีกว่าจะสร้างอุตสาหกรรมทะเลขึ้นมาใหม่จากซากปรักหักพัง ยังเป็นคำสั่งที่เปิดช่องให้บริษัทต่างชาติจะเข้ามาลงทุนได้เฉพาะในภาคกระบวนการแปรรูปและทำการตลาดเท่านั้น

ในฐานะเจ้ากระทรวงประมง เธอยังวางแผนจะตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อปราบปรามขบวนการออกใบอนุญาตปลอมให้สามารถจับปลาในน่านน้ำ คู่ขนานไปกับการผลักดันให้แดนอิเหนาก้าวขึ้นมาเป็นตลาดการประมงใหญ่ที่สุดในเอเชีย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล เธอยังวางแผนจะเปิดโรงเรียนสอนด้านการประมงใหม่อีกอย่างน้อย 10 แห่งในช่วง 5 ปีข้างหน้า

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเพียงแค่เดือนเดียวที่ซูซีเข้ารับตำแหน่ง จึงมีรายงานจากสำนักงานสถิติกลางว่าราคาปลาในประเทศเริ่มถูกลง ตรงกันข้ามกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิดที่มีแต่พุ่งสูง ทำให้ปัญหาปากท้องของประชาชนเริ่มคลี่คลายลงในระดับหนึ่ง และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ซูซีกลายเป็นรัฐมนตรีขวัญใจประชาชนยิ่งกว่ารัฐมนตรีคนอื่นๆ ทั้งๆ ที่เธอเป็นเพียงแม่ค้าขายปลาธรรมดาๆ ที่ไม่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายด้วยซ้ำไป หรือเรียกได้ว่าเป็นรัฐมนตรีคนแรกที่มีเกณฑ์การศึกษาต่ำกว่าเกณฑ์ทั่วไป

แต่สิ่งนี้ก็ชดเชยด้วยประสบการณ์ล้ำค่าที่ยากหาใครมาเทียมทาน นั่นก็คือการเป็นรัฐมนตรีที่พร้อมจะสู้กับชีวิตมากกว่าใคร กระทั่งได้เป็นประธานบริษัทส่งออกผลิตภัณฑ์ทางทะเลไปยังหลายประเทศ รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น และอเมริกา นอกเหนือจากเป็นประธานสายการบิน “ซูซีแอร์” ที่มีเครื่องบินเซสนาราว 50 ลำไว้บริการลูกค้าระดับชาวบ้านไปจนถึงวีไอพี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ซูซี ปุดจิอาสตูติ เกิดที่เมืองปันกันดารัน เมืองเล็กๆ บนเกาะชวาตะวันตก ลูกสาวของผู้บุกเบิกรุ่นที่ 5 ของเมืองนี้ซึ่งมีเชื้อสายชวาแท้ แม้ฐานะของครอบครัวค่อนข้างจะมีกินจากการมีที่ทางไว้เลี้ยงวัวเลี้ยงควายตามประสา กระนั้น ซูซีก็เรียนไม่จบระดับมัธยมปลายเนื่องจากถูกไล่ออกจากโรงเรียนกลางคันขณะมีอายุแค่ 17 ปีเท่านั้น เพื่อลงโทษที่เธอไปร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับขบวนการโกลพุตที่ถูกประธานาธิบดีซูฮาร์โตสั่งแบน แต่เธอก็ไม่ยอมจำนนกับชีวิตที่กำลังหักเหครั้งใหญ่ เบนเข็มไปทำธุรกิจแรกในชีวิตเมื่อปี 2526 ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงก็ไม่ค่อยมีโอกาสมากนัก โดยเฉพาะผู้ที่เรียนครึ่งๆ กลางๆ และไม่อยากเป็นลูกจ้างใคร เมื่อเห็นโอกาสอะไรรออยู่ข้างหน้าก็จะรีบคว้ามาก่อน งานแรกจึงเริ่มด้วยการขายฟูกนอน ก่อนจะหันไปขายปลาที่บ้านเกิดปันกันดารัน แบบเดียวกับ “โอชิน” ยอดหญิงนักสู้ของญี่ปุ่น นั่นก็คือต้องตื่นแต่เช้ามืด ไปประมูลปลาในราคาถูกที่ตลาดปลาริมชายหาดแล้วนำไปขายหรือส่งต่อให้กับร้านขายปลาอื่นๆ “การทำธุรกิจของตัวเองก็เหมือนกับกำลังเรียนในโรงเรียนที่สอนดีที่สุด เพราะถ้าพลาดขึ้นมาเมื่อใดก็ได้แต่เจ็บปวดสุดๆ “

ความที่ต้องยืนอยู่บนลำแข็งของตัวเอง ซูซีจึงกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่นๆ และเธอได้นำความรู้นอกตำราผ่านคำบอกเล่าจากประสบการณ์ของคนอื่นๆ ไปประยุกต์ใช้ อาทิ เธอจะเริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ ก่อน เช่น แทนที่จะสร้างโรงงานทำน้ำแข็งขนาดใหญ่สำหรับแช่ปลา เธอกลับไปซื้อเครื่องทำน้ำแข็งขนาดเล็กๆ แทน ประกอบกับต้องการเอาชนะคำสบประมาทของชาวบ้านที่ดูถูกว่าผู้หญิงไม่ควรจะเก่งกล้าเกินชาย ท้ายสุดซูซีก็ได้รางวัลตอบแทนเมื่อกลายเป็นผู้บุกเบิกการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางทะเลหลากหลายรูปแบบสู่ญี่ปุ่น

ระหว่างที่การส่งออกเริ่มจะเดินเครื่อง วิกฤติต้มยำกุ้งได้ลามไปถึงแดนอิเหนาเมื่อปี 2541 ค่าเงินรูเปียห์มีแต่รูดร่วงมหาราช กลับตาลปัตรกับราคาส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ทางทะเลที่มีแต่สูงขึ้น สร้างกำไรมหาศาลให้กับเธอและประเทศชาติ ซูซีได้แปลงวิกฤติเป็นโอกาส ขยับขยายตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางทะเลที่สุดแสนทันสมัยขึ้น ภายใต้ชื่อว่าบริษัท อาซี ปุดจิอาสตูติ มารีน โปรดักส์ หรือ “ซูซี แบรนด์” ส่งออกแพ็คเกจกุ้งล็อบสเตอร์มีคุณภาพไปเอเชียและอเมริกา

ด้วยนิสัยส่วนตัวที่ห้าวสุดๆ แม้จะเสียงแหบแต่ก็พูดจาโผงผางตรงไปตรงมา กล้าเสี่ยงสุดตัว กล้ากระทั่งสักรูปนกที่บริเวณหน้าแข้งขวาสูงเกือบจรดเข่า แต่ไม่มีใครรู้เพราะเธอมักจะแต่งตัวแบบชาวชวานั่นก็คือนุ่งโสร่งยาว กระทั่งเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ซูซีจึงเปลี่ยนมาสวมกระโปรงยาวเผยให้เห็นรอยสักสีน้ำเงิน พร้อมกับโชว์เล็บเท้าสีสันสดใส นอกจากนั้น เธอยังพูดได้คล่อง 3 ภาษา นอกจากภาษาชวา ภาษาถิ่นแล้ว เธอยังพูดภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมนีได้ด้วย โดยเฉพาะภาษาเยอรนีที่เธอเรียนรู้จาก คริสเตียน ฟอน สตรอมเบค สามีชาวเยอรมนี ที่มีพยานรักด้วยกัน 3 คน ซูซีจึงพร้อมสานฝันตั้งแต่วัยเด็กให้เป็นจริงขึ้นมา นั่นก็คือการเป็นเจ้าของสายการบินสักสายหนึ่ง แต่วิกฤติการเงินครั้งนั้นทำให้การขอกู้เงินจากธนาคารเต็มไปด้วยความยากลำบาก ธนาคารทุกแห่งนอกจากจะปฏิเสธคำขอกู้เงินอย่างไม่ไยดีแล้วยังตอบกลับว่าเป็นโครงการที่โง่มาก

กระทั่ง 4 ปีผ่านไป โอกาสทองก็เปิดให้อีกครั้ง เมื่อธนาคารแห่งหนึ่งยอมให้เธอกู้เงิน 4.7 ล้านดอลลาร์ เพื่อซื้อเครื่องบินเซสนา 2 ลำและสร้างสนามบินขนาดเล็กขึ้นแห่งหนึ่ง สำหรับส่งกุ้งลอบสเตอร์และผลิตภัณฑ์ทางทะเลไปที่กรุงจาการ์ตาทำให้สามารถประหยัดเวลาในการขนส่งอีกทั้งทำให้สามารถส่งออกกุ้งล็อบสเตอร์ได้ตามกำหนด แม้จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่ก็ขายสินค้าได้ราคาดีเป็นเงาตามตัว เหตุนี้ธุรกิจของบริษัทอาซี ปุดจิอาสตูติ เอวิเอชั่น หรือ “ซูซีแอร์” จึงเติบโตอย่างรวดเร็วเพราะได้เปรียบในเรื่องความสดใหม่

วิกฤติที่กลับกลายเป็นโอกาสได้เกิดขึ้นอีกครั้ง ทำให้เธอสามารถขยายฝูงเครื่องบินเซสนาจาก 2 ลำแรกจนกลายเป็นฝูงเครื่องบินเซสนา 50 ลำที่บินหลากหลายเส้นทาง จากจังหวัดเหนือสุดของปาปัวไปยังอาเจะห์ที่อยู่ห่างออกไปทางตะวันตกราว 5,000 กม. มีขึ้นหลังจากเริ่มกิจการ “ซูซีแอร์” ได้แค่เดือนเดียว ก็เกิดสึนามิยักษ์ถล่มอาเจะห์จนแทบแหลกทั้งเกาะ เธอรีบบินไปที่พื้นที่ประสบภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือ โดยมีสามีเป็นนักบินขับเครื่องบินเซสนา และจากแผนเดิมที่ว่าจะอยู่ช่วยเหลือแค่ 2 สัปดาห์ก็ยืดเป็น 2 ปี เมื่อหน่วยบรรเทาทุกข์ได้ขอเช่าเครื่องบินเซสนาเพื่อใช้ในกิจการนี้ รายได้จากการให้เอ็นจีโอเช่าเครื่องบินนี้ ทำให้ซูซีสามารถซื้อเครื่องบินลำใหม่และขยายเส้นทางบินไปปาปัวและกาลิมันตัน

อีกทั้งยังเปิดเส้นทางใหม่ๆ ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดารเพื่อขนข้าวของและของใช้จำเป็นไปตามหมู่บ้านตลอดแนวเขาสูงอันซับซ้อน ความที่เครื่องบินเซสนา ขนาด 30 ที่นั่งสามารถบินขึ้นลงในสนามบินเล็กๆ ที่รันเวย์มีระยะทางสั้นๆ แค่ 1 กิโลเมตร ไม่จำเป็นต้องยาวถึง 3 กิโลเมตรตามมาตรฐานสกล จึงสามารถลงจอดตามเมืองชายหาด เพื่อบรรทุกปลาและบินตรงไปยังจุดหมายปลายทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง กระทั่งท้ายสุด นอกเหนือจากมีสำนักงานใหญ่ที่ปันกันดารันและสนามบินฮาลิมแล้ว ยังมีสำนักงานสาขาที่ปาปัวและกาลิมันตันด้วย และได้สร้างสนามบินเล็กๆ ขึ้นที่ปันกันดารัน ซิดวน และซิอันจูร์

“สโลแกนของเราก็คือรันเวย์ขนาด 1 กิโลเมตรสามารถนำคุณไปทั่วโลกและนำโลกมาสู่คุณ” ซูซีย้ำพร้อมกับเผยว่าธุรกิจเดินอากาศของซูซีแอร์เติบโตตามลำดับ นอกจากเป็นเครื่องบินพาณิชย์แล้วยังเป็นเครื่องบินเหมาลำระดับวีไอพีด้วย ช่วงที่ยุโรปและสหรัฐฯ ประสบวิกฤติเศรษฐกิจจนไม่มีใครกล้าซื้อเครื่องบิน แต่ซูซีกลับคิดมุมต่าง เธอสั่งซื้อเครื่องบินฝูงใหม่รวดเดียวถึง 30 ลำเมื่อปี 2555 เพื่อมาเสริมกำลังในซูซีแอร์ ซึ่งขณะนี้มีครื่องบินประเภทต่างๆ 32 ลำ รวมไปถึงเครื่องบินเช่าเหมาลำระดับวีไอพีขนาด 6-8 ที่นั่ง สามารถบินไกลในระยะทางกว่า 1,800 กิโลเมตรโดยไม่ต้องแวะเติมน้ำมันและด้วยความเร็วพอๆ กับเครื่องบินเจ็ตแต่ใช้น้ำมันเพียงแต่ครึ่งเดียว เธอยังสั่งซื้อเครื่องบินพีลาตุส พีซี-6 สามารถดัดแปลงเป็นเครื่องบินพยาบาลลอยฟ้าและใช้ในการสำรวจทางอากาศ “ซูซีแอร์” ยังมีเฮลิคอปเตอร์ความเร็วสูงอีก 2 ลำ ลำหนึ่งคือแกรนด์ อากุสตา ผลิตในอิตาลีในราคาราว 7 ล้านดอลลาร์ อีกลำหนึ่งเป็นเครื่องบินคาโอลา เอ 1189 เคอี สำหรับบินในจาการ์ตาและปริมณฑล ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้บริหาร ข้าราชการและเอ็นจีโอ ที่ยอมจ่ายเงิน 3,500 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ที่สำคัญ เธอยังอุตส่าห์เจียดเวลาไปหัดขับเฮลิคอปเตอร์จนเป็น และขับไปไหนมาไหนจากอาคารสำนักงานในกรุงจาการ์ตาเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจร “ฉันไม่ต้องการเสียเวลากับปัญหารถติด” เธอตอบสั้นๆ

เพื่อจะแก้ปัญหานักบินไม่พอ ซูซีจึงตัดปัญหาจ้างนักบินต่างชาติถึง 175 คนมาช่วยบินจากนักบินทั้งหมด 180 คน เธอยอมรับว่าธุรกิจการบินนี้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก แถมทำกำไรน้อยราว 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่เธอก็ยินดีเปิดเส้นทางใหม่ๆ และยินดีบินทุกวันไม่ว่าจะมีผู้โดยสารเต็มลำหรือไม่ เพื่อช่วยพัฒนาพื้นที่ห่างไกลรวมทั้งเปิดตลาดใหม่ๆ ตอนนี้ซูซีแอร์ได้กลายเป็นสายการบินที่ใช้เครื่องบินเซสนาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก สายการบินของเธอได้รับการโปรโมทเมื่อสถานีโทาทัศน์ช่อง 4 ได้นำไปทำเป็นสารคดีหลายตอนจบ เรื่อง “สถานที่ยอดแย่ที่สุดที่จะเป็นนักบิน” โดยตามดูจากชีวิตของนักบินชาวอังกฤษหลายคนที่ทำงานกับเธอ เนื่องจากไม่สามารถหางานทำในประเทศบ้านเกิดที่ยุโรปได้ นักบินคนหนึ่งยอมรับว่า “เธอไม่ใช่คนที่คุณจะคว่ำได้ง่ายๆ” แม้ว่าซูซีเกือบจะล้มทั้งยืนตอนมีข่าวว่าเครื่องบินเกิดอุบัติหลายครั้งและแต่ละครั้งก็มีผู้เสียชีวิต

จากชีวิตต้องสู้ราวกับเป็น “โอชินแห่งแดนอิเหนา” ผู้หาญกล้ากระตุกหนวดมังกร ซูซีจึงได้รับรางวัลเกียรติยศ “นักธุรกิจรุ่นใหม่แห่งปีจากเอิร์นสท์ แอนด์ ยัง อินโดนีเซีย ”