ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. เด้ง “อธิบดีกรมการบินพลเรือน” ก่อนเส้นตาย ICAO – ไฟเขียวงบ 4 พันล้านช่วย SMEs

ครม. เด้ง “อธิบดีกรมการบินพลเรือน” ก่อนเส้นตาย ICAO – ไฟเขียวงบ 4 พันล้านช่วย SMEs

17 มิถุนายน 2015


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเรื่องมาตรฐานการบิน ก่อนที่องค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) จะประกาศลดมาตรฐานการบินของไทย จากประเภทที่ 1 เป็นประเทศที่ 2 ซึ่งมีเส้นตายเป็นวันที่ 18 มิถุนายน 2558 นี้ ว่า ขณะนี้รัฐบาลก็กำลังแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ มีทั้งการปรับโครงสร้างและเพิ่มเติมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเดินทางไปประสานกับ ICAO ที่ประเทศแคนาดา รายงานมาว่า เขาให้กำลังใจเราในการแก้ปัญหา ส่วนเมื่อทำเต็มที่แล้ว ICAO จะเลื่อนให้เราหรือไม่ อย่าไปกังวล เพราะมันเป็นปัญหาที่มีมาแต่เดิม รัฐบาลก็ทำอย่างเต็มที่แล้ว เขาจะให้หรือไม่ เราก็ต้องมาช่วยกัน

ขอเลิกเสนอข่าวรัฐประหารซ้ำ – ยันเป็นไปไม่ได้

เมื่อถามถึงปัญหาภัยแล้ง พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีเกษตรกรทั้งกลุ่มที่เข้าใจและไม่เข้าใจ เห็นน้ำในเขื่อนแห้งก็ยังทำนา 2 รอบ จึงต้องไปหาวิธีว่าจะปรับวิธีการปลูกพืชอย่างไร เหตุที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เพราะป่าถูกทำลายกว่า 26 ล้านไร่ หากไปดูในภาคเหนือจะเห็นภูเขาหัวโล้นมากมาย จะปลูกป่าทดแทนก็ทำทันทีเลยไม่ได้ วันข้างหน้าอาจไม่มีฝนเลยก็ได้ เพราะตนไปบังคับให้ฝนตกไม่ได้ ทั้งนี้ การช่วยเหลือเกษตรกร จะไปช่วยแต่เงินก็คงไม่ได้ เพราะหากให้เงินช่วยเหลือเป็นรายคน ชาวนา 23 ล้านคน แค่คนละ 1,000 บาท ก็ต้องใช้งบถึง 2.3 หมื่นล้านบาท ถ้าจะชดเชยในเชิงพื้นที่ แค่ไร่ละ 1,000 บาท 147 ล้านไร่ ก็ต้องใช้งบ 1.4 แสนล้านบาท แล้วจะนำเงินมาจากที่ไหน จึงต้องหาวิธีแก้ปัญหาอื่นด้วย

เมื่อถามถึงกระแสเรื่องการรัฐประหารซ้ำว่า ไม่ใช่นิยาย ใครจะมารัฐประหารซ้ำ เป็นการปล่อยข่าวให้เกิดความวุ่นวายจากคนบางคน ตนเป็นทหารเก่ารู้ดีว่าหากไม่มีเรื่องอะไรก็คงยากที่จะทำรัฐประหารได้ ผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้เกี่ยวข้องก็ยืนยัน เรื่องนี้จึงจบไปแล้ว ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ เวลานี้ตนไปต่างประเทศ เขาก็ถามเรื่องเสถียรภาพ ตนไมได้ฝืนโรดแม็ป และหากร่างรัฐธรรมนูญป่านการทำประชามติก็จะนำไปสู่การเลือกตั้ง

“อยากให้เลิกเสนอข่าวลือแบบนี้เสียที เลิก เลิก เลิก บ้านเมืองจะได้สงบ จะได้ทำอย่างอื่นเสียที อย่างประชุม ครม.วันนี้ก็มีเรื่องเกษตรกร เรื่องการลงทุน ทำไมไม่เสนอข่าวแบบนี้บ้าง หรือจะเอาแต่เรื่องความมั่นคง อยากให้เลิกกันเสียที” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

ไม่ใช้ยาแรงแก้ปัญหาเด็กแว๊น

เมื่อถามถึงการแก้ไขปัญหาวัยรุ่นขับขี่รถยนต์ด้วยความเร็วสูงบนถนนสาธารณะ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีกฎหมายอยู่แล้ว ต้องไปดูว่าเหตุใดถึงยังละเมิดกันอยู่ กฎหมายที่มีอยู่เพียงพอไหม หรือจำเป็นต้องออกมาตรการอื่นเพิ่มเติมอีก ยืนยันไม่ได้หวังจะเอาเป็นเอาตาย เพราะเรื่องนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาสังคม ผู้เกี่ยวข้องกว่า 40% ไม่ได้เรียนหนังสือ ถ้าจะไปเน้นออกกฎหมายก็แก้ปัญหาได้เพียงชั่วคราว ส่วนที่มีการเสนอให้แก้กฎหมายเอาผิดผู้ปกครองด้วย ส่วนตัวเห็นว่าคงยังไม่ถึงขั้นนั้น เอาจากเบาไปหาหนักจะดีกว่า อย่าทำเหมือนคนไข้ต้องกินยาแรงอย่างเดียว มันไม่หายก็ตายเลย เราต้องค่อยๆ ทำ เพราะคิดว่าคนพวกนี้คงไม่อยากทำผิดกฎหมาย มันต้องมีอะไรสักอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของสภาวะจิตใจ และรัฐบาลคงจะไม่ไปสร้างสนามให้แข่ง เพราะมีสนามแข่งอยู่แล้ว

เมื่อถามถึงการแก้ไขปัญหาการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ในวันนี้ก็ขายกันคู่ละ 80 บาทแล้ว แล้วอยากให้แก้ปัญหาอะไรอีก ทุกอย่างต้องทำตามลำดับขั้นตอน หลังจากนี้ จะมีการนำโควตาจากรายใหญ่เกลี่ยไปให้รายย่อย

เมื่อถามถึงข้อเสนอของสมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) บางกลุ่มที่อยากให้เปิดกาสิโนถูกกฎหมายเพื่อนำรายได้เข้าสู่ประเทศ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า แล้วมันทำได้หรือ คนไทยทั้งประเทศยอมหรือเปล่า ส่วนตัวไม่มีจุดยืนในเรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับว่าคนในประเทศเห็นอย่างไร

ไฟเขียวแผนกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนของ มท.

ด้าน พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้ได้รับทราบแผนการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ โดยหลักการก็คือ ขยะในพื้นที่ใดก็ให้จัดการในพื้นที่นั้น หากพื้นที่ใดมีศักยภาพพอจะทำโรงไฟฟ้ากำจัดขยะได้ ก็ให้ใช้วิธีดังกล่าว แต่ถ้าพื้นที่ใดไม่มีศักยภาพก็ให้ใช้วิธีกลบฝัง เวลานี้อยู่ระหว่างการจัดกลุ่มว่าพื้นที่ใดมีศักยภาพบ้าง เบื้องต้นน่าจะมีอยู่ 44 พื้นที่ แต่เนื่องจากในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ไม่ได้มีการกันงบในการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้ากำจัดขยะเอาไว้ จึงต้องไปดูว่าจะใช้การร่วมทุนกับเอกชนในการก่อสร้างได้หรือไม่ เบื้องต้นมีการก่อสร้างโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากำจัดขยะไปแล้ว 1 แห่งใน จ.พระนครศรีอยุธยา

สำหรับผลการประชุม ครม.ที่สำคัญ

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า แม้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนแม่บทการจัดการขยะแห่งชาติ ซึ่งจะรวมถึงขยะมูลฝอยและขยะมลพิษ แต่วันนี้ มท.ได้เสนอแผนจัดการขยะมูลฝอยทั่วไปเข้ามาก่อน โดยสาระสำคัญ 3 ข้อ 1.พื้นที่ มีหลักการว่าขยะเกิดขึ้นในพื้นที่ใดให้พื้นที่นั้นจัดการ โดยขณะนี้ประเทศไทยมีขยะราว 23 ล้านตันต่อปี ไม่รวมถึงขยะสะสมอีก 30 ล้านตัน 2.งบประมาณ ปัจจุบันคนไทยเสียค่าใช้จ่ายการจัดการขยะโดยเฉลี่ย 23 บาท/ครัวเรือน/เดือน หรือคิดเป็น 2 พันล้านบาท/ปี แต่ใช้งบในการจัดการขยะ 1.3 หมื่นล้านบาท/ปี ซึ่งส่วนเกินที่เกิดขึ้นขณะนี้ใช้งบประมาณท้องถิ่นอุดหนุนอยู่ เพื่อให้มีงบเพียงพอในการจัดการขยะ จึงสมควรเก็บค่าใช้จ่ายในการจัดการโดยเฉลี่ย 220 บาท/ครัวเรือน/เดือน อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา และ 3.การแก้ไขกฎหมาย จะมีการแก้ไขกฎหมายให้ มท.มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการขยะมูลฝอยทั่วไป ทั้งการออกกฎและหลักเกณฑ์ในการจำกัดสิ่งปฏิกูล

เด้ง “สมชาย” พ้นอธิบดีกรมการบินพลเรือน – ตั้ง “หิรัญญา” เลขาฯ บีโอไอ

พล.ต. สรรเสริญ ยังกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติแต่งตั้งนางปาริชาต คชรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม (คค.) เป็นอธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) แทนนายสมชาย พิพุธวัฒน์ ที่ถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการ คค. นอกจากนี้ ยังแต่งตั้งนางหิรัญญา สุจินัย เป็นเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จำนวน 3 คน ประกอบด้วยนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ นายชาติชาย สุทธิกลม และนายอมรวิชช์ นาครทรรพ

นายกฯ ชงสูบน้ำบาดาลใช้ช่วงแล้ง – มท.บี้ลดค่าเช่านา 500 บาท/ไร่

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯ ได้สั่งการในที่ประชุม ครม. ถึงการแก้ปัญหาภัยแล้งว่า แม้ไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่ฝนที่ตกส่วนใหญ่อยู่ตอนใต้ของประเทศ และไม่ได้เข้าแหล่งรับน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ ฤดูปลูกข้าวที่ผ่านรัฐบาล รัฐบาลได้พยายามหามาตรการมาช่วยให้เกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย แต่ก็ยังมีเกษตรกรส่วนหนึ่งปลูกข้าวนาปรัง ส่งผลให้การใช้น้ำทั้งระบบผิดพลาดไป ยอดการใช้น้ำสูงถึง 4 พันล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งที่วางแผนไว้เพียง 2.5 พันล้านลูกบาศก์เมตร นายกฯ จึงสั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการที่จะช่วยเหลือเกษตรกร โดยเสนอแนวทางเพิ่มเติมว่าอาจจะใช้น้ำบาดาลเพิ่มขึ้น โดยสอบถามจาก ทส.พบว่า ไทยยังใช้น้ำบาดาลเพียง 10% จากที่สามารถใช้ได้ทั้งหมดราว 50% เกินกว่านี้จะทำให้เกิดปัญหา จึงต้องไปสำรวจว่าพื้นที่ใดสามารถใช้น้ำบาดาลได้ ก่อนนำเสนอที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ซึ่งจะมีการประชุมในสัปดาห์นี้

วันเดียวกัน มท.ยังเสนอความคืบหน้าเรื่องการลดค่าเช่านา ระหว่างที่ยังไม่มี พ.ร.บ. ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีผู้เช่านา 3.8 แสนราย และมีผู้ให้เช่าที่นา 4.1 แสนราย โดยดำเนินการเจรจาให้ลดค่าเช่านาทั่วประเทศลงเฉลี่ยประมาณ 500 บาท/ไร่ ในภาคเหนือจากค่าเช่าเฉลี่ย 2,000 บาท/ไร่ เหลือ 1,500 บาท/ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากค่าเช่าเฉลี่ย 1,200 บาท/ไร่ เหลือ 800 บาท/ไร่ ภาคเหนือ จากค่าเช่าเฉลี่ย 1,800 บาท/ไร่ เหลือ 1,200 บาท และภาคใต้ จากค่าเช่าเฉลี่ย 1,000 บาท/ไร่ เหลือ 800 บาท/ไร่ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเกษตรกรราว 200-20,000 บาท/ครัวเรือน หรือประหยัดงบประมาณรวมได้ราว 342 ล้านบาท

“และเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อมาตรการนี้ ได้มีการทบทวนบัญชีรายชื่อผู้เช่าและผู้ให้เช่าที่นา เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นี้หรือไม่ หากผู้ให้เช่าใดเก็บเกินกว่าอัตราที่ มท.กำหนด ให้แจ้งความดำเนินคดีทุกราย โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มีการกำหนดช่องทางร้องเรียนสำหรับผู้เช่านา และมอบหมายให้คณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลประสานงานกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเพื่อติดตามตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด” พล.ต. สรรเสริญกล่าว

ไฟเขียวงบ 4 พันล้านช่วย SMEs

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบโครงการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อนุมัติงบประมาณชดเชยจารัฐบาลวงเงินรวม 4,073 ล้านบาท ใน 2 โครงการ ได้เแก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS (Portfolio Guarantee Scheme) ระยะที่ 5 ในการจัดสรรให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) 875 ล้านบาท และในโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) ในวงเงิน 3,225 ล้านบาท ในโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยชดเชยดอกเบี้ยให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) 1,350 ล้านบาท ชดเชยค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้ บสย. 487.5 ล้านบาท และชดเชยส่วนต่างระหว่างค่าประกันชดเชยกับค่าธรรมเนียมที่ได้รับให้บสย. 1,387.5 ล้านบาท

โดยโครงการ PGS ระยะที่ 5 อยู่ในมาตรการเพิ่มวงเงินที่รัฐจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน โดยให้บสย. ค้ำประกันสินเชื่อผ่านโครงการพีเอสจี ระยะที่ 5 เพิ่มอีกจำนวน 50,000 ล้านบาท เพื่อลดภาระการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอี โครงการดังกล่าวมีวงเงินค้ำประกันรวม 240,000 ล้านบาท คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% ต่อปีของวงเงินค้ำประกัน มีผลบังคับใช้กับลูกค้าที่ยื่นขอค้ำประกันสินเชื่อ ไปตั้งแต่วันครม.เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558

ส่วนโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มีวงเงินรวม 15,000 ล้านบาท โดยผู้กู้ต้องเป็นลูกหนี้ใหม่และไม่ใช่ลูกหนี้ที่โอนหนี้ (รี-ไฟแนนซ์) มาจากสถาบันการเงินอื่น ระยะเวลาการกู้ยืมไม่เกิน 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 4% ตลอดระยะเวลา 3 ปี ส่วนปีที่ 4 และปีที่ 5 ให้เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ ธพว. กำหนด โดยรัฐจะชดเชยดอกเบี้ยให้ ธพว. 3% ใน 15 ล้านบาทแรก เป็นเวลา 3 ปี ขณะเดียวกันยังให้ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการโดยมีเงื่อนไข คือ มีวงเงินค้ำประกันรวม 15,000 ล้านบาท โดยมีวงเงินค้ำประกันต่อรายสูงสุดไม่เกิน 40 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 5 ปี คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% ต่อปี ของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อตลอดอายุการค้ำประกัน 5 ปี โดยปีแรกรัฐบาลรับชดเชยค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี ของวงเงินค้ำประกัน ปีที่ 2-3 รัฐบาลชดเชย 0.75% ต่อปี  และปีที่ 4-5 ผู้ประกอบการรับภาระค่าธรรมเนียมเองเต็มจำนวน 1.75% ต่อปี

“เดิม ครม.เมื่อวันที่ 17 มี.ค.58 ได้เห็นชอบทั้ง 2 โครงการที่จะเข้าไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีไปแล้ว แต่ ครม.ให้ไปสรุปวงเงินงบประมาณที่จะนำไปชดเชยให้ชัดเจน จึงต้องกลับไปคิดและนำมาเสนอใหม่ โดยในโครงการแรกที่รัฐเพิ่มวงเงินชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้เอสเอ็มอีจะ ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ค่อนข้างแข็งแรงได้ดีขึ้น ส่วนอีกโครงการจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายเล็กๆ ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ให้มีทุนไปทำกิจการได้คล่องตัวยิ่งขึ้น” พล.ต. สรรเสริญกล่าว

CITES พอใจไทยคุมเข้มงาช้าง

พล.ต. สรรเสริญ ยังกล่าวว่า พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รายงานในที่ประชุม ครม.ว่า หลังจากส่งหนังสือรายงานความคืบหน้าการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Spcies of Wild Fauna and Flora : CITES) โดยเฉพาะการปฏิบัติงานเกี่ยวงาช้าง ไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 ปรากฏว่าทาง CITES พอใจผลการปฏิบัติงานของไทย ที่มีความถูกต้อง เหมาะสม ยั่งยืน และมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน

“ทาง CITES จึงจะไม่ออกมาตรการเพิ่มเติมที่จะเป็นผลกระทบต่อไทย แต่ไทยก็ยังอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศเฝ้าระวังของ CITES ซึ่งนายกฯ ก็สั่งการว่าไม่ต้องการให้หน่วยงานต่างๆ กังวลกับท่าทีขององค์กรระหว่างประเทศมากเกินไป ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด ส่วนผลจะออกมาอย่างไรค่อยว่ากันอีกเรื่อง” พล.ต. สรรเสริญกล่าว

เห็นชอบร่างกฎหมาย ป.ป.ท.ใหม่ – เพิ่มอำนาจ ให้ขึ้นตรงต่อนายกฯ

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบร่างกฎหมายเกี่ยวกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ. มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางของคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 69/2557 ให้ ป.ป.ท. มีมาตรฐานการปฏิบัติใกล้เคียงกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เป็นองค์กรอิสระ

เริ่มจากเปลี่ยนแปลงที่มาของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ที่ให้ ครม. ป.ป.ช. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้เสนอรายชื่อผู้สมควรเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการ ป.ป.ท. หน่วยงานละ 5 คน รวม 15 คน จากนั้นให้คณะกรรมการสรรหาเลือกเหลือเพียง 6 คน เพื่อเสนอนายกฯ ทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยกรรมการ ป.ป.ท.แต่ละคนมีวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปี

นอกจากนี้ ยังปรับปรุงการทำงาน โดยกำหนดขอบเขตการทำงานเรื่องร้องเรียนแต่ละเรื่องให้เสร็จภายใน 5 เดือน เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ และให้เลขาธิการ ป.ป.ท. หรือพนักงาน ป.ป.ท.เป็นผู้สอบสวนได้ จากเดินต้องเป็นกรรมการ ป.ป.ท.หรืออนุกรรมการ ป.ป.ท.เท่านั้น และเพิ่มอำนาจในการดำเนินการทางปกครองกับวินัยกับผู้ที่ถูกสอบสวนในระหว่างรอการพิจารณาคดี รวมมีอำนาจส่งฟ้องคดีเองได้

“สำนักงาน ป.ป.ท.ใหม่ แม้จะมีฐานะระดับกรม แต่ไม่อยู่ภายใต้กระทรวงใด ทว่าขึ้นต่อนายกรัฐมนตรี คล้ายกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือสำนักงานพระพุทธศาสนา” พล.ต. สรรเสริญกล่าว

คลอดร่าง กม.พัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการนำเอาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งเคยนำเสนอ ครม.แล้ว จำนวน 3 ฉบับ มารวมกัน ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ. คณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และร่าง พ.ร.บ. กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ ให้ส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ใช้ “ปทุมธานีโมเดล” แก้ปัญหาชุมชนแออัดล้ำที่สาธารณะทั่วประเทศ

รองโฆษกฯ ยังกล่าวว่า ครม.ยังได้หารือถึงการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ โดยมีคำส่งให้ ทส. มท. กรุงเทพมหานคร และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดระเบียบชุมชนแออัดที่มีการบุกรุกคลองสาธารณและทางระบายน้ำ ซึ่ง จ.ปทุมธานีเป็นจังหวัดที่ประสบปัญหามากที่สุด เพราะเป็นแหล่งที่มีการอพยพเข้ามาของแรงานจำนวนมาจนเกิดข้อพิพาทกับเอกชนบ่อยครั้ง โดยเฉพาะบริเวณคลองหนึ่ง ทาง จ.ปทุมธานีจึงประสานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาเกิดเป็น “ปทุมธานีโมเดล” โดยมีการตั้ง 1.คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่เพื่อคนยากจนที่บุกรุกที่สาธารณะ และ 2.คณะทำงานตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติเพื่อนำมาใช้จัดสรรในการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน

“ผลสำรวจพบพื้นที่ใกล้เคียงคลองเชียงราก จ.ปทุมธานี เนื้อที่ราว 42 ไร่ที่สามารถจัดสรรเป็นอาคารที่พักอาศัยให้กับประชาชนที่บุกรุกที่สาธารณะ จึงมีการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชน ตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย ให้ประชาชนมีส่วนรับผิดชอบในการสร้างที่อยู่อาศัยของตน และจัดตั้งองค์กรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยนายกฯ ได้สั่งการให้ขยายปทุมธานีโมเดลครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมอบหมายให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” พล.ต. สรรเสริญกล่าว