ThaiPublica > คอลัมน์ > The Science of “ดีได้เเต่อย่าเด่นจะเป็นภัย” : An Experiment on Jealousy, Punishment, and Other People’s Incomes

The Science of “ดีได้เเต่อย่าเด่นจะเป็นภัย” : An Experiment on Jealousy, Punishment, and Other People’s Incomes

16 มิถุนายน 2015


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

เมื่อสมัยที่ผมยังเป็นนักศึกษาปริญญาตรีปีที่หนึ่งในคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยบรูเนล (Brunel) ประเทศอังกฤษ วิชาที่ผมเรียนเป็นวิชาเเรกๆเลยก็คือวิชา Principles of Microeconomics ซึ่งเเปลเป็นไทยก็คือหลักของเศรษฐศาสตร์จุลภาค ซึ่งบทเรียกเเรกๆที่ผมจำได้ดีเกี่ยวกับวิชานี้ก็คำสอนที่ว่า competition is good พูดง่ายๆก็คือการเเข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการเเข่งขันเรื่องอะไรก็ตาม ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี นั่นก็เป็นเพราะว่าการเเข่งขันนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะผลักให้คู่เเข่งขันเเต่ละคนพยายามที่จะผลิตสินค้าที่ดีขึ้นกว่าเดิมเเละที่สำคัญดีกว่าคนอื่น เพื่อที่ตัวเองจะได้เพิ่ม market share ของตน (ถ้าจะยกตัวอย่างง่ายๆของการเเข่งขันในตลาดปัจจุบันก็คงจะหนีไม่พ้นการเเข่งขันของสินค้าที่ผลิตออกมาระหว่างบริษัท Apple Inc. เเละ Samsung เป็นต้น) ซึ่งผลพลอยได้ก็จะตกไปอยู่กับผู้บริโภคทั่วไปที่จะได้ทั้งสินค้าคุณภาพที่ดีขึ้นเรื่อยๆในราคาที่ไม่เเพงจนเกินไปตราบใดที่ยังมีการเเข่งขันกันอยู่

เเละวิชา Principles of Microeconomics ตัวนี้เองที่ทำให้ผมเคยปักใจเชื่อว่าในการเเข่งขันระหว่างคนหลายๆคน ไม่ว่าจะเป็นการเเข่งขันทางด้านการเรียนหรือด้านการทำงาน การที่มีคนที่เป็น superstar performer อยู่ในกลุ่มก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีเช่นกัน เพราะการที่มีคนที่เป็น superstar performer อยู่ในกลุ่มนั้น โอกาสที่คนอื่นๆจะพยายามทำตัวเองให้ดีขึ้นเพื่อที่จะเเข่งกับ superstar performer น่าจะสูงกว่าเมื่อเทียบกันกับการที่ไม่มี superstar performer อยู่ในกลุ่มเลย

สรุปก็คือการที่มี superstar performer จะสามารถส่งผลให้คนส่วนมากในสังคมได้รับผลพลอยได้ที่ดีขึ้นกว่าการที่ไม่มี superstar performer ในสังคมเลย

เเละไม่ว่าใครก็ตามที่เชื่อในคำสำนวนไทยโบราณที่ว่า “ดีได้เเต่อย่าเด่นจะเป็นภัย” นั้นไม่น่าจะเคยเรียนวิชา Principles of Microeconomics มาก่อนเเน่ๆ

The หมั่นไส้ factor

เเละผมก็เชื่ออย่างนั้นมาเรื่อยๆจนกระทั่งมาถึงปีที่ผมเริ่มเรียนปริญญาเอกเป็นปีเเรกกับเเอนดรูย์ ออซวอลด์ (Andrew Oswald) ที่มหาวิทยาลัยวอริค (Warwick) ซึ่งในปีนั้นเเอนดรูย์ได้ให้ผมอ่านเปเปอร์หนึ่งของเขาที่ทำกับนักเศรษฐศาสตร์จากมหาลัยอ๊อกซฟอร์ด (Oxford) ที่มีชื่อว่าเเดเนี่ยว ซิสโซ่ (Daniel Zizzo) เปเปอร์นี้มีชื่อว่า “Are People Willing to Pay to Reduce Other People’s Incomes?” ซึ่งพึ่งจะได้ตีพิมพ์ในวารสารเศรษฐศาสตร์ Annalesd’ Economie et de Statistique ของประเทศฝรั่งเศส

โดยในงานวิจัยชิ้นนี้เเอนดรูย์เเละเเดเนี่ยวต้องการจะพิสูจน์ว่าคนเรายอมที่จะ”เผา” (burn) เงินของตัวเองเพื่อที่จะให้เงินของคนอื่นลดลงไหม พูดง่ายๆก็คือถ้าเราเห็นคนอื่นเขาทำเงินได้มากกว่าเรา เเละเราบังเอิญมีสิทธิในการที่จะใช้เงินของเราที่เรามี ในการทำให้เงินของคนอื่นลดลงมาให้เท่าๆกันกับเราหรือใกล้เคียงกับเรา เราจะทำไหม

ในการทดลองครั้งนี้เขาทั้งสองได้ให้อาสาสมัครซึ่งเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวอริคจำนวน 116 คน มาที่ห้องเเล็บของเขา หลังจากนั้นทั้งสองก็ให้อาสาสมัครเหล่านี้เริ่ม โดยการพนันกันว่าเลขที่คอมพิวเตอร์กำลังจะสุ่มเลือกนั้นจะออกมาเป็นเลขอะไร โดยให้อาสาสมัครเหล่านี้ใช้เงินที่ทั้งสองได้ จัดสรรไว้ให้เท่าๆกันทุกคนตั้งเเต่ตอนเเรกในการพนัน ถ้าอาสาสมัครพนันเลขที่จะออกถูก (โอกาสของการเลือกเลขถูกก็คือ 1 ใน 3 หรือประมาณ 33% นะครับ) ก็จะได้เงินที่พนันลงไปพร้อมกับเงินรางวัลที่ได้มาจากการชนะพนันคืนกลับมา ถ้าพนันเลขที่จะออกผิดอาสาสมัครคนนั้นก็จะเสียเงินที่พนันไป พูดง่ายๆเลยก็คือการพนันในรอบเเรกนี้เป็นความตั้งใจของเเอนดรูย์เเละเเดเนี่ยวในการที่จะสร้างความไม่เท่าเทียมทางด้านรายได้ของอาสาสมัครในห้องเเล็บขึ้นมา

หลังจากนั้นทั้งสองก็ให้ข้อมูลของระดับความไม่เท่าเทียมทางด้านรายได้นี้ให้อาสาสมัครในห้องเเล็บทุกคนรู้ (เเต่สิ่งที่อาสาสมัครไม่รู้ก็คือว่าใครได้เงินรางวัลเท่าไหร่ พูดง่ายๆก็คือไม่มีการระบุชื่อว่าใครได้รับรางวัลจากการพนันเท่าไหร่กันบ้าง ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการเเก้เเค้นของคน ซึ่งเป็นไปได้ถ้าอาสาสมัครรู้จักกันเเละเคยเเค้นกันมาก่อน) เเล้วให้โอกาสอาสาสมัครทุกคนที่จะใช้เงินของตัวเองที่มีในการเเลกกัน กับการที่ให้คนที่มีรายได้ที่สูงกว่าต้องเสียภาษี”อากาศ” (คือจะไม่มีใครได้ผลประโยชน์จากการเก็บภาษีตัวนี้นะครับ) โดยอัตตราการเเลกเปลี่ยนนั้นก็คือ เราจ่าย $0.25 เพื่อที่จะให้คนอื่นเสียภาษี $1

ปรากฎว่ามากกว่า 60% ของอาสาสมัครทั้งหมดยอมที่จะเสียสละเงินของตัวเองเพื่อที่จะลดรายได้ของคนอื่นให้ลงมาใกล้เคียงหรือเท่าๆกันกับรายได้ของตัวเองโดยที่ไม่ได้อะไรอย่างอื่นตอบเเทนเลย

พูดง่ายๆก็คือในโลกของเรานี้อาจมีคนเป็นจำนวนมาก (มากกว่าคนเป็นจำนวนน้อย) ที่ยอมจะให้ตัวเองจนลงเพื่อให้คนที่รวยกว่าจนลงมาเท่าๆกัน

เเละก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าเเปลกใจเลยที่กลุ่มที่มีจำนวนคนที่ใช้เงินของตัวเองในการ “เผา” เงินคนอื่นมากที่สุด ก็จะมีรายได้โดยรวมของคนทุกคนในกลุ่ม (aggregate income) น้อยที่สุดเช่นกัน

เเอนดรูย์มักจะใช้คำว่า jealously (ความอิจฉา) ในการใช้บรรยายที่มาของพฤติกรรมลำเอียงตัวนี้ เเต่ผมซึ่งเป็นคนไทยคิดว่าคำที่ใกล้เคียงกับพฤติกรรมนี้มากกว่าน่าจะเป็นคำว่าหมั่นไส้มากกว่าความอิจฉา

บรรทัดฐานทางสังคม (หรือ social norm) นั้นสำคัญไฉน

งานของเเอนดรูย์เเละเเดเนี่ยวชิ้นนี้ทำให้ผมเริ่มมาสนใจในทฤษฎีของ interdependent utility ที่ว่าอรรถประโยชน์หรือความสุขของคนนั้นไม่ได้ขึ้นตรงอยู่กับเเค่สิ่งที่เรามีเเต่เป็นฟังก์ชันของสิ่งที่คนรอบข้างของเรามีด้วย ซึ่งการที่คนเรามี interdepedent utility ตัวนี้ก็สามารถที่จะทำให้คนเราเลือกที่จะกระทำในสิ่งที่ทำให้คนที่มีฐานะดีกว่าตกเราลงมาเท่าๆกันกับเราถ้าเรามีโอกาสที่จะทำ อย่างเช่น การจ่ายเงินของตัวเองเพื่อเเลกกันกับการ”เผา”เงินของคนอื่นเป็นต้น

เเล้วถ้าคนเรายอมที่จะจ่ายเงินของตัวเองเพื่อเเลกกันกับการ “เผา” เงินของคนอื่น ทำไมสำนวนที่ว่า “ดีได้เเต่อย่าเด่นจะเป็นภัย” จีงไม่ใช่สำนวน universal ที่มีใช้กันทุกๆประเทศในโลกนี้ล่ะ เพราะสาเหตุอะไรที่ทำให้สำนวนนี้จึงเป็นสำนวนที่ใช้บรรยายพฤติกรรมของคนไทยได้ดีกว่าคนชาติอื่นๆ

สาเหตุหนึ่งก็คือ บรรทัดฐานทางสังคมกับการต่อต้านพฤติกรรมเหล่านี้ของประเทศอื่นนั้นดีกว่าของเรา ยกตัวอย่างเช่นประเทศสิงคโปร์ที่มีระบบ meritocracy (หรือระบบสังคมที่เชื่อการสำเร็จด้วยตนเองไม่ใช้สิทธิพิเศษทางชนชั้น) เเละการมีคอร์รัปชันที่ต่ำ ซึ่งต่างก็ทำให้คนที่ประเทศสิงคโปร์ส่วนใหญ่เเทบไม่มีความคิดที่ว่า”ดีได้เเต่อย่าเด่นจะเป็นภัย”เลย เเละสำหรับประเทศไทยซึ่งมีระบบสังคมอุปถัมภ์ (patronage) เป็นหลักนั้น การที่คนอื่นจะดีขึ้นมาเเล้วเด่นด้วยตัวเองจึงเป็นอะไรที่คนส่วนใหญ่รับกันไม่ค่อยจะได้ (พูดง่ายๆคือคนไทยเราส่วนใหญ่ชอบคนที่เก่งเเต่ไม่เก่งจนเกินไป)

เเละถ้าเรายังเปิดโอกาสให้มีการกระทำที่จะให้คนที่เด่นตกลงมาเท่าๆกันกับเราเเทนที่เราจะพยายามพัฒนาตนเองให้ดีเท่าๆกันกับเขา ประเทศของเราก็ไม่มีทางที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีเท่ากันกับประเทศอื่นที่เขาไม่มีสำนวนที่ว่า”ดีได้เเต่อย่าเด่นจะเป็นภัย”อยู่ในคลังคำศัพท์ของเขาเลย

อ่านเพิ่มเติม
Zizzo, D. J., & Oswald, A. J. (2001). Are people willing to pay to reduce others’ incomes?. Annales d’Economie et de Statistique, 64-64, 39-65.