ThaiPublica > เกาะกระแส > สปช. เร่งดัน กม.คุมงบซื้อสื่อ ยอดรวมหมื่นล้าน ชงตั้ง 9 กก.กลั่นกรอง สกัด “เรียกเงินใต้โต๊ะ-โฆษณาตัวเอง-แทรกแซงสื่อ”

สปช. เร่งดัน กม.คุมงบซื้อสื่อ ยอดรวมหมื่นล้าน ชงตั้ง 9 กก.กลั่นกรอง สกัด “เรียกเงินใต้โต๊ะ-โฆษณาตัวเอง-แทรกแซงสื่อ”

23 มิถุนายน 2015


580621wasan
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ที่มาภาพ : http://daily.bangkokbiznews.com/detail/203013

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เคยเสนอซีรีส์ข่าวเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ ซึ่งพบว่านอกจากจะใช้งบประมาณสูง ยังอาจจะไม่คุ้มค่า เนื่องจากถูกใช้ไปในลักษณะเดียวกับป้ายหาเสียงของนักการเมือง และเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ พร้อมด้วยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งประเทศไทย ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ขอให้มีการออกกฎหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐ ภายหลังมีการจัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ของ สปช. ก็ได้ตั้งอนุ กมธ.ขึ้นมาพิจารณาถึงการยกร่างกฎหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานงานรัฐ ซึ่งใช้ชื่อว่า “ร่าง พ.ร.บ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ พ.ศ. ….” ซึ่งล่าสุดได้พิจารณาร่างกฎหมายนี้เสร็จสิ้นแล้ว

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ สมาชิก สปช. ด้านสื่อสารมวลชน ในฐานะประธานคณะอนุ กมธ.ปฏิรูปงบประมาณภาครัฐในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เปิดเผยกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม กมธ.ของ สปช. ที่เกี่ยวข้องจำนวน 2 คณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย กมธ.ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีนายประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นประธาน ในวันที่ 16 มิถุนายน 2558 และ กมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีนายจุมพล รอดคำดี เป็นประธาน ในวันที่ 17 มิถุนายน 2558 ขั้นตอนต่อไปคือต้องเสนอต่อที่ประชุม สปช. เพื่อขอความเห็นชอบ จากนั้นจะต้องส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอให้เสนอให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

นายวสันต์ กล่าวว่า เหตุที่ต้องมีการออกกฎหมายฉบับนี้ เพราะที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณของภาครัฐ ซึ่งจากงานวิจัยของ TDRI พบว่ามีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 8,000 ล้านบาท เฉพาะงบประชาสัมพันธ์ ไม่รวมถึงงบอีเว้นต์ซึ่งน่าจะมีมูลค่าใกล้เคียงกันราว 8,000 ล้านบาท ได้ส่งผลเสียต่อสังคมไทยอย่างน้อย 3 เรื่อง

1.ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่น เพราะโครงการประชาสัมพันธ์บางโครงการ มีการเรียกรับเงิน kickback (เงินใต้โต๊ะ) กลับไปยังผู้เกี่ยวข้องในสัดส่วนราว 30% แต่บางโครงการก็สูงถึง 70%

2.เป็นการนำงบประมาณไปใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ประชาชนควรรู้ เช่น ผลการดำเนินงานของภาครัฐ แต่เป็นการนำเงินไปใช้หาเสียงให้กับตัวบุคคลหรือพรรคการเมือง คล้ายป้ายหาเสียง

และ 3.ทำให้เกิดการแทรกแซงสื่อ เพราะธุรกิจสื่อยุคปัจจุบันมีรายได้หลักจากเงินโฆษณา ผู้มีอำนาจรัฐจึงใช้งบประชาสัมพันธ์เป็นเครื่องมือในการบีบให้นำเสนอข่าวที่ตนต้องการ โดยจะให้งบเฉพาะสื่อที่เป็นพวก และไม่ให้สื่อที่ไม่ใช่พวก ส่งผลต่อการนำเสนอข่าว ทำให้สื่อไม่มีอิสระในการทำหน้าที่

“อีกปัญหาที่พบในการใช้งบประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ คือเรื่องการซ่อนงบนี้ไว้ในโครงการอื่น โยกงบจากโครงการอื่นมาใช้ในการประชาสัมพันธ์ คือตั้งโครงการไว้แต่ไม่บอกรายละเอียด แต่สุดท้ายก็นำงบไปใช้ในการประชาสัมพันธ์ ทำให้การตรวจสอบเป็นไปได้อย่างยากลำบาก”

Print

นายวสันต์กล่าวว่า สำหรับเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.นี้ ก็คือจะให้มีคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด มีสมาชิก 9 คน ประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ อีก 6 คน โดยจะไม่ทำหน้าที่ pre-audit อย่างที่มีการเสนอกันมาแต่ต้น แต่จะเป็นผู้ช่วยกลั่นกรองโครงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยภาครัฐก่อนที่จะส่งเรื่องให้สำนักงบประมาณเบิกจ่ายเงิน ว่าโครงการเหล่านั้นมีความสมเหตุสมผลเพียงใด มีความคุ้มค่าหรือไม่ นอกจากนี้ ยังจะมีการประเมินผลตอบรับภายหลังดำเนินโครงการ โดยมีการบังคับให้นำทุกหน่วยงานภาครัฐที่ใช้งบประชาสัมพันธ์ต้องแสดงผลการใช้งบไว้บนเว็บไซต์ของตัวเองด้วย

อย่างไรก็ตามในร่าง พ.ร.บ.นี้ ไม่ได้มีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของงบประมาณที่จะต้องถูกตรวจสอบ หรือเกณฑ์ขั้นสูงให้หน่วยงานภาครัฐใดในการใช้งบประชาสัมพันธ์ได้แค่เท่าใด เพราะเป็นเรื่องรายละเอียดซึ่งคณะกรรมการจะต้องไปหารือกันเองภายหลัง

“เวลานี้ สปช. เหลือเวลาทำงานอีกไม่มากนัก ราว 2 เดือนเศษเท่านั้น จึงต้องเร่งกฎหมายที่เขียนเสร็จแล้ว 20-30 ฉบับ ซึ่งรวมถึงร่าง พ.ร.บ.นี้ จากที่ตั้งเป้าไว้ 80 ฉบับ เสนอให้ ครม.พิจารณา เพราะหากจะรอให้ผลการศึกษาของ กมธ.ปฏิรูปทุกคณะเสร็จ แล้วค่อยเสนอไปยัง ครม.ทีเดียว ก็เกรงว่าจะถูกนำไปไว้บนหิ้ง ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ” นายวสันต์กล่าว

เมื่อถามว่า หากร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้จะส่งผลต่อวงการสื่อและวงการโฆษณาหรือไม่ เพราะอาจทำให้เงินโฆษณาหายไปค่อนข้างมาก นายวสันต์ กล่าวว่า ในอนุ กมธ.ก็มีนางอ่อนอุษา ลำเลียงผล นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย นั่งอยู่ และมีการเชิญนางวรรณี รัตนพล นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย เข้ามาให้ความเห็น ทุกฝ่ายก็สนับสนุนให้มีร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะการใช้งบประชาสัมพันธ์ของภาครัฐที่ผ่านมา นอกจากเรื่องการเรียกรับเงินใต้โต๊ะ ยังมีเรื่องของการเล่นพรรคเล่นพวก คนที่จะได้งานต้องเป็นญาติพี่น้องของผู้มีอำนาจเท่านั้น

Print

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ พ.ศ. …. มีจำนวนทั้งสิ้น 24 มาตรา สาระสำคัญก็คือการกำหนดให้มี “คณะกรรมการกำกับดูแลการโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาครัฐ” มีสมาชิก 9 คน ประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ 3 คน ซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง คือผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 6 คน จากวงการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ สื่อสารมวลชน วางแผนกลยุทธษ์การใช้สื่อ ธรรมาภิบาล และคุ้มครองผู้บริโภค อย่างละ 1 คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกผ่านกระบวนการสรรหา มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปีและเป็นได้เพียงวาระเดียว

คณะกรรมการฯ ชุดนี้ มีหน้าที่ในการกลั่นกรองโครงการที่จะใช้งบในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐทั้งหมดก่อนนำเสนอต่อสำนักงบประมาณ โดยจะดูเรื่องของความเหมาะสมของโครงการเป็นหลัก ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาการโฆษณาประชาสัมพันธ์นั้น ทั้งนี้ ยังบังคับให้ทุกหน่วยงานเปิดเผยข้อมูลไว้บนเว็บไซต์ของหน่วยงานนั้นๆ ภายใน 30 วันหลังสิ้นปีงบประมาณ ว่าในปีนั้นใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ไปทั้งสิ้นกี่บาท แต่ละโครงการมีรายละเอียดสัญญาเป็นอย่างไร และต้องมีผลวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบโฆษณาประชาสัมพันธ์นั้นด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ ทั้งต้องสุจริต โปร่งใส เป็นธรรม คุ้มค่า เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่นำไปใช้ในลักษณะแทรกแซงหรือครอบงำสื่อ และห้ามไม่ให้มี “ข้อความหรือภาพหรือเสียง ของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือข้าราชการการเมือง หรือเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง อันอาจก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง” โดยให้คณะกรรมการฯ ชุดนี้ มีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดได้ว่า การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐใดไม่เป็นไปตามร่าง พ.ร.บ.นี้ ซึ่งอาจส่งผลทำให้ไม่สามารถส่งเรื่องไปยังสำนักงบประมาณเพื่อเบิกจ่ายเงินได้

ในร่าง พ.ร.บ.ยังกำหนดโทษของเจ้าหน้าที่รัฐที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามร่าง พ.ร.บ.นี้ ให้มีโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่หากเป็นผู้บังคับบัญชาให้มีโทษเป็น 2 เท่าของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

(ดาวน์โหลด ร่าง พ.ร.บ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ พ.ศ. ….)

ก่อนหน้านี้ คณะผู้วิจัยจาก TDRI นำโดย ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และนายธิปไตย แสละวงศ์ เคยรวบรวมข้อมูบ “งบซื้อสื่อ” เฉพาะงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ (ไม่รวมงบจัดอีเวนต์) จาก Nielsen Company ในปี 2556 ซึ่งพบว่า มีรวมกันถึง 7,985 ล้านบาท คิดเป็น 8% ของงบโฆษณาทั้งหมด 122,100 ล้านบาท

เมื่อแยกตามประเภทของสื่อ พบว่ามีการโฆษณาในโทรทัศน์ 50% ในโรงภาพยนตร์ 18% หนังสือพิมพ์ 16% วิทยุ 11% และอื่นๆ 5%

รัฐวิสาหกิจใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์มากที่สุด ถึง 3,788 ล้านบาท คิดเป็น 48% ตามมาด้วยหน่วยงานระดับกระทรวง ใช้ไป 3,119 ล้านบาท คิดเป็น 39% ส่วนราชการอื่นๆ อาทิ กทม. หน่วยงานอิสระ และจังหวัด 1,078 ล้านบาท คิดเป็น 13%

เมื่อแยกตามหน่วยงาน ธนาคารออมสินใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์มากที่สุด 9% รองลงมาคือสำนักนายกรัฐมนตรี 7% กระทรวงอุตสาหกรรม 6% ที่เหลือเป็นหน่วยงานอื่น

สำหรับธนาคารออมสินและกระทรวงอุตสาหกรรมมีการใช้งบโฆษณามากที่สุดในสื่อ “โรงภาพยนตร์” ส่วนสำนักนายกรัฐมนตรีใช้งบมากที่สุดในสื่อ “หนังสือพิมพ์” ทั้งนี้ พบว่าสื่อหนังสือพิมพ์พึ่งพารายได้จากภาครัฐถึง 12% จากการขายพื้นที่โฆษณาโดยรวม

ลักษณะการโฆษณาจากภาครัฐ มักเน้นตัวบุคคลไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง หรือข้าราชการ หรือทั้ง 2 นัย