ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ไล่ออก ซี 9 สรรพากร พัวพันโกง VAT 3 พันล้าน ปลัดคลังฯ สั่งอธิบดีสรรพากรฟ้องแพ่งต่อ

ไล่ออก ซี 9 สรรพากร พัวพันโกง VAT 3 พันล้าน ปลัดคลังฯ สั่งอธิบดีสรรพากรฟ้องแพ่งต่อ

14 พฤษภาคม 2015


เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 เวลา 10.30 น. นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวอ.ก.พ.กระทรวงการคลัง มีมติไล่ออก ซี 9 สรรพากร พัวพันคดีโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ห้องโถง กระทรวงการคลัง
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 เวลา 10.30 น. นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าว อ.ก.พ. กระทรวงการคลัง มีมติไล่ออก ซี 9 สรรพากร พัวพันคดีโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ห้องโถง กระทรวงการคลัง

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 เวลา 10.30 น. นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดแถลงข่าวผลการประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงการคลัง มีมติไล่ออกจากราชการ นายสิริพงศ์ ริยะการธีรโชติ หรือ นายศุภกิจ ริยะการ (ชื่อเดิม) อดีตข้าราชการซี 9 สรรพากรพื้นที่กรุงเทพฯ 22 (บางรัก) ซึ่งถูกย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ที่สรรพากรพื้นที่นราธิวาส ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสอบสวนวินัย กระทรวงการคลัง ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับกลุ่มผู้ส่งออกเศษเหล็ก 30 ราย โดยไม่ได้ประกอบกิจการจริง ทำให้รัฐเสียหายอย่างร้ายแรง คิดเป็นวงเงิน 3,209 ล้านบาท

นายสมหมายกล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงการคลังมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงข้าราชการสรรพากรที่เข้าไปพัวพันกับขบวนการฉ้อโกงภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย วันที่ 22 สิงหาคม 2558 คณะกรรมการฯ ทั้ง 2 ชุดได้มีการประชุมไปทั้งหมด 49 ครั้ง ได้ข้อสรุปว่านายสิริพงศ์มีความผิดทั้งหมด 4 กระทง คือ

1. ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย
2. ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
3. ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และ
4. ฐานละเว้นการกระทำหรือกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง

จากการสอบสวนอย่างละเอียดพบว่า กลุ่มบริษัทผู้ส่งออกโลหะและแร่โลหะที่เพิ่งมาจดทะเบียนนิติบุคคลเป็นผู้ประกอบการ 30 ราย ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) และขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมิชอบในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 ทั้งนี้ กลุ่มบริษัททั้ง 30 ราย มีกรรมการหรือผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลซ้ำๆ กัน และจดทะเบียนและใช้สถานประกอบกิจการซ้ำๆ กัน แต่ไม่ได้ประกอบการจริง โดยกลุ่มบริษัททั้ง 30 ราย สั่งซื้อสินค้าจากกลุ่มผู้ขาย 6 ราย ซึ่งไม่ได้มีการประกอบการจริงเช่นเดียวกัน

“ที่ผ่านมา สำนักงานสรรพากรพื้นที่ 22 ได้คืน VAT ให้ผู้ส่งออกกลุ่มนี้ไปแล้ว 25 ราย ส่วนที่เหลืออีก 5 ราย ถูกสั่งระงับการคืนภาษีเอาไว้ เนื่องจากสื่อมวลชนมีการนำเสนอข่าวขอคืน VAT เป็นเท็จมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับกลุ่มผู้ส่งออก 25 ราย สำนักงานสรรพากรพื้นที่ 22 ได้คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มครั้งแรก (เดือนภาษีแรก) เป็นเงินทั้งสิ้น 339 ล้านบาท และหลังจากนั้นผู้ถูกกล่าวหาในฐานะสรรพากรพื้นที่ 22 ได้อนุมัติให้คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีถัดไปอีก 2,869 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,209 ล้านบาท” นายสมหมายกล่าว

นายสมหมายกล่าวต่อว่า คณะกรรมการสอบสวนวินัยพิจารณาสำนวนคดีแล้วจึงมีความเห็นว่า การกระทำการของผู้ถูกกล่าวหาได้ทำให้รัฐเสียหายอย่างร้ายแรง จึงทำเรื่องเสนอ อ.ก.พ. กระทรวงการคลัง ให้ลงโทษไล่นายสิริพงศ์ ริยะการธีรโชติ ออกจากราชการ และหลังจากที่ประชุม อ.ก.พ. กระทรวงการคลัง พิจารณาเรื่องนี้แล้ว จึงมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยนำเสนอ นอกจากนี้ตนยังได้สั่งการให้กระทรวงการคลังเร่งขยายผลการสอบสวนข้าราชการสรรพากรทุกคนที่เกี่ยวข้องกับขบวนการโกง VAT มาลงโทษให้ได้ ไม่ว่าข้าราชการคนนั้นจะมีตำแหน่งสูงกว่า ซี 9 หรือต่ำกว่าซี 9 ก็ตาม คาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในเดือนมิถุนายน 2558

ด้านนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากที่ตนได้ลงนามในคำสั่งไล่ออกจากราชการนายสิริพงศ์ ริยะการธีรโชติ ตามมติที่ประชุม อ.ก.พ. กระทรวงการคลัง ขั้นตอนต่อไป กระทรวงการคลังจะนำคำสั่งดังกล่าวนี้ส่งให้นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับความเสียหายโดยตรงดำเนินคดีทางแพ่ง เพื่อเรียกค่าเสียหายกับนายสิริพงศ์ต่อไป

(อ่านแถลงข่าวการไล่ออกซี 9 สรรพากรที่นี่)