ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สำรวจเว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐ – ฐานข้อมูลยังห่างไกลความโปร่งใส เน้นข่าวกิจกรรมประชาสัมพันธ์

สำรวจเว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐ – ฐานข้อมูลยังห่างไกลความโปร่งใส เน้นข่าวกิจกรรมประชาสัมพันธ์

25 พฤษภาคม 2015


รัฐต้อง “เปิด” ให้ข้อมูลของรัฐเป็น “ข้อมูลสาธารณะ” เพราะการให้ข้อมูลเป็น “หน้าที่” ไม่ใช่ “ภาระ” และ “ข้อมูล” เป็นหัวใจสำคัญของความโปร่งใสนั้นรัฐต้องมีการเปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายมากน้อยเพียงใด เพราะข้อมูลคือเครื่องมือในการเข้าถึง “โอกาส” และการตรวจสอบที่ดีที่สุด

การเปิดเผยข้อมูลยังเป็นเรื่อง “ไม่ทั่วไป” ข้อมูลภายในยังเป็นความลับ

Screen Shot 2558-05-24 at 9.49.25 PM
จุดประสงค์หลักของผู้เข้าเว็บไซต์นี้เป็นการเข้ามาตรวจรางวัลสลากกินแบ่ง

จากปัญหาราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลมีราคาแพงเรื้อรังมานาน หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามถึงต้นตอที่แท้จริงว่าเหตุใดจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ทุกคนต่างต้องการทราบว่าใครได้โควตาการจำหน่ายสลากกินแบ่งบ้าง แต่ข้อมูลนี้กลับไม่ถูกเปิดเผย ทั้งที่เป็นขบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐบาล

เมื่อไม่มีข้อมูลในเว็บไซต์ “สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล”​ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจึงยื่นคำร้องตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 ขอให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเปิดเผยรายชื่อตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่ได้รับ “คำปฏิเสธ” การให้ข้อมูลจากสำนักงานฯ จากนั้นทางสำนักข่าวฯ จึงยื่นคำร้องขออุทธรณ์ต่อประธานกรรมการข้อมูลข่าวสาร กรณีสำนักงานสลากฯ ไม่เปิดเผยข้อมูล กระทั่งในที่สุดคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้มีคำสั่งให้สำนักงานสลากฯ เปิดเผยรายชื่อตัวแทนจำหน่ายสลากทั้งหมด พร้อมกับจำนวนโควตาที่ได้รับการจัดสรร

นับเป็นครั้งแรกที่มีการยอมเปิดเผยข้อมูลครั้งใหญ่ของหน่วยงานรัฐอย่าง “สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล” ซึ่งตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับโควตาการขายสลากฯ ทั้งหมด 74 ล้านฉบับ

จากตัวอย่างกรณีนี้สะท้อนชัดเจนว่า การเข้าถึงข้อมูลพื้นฐานทั่วไปยังเข้าถึงได้ยาก ประชาชนคนไทยจึงมีต้นทุนในการเข้าถึงข้อมูลเพราะต้องใช้ความพยายามส่วนตัวในการร้องขอ ซึ่งต้องใช้เวลาและเสียค่าเดินทางไปมาหลายครั้ง ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าข้อมูลต่างๆ ของรัฐเป็นข้อมูลที่ต้องปิดลับ ไม่ควรเปิดเผย แม้ว่าข้อมูลนั้นต้องเปิดเผยโดยพื้นฐานทั่วไปก็ตาม

สำรวจเว็บไซต์ “กระทรวง” 20 เจ้า เน้น “พีอาร์” ข้อมูลสำคัญค้นยาก

จากปัญหาดังกล่าว ผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าได้สำรวจเว็บไซต์ของกระทรวงในประเทศไทยทั้งหมด 20 กระทรวง รวมถึงเว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ว่ามีการให้ข้อมูลหรือเนื้อหาที่มีคุณภาพแก่ประชาชนทั่วไปหรือไม่ พบว่าโดยมาก แต่ละกระทรวงมีเนื้อหาทั่วไปครบถ้วน เช่น หน้าแรก เกี่ยวกับกระทรวง ข้อมูลสารสนเทศ บริการประชาชน เสนอแนะ ความคิดเห็น ระบบงานสารสนเทศ ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีการออกแบบเมนูแตกต่างกันไป แต่เนื้อหาอื่นๆ เช่น โครงสร้างเงินเดือนของผู้บริหาร พนักงาน รายชื่อผู้ที่สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ ขั้นตอนการรอขอข้อมูลเพิ่มเติม ฯลฯ แทบยังไม่พบว่าเว็บไซต์หน่วยงานราชการใดให้ข้อมูลอย่างครบถ้วน

เกณฑ์การสำรวจ

  1. จัดรูปแบบหน้าแรกให้สามารถหาข้อมูลได้ง่าย
  2. ข้อมูลองค์กรครบ
  3. ข้อมูลทันสมัย
  4. มีข้อมูลที่ต้องขออนุญาต
  5. ข้อมูลสมบูรณ์เพียงพอสามารถค้นหาย้อนหลังได้
  6. รูปแบบของข้อมูลสามารถนำไปใช้ต่อได้ง่าย
  7. ไม่มีข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง
  8. มีลิงก์เสีย (404 Not Found)
Screen Shot 2558-05-24 at 11.06.54 PM
ภาพจากยูอาร์แอล http://www.mict.go.th/comprice

ในขณะเดียวกันจุดร่วมที่แทบจะมีเหมือนกันทุกเว็บไซต์ คือ เน้นลงข่าวกิจกรรมและภาพข่าวการทำงานของคนในองค์กร แต่ไม่ได้เสนอความคืบหน้าของโครงการที่มีความสำคัญ และหลายองค์กรไม่ให้ความสำคัญกับหน้าที่การให้ข้อมูลของหน่วยงานตนเอง แม้จะอยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบก็ตาม เช่น ในกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือกระทรวงไอซีที เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีของชาติโดยตรง แต่ลิงก์ของเว็บไซต์บางหน้าไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลบางส่วนได้

เมื่อพิจารณาการมี “https” หรือ “การเชื่อมต่อแบบปลอดภัย” (อ่านเพิ่มเติม ใช้เน็ตปลอดภัย อุ่นใจด้วย HTTPS Everywhere)”เป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่สุดของเว็บไซต์ที่ปลอดภัย เว็บไซต์กระทรวงไอซีที ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านเทคโนโลยีโดยตรง กลับ “ไม่มี” เมื่อเทียบกับเว็บไซต์สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน กลับมีการใส่ “https” โดยอัตโนมัติ

Screen Shot 2558-05-24 at 11.18.42 PM
เว็บไซต์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA มี “https” นำหน้า URL โดยอัติโนมัติ

นอกจากมีการปรากฏของข้อมูลทั่วไปข้างต้นแล้ว เมื่อต้องการค้นข้อมูลด้านสถิติ สัญญาต่างๆ หรือข้อมูลอื่นๆ พบว่า เมนูข้อมูลทั่วไปครบ คลิกได้แต่ไม่พบข้อมูล คลิกได้แต่ลิงก์เสีย คลิกได้ต้องใส่พาสเวิร์ด คลิกได้แต่ต้องรออนุมัติ หรือเมื่อต้องการค้นข้อมูลที่มีลักษณะเป็นไฟล์เอกสาร จะพบว่าเอกสารบางไฟล์มีปัญหาด้านคุณภาพ เช่น ไฟล์ภาพมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถนำไปใช้งานได้ เอกสารเป็นไฟล์พีดีเอฟที่ไม่มีความคมชัดหรือถูกสแกนมาไม่สมบูรณ์ เอียง-ขาด

อย่างไรก็ดี ในบางเว็บไซต์ยังมีการออกแบบให้อ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ได้ยาก ไม่อัปเดตเนื้อหาตามกระแสที่เกิดขึ้น ไม่พัฒนาเทคโนโลยีบนเว็บไซต์ให้ทันสมัย หรือไม่สามารถค้นข้อมูลย้อนหลังได้ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจการทำงานด้านข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน ทั้งที่การจัดให้ข้อมูลข่าวสารบนเว็บไซต์ไม่ต้องใช้ต้นทุนสูงมากนัก

ข้อสังเกต: หน่วยงานภูมิภาคยังไม่พร้อม

Screen Shot 2558-05-21 at 1.17.59 AM
ข้อมูลจาก: เว็บไซต์ไทยตำบลดอทคอม

ปัญหาอื่นนอกเหนือจากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังพบว่าเนื้อหาที่สำคัญต้องค้นที่หน่วยงาน มีการใช้ภาษาราชการ เข้าใจยาก มีการใช้เลขไทยบนเว็บไซต์ทำให้นำไปใช้งานต่อได้ยาก และมีรูปแบบไม่ทันสมัย นอกจากนี้ยังได้สำรวจเว็บไซต์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่นองค์บริหารส่วนตำบล (อบต.) โดยทำการการสุ่มเว็บไซต์ จ.สระบุรี พบว่า ทั้งจังหวัดมีเพียง 4 เว็บไซต์เท่านั้น

ในขณะเดียวกันยังพบว่าอบต. บางหน่วยงานมีลิงก์เว็บไซต์จริง แต่เมื่อคลิกกลับไม่พบข้อมูล เช่น เว็บไซต์ขององค์การบริหารส่วนตำบลโคกแย้ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี เมื่อคลิกไป จะขึ้น “404 not found” และในส่วนของจังหวัดดังอย่าง จ.ภูเก็ต ไม่มีเว็บไซต์ใดเข้าได้เลย

ทั้งนี้ จากการรวบรวมจำนวนเว็บไซต์องค์การบริหารส่วนตำบลจากเว็บไซต์ไทยตำบลดอทคอม พบว่าจังหวัดที่มีเว็บไซต์ขององค์การบริหารส่วนตำบลมากที่สุด ได้แก่ จ.ชลบุรี 36 เว็บไซต์ จ.นครศรีธรรมราช 69 เว็บไซต์ จ.ขอนแก่น 70 เว็บไซต์ และ จ.นครสวรรค์ 84 เว็บไซต์

“ฐานข้อมูลประเทศ” ของไทย “http://data.go.th/“มีข้อมูลเพียง 20 ชุด

data1
ภาพเปรียบเทียบจำนวนชุดข้อมูลของฐานข้อมูลประเทศไทย สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ

ในขณะที่รัฐบาลกำลังรณรงค์ให้รัฐเผยแพร่ข้อมูลผลงานของแต่ละหน่วยงาน และมีการสร้างเว็บไซต์ “http://data.go.th” ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่มีการวาดหวังไว้ว่า จะเป็นที่สำหรับรวม “ฐานข้อมูลประเทศ” ทุกชนิดจากภาครัฐ เช่น ข้อมูลสถิติที่สามารถนำไปใช้ในการศึกษาค้นคว้าต่อได้ โดยข้อมูลนี้ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้โดยอิสระ ถือเป็นข้อมูลเปิดของภาครัฐ (Open Government Data) ทว่า กลับพบชุดข้อมูล (dataset) อยู่เพียง 20 ชุดเท่านั้น เมื่อเทียบกับเว็บไซต์ฐานข้อมูลประเทศของสหรัฐฯ มี 130,000 ชุด และของอังกฤษ 20,000 กว่าชุด

นอกจากนี้ เว็บไซต์ฐานข้อมูลประเทศของอังกฤษและสหรัฐฯ มีการอำนวยความสะดวกให้ผู้เข้าใช้ข้อมูลและมีการอัปเดตข้อมูลใหม่ตลอดเวลา เช่น เมื่อต้องการรู้ข้อมูลดุลการชำระเงินของประเทศอังกฤษ ก็เข้าไปค้นหาในเว็บไซต์ http://data.gov.uk/ จะพบหัวข้อ United Kingdom Balance of Payments จากนั้นเลือกปีที่ต้องการรู้ข้อมูล (เช่น 2014) และเมื่อคลิกเข้าไปก็จะปรากฏข้อมูลโดยย่อและฟอร์แมตสำหรับการดาวน์โหลดหลากหลาย พร้อมทั้งมีการเชื่อมข้อมูลไปยังเว็บไซต์สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (Office for National Statistics) ในหน้าที่เปิดให้มีการดาวน์โหลดเนื้อหา ไม่ใช่ลิงก์ไปหน้าแรกของสำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษแล้วต้องเริ่มค้นหาใหม่จากหน้าแรก ทั้งยังมีการจำแนกไฟล์ข้อมูลแต่ละประเภท ตามบท และตารางข้อมูลสำหรับการอ้างอิงชัดเจน

Screen Shot 2558-05-24 at 11.43.13 PM
การจำแนกเนื้อหาแต่ละบทให้ผู้อ่านตัดสินใจเลือกก่อนดาวน์โหลด ของเว็บไซต์สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (http://www.ons.gov.uk/ons/rel/bop/united-kingdom-balance-of-payments/2014/index.html)

เว็บไซต์ฐานข้อมูลไทยพยายามทำให้เกิดการใช้งานที่เอื้อให้ผู้ใช้งานสะดวกสบายเช่นกัน แต่ก็ยังพบว่ามีชุดข้อมูลเพียง 20 ชุด ทั้งยังไม่มีการให้ลิงก์กลับไปที่หน่วยงานโดยตรง แต่เป็นการแปะไฟล์ให้ดาวน์โหลดเท่านั้น

ตัวอย่างเว็บไซต์ที่ง่ายต่อการค้นหาข้อมูล

Screen Shot 2558-05-24 at 10.08.20 PM

ในภาพรวมจะพบว่า เว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐของไทยยังมีปัญหาใหญ่หลายจุดที่ต้องได้รับการแก้ไข แต่มีเว็บไซต์ที่ถือเป็นตัวอย่างที่ดี เช่น เว็บไซต์โรงงานยาสูบ สังกัดกระทรวงการคลัง เป็นเว็บไซต์ที่มีรูปแบบทันสมัย มีช่องทางให้ผู้ใช้งานทั่วไปหาข้อมูลได้ง่าย แต่ยังพบลิงก์เสียอยู่มาก นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์อื่นๆ ที่มีการจัดทำข้อมูลค่อนข้างดี เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนฯ

Screen Shot 2558-05-24 at 10.10.41 PM
จากรายงาน “การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ และการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย” โดย ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และนายธิปไตร แสละวงศ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทไทย 2557 พบว่าจากหลักบัญญัติ 10 ข้อ เว็บไซต์ของราชการไทยผ่านเกณฑ์เพียง 1 ข้อเท่านั้น

ในความคืบหน้าการพัฒนาฐานข้อมูลรัฐ ล่าสุดพบว่า เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่า กรอบนโยบายในการจัดทำโครงการ “ดาต้าเซ็นเตอร์แห่งชาติ” ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลอีโคโนมี ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานแล้ว และจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนมิถุนายนนี้

“ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด” ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. ระบุว่า “ดาต้าเซ็นเตอร์แห่งชาติ” ไม่ใช่แค่เรื่องเซิร์ฟเวอร์ แต่มองไปถึงระบบคลาวด์ เพราะทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลและนำข้อมูลของแต่ละหน่วยงานภาครัฐไปใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมกันได้ โดยแบ่งเป็นข้อมูลทั่วไปที่เปิดเผยได้ให้ใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ของเอกชนที่เข้าร่วม ส่วนข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนให้ใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ของรัฐที่กระทรวงดิจิทัลจะเป็นผู้ดูแล หรือข้อมูลที่เป็นความลับ เช่น ข้อมูลของกระทรวงการคลัง และกระทรวงกลาโหมก็ให้มีดาต้าเซ็นเตอร์ของตนเอง”

ต้องติดตามดูว่า นโยบายที่จะลงทุนใหม่นี้นั้นจะได้ผลที่มีประสิทธิภาพหรือไม่