ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > สภาพัฒน์ “กลับลำ”หลังแจงผลงานรัฐบาลไม่ถึงเดือน ปรับตัวเลขเศรษฐกิจลงเกือบหมด

สภาพัฒน์ “กลับลำ”หลังแจงผลงานรัฐบาลไม่ถึงเดือน ปรับตัวเลขเศรษฐกิจลงเกือบหมด

18 พฤษภาคม 2015


ผ่านไปเพียง 27 วัน หลังจากสภาพัฒน์ออกมาแสดงความมั่นใจว่าเศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวแล้วในการแถลงตัวเลขเศรษฐกิจ ผลงาน 6 เดือนของรัฐบาล มาวันนี้สภาพัฒน์กลับปรับลดจีดีพีทั้งปีลงอีก 0.5% เช่นเดียวกับตัวชี้วัดอื่นๆ ที่ถูกปรับลดเกือบหมด โดยเฉพาะภาคส่งออกที่ปรับลงจนเกือบติดลบและถือเป็นสาเหตุหลักของการปรับลดประมาณการจีดีพีครั้งนี้ ขณะที่จีดีพีไตรมาสแรก ยังพยุงตัวได้ที่ 3% ตามคาดการณ์

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ (ซ้าย) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการ สภาพัฒน์ และนายปรเมธี วิมลศิริ (ขวา) รองเลขาธิการ สภาพัฒน์
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ (ซ้าย) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการ สภาพัฒน์ และนายปรเมธี วิมลศิริ (ขวา) รองเลขาธิการ สภาพัฒน์

วันที่ 18 พฤษภาคม 2558 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่าสภาพัฒน์ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2558 ใหม่อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นจีดีพีที่ปรับลดลง 0.5%, การลงทุนภาคเอกชน ลดลง 1.2%, การบริโภคภาคเอกชน ลดลง 0.6%, การบริโภคภาครัฐ ลดลง 1.8%, มูลค่าการส่งออก ลดลง 3.3% และมูลค่าการนำเข้า ลดลง 2.6% มีเพียงการลงทุนภาครัฐ ตัวเดียวที่เพิ่มขึ้น 6% ซึ่งส่งผลให้การลงทุนโดยรวมเพิ่มขึ้น 0.2%

นายอาคมกล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกไทยในปี 2558 ว่าจะขยายตัว 0.2% เทียบกับที่เคยหดตัวในปีก่อนหน้า -0.3% โดยมีสาเหตุหลักจาก 1) การปรับลดสมมติฐานด้านปริมาณการค้าโลกและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย รวมไปถึงการส่งออกไตรมาสแรกที่หดตัวมากกว่าที่คาด 2) ราคาสินค้าส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร

“จริงๆ เราอาจจะสงสัยว่าเวลาตัวเลขจีดีพีโลกเพิ่ม แต่ทำไมการส่งออกไม่เพิ่ม คือจีดีพีโลกเพิ่มจริงแต่ปริมาณการค้าโลกไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก หมายความว่าปริมาณการนำเข้าสินค้าของประเทศอื่นที่นำเข้าสินค้าของเรามันมันไม่ได้ขยายตัวสูงตามจีดีพี เป็นเหตุผลหนึ่งที่การส่งออกเราปรับลง สรุปคือจีดีพีขยายตัวได้ แต่ประเทศอื่นๆ ไม่นำเข้าแล้วหันกลับไปเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในแทน” นายอาคมกล่าว

นายอาคมกล่าวถึงความสามารถในการแข่งขันในอนาคตว่า ภาคการส่งออกไทยจะต้องหันมาให้ความสนใจเรื่องโครงสร้างสินค้า อะไรที่ล้าสมัยคงต้องปรับปรุงเทคโนโลยีใหม่ รวมไปถึงต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตรงความต้องการของผู้บริโภค มีการแสวงหาตลาดใหม่ๆ ด้วย ขณะที่ค่าเงินที่อ่อนลงหลังจาก กนง. ลดดอกเบี้ยลงไป จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกตั้งแต่ไตรมาสหน้าเป็นต้นไป

ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวว่าการปรับลดตัวเลขส่งออกเกิดจากราคาสินค้าส่งออกเกษตรและราคาน้ำมันเป็นหลัก ประกอบกับตัวเลขไตรมาสแรกที่หดตัวอยู่ จึงได้ปรับตามศักยภาพจริงที่เป็นไปได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงตัวเลขส่งออกที่ติดลบต่อเนื่อง 2 ปีและเสี่ยงที่จะติดลบต่อเป็นปีที่ 3 สะท้อนถึงโครงสร้างภาคการส่งออกที่ต้องปรับปรุงหรือไม่ นายปรเมธีกล่าวว่ากำลังวิเคราะห์อยู่ แต่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างสินค้าหรือย้ายการผลิตบางส่วนไปประเทศเพื่อนบ้านใน “ห่วงโซ่การค้า” เดียวกัน คงมีผลกระทบส่วนหนึ่งในช่วงที่ปรับเปลี่ยนแน่นอน

อย่างไรก็ตามปัจจัยโครงสร้างส่งออกยังไม่ใช่ปัจจัยใหญ่ปัจจัยเดียว เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญปัจจัยอื่นๆ ค่อนข้างมาก ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ราคาสินค้าที่ตกต่ำ รวมไปถึงเรื่องค่าเงินที่แข็งกว่าคู่แข่งในระยะที่ผ่านมา ต่างเป็นปัจจัยที่ไม่ได้เกี่ยวกับเศรษฐกิจภายในประเทศไทยโดยตรง และต้องแยกผลกระทบของแต่ละปัจจัยต่างหาก

ส่วนประเภทสินค้าที่เปลี่ยนไป จะเห็นชัดเจนมาระยะหนึ่งในสินค้าที่ใช้แรงงานมาก เช่นการผลิตเสื้อผ้า มีการย้ายฐานการผลิตไปเพื่อนบ้าน แต่สินค้าประเภทอื่นยังไม่เห็นชัดเจน ตัวอย่างเช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่ก่อนหน้านี้คาดว่าจะส่งออกลดลง แต่ตอนนี้พอคนใช้ข้อมูลเยอะขึ้น ก็กลับมาส่งออกดีขึ้น

ประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจของสภาพัฒน์

“บริโภค-ลงทุน” เอกชน ส่อย่ำแย่ – หนี้เสียแบงก์พุ่ง

ด้านตัวเลขการบริโภคและการลงทุนของเอกชน ถึงแม้ว่าในไตรมาสแรกของปี จะเห็นสัญญาณฟื้นตัวเล็กน้อย ตามการคาดการณ์ของสภาพัฒน์ในคราวแถลงผลงาน 6 เดือนของรัฐบาล โดยการบริโภคโต 2.4% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่โต 2.1% และการลงทุนโต 3.6% ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.1% อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์กลับปรับประมาณการตัวเลขการบริโภคการลงทุนภาคเอกชนทั้งปีลงอีก เหลือ 2.3% และ 3.8% ตามลำดับ

สอดคล้องกับผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ ด้านการปล่อนสินเชื่อ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนความต้องการ การเข้าถึง และการใช้เงินทุนของภาคเอกชน และช่วยชี้ไปยังภาวะเศรษฐกิจของภาคเอกชน โดยในไตรมาสแรกพบว่าการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวลงเหลือ 4.3% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ 5% โดยมีเพียงสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่เติบโตขึ้น ขณะที่การปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่ออุปโภคบริโภคต่างชะลอตัว ประกอบกับปัญหาหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล ที่ทวีความรุนแรงขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 21,000 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2558

ธปท. ชี้ดูรายไตรมาส เศรษฐกิจยังอ่อนแอ โตแค่ 1.2% ต่อปี

ด้านนายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายหลังการแถลงภาวะตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 2558 ของสภาพัฒน์ ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจใกล้เคียงกับที่ ธปท. คาดไว้ โดยแรงขับเคลื่อนมาจากอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนซึ่งขยายตัวมากกว่าที่ ธปท. คาดการณ์ ขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัวและเป็นแรงถ่วงที่สำคัญในไตรมาสนี้

อย่างไรก็ดีในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยงจากกิจกรรมการผลิตในภาคเกษตรที่หดตัวต่อเนื่อง และการส่งออกสินค้าที่หดตัวเพราะผลกระทบจากโครงสร้างการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปและไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลง ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนในระยะต่อไป

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจเดือนเมษายน ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุดอย่างเป็นทางการของ ธปท. กลับชี้ให้เห็นว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวปรับลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนความเปราะบางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยครัวเรือนชะลอการบริโภค ภาคธุรกิจลดการผลิตและการลงทุนลง ขณะที่การส่งออกลดลงในเกือบทุกหมวด แม้การใช้จ่ายด้านการลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยวจะขยายตัวดี แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยได้