ThaiPublica > เกาะกระแส > กมธ.ยกร่างฯ เชิญ สปช.-ครม. แจงขอแก้รัฐธรรมนูญ สัปดาห์หน้า – เผยปม “ที่มา ส.ว.-ตั้งสภาปฏิรูป” ถูกยื่นแก้ครบทั้ง 9 คำขอ

กมธ.ยกร่างฯ เชิญ สปช.-ครม. แจงขอแก้รัฐธรรมนูญ สัปดาห์หน้า – เผยปม “ที่มา ส.ว.-ตั้งสภาปฏิรูป” ถูกยื่นแก้ครบทั้ง 9 คำขอ

28 พฤษภาคม 2015


580528kamnoon
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ขณะแถลงข่าว

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2558 ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) แถลงผลการประชุม กมธ.ยกร่างฯ ครั้งที่ 94 หลังพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คำขอ จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นนัดแรก ว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้วางกรอบการพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว โดยจะให้ผู้ขอทั้ง 9 กลุ่ม เข้ามาชี้แจงระหว่างวันที่ 2-6 มิถุนายน 2558 กำหนดจำนวนผู้ชี้แจงกลุ่มละไม่เกิน 5 คน ให้เวลา 3 ชั่วโมง ประกอบด้วย

– วันที่ 2 มิถุนายน 2558 ช่วงเช้า กลุ่มของนายพลเดช ปิ่นประทีป และช่วงบ่าย กลุ่มของนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์

– วันที่ 3 มิถุนายน 2558 ช่วงเช้า กลุ่มของนายมนูญ ศิริวรรณ และช่วงบ่าย กลุ่มของนายประสาร มฤคพิทักษ์

– วันที่ 4 มิถุนายน 2558 ช่วงเช้า กลุ่มของนายพงศ์โพยม วาศภูติ และช่วงบ่าย กลุ่มของ ศ.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และนายเสรี สุวรรณภานนท์

– วันที่ 5 มิถุนายน 2558 ช่วงเข้า กลุ่มของนายสมชัย ฤชุพันธุ์ และช่วงบ่าย กลุ่มของนายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ

– วันที่ 6 มิถุนายน 2558 คณะรัฐมนตรี (ครม.) นำโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

กมธ.ยกร่างฯ ได้วางหลักว่า ระหว่างการฟังคำชี้แจง จะเน้นการรับฟังและสอบถามให้เกิดความเข้าใจ จะยังไม่แสดงความคิดเห็น เพราะการพิจารณาแก้ไขเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจะเริ่มขึ้นหลังจากนั้น โดย กมธ.ยกร่างฯ ได้วางหลักในการพิจารณาคำขอแก้ไขว่า “จะยึดหลักประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปอย่างแท้จริง” โดยจะมีการนำความเห็นของพรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงความเห็นของประชาชนที่ได้จากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศมาประกอบการพิจารณาด้วย

นายคำนูณยังกล่าวว่า จากการดูคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คำขอคร่าวๆ พบว่าเนื้อหาส่วนที่ถูกยื่นแก้ไขเพิ่มเติมมากที่สุดจะอยู่ในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง รองลงมาคือภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันทางการเมือง หากแยกเป็นรายประเด็น สิ่งที่ถูกขอแก้ไขมากที่สุด คือ มาตรา 121 ที่มาของ ส.ว. และมาตรา 279 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศแห่งชาติ ซึ่งถูกยื่นแก้ไขเพิ่มเติมมาทั้ง 9 คำขอ รองลงมา คือ มาตรา 62, 63 และ 64 สิทธิพลเมืองในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำ EIA และ EHIA

เมื่อถามว่า หากมาตราใดมีผู้ยื่นขอแก้ไขมากๆ จะส่งผลต่อการแก้ไขเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างฯ หรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า ขณะนี้ กมธ.ยกร่างฯ ยังไม่ตัดสินใจใดๆ ทั้งสิ้นว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร เพราะต้องฟังคำชี้แจงของผู้ยื่นขอทั้ง 9 คำขอ ในสัปดาห์หน้าก่อน นอกจากนี้ แต่ละคำขอก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าจำนวนคำขอย่อมส่งผลต่อการพิจารณาของ กมธ.ยกร่างฯ แต่ไม่ใช่ว่ามาตราใดที่มีคนขอแก้ไขน้อย แล้ว กมธ.ยกร่างฯ จะไม่ให้ความสำคัญใดๆ เลย

เมื่อถามว่า ในคำขอแก้ไขของ ครม. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้เพิ่มมาตราที่เกี่ยวกับการสานต่องานที่รัฐบาลชุดนี้ทำไว้ด้วย ในขั้นตอนนี้ กมธ.ยกร่างฯ สามารถเพิ่มเติมเนื้อหาขึ้นจากเดิมได้หรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ สามารถพิจารณาได้ทั้งปรับปรุง แก้ไข ตัดทอน หรือเพิ่มเติมเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากเพิ่มมาตราใดขึ้นมาอาจกระทบต่อหลักการเดิมของร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนเอาไว้แล้ว จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

เมื่อถามว่า หากคำขอแก้ไขกระทบต่อเจตนารมณ์ทั้ง 4 ของร่างรัฐธรรมนูญ คือ สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาดและสมดุล หนุนสังคมที่เป็นธรรม และนำชาติสู่สันติสุข จะสามารถแก้ไขได้หรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า เจตนารมณ์ทั้ง 4 คือ สิ่งที่ กมธ.ยกร่างฯ วางเอาไว้เป็นทิศทางในการทำงานเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่เขียนบังคับไว้ ต่างกับมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่กำหนดหลักการ 10 เรื่องที่ต้องใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นบทบัญญัติ โดยเท่าที่ดูคร่าวๆ มีบางคำขออาจกระทบต่อ 10 เรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลา กมธ.ยกร่างฯ คงต้องไปพิจารณาอีกครั้ง เพราะเป็นเรื่องของถ้อยคำซึ่งต้องมีการตีความ แต่โดยหลักการแล้วจะไปเขียนให้ขัดกับมาตรา 35 ไม่ได้

“อีกเรื่องที่ต้องกล่าวให้เกิดความสบายใจก็คือ กมธ.ยกร่างฯ จะพิจารณาคำขอทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในกรอบเวลาเดิม คือวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ก่อนทิ้งไว้ 15 วันแล้วก่อนส่งให้ สปช.ลงมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ภายในวันที่ 6 สิงหาคม 2558 หากยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เพื่อขยายกรอบเวลาในการทำงานให้กับ กมธ.ยกร่างฯ อีก 30 วัน เราก็ยังต้องยึดตามปฏิทินเดิมอยู่” นายคำนูณกล่าว

ป้ายคำ :