ThaiPublica > เกาะกระแส > 8 มิ.ย. ประกาศเจตนารมณ์ต้านโกง ทั่วประเทศ – ดันรัฐบาลเปิดข้อมูล โชว์โปร่งใส – งัด e-bidding จัดระบบจัดซื้อจัดจ้างดักนักฮั้ว

8 มิ.ย. ประกาศเจตนารมณ์ต้านโกง ทั่วประเทศ – ดันรัฐบาลเปิดข้อมูล โชว์โปร่งใส – งัด e-bidding จัดระบบจัดซื้อจัดจ้างดักนักฮั้ว

27 พฤษภาคม 2015


เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติครั้งที่ 4/2558 โดยมี พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร) นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) รศ. ดร.ต่อตระกูล ยมนาคประธานอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการป้องกันการทุจริต นางจุรี วิจิตรวาทการ ประธานอนุกรรมการการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ รศ. ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการประชาสัมพันธ์ และนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ประธานอนุกรรมการประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ร่วมกันแถลงภายหลังการประชุม

การประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติครั้งที่ 4/2558 ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/
การประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติครั้งที่ 4/2558 ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/

8 มิ.ย. ประกาศเจตนารมณ์ต้านคอร์รัปชันทั่วไทย

รศ. ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ด้านการประชาสัมพันธ์ กล่าวว่าในวันที่ 8 มิถุนายน 2558 จะมีการประกาศเจนารมณ์ของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริต ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และจะมีการประกาศพร้อมกันที่ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เห็นว่าพันธกิจของรัฐบาลชุดนี้ในการต่อต้านการทุจริตคืออะไร อะไรเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้ทำไปแล้ว แล้วอะไรคือสิ่งที่จะทำต่อไป

สำหรับการประกาศเจตนารมณ์ฯ ดังกล่าว นายกรัฐมนตรีจะกล่าวถึงความรู้สึกตั้งแต่ก่อนการเข้ามาบริหารประเทศ ว่ามองเห็นปัญหาการทุจริตอย่างไร และเมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ แล้วพบปัญหาอะไร และมีวิธีการดำเนินการแก้ไขอย่างไร ถือเป็นการสื่อสารเจตนารมณ์ในการต่อต้านการทุจริตให้ประชาชน ทูตานุทูตต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งสื่อมวลชลไทยและต่างประเทศได้ทราบ

หน่วยงานทั้งหมด 6 กลุ่มที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรต่างประเทศ เช่น องค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ องค์กรวัดระดับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเมือง เป็นต้น สถานทูตต่างๆ และสื่อมวลชน โดยตึกสันติไมตรีจะมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 1,018 คน และในแต่ละจังหวัดจะมีผู้เข้าร่วมรับฟังอีกจังหวัดละประมาณ 200 คน รวมจะมีผู้เข้าร่วมประชุมพร้อมกัน 16,218 คน

การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ยังไม่บรรลุเป้า

ด้าน รศ. ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ประธานอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ด้านการป้องกันการทุจริต ระบุว่า ในการป้องกันการทุจริตนั้นไม่มีวิธีใดที่จะดีไปกว่าการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร แต่ที่ผ่านมาการดำเนินการของรัฐในเรื่องดังกล่าวนั้นยังไม่เป็นที่พอใจของสื่อและประชาชน ซึ่งในวันนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการใน 2 ประเด็นด้วยกัน

ประการแรก คือ ให้แต่ละหน่วยงานแสดงขั้นตอนการขออนุญาตต่างๆ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการอํานวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ในเบื้องต้นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ได้ดำเนินการไปแล้วซึ่งจะมีการแถลงให้ทราบถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานเร็วๆ นี้ เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลนั้นมีความสำคัญไปถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาที่หน่วยงานเอกชนเข้ามาขอใบอนุญาตต่างๆ แล้วยืดเยื้อ หรือมีปัญหาที่ตั้งโรงงานแล้วไม่สามารถเปิดทำการได้ โดยปัญหาดังกล่าวนำไปสู่การทุจริตได้ หากดำเนินการตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ ปัญหาเหล่านี้ก็จะหมดไป

ประการที่สอง คือ การเพิ่มความโปร่งใส่ของข้อมูลสาธารณะ ต้องจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม รศ. ดร.ต่อตระกูล กล่าวว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันได้มีการดำเนินการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารไปเป็นจำนวนมาก แต่ข้อมูลเหล่านั้นไม่ได้ไปถือมือของประชาชนทั่วไป ซึ่งหากต้องการให้ข้อมูลกระจายออกไปได้มากที่สุดและเกิดประโยชน์สูงสุด สามารถใช้ประโยชน์จากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐอยู่แล้ว คือ สำนกงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Government Agency: EGA)

“หน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อมูลสาธารณะ ซึ่งข้อมูลต่างๆ ของรัฐบาลเป็นข้อมูลที่ต้องเปิดเผย EGA ก็จะจัดทำข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นรูปแบบดิจิทัล และเปิดให้ประชาชนและสื่อนำไปใช้”

นอกจากนี้มีข้อเสนอเพิ่มเติมในที่ประชุมคือการให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การนานาชาติในเรื่องความโปร่งใสเพื่อยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของไทยให้เท่ากับสากล โดยองค์กรที่ไทยยังไม่ได้เป็นสมาชิก คือ องค์กรความร่วมมือรัฐบาลเปิด (Open Government Partnership: OGP) โดยคาดกว่าหากไทยเข้าร่วมองค์กรดังกล่าวจะทำให้ค่าดัชนีความโปร่งใสหรือ CPI ของไทยจะเพิ่มขึ้น ดังเช่นประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย

ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/
ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/

ปรับรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้าง ดักนักฮั้ว

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวถึงกรณีที่ภาครัฐดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Market: e-market) และด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Bidding : e-bidding)  แทนการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Auction: e-auction) ว่าการดำเนินการ e-market นั้นมีการเริ่มดำเนินการกับโรงพยาบาลอีก 3 แห่ง และส่วนราชการในสังกัดกระทรวงการคลังอีก 9 กรม เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558

และในวันที่ 16 มีนาคม 2558 ได้นำโครงการ e-bidding มาใช้กับหน่วยส่วนราชการส่วนกลางในกรุงเทพมหานคร และจะทยอยไปยังภาคต่างๆ และจะเริ่มใช้ทั้งประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ซึ่งความแตกต่างระหว่าง e-bidding และ e-auction นั้นกระบวนการ e-auction  ยังต้องมีการให้ผู้ประกวดราคามายื่นซอง ทำให้ที่ผ่านมาเกิดการฮั้วประมูลระหว่างผู้ประกวดราคาด้วยกัน ระบบการจัดซื้อจัดจ้างจึงไม่โปร่งใส ส่วน e-bidding ทางกรมบัญชีกลางจะเป็นผู้รวบรวมภาคเอกชนต่างๆ ที่ต้องการทำการเสนอราคาไว้เป็นฐานข้อมูล เสมือนแคตตาลอกที่ระบุข้อมูลสินค้าและราคา ให้หน่วยงานราชการเข้ามาเลือก และเมื่อทำการเลือกแล้วจะจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลราคากลางไว้ เป็นค่ากลางให้กับหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป

ด้าน รศ. ดร.ต่อตระกูล ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้ระบบ e-auction ในระบบการจัดซื้อจัดจ้างกว่า 8 ปีนั้น ทำให้ประเทศสูญเสียรายได้ไปถึง 50,000-100,000 ล้านบาท การนำระบบ e-bidding มาใช้จะช่วยลดการสูญเสียงบประมาณดังกล่าวที่เกิดจากการฮั้วประมูลต่างๆ ได้

ดันข้อตกลงคุณธรรม ใช้ทุกกระทรวง

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อไปว่า คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม ในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และโครงการจัดซื้อรถโดยสาร NGV ของ ขสมก. ได้มีผู้สังเกตการณ์เข้าไปดูการปฏิบัติงานแล้ว ซึ่งการมีผู้สังเกตการณ์เข้าไปดูในส่วนนี้ช่วยให้ได้ราคาที่ถูกลง โดยเฉพาะในส่วนของการจัดซื้อรถเมล์ NGV สามารถประหยัดงบประมาณของภาครัฐไปได้ประมาณ 500 ล้านบาท

“การจัดซื้อรถเมล์ NGV มีการพิจารณา และประกวดราคาเสร็จสิ้นแล้วได้ผู้เสนอราคารายต่ำสุดแล้ว ปรากฏว่าตอนแรกที่ยังไม่มีคณะผู้สังเกตการณ์ราคาอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านบาท ซึ่งเมื่อมีผู้สังเกตการณ์เข้าไปแล้วสามารทำให้รัฐได้ราคาต่ำลงไปอีกกว่า 1 ล้านบาท ในการจัดซื้อรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน”

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จะดำเนินการนำร่องอื่นๆ อีก ได้แก่ การจัดซื้อระบบถ่ายทอดของกรมประชาสัมพันธ์ เปลี่ยนจากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิทัล การจัดซื้อเครื่องเอ็กซ์เรย์ตู้คอนเทนเนอร์ของกรมศุลกากร และโครงการจัดซื้อเครื่องจักรของโรงงานยาสูบ รวมเป็น 5 โครงการนำร่อง

“ทำ 5 โครงการไปแล้วเห็นว่าควรขยายไปสู่ส่วนราชการต่างๆ เพิ่มขึ้น ทางกรมบัญชีกลางจึงได้ทำหนังสือไปยัง 20 กระทรวง ให้ทั้งหมดคัดเลือกโครงการที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ หรือโครงการที่คิดว่าอยู่ในความสนใจของประชาชน ซึ่งได้มีกระทรวงแจ้งเข้ามาแล้ว 12 กระทรวง กระทรวงละ 1-2 โครงการบ้าง รวมมีโครงการทั้งสิ้น 36 โครงการที่จะนำเสนอคณะกรรมการความร่วมมือ ที่มีนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เพื่อพิจารณาและจัดให้มีผู้สังเกตการณ์ต่อไป”

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวต่อไปว่า ในการใช้ข้อตกลงสัญญาคุณธรรมที่เป็นสัญญาร่วมกัน 3 ฝ่ายระหว่าง ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งในส่วนของภาคประชาสังคมมีจำนวนคนค่อนข้างจำกัดจึงอาจมีการพิจารณาต่อไปว่าจะเปลี่ยนกติกาเหลือให้เป็นเพียงข้อตกลง 2 ฝ่าย ซึ่งเรื่องนี้จะมีการเสนอให้ ครม. พิจารณาต่อไป

ราชการใช้งบ PR เกิน 5 ล้านลดลง – เผยรายชื่อข้าราชการทุจริตไม่ถึง 200

 พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์  ที่มาภาพ : http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000010255701.JPEG
พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ ที่มาภาพ : http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000010255701.JPEG

พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) กล่าวถึงความคืบหน้าในด้านการตรวจสอบการใช้งบประชาสัมพันธ์ที่เกินกว่า 5 ล้านบาท ว่า ตนได้แจงทุกกระทรวงแล้วว่าหากไม่จำเป็นขอให้ทำเอง ไม่ต้องจ้างหน่วยงานภายนอกในการจัดงาน เพื่อประหยัดงบประมาณ ซึ่งเมื่อมีการแจ้งไปจำนวนการใช้งบประมาณที่เกิน 5 ล้านก็ลดลงเป็นจำนวนมาก

ส่วนการใช้งบที่ผ่านมาก็คงต้องตรวจแต่ตอนนี้ คตร. มีส่วนที่ต้องตรวจสอบจำนวนมากจึงต้องใช้เวลาสักหน่อย ซึ่งในการที่ คตร. จะตรวจสอบได้นั้นจะต้องมีการร้องเรียนเจ้ากระทรวงต่างๆ ขอให้ไปตรวจ หรือมาจากการสั่งการของนายกรัฐมนตรี หรือความเห็นในที่ประชุม จึงจะดำเนินการตรวจสอบต่อไปได้

“ขณะนี้ยังไม่มีการร้องเรียนเข้ามา แต่ต้องมีข้อมูลนะที่ร้องมา ทุกคนใจร้อนตอนนี้ก็ตรวจไม่ทันงานเยอะมาก ต้องจัดลำดับความเร่งด่วนของงาน บางอย่างก็ให้ทางกระทรวงเขาตรวจแล้วรายงาน คตร. หากการตรวจไม่เป็นที่พอใจ คตร. ก็จะเข้าไปตรวจอีกครั้ง”

ด้านการตรวจสอบ การดำเนินงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทาง คตร. ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว และส่งต่อไปยังนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ พล.อ. อนันตพร ระบุว่า การตรวจสอบของ คตร. เป็นการตรวจสอบในเชิงระบบ โดยในส่วนที่กำหนดไว้กว้างเกินไปจะเอื้อให้เกิดการใช้งบประมาณผิดประเภทนั้นก็ต้องมีการปรับปรุง กำหนดขอบเขตให้ชัดเจน ส่วนจะมีการลงโทษใครหรือไม่ อย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรองนายกรัฐมนตรี

พล.อ. อนันตพร กล่าวไปถึงรายชื่อข้าราชการที่ต้องสงสัยว่าอาจมีการทุจริตในชุดที่ 2 นั้น มีจำนวนไม่ถึง 200 คน และไม่ใช่ข้าราชการระดับสูงดังเช่นในครั้งแรก ขณะนี้ได้รายชื่อมาแล้ว อยู่ระหว่างการเสนอรายชื่อซึ่งการดำเนินการต่างๆ เป็นหน้าที่ของต้นสังกัดที่ส่งมาว่าจะมีมาตรการกับบุคคลเหล่านั้นอย่างไร จะไม่มีการใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการดำเนินการใดๆ เพิ่มเติมกับข้าราชการชุดนี้