ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “ครม.-คสช.” ยังไม่สรุปทำประชามติ แค่แก้ รธน. เปิดทางไว้ – “วิษณุ” เผยหากทำต้องเลื่อนเลือกตั้งไปอีก 7 เดือน

“ครม.-คสช.” ยังไม่สรุปทำประชามติ แค่แก้ รธน. เปิดทางไว้ – “วิษณุ” เผยหากทำต้องเลื่อนเลือกตั้งไปอีก 7 เดือน

20 พฤษภาคม 2015


“ครม.-คสช.” ยังไม่สรุปทำประชามติ แค่แก้ รธน. เปิดทางไว้ – “วิษณุ” เผยหากทำต้องเลื่อนเลือกตั้งไปอีก 7 เดือน – ด้าน ครม. เด้ง 2 ปลัดพ้นตำแหน่ง

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/index.php?option=com_joomgallery&view=category&catid=9643&Itemid=73&lang=th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/index.php?option=com_joomgallery&view=category&catid=9643&Itemid=73&lang=th

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อหารือว่าจะทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง

“บิ๊กตู่” เผย ครม.-คสช. ยอมแก้ รธน.’57 เปิดทางประชามติ

ภายหลังการประชุม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมร่วมกันเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อเปิดทางให้สามารถทำประชามติได้ ส่วนจะทำประชามติหรือไม่ ต้องรอให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก่อน ซึ่งหากมีขึ้น หน่วยงานที่จะรับผิดชอบคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

“หากทำประชามติ โรดแมปก็ต้องเลื่อนออกไปอยู่แล้ว วันนี้ผมไม่ขอคาดการณ์อะไรทั้งสิ้น เพียงแต่เตรียมการไว้สำหรับการทำประชามติเท่านั้น ซึ่งจะทำหรือไม่ก็ได้ ส่วนรูปแบบในการทำประชามติให้ขึ้นอยู่กับ กกต.”

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวว่า ส่วนการเสนอความเห็นแก้ไขเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) คสช. ได้มีมติว่าจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะ คสช. เป็นต้นกำเนิดขององค์กรแม่น้ำอีก 4 สาย จึงปล่อยให้ ครม. และ สปช. เป็นผู้เสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ จะให้ถูกมองว่าชี้นำหรือสืบทอดอำนาจไม่ได้

เมื่อถามถึงกรณีที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปพูดที่เกาหลีใต้ ซึ่งช่วงหนึ่งพาดพิงว่า คสช. ไม่มีผลงานที่น่าประทับใจ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีประเด็นสำคัญอะไร ตนไม่ขอตอบโต้ใครทั้งสิ้น ขอให้ทุกคนดูที่การกระทำ

“วิษณุ” แจงแค่ไขกุญแจเปิดช่อง แต่ยังไม่ตัดสินใจทำ

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า ตามที่องค์กรแม่น้ำ 3 ใน 5 สาย ประกอบด้วย กมธ.ยกร่างฯ สปช. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหนังสือเสนอมาให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่มีความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน ในวันนี้ยังทำประชามติไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ไม่ได้กำหนดไว้ และในส่วนที่เสนอให้ใช้มาตรา 44 สั่งทำประชามติ ก็คงจะไม่ได้ เพราะในมาตรา 37-38 ได้กำหนดกรอบเวลาในการยกร่างรัฐธรรมนูญเอาไว้ ดังนั้น หากจะให้มีการทำประชามติ ทางเดียวที่ทำได้คือแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติในอนาคตได้โดยไม่มีปัญหาและอุปสรรค แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องทำประชามติ เพียงแต่เป็นการเปิดช่องไว้เท่านั้น

นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องประชามติเหมือนประตูห้องที่ล็อกใส่กุญแจ การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ก็เหมือนเราไปไขกุญแจ เมื่อไรอยากเปิดก็แค่ผลักประตู ส่วนเรื่องหน่วยงานใดจะเป็นผู้ตัดสินว่าจะทำประชามติหรือไม่ หรือจะใช้รูปแบบใดในการทำประชามติ แค่รับหรือไม่รับ หรือให้เลือกกับรัฐธรรมนูญในอดีต ค่อยไปว่ากันในอนาคต ในขั้นตอนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 โดย สนช.

“โดยสรุป ประชามติได้ผ่านด่านที่ 1 คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 แล้วค่อยไปดูกันว่าใครจะเป็นผู้ตัดสินใจเข้าสู่ด่านที่ 2 คือ ให้ทำประชามติ ที่ยังไม่ตอบวันนี้ ไม่ใช่ว่าอุบไว้หรือกั๊ก แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินใจในขณะนี้ได้ เพราะสมมติ กมธ.ยกร่างฯ แก้ไขเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจนสังคมพอใจ แล้วไม่มีคนอยากทำประชามติ เพราะเห็นจะใช้เวลานานเกินไป หากไปเขียนล็อกไว้ว่าต้องทำประชามติ ก็จะถอยไม่ได้แล้ว”

นายวิษณุกล่าวว่า ขั้นตอนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ของ สนช. น่าจะใช้เวลาประมาณ 15 วัน ก่อนทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย เพื่อประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ หน่วยงานที่จะจัดให้มีการทำประชามติ ก็คือ กกต. โดยมีเครื่องมือในการดำเนินการ 2 อย่าง คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการประชามติ พ.ศ. 2552 และระเบียบ กกต. ที่สามารถออกมาได้เพิ่มเติมอีก โดยจะต้องมีการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 47 ล้านเล่ม แจกจ่ายให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 47 ล้านคน เพื่อศึกษาก่อนลงประชามติ โดยจะต้องแจกให้ถึงมือผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างน้อย 80%

หากมีประชามติ ต้องเลื่อนเลือกตั้งไปอีก 7 เดือน

ขั้นตอนก่อนสู่การเลือกตั้ง2

นายวิษณุกล่าวว่า หากมีการทำประชามติ แน่นอนว่าการเลือกตั้งก็ต้องเลื่อนออกไป ความเห็นส่วนตัวที่ไม่ผูกพันกับใคร เห็นว่าการทำประชามติน่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนมกราคม 2559 ไม่ควรจะช้ากว่านั้น ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ก็ต้องใช้เวลาอีก 3 เดือนในการออก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก จำนวน 3 ฉบับ และใช้เวลาอีก 1 เดือน ในการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก่อนนำไปสู่การจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศ(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

“โดยสรุปจะใช้เวลารวมกันประมาณ 7 เดือน ส่วนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด ให้พวกคุณไปคำนวณกันเอาเอง”

ทั้งนี้ ข้อดีของการทำประชามติ คือสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน สร้างความหนักแน่นให้กับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจะมีกระบวนการคล้ายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ส่วนข้อเสีย คือต้องใช้งบราว 3 พันล้านบาท และเมื่อมีการรณรงค์ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประชาชน

นายวิษณุยังกล่าวว่า ที่ประชุมร่วมกันของ คสช. กับ ครม. ยังมีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพิ่มเติมในอีก 1 ประเด็น คือให้ขยายเวลาการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างฯ ตามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง คสช. ครม. และ สปช. จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60 วัน เป็นไม่เกิน 90 วัน หรือเพิ่มขึ้น 30 วัน เนื่องจากการปรับแก้ต้องเชิญผู้ที่เสนอแก้ไขไปชี้แจง และบางประเด็นหากจะแก้ไข จะกระทบหลายมาตรา จึงสมควรให้เวลา กมธ.ยกร่างฯ ได้ทำงานเพิ่มขึ้น

ประชุม ครม. นัดพิเศษ 25 พ.ค. สรุปปมเสนอแก้ร่าง รธน.

ส่วนการเสนอความเห็นของ คสช. และ ครม. นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้ตนได้สรุปความเห็นของทุกกระทรวง ทุกหน่วยงานราชการ รวมถึงองค์กรอิสระที่ได้ยื่นเข้ามาไปแล้วกว่า 80% โดยแบ่งประเด็นที่ต้องแก้ไขได้เป็น 3 หัวข้อหลัก คือ 1. ถ้อยคำกำกวม ไม่ชัดเจน ปฏิบัติจริงได้ยาก เช่น คำว่าพลเมือง ปวงชนชาวไทย ราษฎร บุคคล ต่างกันอย่างไร 2. ข้อความที่ไม่ควรมาอยู่ตรงนั้นตรงนี้หรือควรบัญญัติขึ้นเพิ่มเติม และ 3. ให้ตัดทอน ปรับปรุง หรือทบทวนเนื้อหาบางมาตรา ซึ่งอาจกระทบต่อหลักการสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้จะมีการนัดประชุม ครม. นัดพิเศษ ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 เพื่อพิจารณาความเห็นในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้น ก่อนส่งให้ กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาในช่วงบ่ายวันเดียวกัน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/index.php?option=com_joomgallery&view=category&catid=9643&Itemid=73&lang=th
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/index.php?option=com_joomgallery&view=category&catid=9643&Itemid=73&lang=th

“ส่วน คสช. ไม่ขอร่วมแสดงความเห็น เพราะตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 แม้จะระบุให้ คสช. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมแสดงความเห็นได้ แต่ คสช. หารือกันแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าจะไม่มีข้อเสนอไปยัง กมธ.ยกร่างฯ เพื่อป้องกันข้อครหาต่างๆ เพราะ คสช. เป็นผู้แต่งตั้งองค์กรแม่น้ำอีก 4 สาย เปรียบเสมือนมหานทีสีทันดร หากเสนอความเห็น แล้ว กมธ.ยกร่างฯ เอาตาม ก็จะถูกหาว่าทำตามใบสั่ง หรือเสนอไปแล้ว กมธ.ยกร่างฯ ไม่เอาตาม ก็จะถูกประชดประชันส่อเสียดว่า กมธ.ยกร่างฯ แข็งข้อ หรือ คสช. แพ้ จึงตัดปัญหาไป แต่หากสมาชิก คสช. คนใดอยากเสนอความเห็น ก็สามารถเสนอได้ผ่านทาง ครม. ซึ่งจะถือเป็นความเห็นของ ครม. ที่หากต้องขัดแย้งกับ กมธ.ยกร่างฯ ก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นองค์กรแม่น้ำคนละสาย”

เชิญ 3 ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ถ่ายทอดประสบการณ์พาชาติพ้นวิกฤต

นายวิษณุยังเปิดเผยว่า ครม. ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ จำนวน 3 คน เพื่อมาถ่ายทอดประสบการณ์การคลี่คลายวิกฤติการเมืองในประเทศนั้นๆ ที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย ประกอบด้วย ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ศ.ดอมินิก รุสโซ ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์และรัฐธรรมนูญ จากมหาวิทยาลัยปารีส ในวันที่ 26 พฤษภาคม 25558 ศ.ไมเคิล ทรอปเปอร์ ผู้มีส่วนผลักดันให้ศาลของฝรั่งเศสเข้าไปชี้แนะประชาชนในเรื่องต่างๆ จากมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ และในวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 ศ.อัลริก คาร์เพน ผู้มีส่วนยกร่างรัฐธรรมนูญในกลุ่มประเทศที่แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต จากมหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก โดยการบรรยายดังกล่าว จะเปิดโอกาสให้ ครม. สปช. สนช. และ กมธ.ยกร่างฯ รวมถึงนักวิชาการบางส่วนเข้ารับฟัง และจะมีการบันทึกเทปมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนในภายหลัง

ครม. เด้ง 2 ปลัด “ทส.-ไอซีที” พ้นตำแหน่ง ตั้ง “คุรุจิต นาครทรรพ” นั่งปลัดพลังงาน

วันเดียวกันยังมีการประชุม ครม. โดยมีมติที่สำคัญเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้มีมติแต่งตั้งให้นางมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษดิ์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และนางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เข้ามาเป็นผู้ตรวจการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เปิดขึ้นใหม่ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 16/2558

“การโยกย้ายดังกล่าว นายกฯ ระบุว่าไม่อยากให้มองให้เป็นความผิด แต่ขอให้เป็นไปตามกระบวนการสอบสวน อย่างไรก็ตามยอมรับว่ามีรายชื่อทั้ง 2 ราย อยู่ในบัญชีที่มีการตรวจสอบด้วย”

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ยังได้มีมติแต่งตั้ง นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นปลัดกระทรวงพลังงาน, นายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม, นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม, นายไพฑูรย์ สว่างกมล รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม, นางฉลอง อติกนิษฐ รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม น.ส.พรพิตร นรภูมิพิภัชน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม และมีคำสั่งให้ พล.อ. วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ อีกหน้าที่หนึ่งจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงแทนตำแหน่งที่ว่างลง” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

ฟังนายกฯแถลง
[youtube http://www.youtube.com/watch?v=cJpz3S95pOs&w=560&h=315]