ThaiPublica > เกาะกระแส > ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา “ยิ่งลักษณ์-ครม.” รวม 34 ราย จ่ายเงินเยียวยาม็อบไม่มี กม.รองรับ ทำรัฐเสียหาย 1.9 พันล้านบาท

ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา “ยิ่งลักษณ์-ครม.” รวม 34 ราย จ่ายเงินเยียวยาม็อบไม่มี กม.รองรับ ทำรัฐเสียหาย 1.9 พันล้านบาท

14 พฤษภาคม 2015


ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา “ยิ่งลักษณ์-ครม.” รวม 34 ราย จ่ายเงินเยียวยาม็อบไม่มี กม.รองรับ ทำรัฐเสียหาย 1.9 พันล้านบาท – แจ้งข้อหา “จุติ” คดีเอื้อประโยชน์ทรูฯ ได้ 3G และ “สุเทพ” คดีก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง – ตั้งอนุกรรมการไต่สวนอดีตเลขาฯ สกสค.อนุมัติใช้เงิน 2.5 พันล้านมิชอบ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/en/component/joomgallery/IK/ik8-16161.html
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/en/component/joomgallery/IK/ik8-16161.html

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งเอกสารข่าวความคืบหน้าคดีจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง ระหว่างปี 2548-2553 อ้างถึงคำพูดของนายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.), นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) และนายปกรณ์ พันธุ ในฐานะอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมจำนวน 36 ราย ว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต กรณีการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง (ปี 2548-2553) โดยไม่มีอำนาจ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ และเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องของตนเอง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้ว มีมติ ดังนี้

1.กรณีกล่าวหานายปกรณ์ พันธุ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ ในฐานะเป็นหน่วยเบิกจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ปี 2548-2553 โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว เห็นว่านายปกรณ์ พันธุ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการในขณะนั้นและในฐานะประธานคณะทำงานช่วยเหลือเยียวยาด้านเงินตามหลักมนุษยธรรม มีหน้าที่ในดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2555 เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่เช่นเดียวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง ที่ต้องปฏิบัติตามมติ ครม.ซึ่งถือเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ต้องปฏิบัติตาม นอกจากนี้ ยังมีคณะอนุกรรมการด้านการเยียวยาทางแพ่งและการฟื้นฟูด้วยวิธีการอื่น โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (นายธงทอง จันทรางศุ) เป็นประธาน ที่พิจารณากรณีเกิดปัญหาการพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาอีกชั้นหนึ่ง

ดังนั้น ในชั้นนี้จึงเห็นว่าการกระทำของนายปกรณ์ พันธุ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ ครม.มีมติ ให้จ่ายเงินเยียวยาเท่านั้น ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานเพียงพอตามข้อกล่าวหา จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป

2.กรณีกล่าวหานางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี และ ครม. มีมติอนุมัติและจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ปี 2548-2553 โดยไม่มีอำนาจ และไม่มีกฎหมายรองรับ

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าการที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 และเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2555 เห็นชอบให้มีการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ปี 2548-2553 และให้ใช้งบประมาณจากเงินงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,000 ล้านบาท มาใช้ในการดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ปี 2548-2553 โดยออกหลักเกณฑ์และอัตราการเยียวยาขึ้นใหม่และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีกฎหมายใดมารองรับการจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าว ซึ่งตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ พ.ศ. 2502 กำหนดว่าการจ่ายเงินแผ่นดินหรือเงินงบประมาณเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินดังกล่าว จะกระทำได้แต่เฉพาะที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดแก่ทางราชการ

การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และ ครม. ร่วมกันมีมติ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 และวันที่ 6 มีนาคม 2555 ให้จ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง และให้ใช้งบประมาณจากเงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,000 ล้านบาท มาใช้ในการดำเนินการดังกล่าวนั้น โดยออกหลักเกณฑ์และอัตราการเยียวยาขึ้นใหม่ และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีกฎหมายใดมารองรับการจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าว ทั้งที่มิใช่เป็นการจ่ายเงินเกี่ยวกับปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือเป็นไปเพื่อบริการสาธารณะแห่งรัฐ หรือเป็นกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่หากไม่ดำเนินการจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการตาม พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ พ.ศ. 2502 แต่เป็นการจ่ายในลักษณะเงินสงเคราะห์ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งจะต้องมีกฎหมายมารองรับเพื่อใช้บังคับกับกรณีนี้โดยเฉพาะ ซึ่งในอดีตรัฐบาลที่ผ่านมาได้เคยจ่ายเงินในลักษณะเดียวกันนี้ โดยอาศัย พ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการการปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ. 2543 เป็นกฎหมายรองรับ เพื่อก่อให้เกิดสิทธิในการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง

กรณีจึงเป็นการจ่ายเงินแผ่นดินหรือเงินงบประมาณโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ประกอบกับกรอบอัตราการเยียวยาตามมติ ครม.ดังกล่าวเป็นวงเงินงบประมาณจำนวนสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานการเยียวยาความเสียหายต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีอื่นๆ อาทิ การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น อีกทั้งมีการกำหนดการชดเชยเยียวยาความสูญเสียทางด้านจิตใจ เป็นจำนวน 3 ล้านบาท โดยไม่มีขั้นตอนพิสูจน์ความเสียหายหรือความสูญเสียแต่อย่างใด อันก่อให้ผลกระทบต่องบประมาณในการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศ เป็นการนำงบประมาณแผ่นดินไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงวินัยทางการเงินการคลัง

ดังนั้น การกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และ ครม. ผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็นการหลีกเลี่ยงละเว้นไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของประเทศที่ต้องจ่ายเงินเพื่อการดำเนินการดังกล่าวเป็นจำนวน 1,921.06 ล้านบาท

คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหา ได้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ ครม. รวมจำนวน 34 ราย เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อไป ตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

สำหรับผู้ถูกกล่าวหากรณีนายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2556

แจ้งข้อหา “จุติ-สุเทพ” – ตั้งอนุไต่สวนอดีตเลขาฯ สกสค.ใช้เงินกองทุน 2.5 พันล้านมิชอบ

วันเดียวกัน สำนักงาน ป.ป.ช.ยังได้ส่งเอกสารข่าวที่เกี่ยวข้องกับคดีความสำคัญ จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย

1.คณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหา นายจุติ ไกรฤกษ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในคดีขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง กรณีใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ทำให้กลุ่มบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เข้าเป็นคู่สัญญาร่วมดำเนินธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT รวมทั้งส่อว่าจะได้รับผลประโยชน์เพื่อทำให้กลุ่มกิจการร่วมค้า เอสแอล คอนซอเตียม ได้เข้าเป็นคู่สัญญาสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

2.คณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในคดีทุจริตก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทน จำนวน 396 แห่ง กรณีที่อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างจากรายภาคเป็นรวมกันที่ส่วนกลางในครั้งเดียว อันเป็นเหตุให้ผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ เป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง

3.ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน คดีกล่าวหานายสมศักดิ์ ตาไชย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กับพวก อนุมัติให้นำเงินของกองทุนสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการเงินกู้ฌาปนากิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน จำนวน 2,100 ล้านบาท และ 400 ล้านบาท โดยไม่ชอบ โดยมีนายวิชาเป็นประธานอนุกรรมการ มี นายปรีชา เลิศกมลมาศ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ และผู้เชี่ยวชาญด้านกำกับดูแลสถาบันการเงิน เป็นอนุกรรมการ.