ThaiPublica > เกาะกระแส > สนช.ผ่านกฎหมายเพิ่มอำนาจ ป.ป.ช. กำหนดความผิดหาก “นิติบุคคล” จ่ายสินบน จนท. – หยุดนับอายุความคดีทุจริตถ้าหลบหนี

สนช.ผ่านกฎหมายเพิ่มอำนาจ ป.ป.ช. กำหนดความผิดหาก “นิติบุคคล” จ่ายสินบน จนท. – หยุดนับอายุความคดีทุจริตถ้าหลบหนี

4 พฤษภาคม 2015


sansern1
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ที่มาภาพ : http://www.tnamcot.com/137163

เมื่อวันที่ 4 พ.ค.2558 เวลา 16.00 น. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งเอกสารประชาสัมพันธ์ อ้างคำพูดของนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ที่ชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nations Convention against Corruption: UNCAC) ว่า ประเทศไทย เข้าเป็นรัฐภาคีภายใต้อนุสัญญา UNCAC มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 จึงก่อให้เกิดหน้าที่ในการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาหลายประการ โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดรับและสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีอย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีความพยายามแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อดำเนินการตามพันธกรณีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่เป็นผลสำเร็จ

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ในการต่อต้านการทุจริต รวมถึงการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศ จึงได้เสนอแก้ไข “ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่…) พ.ศ. ….” เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สนช. ได้พิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2558 มีมติเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว หลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป

สำหรับประเด็นสำคัญๆ ของการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว อาทิ

– กำหนดฐานความผิดการให้/รับสินบนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ

– กำหนดฐานความผิดเฉพาะสำหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่

– กำหนดหลักการริบทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพ

– กำหนดหลักอายุความ โดยมิให้มีการนับอายุความ หากมีการหลบหนีในคดีทุจริต

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอขอบคุณสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริต เพราะผลของการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ เป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาต่อต้านการทุจริต ในฐานะรัฐภาคีได้อย่างครบถ้วนและ ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการแก้ไขกฎหมายเพื่อการป้องกันและปราบปราม      การทุจริตให้เป็นสากล เกิดการยอมรับและเชื่อมั่นจากนานาประเทศยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเกิดประโยชน์ต่อการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการเป็นผู้ถูกประเมินและติดตามผลการปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวจากผู้แทนรัฐผู้ประเมิน ประกอบด้วย ราชอาณาจักรบาเรนห์ และสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล ซึ่งจะมาประเมินประเทศไทย ในขั้นตอนการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย (Joint meeting or Country visit) ในเดือน พ.ค.2558 นี้