ThaiPublica > เกาะกระแส > 1 ปี “แผ่นดินไหวแม่ลาว” (ตอนที่1) กับอาฟเตอร์ช็อกอีกกว่า 500 วัน – ทำความเข้าใจความแผ่นดินไหว ภัยที่พยากรณ์ไม่ได้

1 ปี “แผ่นดินไหวแม่ลาว” (ตอนที่1) กับอาฟเตอร์ช็อกอีกกว่า 500 วัน – ทำความเข้าใจความแผ่นดินไหว ภัยที่พยากรณ์ไม่ได้

5 พฤษภาคม 2015


เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเนปาลที่คร่าชีวิตคนไปกว่า 7,000 คน เพิ่งจะผ่านพ้นไปไม่กี่สัปดาห์ และวันที่ 5 พฤษภาคม 2558 นี้เป็นวันครบรอบ 1 ปีเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ จ.เชียงราย ถือเป็นอีกวันที่ชาวบ้านใน อ.แม่ลาว หลายหลังคาเรือนยังคงหวาดผวา กับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 2557

เหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าวมีศูนย์กลางอยู่บริเวณกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาตอนเหนือ อ.แม่ลาว และ อ.พาน จ.เชียงราย มีขนาด 6.3 ตามมาตราริกเตอร์ แผ่นดินไหวมีรัศมีประมาณ 30 กิโลเมตรจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ที่ ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว และเนื่องจากจุดศูนย์กลางอยู่ในระดับตื้นเพียง 7 กิโลเมตร ความรุนแรงจึงค่อนข้างสูง แม้กรุงเทพมหานครที่อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวนับ 1,000 กิโลเมตร ยังสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสะเทือน

แรงสะเทือนส่งผลให้อาคาร บ้านเรือนของประชาชน วัด และสถานที่ราชการในพื้นที่รอบจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวได้รับความเสียหายเป็นจำนวนกว่า 15,000 หลังคาเรือน สรุปมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนเงินประมาณ 1,029 ล้านบาท

กรมอุตุฯ กับความพร้อมรับแผ่นดินไหว

นายบุรินทร์ เวชบันเทิง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ปัจจุบันสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวและนักวิจัยยังคงจับตาดูรอยเลื่อนทั้งหมด 14 กลุ่มในประเทศไทย โดยเฉพาะรอยเลื่อนแม่จันที่เคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อ 1,000 ปีที่ผ่านมา และสำหรับกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล นายบุรินทร์ยืนยันว่าไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเนื่องจากเกิดจากรอยเลื่อนที่วางตัวแตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวเกาะติดสถานการณ์การเกิดแผ่นดินไหวตลอด 24 ชั่วโมง แม้ปัจจุบันการเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวของประชาชนยังไม่ดีเท่าที่ควร แต่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ติดตั้งสถานีตรวจแผ่นดินไหวกระจายอยู่ทั่วประเทศเพื่อเก็บข้อมูลของการเกิดแรงสะเทือนในระดับต่างๆ สำหรับเตรียมรับสถานการณ์การเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต

เครื่อมือตรวจวัดแผ่นดินไหว  ณ  สถานีอุตุนิยมวิทยา เชียงราย
เครื่อมือตรวจวัดแผ่นดินไหว ณ สถานีอุตุนิยมวิทยา เชียงราย

“กรณีของการเกิดแผ่นดินไหว เป็นภัยพิบัติที่ไม่สามารถพยากรณ์ได้ เนื่องจากเป็นเสมือนระเบิดที่อยู่ใต้ดิน จะเกิดเมื่อไรไม่มีใครทราบได้ การเตรียมความพร้อม และสร้างระบบเตือนภัยให้รวดเร็วจึงมีความสำคัญและจำเป็น โดยปัจจุบันเครื่องมือที่กรมอุตุฯ มีสามารถเก็บแรงสั่นสะเทือนรายงานส่วนกลางได้ภายในเวลา 5 นาที และหน่วยงานจะทำการรายงานผลการเกิดแผ่นดินไหวแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง”

นอกจากนี้ รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาเปิดเผยว่าในวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 จะมีการลงนามความร่วมมือ ระหว่างกรมอุตุนิยมวิทยา การไฟฟ้าผ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมชลประทาน เพื่อทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวระหว่างกัน เนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีสถานีตรวจแผ่นดินไหวอยู่ในพื้นที่ของตนทั่วประเทศ ความร่วมมือนี้จะส่งผลให้การเฝ้าระวัง และการเตือนภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แผ่นดินไหวแม่ลาว กับอาฟเตอร์ช็อก 500 วัน

หลังการเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าวทำให้นักวิจัย/ผู้เชี่ยวชาญต่างลงพื้นที่สำรวจเพื่อหาข้ออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาสกร ปนานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ ระบุว่า จากการศึกษารอยเลื่อนมีพลังในอดีตว่ารอยเลื่อนใดเคยเกิดแผ่นดินไหวขึ้นบ้าง เพื่อนำมาคำนวณขนาดแผ่นดินไหวที่สามารถจะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย โดยจากการศึกษาพบว่า ทุกรอยเลื่อนมีหลักฐานการเกิดแผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อประมาณ 1,000-2,000 ปี เป็นครั้งสุดท้าย จากการคำนวณขนาดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่สุดที่สามารถเป็นไปได้ พบว่าขนาดอยู่ที่ประมาณ 6-7 ตามมาตราริกเตอร์ และการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5-6 ตามมาตราริกเตอร์ ในประเทศไทยนั้นมีความเป็นได้ ไม่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด

และการสำรวจยังพบรอยแตกตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งอาจเป็นข้อสงสัยว่ารอยแตกเหล่านี้คือรอยเลื่อนหรือไม่ กรณีดังกล่าว ผศ. ดร.ภาสกร กล่าวว่า รอยแตกดังกล่าวเกิดจากการสั่นสะเทือนของพื้นดิน พบได้ตามแนวถนน แนวชลประทาน โดยรอยแตกเหล่านี้ “ไม่ใช่รอยเลื่อนจริง”

ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผศ. ดร.ภาสกร ปนานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผศ. ดร.ภาสกรกล่าวต่อว่า การสำรวจระดับความรุนแรงแผ่นดินไหวของตน และคณะได้สำรวจจาก 2 สิ่งคือ ความเสียหายของสิ่งก่อสร้าง และความรู้สึกของบุคคล คำตอบด้านความรู้สึกค่อนข้างมีความหลากหลาย จึงต้องสุ่มตัวอย่างจำนวนมากเพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ยที่เป็นตัวกลางที่ดี โดยทำการสำรวจใน 400 กว่าตำแหน่ง พบว่า บริเวณที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จะอยู่ใกล้ๆ จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเช่นกัน

ในปัจจุบัน หากดูจากจำนวนการเกิดแผ่นดินไหว ตามสถิติของกรมอุตุนิยมวิทยา มีขนาดตั้งแต่ 2 ตามมาตราริกเตอร์ขึ้นไป โดยพบว่าจำนวนแผ่นดินไหวสูงมากที่สุดในวันแรกคือมีประมาณ 100-200 เหตุการณ์ จากนั้นจะค่อยๆ ลดจำนวนลงมา จนปัจจุบันเหลือวันละไม่ถึง 1 ครั้ง ซึ่งโดยทั่วไปการเกิดแผ่นดินไหวขนาดปานกลางถึงขนาดใหญ่ ในช่วงแรกๆ จะเกิดแผ่นดินไหวต่อเนื่อง หรืออาฟเตอร์ช็อก (aftershock) เป็นจำนวนมาก เมื่อเวลาผ่านไปจะลดจำนวนลงเข้าสู่ระดับปกติ ซึ่งหากดูข้อมูลย้อนหลังจะพบว่าบริเวณนี้จะเกิดแผ่นดินไหวประมาณ 10 ครั้ง/ปี

“สำหรับปัจจุบัน ขนาดของอาฟเตอร์ช็อกอยู่ที่ประมาณ 2-3 ตามมาตราริกเตอร์ ค่อนข้างคงที่ ขนาดใหญ่ๆ ที่มากกว่า 5 หรือ 4 ตามมาตราริกเตอร์ จะพบในช่วงแรกๆ เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถระบุได้เลยว่าจะไม่มีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ว่าแนวโน้มหรือโอกาสที่จะเกิดขึ้นมีน้อยลง เพราะว่าไม่สามารถระบุได้ละเอียดขนาดนั้น เพราะฉะนั้น คำถามว่าการเกิดแผ่นดินไหววันเว้นวันนั้นมีความผิดปกติหรือไม่ คำตอบคือไม่ โดยแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง หรือแผ่นดินไหวขนาด 6 ตามมาตราริกเตอร์นั้น จะมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดได้ประมาณ 500 วัน ฉะนั้นในปัจจุบันนี้ยังอยู่ในช่วงเวลาที่ยังสามารถเกิดอาฟเตอร์ช็อกได้อยู่”

แผ่นดินไหว

เนื่องจากหลายฝ่ายยังคงเป็นกังวลว่าประเทศไทยจะมีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เท่าที่เกิดกับเนปาล ผศ. ดร.ภาสกรชี้แจงว่า แนวแผ่นดินไหวที่มีขนาด 8 หรือใหญ่กว่านั้น อยู่ห่างจากประเทศไทยพอสมควร เมื่อดูตามสถิติโอกาสที่แผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่ ถึงขนาด 8 หรือ 9 จะเกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นไปได้ยาก แต่พื้นที่ลักษณะเป็นแอ่ง และพื้นดินอ่อนนุ่มอย่างกรุงเทพฯ ถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวระยะไกล

“ในเรื่องความปลอดภัย เป็นที่ทราบกันดีในกลุ่มผู้ทำงานด้านวิศวะว่า กรุงเทพฯ มีความเสี่ยงเนื่องมาจากลักษณะของพื้นที่ ลักษณะของชั้นหินที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวระยะไกล ส่วนปัจจัยที่อาจเกิดจากกลุ่มรอยเลื่อนรอบๆ กรุงเทพฯ นั้นยังไม่มีการศึกษา”

ส่วนกรณีแผ่นดินไหวที่แม่ลาวจะส่งผลต่อรอยเลื่อนรอบๆ ตัวหรือไม่นั้น พบว่าพลังงานที่ถูกส่งออกมานี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรอยเลื่อนแม่จันโดยตรง ขณะเดียวกันกับรอยเลื่อนอื่นๆ ยังคงอยู่ระหว่างการศึกษา

และจากความเชื่อที่ว่า หากเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กบ่อยๆ จะไม่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ผศ. ดร.ภาสกร อธิบายว่า หลักการดังกล่าวอาจมาจากแนวความคิดเรื่อง “หม้อความดัน” ที่ว่าหากความดันเกินจะมีการปล่อยความดันออกมาจะทำให้หม้อไม่ระเบิด แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น ในเรื่องแผ่นดินไหว แผ่นดินไหวแต่ละขนาดพลังงานที่ปล่อยออกมาแตกต่างกันถึง 30 เท่า

“แผ่นดินไหวขนาด 2 ตามมาตราริกเตอร์ ต้องเกิดขึ้นถึง 32 ครั้ง จึงจะปลดปล่อยพลังงานได้เท่าแผ่นดินไหวขนาดกลาง 1 ครั้ง และจะต้องใช้แผ่นดินไหวขนาด 2 ตามมาตราริกเตอร์ถึง 1 แสนครั้ง จึงจะปลดปล่อยพลังงานมาเท่ากับแผ่นดินไหวขนาด 6 ตามมาตราริกเตอร์ เพราะฉะนั้น ไม่มีทางเป็นไปได้เลยว่าแผ่นดินไหวขนาด 2 ตามมาตราริกเตอร์ ที่เกิดประมาณปีละ 10-20 ครั้งจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6 ตามมาตราริกเตอร์ เป็นคนละเรื่องกัน ในทางตรงกันข้าม ยังมีความกังวลว่า หากเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กตลอดเวลาจะมีความเสี่ยงที่จะสะสมและเกิดเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้”

แผ่นดินไหว ภัยที่พยากรณ์ไม่ได้

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ปัญญา จารุศิริ ภาคธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยพับลิก้าเพิ่มเติมจากครั้งก่อนว่า ขณะนี้ได้มีการแปลความหมายจากภาพถ่ายจากดาวเทียมใหม่ เพื่อจะดูตำแหน่งที่ตั้งของรอยเลื่อนที่แท้จริงว่าสัมพันธ์กับจุดที่เกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 โดยได้ข้อสรุปประการหนึ่งว่า แนวรอยเลื่อนที่เกิดขึ้นมานั้น โดยส่วนใหญ่จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่ขนาดไม่ใหญ่ และขณะเดียวกันแผ่นดินไหวก็อยู่ห่างจากเมืองใหญ่ในระดับหนึ่ง

ประการถัดมาคือ การเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีการเคลื่อนตัวไปในแนวระดับ ไม่ได้เกิดจากแนวรอยเลื่อนย้อนดังเช่นที่เกิดขึ้นที่ประเทศเนปาล และแนวรอยระดับนี้มีลักษณะขยับไปทางด้านซ้าย เป็นรอยเลื่อนด้านข้าง

ดร.ปัญญาเห็นพ้องกับ ผศ. ดร.ภาสกรว่า ถึงแม้วันนี้เวลาจะผ่านมาประมาณ 1 ปีแล้ว แต่ยังมีการเกิดอาฟเตอร์ช็อกอยู่ กรณีนี้อยู่ในวิสัยที่คาดได้ เนื่องจากเป็นพลังงานที่สะสมมาเป็นเวลานาน

รองศาสตราจารย์ ดร.ปัญญา จารุศิริ ภาคธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รองศาสตราจารย์ ดร.ปัญญา จารุศิริ ภาคธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากที่หลายฝ่ายกังวลว่าการเกิดแผ่นดินไหวที่เนปาลจะมีแรงสะสมที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวในไทยนั้น ดร.ปัญญากล่าวว่ามีทางเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น เพียงแต่ไม่รู้ว่าการที่มีการส่งผ่านพลังงานที่สะสมอยู่มาสู่รอยเลื่อนที่อยู่ข้างๆ นั้นจะทำให้รอยเลื่อนนั้น “แจ๊กพอต” พอดี คือ หมดกำลังที่จะรับพลังงานแล้วหรือไม่ ต้องรีบปล่อยพลังงานออกมา ซึ่งไม่ทราบว่ารอยเลื่อนใดที่จะเป็นรอยเลื่อนต่อไปที่จะปลดปล่อยแรง

หากจะเกิดแผ่นดินไหวในช่วงนี้ จะไม่เกิดในรอยเลื่อนเดิม เนื่องจากหากเกิดแผนดินไหวแล้วจะต้องรอให้ถึงรอบ หรือที่เรียกว่า “คาบอุบัติซ้ำ” ของแต่ละรอยเลื่อน ซึ่งนักธรณีวิทยาจะเป็นผู้บอกว่ารอยเลื่อนต่างๆ ที่ต่อกันนั้นแต่ละรอยเลื่อนจะมีคาบอุบัติซ้ำหรือรอบของการเกิดซ้ำเมื่อใด

“ดังนั้น รอยเลื่อนใดที่ทราบแน่ชัดว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น นักธรณีจะต้องรีบดูแผนที่แล้ววิเคราะห์ว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวได้บ้าง เป็นท่อนนี้นะ ท่อนนั้นนะ ไม่เกิดขึ้นซ้ำอีกแล้วนอกจากจะครบรอบของมัน เนื่องจากแผ่นดินไหวเป็นเรื่องที่พยากรณ์ไม่ได้ และแรงที่เกิดขึ้นเป็นพลังงานที่มาจากใต้ดิน เครื่องมือที่มีทำได้เพียงระบุว่าจุดไหนมีการเกิดแผ่นดินไหว แล้วทำการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับเหตุที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น”

ตอนนี้คาบอุบัติซ้ำในรอยเลื่อนต่างๆ ในประเทศไทยนั้นพอที่จะทราบเป็นภาพรวม เนื่องจากข้อมูลที่ได้ยังไม่ละเอียดเพียงพอ ยังคงต้องใช้เวลาอีกระดับหนึ่งในการเก็บข้อมูล ตัวอย่าง รอยเลื่อนแม่จันที่นักธรณีวิทยาให้ความสนใจ มีรอบของการเกิดประมาณ 600-1,000 ปี ขณะที่รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอนมีคาบอุบัติซ้ำอยู่ในระดับ 2,500 ปี อาจจะดูว่าโอกาสเกิดน้อยแต่ดูคล้ายกับว่าการสะสมจะมีเป็นจำนวนมากนั้น จะเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่ใช่หรือไม่ ก็คงไม่ใช่ ขนาดของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นคงจะไม่เกิน 6-7 ตามมาตราริกเตอร์ เนื่องจากมีกรณีศึกษาอยู่แล้ว แต่เกิดตรงไหนของรอยเลื่อนนั้นไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ และจะเกิดเมื่อไรก็ไม่สามารถระบุได้เช่นกัน

อีกประการหนึ่งที่ตรวจพบคือเขื่อนขนาดเล็ก หรือฝายต่างๆ ที่ทางคณะทำงานได้ตรวจสอบกับทางกรมชลประทาน พบว่าไม่ได้รับความเสียหายที่จะส่งผลต่อโครงสร้างของเขื่อน พบเพียงรอยแตกเล็กๆ ที่สามารถสมานได้และไม่มีน้ำรั่วไหลออมา นั่นแปลว่าแผ่นดินไหวไม่รุนแรง และไม่ได้เกิดบริเวณเขื่อน จึงเกิดเพียงความเสียหายเล็กน้อย แต่ไม่ถึงกับพังทลาย

ส่วนที่ยังไม่ได้ทำการตรวจสอบคือ จากการที่เกิดทรายผุดจนทำให้น้ำบาดาลที่ชาวบ้านนำมาใช้ประโยชน์นั้น อุดตันไปทั้งหมด ต้องมีการกลับไปตรวจสอบอีกครั้งว่า ภาวะเช่นนี้ ระบบของน้ำบาดาล หรือระบบน้ำใต้ดินกลับเข้าสู่สภาพเดิมหรือยัง เช่นกันกับกรณีรอยเลื่อนองครักษ์ ที่อยู่ในกลุ่มรอยเลื่อนใหม่ที่ค้นพบบริเวณภาคกลาง ที่อีกประมาณเดือนกรกฎาคม 2558 จึงจะเริ่มต้นทำการสำรวจรอยเลื่อนในเขตพื้นที่ภาคกลางอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ ผศ. ดร.ปัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้พื้นที่ทางภาคเหนือจะไม่พบการวางตัวของหินปูนตามแนวรอยเลื่อนเป็นจำนวนมากเท่ากับทางภาคใต้ ทำให้โอกาสในการที่ชั้นดินถูกกัดเซาะจนเกิดเป็นโพรง นำไปสู่การเกิด “หลุมยุบ” นั้นมีเล็กน้อยเท่านั้น แต่บริเวณที่เกิดหลุมยุบขึ้นจะต้องให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบขนาด และลักษณะหลุม เพื่อดำเนินการกลบหลุมอย่างถูกวิธี