ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มูลนิธิสำนักงานสลากฯ “ตู้เอทีเอ็ม-เครื่องมือ” นักการเมืองแจกเงินผ่านโควตาหวย – พนักงานยันลูกจ้างสำนักสลากฯรับเงินสดไม่หักภาษีส่งสรรพากร

มูลนิธิสำนักงานสลากฯ “ตู้เอทีเอ็ม-เครื่องมือ” นักการเมืองแจกเงินผ่านโควตาหวย – พนักงานยันลูกจ้างสำนักสลากฯรับเงินสดไม่หักภาษีส่งสรรพากร

13 พฤษภาคม 2015


กว่า 10 ปีที่ผ่านมา สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลถือเป็นแหล่งผลประโยชน์ใหญ่ของนักการเมือง ไม่ว่าพรรคการเมืองใดที่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะส่งรัฐมนตรีที่พรรคไว้ใจมาคุมโควตาสลากมูลค่าแสนล้านบาท

จากกรณีที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้สัมภาษณ์พิเศษนายชัยวัฒน์ พสกภักดี ประธานมูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ทำให้เห็นโครงสร้างการจัดสรร “กองประโยชน์” ก้อนนี้ว่ามีการจัดสรรความมั่งคั่งให้กลุ่มพวกพ้องกันอย่างไรและเป็นเสมือนตู้เอทีเอ็มแจกเงินโดยการจัดสรรโควตาสลากตามใบสั่งการเมืองอย่างไร

ปี 2544 เป็นปีที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากด้วยนโยบายที่เข้าถึงรากหญ้า ในขณะเดียวกันได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกับกระทรวงมหาดไทยในปีเดียวกัน มีสถานะเป็นมูลนิธิเอกชน ในทางกฎหมายแล้วมูลนิธินี้ไม่มีความสัมพันธ์ หรือเกี่ยวข้องกับสำนักงานสลากฯ แต่ในทางเครือข่ายความสัมพันธ์ คณะกรรมการมูลนิธิฯ ล้วนมาจากอดีตผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งฯ โดยมีนายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล วัย 74 ปี เป็นผู้จัดตั้งมูลนิธิและนั่งเป็นประธานมูลนิธิฯ ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน ส่วนกรรมการมี 5 คน เช่น นายธงชัย เล็กบำรุง อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ มี 2 คน คือนายเจริญ ชุมแสงศรี และนายเจริญชัย งามกิจไพบูลย์ และนายอนุพร กล่อมเกลา อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

กระบวนการบริหารจัดการโดยมูลนิธิสำนักงานสลากฯ ทำสัญญากับสำนักสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล และสลากการกุศล 9.2 ล้านฉบับต่องวด เช่นเดียวกับตัวแทนจำหน่ายประเภทมูลนิธิ สมาคม รายอื่นๆ วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งมูลนิธิแห่งนี้ นายชัยวัฒน์เล่าว่าเพื่อทำกิจกรรมอะไรบางอย่างที่ส่วนราชการทำไม่ได้ เช่น เป็นทางผ่านโควตาสลากไปให้ตัวแทนจำหน่ายที่มีรายชื่อตามใบสั่งนักการเมือง รวมทั้งเป็นแหล่งเงินสำหรับใช้จ่ายตามแต่นักการเมืองจะสั่งมาทั้งในด้านนโยบายและงานบุญงานกุศล

อย่างในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มีนโยบายให้สำนักงานสลากฯ เปิดขายสลากเลขท้ายแบบพิเศษ 3 ตัว 2 ตัว หรือ “หวยบนดิน” ถือเป็นยุคทองของสำนักงานสลากฯ เพราะนอกจากสำนักงานสลากฯ มีมูลนิธิสำนักงานสลากฯ ขึ้นมาคุมโควตาสลากแล้ว ยังมีการจัด “กองทุนเงินรางวัล” หักเงินรายได้จากการขายหวยบนดินบางส่วนเก็บเข้ากองทุน เพื่อใช้เป็นแหล่งทุน กลับคืนสู่สังคม อาทิ แจกทุนการศึกษา 1 อำเภอ 1 ทุน บริจาคเงินให้โรงพยาบาล วัดวาอาราม มูลนิธิ องค์กรการกุศลต่างๆ ช่วงนั้นมีหัวคะแนน นักการเมือง คนพิการ พระสงฆ์ ทำเรื่องเข้ามาขอเงินบริจาคกับสำนักงานสลากฯ เป็นจำนวนมาก

สำนักงานสลากฯ จึงเปรียบเสมือนตู้เซฟเคลื่อนที่ของนักการเมือง นอกจากจะใช้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ต่างๆเข้าพรรคการเมืองแล้ว ยังใช้เป็นเครื่องมือทำประชานิยมได้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้จากการรายงานข่าวการจัดทัวร์นกขมิ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชาวบ้าน ภาพข่าวที่ปรากฏตามสื่อจะมีผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ เป็นผู้ติดตามร่วมลงพื้นที่ด้วย

หลังจากที่รัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ สั่งยกเลิกโครงการจำหน่ายสลากเลขท้ายแบบพิเศษ 3 ตัว 2 ตัว “กองทุนเงินรางวัล” ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย สำนักงานสลากฯ เหลือเพียงมูลนิธิสำนักงานสลากฯ เท่านั้นที่เป็นกลไกรับนโยบายพรรคการเมือง โดยการจัดสรรโควตาสลากให้กับตัวแทนจำหน่ายสลากที่ไปวิ่งเต้นนักการเมือง โควตาสลากทุกชุด ทุกเล่ม มีเจ้าของ แม้แต่ผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ ถ้าอยากได้โควตาสลากสัก 1 เล่ม ก็ต้องจ่ายเงินเข้าพรรคการเมือง และมูลนิธิสำนักงานสลากฯ จึงมีหน้าที่จัดสรรโควตาสลากตามใบสั่งนักการเมือง

บางยุคสมัยเกิดข้อผิดพลาดในทางเทคนิค สำนักงานสลากฯ จัดสรรโควตาสลากให้ตัวแทนจำหน่ายสลากนอกโพยนักการเมือง ผลลัพธ์ที่ตามมาคือทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ ถูกเด้งพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งเคยปรากฏมาแล้ว เพราะการจัดสรรโควตาสลากไม่ลงตัว จึงปรากฏเป็นข่าวใหญ่ (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

กระบวนการจัดสรรสลากมูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่ง

กระบวนการของมูลนิธิสำนักงานสลากฯ ไม่มีอะไรซับซ้อน มูลนิธิสำนักงานสลากฯ ได้โควตามากที่สุด ขายสลากงวดละ 9.2 ล้านฉบับ หรือ 4.6 ล้านคู่ สลากคู่ละ 80 บาท สำนักงานสลากฯ ให้ส่วนลด 9% หรือ คู่ละ 7.20 บาท ต้นทุนสลากอยู่ที่ 72.80 บาท/คู่ มูลนิธิสำนักงานสลากฯ ขายส่งให้ตัวแทนจำหน่าย ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว ตามใบสั่งการเมืองคู่ละ 74.40 บาท มูลนิธิสำนักงานสลากฯ ได้กำไรส่วนต่างคู่ละ 1.60 บาท/คู่ นำไปคูณกับโควตาสลากที่ขายได้ 4.50 ล้านคู่ (หักเลขไม่สวยขายไม่ได้ออกแล้ว) แต่ละงวดมูลนิธิฯ มีรายได้จากส่วนต่างกำไร 7.30 ล้านบาท หรือเดือนละ 14.60 ล้านบาท โดยที่ไม่ต้องไปเดินขายสลาก รายได้ทั้งหมดของมูลนิธิฯ นำไปจ่ายเป็นเงินเดือนพนักงาน 800 คน คนละ 9,000 บาท คิดเป็นเงินประมาณ 7 ล้านบาท ส่วนที่เหลือส่งให้สำนักงานสลากฯ เป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมบางรายการที่สำนักงานสลากฯ เบิกไม่ได้

สำหรับรายละเอียดของการจ่ายเงินเดือนพิเศษให้กับพนักงานสลาก แหล่งข่าวจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า มูลนิธิสำนักงานสลากฯ จะจ่ายให้พนักงานสลากทุกวันที่ 15 ของเดือน พนักงานสลากเรียกว่า “เงินกลางเดือน” สำหรับพนักงานสลากได้รับเงินกลางเดือน 8,500 บาท/เดือน ลูกจ้างสำนักงานสลากฯ รับเงินเดือนละ 4,500 บาท และลูกจ้างของบริษัทเอกชน (outsource) รับเงินเดือนละ 1,700 บาท

ส่วนวิธีการจ่ายเงินกลางเดือน ใช้วิธีการจ่ายเป็นเงินสด มูลนิธิฯ และสำนักงานสลากฯ ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งกรมสรรพากร โดยมูลนิธิฯ จะนำเงินสดพร้อมกับใบเซ็นชื่อรับเงินแจกจ่ายไปยังหน่วยงานต่างๆ ภายในสังกัดสำนักงานสลากฯ แต่กรณีลูกจ้างบริษัทเอกชน ต้องเดินออกไปเซ็นชื่อรับเงินสดที่มูลนิธิสำนักงานสลากฯ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านข้างสำนักงานสลาก

ก่อนหน้านี้ ในสมัยนายวันชัย สุรกุล อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารออมสินจัดโครงการสินเชื่อสวัสดิการพนักงานกู้เงินได้ 30 เท่าของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยออกระเบียบให้นำเงินกลางเดือนนี้เข้าไปรวมกับเงินเดือน เพื่อใช้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารออมสิน

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า การจ่ายเงินกลางเดือนเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่จำไม่ได้ แต่มีมานานมาก โดยแหล่งเงินที่นำมาใช้จัดสรรเป็นเงินเดือนพนักงาน อย่างเช่น ส่วนแบ่งรายได้จากการขายสลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว แต่หลังจากที่โครงการนี้ถูกยกเลิก สำนักงานสลากฯ ก็มาใช้แหล่งเงินจากการจำหน่ายสลากการกุศลลอตแรก ซึ่งสัญญาตัวแทนจำหน่ายสลากลอตนี้กำลังจะสิ้นสุดลงเดือนมิถุนายน 2558 หากสำนักงานสลากฯ ไม่ต่อสัญญาตัวแทนจำหน่ายสลากลอตนี้ให้กับมูลนิธิสำนักงานสลากฯ ก็คงต้องยุติการจ่ายเงินกลางเดือนให้พนักงาน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าจะไม่มีการต่อสัญญาตัวแทนจำหน่ายรายเดิม แต่จะใช้วิธีการจัดสรรโควตาใหม่ให้มีความเหมาะสม เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งโควตาในส่วนของมูลนิธิ สมาคม องค์กรของรัฐ และผู้มีรายได้น้อย โดยจะปรับสัดส่วนโควตาตามความเหมาะสม ขณะเดียวกัน พล.อ. ประยุทธ์ได้กำชับให้คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดใหม่ เข้าไปตรวจสอบผู้ที่ได้รับการจัดสรรโควตาแล้วไม่ได้ขายจริง แต่นำไปขายต่อให้สำนักงานสลากฯ ยึดโควตาคืนให้หมด และลงโทษตามกฎหมายด้วย ซึ่งทางสำนักงานสลากฯ ต้องควบคุมราคาสลากไม่เกิน 80 บาท/คู่ ภายในงวด 16 มิถุนายน 2558

“เรื่องควบคุมขายสลากคู่ละ 80บาท ผมพูดมานานแล้ว หากทำไม่ได้ ก็เลิกขาย และถ้ามีการรั่วไหลต้องสอบสวนลงโทษ เอาโควตาคืนก่อน ผมไม่อยากอะไรรุนแรงเกินไป คนเดือดร้อนมีเยอะ คนขายสลากเป็นล้านคน ถ้าผมเลิกขายคนพวกนี้จะโวยไหม เขาจะกินอะไรกัน ตอบให้ผมหน่อย อำนาจใช้ได้ แต่จะเกิดผลกระทบกับใครบ้าง เราไม่สามารถทำให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราไม่ได้ไปเดินขายกับเขา ดังนั้นต้องดูปลายทางด้วยว่าจะให้ขายในรูปแบบใด ยังสามารถรวมเล่มได้หรือไม่” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

ส่วนกรณีที่นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาให้สัมภาษณ์ว่ามีคนกินหัวคิวจากการจำหน่ายสลาก 15,000 ล้านบาทต่อปี มีการตรวจสอบอย่างไร พล.อ. ประยุทธ์ตอบว่า “ผมไม่รู้ ไม่ทราบ ต้องตรวจสอบ และถ้าตรวจสอบกันจริงๆ รัฐบาลที่ผ่านมาเดือดร้อนทั้งหมด ไม่ใช่รัฐบาลผม ท่านลองตรวจสอบรัฐบาลที่แล้วหน่อย ถามให้หน่อยสิว่าเอาเงินเหล่านี้ไปไหนกันบ้าง และผมก็ไม่ได้รับเงินสักสลึง ก็ต้องไปไล่เอา ไปขุดทางนู้น ฝากไปขุดรัฐบาลที่แล้วด้วย”