ThaiPublica > เกาะกระแส > อียูร่วมกับมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ และเอนลอว์ ทำโครงการเสริมสร้างองค์ความรู้กฎหมายสิ่งแวดล้อมให้ชุมชน18 จังหวัด

อียูร่วมกับมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ และเอนลอว์ ทำโครงการเสริมสร้างองค์ความรู้กฎหมายสิ่งแวดล้อมให้ชุมชน18 จังหวัด

17 พฤษภาคม 2015


คณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทยร่วมกับมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ให้ทุนสนับสนุนมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมในโครงการ “เสริมสร้างศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนและองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย” เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมแก้รากหญ้าภายในประเทศ

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมนางเจนนี่ ลุนมาร์ค (Jenni Lundmark) และนางอรุณศิริ โพธิ์ทอง คณะผู้แทนอียูประจำประเทศไทย นายมิชาเอล วินเซอร์ และนางสาวณภัค อังควราธานัท ตัวแทนจากมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมหรือเอ็นลอว์ เปิดตัวโครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนและองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย

โครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนและองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย เป็นโครงการระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคม 2558 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากอียูและมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายวิ่งแวดล้อมกับรากหญ้าของประเทศไทยใน 18 จังหวัด คือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา เชียงราย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง นครศรีธรรมราช ชุมพร กระบี่ ตรัง สตูล และสงขลา

งานเปิดตัวโครงการ "เสริมสร้างศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนและองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย" เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 ณ โรงแรมเมอร์เคียว กรุงเทพฯ
งานเปิดตัวโครงการ “เสริมสร้างศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนและองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558

สำหรับกิจกรรมของโครงการดังกล่าวประกอบด้วย 1. การให้บริการด้านกฎหมายแก่ประชาชนในระดับรากหญ้าผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย 2. การจัดตั้งและให้บริการ “คลินิกกฎหมายเคลื่อนที่” 3. การฟ้องร้องคดีเชิงกลยุทธ์และการผลักดันนโยบาย 4. การอบรมทักษะความรู้ให้แก่ทนายความ ทนายความฝึกหัด และอาสาสมัคร 5. การอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านกฎหมายแก่ชุมชน 6. การรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกในพื้นที่สื่อและสื่อดิจิทัลประเภทต่างๆ 7. เวทีสนทนาแลกเปลี่ยนแบบเปิดในระดับชุมชน และ 8. การสัมมนาสำหรับประชาชนทั่วไปและสิ่งพิมพ์เพื่อส่งเสริมการปฏิรูปกฎหมายและการเปลี่ยนแปลงในสังคมให้มีประสิทธิผลมากที่สุด

นางสาวสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมกระบวนการสร้างความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยปฏิบัติตามหลักนิติธรรม และมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเสริมสร้างศักยภาพในด้านกฎหมายให้แก่ชุมชนท้องถิ่นในระดับรากหญ้าของไทยที่ได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาความสามารถของเครือข่ายทนายความด้านสิ่งแวดล้อม และองค์กรภาคประชาสังคมที่สนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในสังคมและการยอมรับสิทธิชุมชนมากยิ่งขึ้นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“คาดหวังว่าโครงการนี้จะทำให้เกิดเครือข่ายทนายในชุมชน และขยายพื้นที่ความรู้ด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ให้บริการด้านกฎหมายแก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นองค์กรที่ทำงานช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งเสริมสร้างศักยภาพให้ชุมชนสร้างจิตสำนึกและมีส่วนร่วมใช้สิทธิชุมชนด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมในกระบวนการตัดสินใจทั้งในระดับโครงการเชิงพื้นที่และระดับนโยบาย รวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมกับภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามข้อกฎหมายและยอมรับสิทธิชุมชนมากขึ้น โดยการสนับสนุนเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น” นางสาวสุภาภรณ์กล่าว

นางสาวสุภาภรณ์กล่าวต่อว่า การฟ้องร้องคดีในช่วง 3 ปีของโครงการนี้กำหนดกรอบไว้ไม่เกิน 12 คดีสำหรับคดียุทธศาสตร์ นั่นคือ คดีความที่จะสามารถเป็นบรรทัดฐานหรือต้นแบบการพิพากษาให้กับคดีอื่นๆ ได้ และไม่เกิน 36 คดี สำหรับคดีสิ่งแวดล้อมทั่วๆ ไป

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า กิจกรรมต่างๆ ของโครงการมุ่งเน้นการใช้สิทธิของรากหญ้าในกระบวนการต่างๆ ซึ่งเป็นช่องทางในการเจรจาหรือยับยั้งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อ โดยในปีแรกจะเริ่มกิจกรรมคลินิกกฎหมายทั้ง 18 จังหวัด และหลักสูตรฝึกอบรมทนายความหรือทนายความฝึกหัดและหลักสูตรฝึกอบรมอาสาสมัครปีละครั้ง ส่วนในปีที่ 2 จะเริ่มอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านกฎหมายอย่างเข้มข้นให้กับบุคคลในพื้นที่ที่สามารถจะเป็นทนายในชุมชนได้

“คลินิกกฎหมาย ไม่ใช่การตั้งโต๊ะเพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์จากชาวบ้าน แต่จะเข้าไปช่วยเหลือให้คำปรึกษาด้านกฎหมายให้ชาวบ้านมีความรู้ รู้จักสิทธิ และสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกทาง หลังจากที่พบว่าชาวบ้านประสบกับปัญหา เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดปัญหาในพื้นที่แล้วชาวบ้านไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร” นางสาวสุภาภรณ์กล่าว

ทั้งนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วไปและการปกป้องทรัพยากรและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องดำเนินคดีฟ้องร้อง

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า สำหรับอาสาสมัครที่เข้าฝึกอบรมในโครงการ หลายๆ คนอาจไม่ใช่ทนายความ แต่เป็นคนที่มีใจรักและอยากทำงานตรงนี้ ซึ่งโครงการนี้จะเปิดพื้นที่ให้คนที่สนใจกฎหมายสิ่งแวดล้อมได้เจอกันมากขึ้น และพัฒนาเป็นทีมกฎหมายในพื้นที่ ซึ่งสำหรับพื้นที่ทั้ง 18 จังหวัดในโครงการนี้กำหนดขึ้นจากพื้นที่ที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและมีภาคประชาสังคมและประชาชนพร้อมที่ขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาและสนใจเข้าร่วมโครงการ

นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย, นางสาวสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และนางสาวณภัค อังควราธานัท ในงานเปิดตัวโครงการ "เสริมสร้างศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนและองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย" เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558
นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย, นางสาวสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และนางสาวณภัค อังควราธานัท ในงานเปิดตัวโครงการ “เสริมสร้างศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนและองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558

ด้านนายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับคนมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน น้ำ และป่า เช่น กรณีที่ดินเห็นชัดเจนว่าคนส่วนหนึ่งของประเทศไทยครอบครองที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศ อีกทั้งชุมชนถูกคุกคามจากอุตสาหกรรม ต้องย้ายบ้าน ขายที่ทำกิน เพราะประเทศเห็นว่าใช้ที่ดินเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมคุ้มค่ามากกว่า น้ำและป่าก็เช่นเดียวกัน ที่มีการใช้ประโยชน์ผิดสัดส่วนและมีการบุกรุกป่ามากมาย

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นต้องแก้ด้วยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนา ซึ่งเริ่มจากการจัดการป่าชุมชนในปี 2532 ที่ให้ชาวบ้านดูแลทรัพยากรของตัวเอง จนขยายผลสู่การจัดการป่าชุมชนในรัฐธรรมนูญ 2540 สู่โฉนดชุมชนในปี 2545 หลักการที่ใช้ชาวบ้านดูแลดิน น้ำ ป่า โดยรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้นเป็นกฎหมายที่ชาวบ้านใช้อ้างอิงเพื่อปกป้องทรัพยากรของตัวเอง แต่ก่อนหน้านั้นในปี 2535 มีกฎหมายให้ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอตามหลักป้องกันไว้ก่อน ซึ่งชาวบ้านคิดว่าเป็นเสมือนใบอนุญาตให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้มากกว่าการปกป้อง ทำให้ชาวบ้านขาดการมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรตัวเองมาตลอด จนกระทั่งปี 2550 รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกป้องทรัพยากรแล้ว แต่ในความเป็นจริงอำนาจของประชาชนถูกท้าทายตลอดมา

“ผ่านมาหลายสิบปีแล้ว สิทธิตามกฎหมายของประชาชนก็ยังไม่ใช่สิทธิของประชาชน แต่เป็นอำนาจของรัฐ คือ ในขณะที่ประชาชนอ้างรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องทรัพยากรของตัวเอง รัฐก็อ้างกฎหมายพระราชบัญญัติลงไปถึงกฎกระทรวงเพื่ออ้างอำนาจของรัฐ ทั้งๆ ที่เป็นกฎหมายลูก ดังนั้น เมื่อกฎหมายแม่เปลี่ยน แต่กฎหมายลูกไม่เปลี่ยน จึงเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐและประชาชนมาตลอด” นายไพโรจน์กล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การแก้ปัญหาทำได้โดย เมื่อแก้กฎหมายแม่แล้ว กฎหมายลูกต้องแก้ตามด้วย อีกทั้งต้องสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนรู้สิทธิ เสรีภาพ ทางกฎหมาย ถึงจะทำให้ประเทศไทยจัดการทรัพยากรได้ใหม่ทั้งระบบ

“ปัจจุบันประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิ ซึ่งเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้ จึงประชาชนเสมือนถูกปลดอาวุธตั้งแต่แรก ดังนั้น โอกาสที่จะได้รับความรู้จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะเสริมสร้างประชาชนให้มีศักยภาพและเข้มแข็ง รวมถึงสร้างดุลการต่อรองเพื่อสร้างความเป็นธรรมด้วย” นายไพโรจน์กล่าว

ส่วนของคดีความที่สร้างบรรทัดฐานความยุติธรรมให้สังคมได้ก็คือคดียุทธศาสตร์ เพราะเป็นรูปคดีที่สร้างผลกระทบโดยรวม ฉะนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงในภาพรวมได้ รวมถึงทำให้คนเข้าใจสิทธิตามกฎหมายและใช้บรรทัดฐานดังกล่าวเป็นเครื่องมือต่อไป