ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่18) : เปิดงานวิจัย“ไครโซไทล์”

สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่18) : เปิดงานวิจัย“ไครโซไทล์”

21 พฤษภาคม 2015


“มะเร็ง” โรคร้ายแรงในมนุษย์ที่หลายคนพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรค ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุชัดแล้วว่า “แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง” ในส่วนของไครโซไทล์นั้น มีงานศึกษาหลายชิ้นระบุว่าเป็นสารก่อมะเร็งปอดและมะเร็งเยื่อหุ้มปอด แม้จะมีอัตราการเกิดโรคได้น้อยกว่าแอมฟิโบลก็ตาม ขณะที่งานวิจัยของกลุ่มที่ยังใช้ไครโซไทล์ยังคงยืนยันว่าไครโซไทล์ไม่อันตราย

ประเทศไทยมีแร่ใยหินที่ใช้อยู่ในอุตสาหกรรมมี 2 ชนิด คือ กลุ่มแอมฟิโบลและไครโซไทล์ ซึ่งที่ผ่านมายอมรับกันทั่วไปแล้วว่ากลุ่มแอมฟิโบลมีอันตรายต่อสุขภาพและยกเลิกการใช้ไปแล้ว เหลือแต่ไครโซไทล์ที่แม้ว่าในระดับสากลมีข้อมูลว่าอันตรายต่อสุขภาพและก่อให้เกิดมะเร็ง โดยกว่า 50 ประเทศทั่วโลกเลิกใช้ไปแล้ว แต่ในบางประเทศยังคงใช้กันอยู่ในอุตสาหกรรมบางประเภท โดยมีเหตุผลสนับสนุนว่า ไครโซไทล์ไม่ได้อันตรายอย่างที่กลัวกัน เพราะข้อมูลโรคมะเร็งปอดและมะเร็งเยื่อหุ้มปอดที่พบในคนนั้นเป็นผลมาจากแอมฟิโบล ไม่ใช่ไครโซไทล์

จากข้อมูลเรื่อง “การเป็นสารก่อมะเร็งของแร่ใยหินไครโซไทล์” ของรศ.ดร.พญ.พิชญา พรรคทองสุข อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน สาขาอาชีวเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวบรวมข้อมูลมาจากการศึกษาต่างๆ ระบุว่า จากการพิจารณาข้อมูลการก่อเป็นมะเร็งที่ต้องใช้หลักฐานจากการศึกษาทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ 1. ระบาดวิทยาของการเกิดมะเร็งในคน 2. การเกิดมะเร็งในสัตว์ 3. ความเป็นพิษต่อสารพันธุกรรม และ 4. คุณสมบัติทางฟิสิกส์และเคมีรวมความคงทนชีวภาพ มีข้อสรุปว่าไครโซไทล์เป็นสารก่อมะเร็งแน่นอน แต่ร้ายแรงน้อยกว่าแอมฟิโบล เนื่องจากมีการศึกษาหลายชิ้นที่ระบุว่าไครโซไทล์ทำให้เกิดโรคหลายชนิด ได้แก่ ปอดเป็นพังผืด เยื่อบุปอดอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด ฯลฯ

รศ.ดร.พญ.พิชญากล่าวว่า ข้อโต้แย้งที่ว่า แร่ใยหินที่ก่อให้เกิดโรคนั้นคือกลุ่มแอมฟิโบลไม่ใช่ไครโซไทล์นั้นมีขึ้นครั้งแรกเมื่อปลายทศวรรษ 1980 (ประมาณช่วงปี พ.ศ. 2532) และครั้งที่ 2 เมื่อปี 2551 โดยจากหลักฐานด้านระบาดวิทยาของการเกิดมะเร็งในคนที่มีรายงานมะเร็งเยื่อหุ้มปอดในคนงาน และมีการศึกษาเปรียบเทียบคนเป็นมะเร็งกับคนไม่เป็นมะเร็งเพื่อหาจำนวนเส้นใยในปอด พบว่า เส้นใยส่วนใหญ่เป็นแร่ใยหินกลุ่มแอมฟิโบลมากกว่าไครโซไทล์ ทำให้เกิดข้อโต้แย้งครั้งแรกว่า “ไครโซไทล์ไม่ใช่สารก่อมะเร็งแต่น่าจะเกิดจากแอมฟิโบลมากกว่า” แต่พบว่าทฤษฎีนี้ไม่น่าเชื่อถือมาตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1980 เพราะข้อเท็จจริงที่ว่า “ไครโซไทล์แตกตัวเป็นทางยาวและหักง่ายในปอด ทำให้เส้นใยบางและสั้นลงมากจนทำให้นับเส้นใยไม่พบหากอ่านด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์อิเลกตรอน”(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

เส้นใยแร่ใยหินในปอด

งานวิจัยข้างต้นเป็นของกลุ่ม Bernstein ซึ่งทดลองตรวจเฉพาะเส้นใยที่อยู่ในปอดเท่านั้น แต่ไม่ได้ตรวจที่เยื่อหุ้มปอดและอวัยวะอื่นๆ ในขณะที่แร่ใยหินสามารถเคลื่อนย้ายไปยังเยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง สมอง ไต ได้ โดยไครโซไทล์สามารถเคลื่อนย้ายได้มากกว่าแอมฟิโบล ซึ่งยืนยันได้จากงานวิจัยของซูซูกิ (Suzuki) ในปี 2544 ที่นับเส้นใยที่ตกค้างที่เนื้อปอดและเยื่อหุ้มปอดของผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอด 151 ราย พบว่า ในเนื้อปอดมีเฉพาะแอมฟิโบล 18 ราย มีเฉพาะไครโซไทล์ 10 ราย และมีทั้ง 2 ชนิด 15 ราย ในขณะที่ในเยื่อหุ้มปอดพบแอมฟิโบลเพียง 1 ราย ไครโซไทล์ถึง 30 ราย และพบแร่ใยหินทั้ง 2 ชนิด 7 ราย และไม่พบแร่ใยหินเลย 6 ราย (หมายเหตุ: SMR หรือ Standard Mortality Ratio) คือ การเปรียบเทียบอัตราตายจากโรคนั้นๆ)

ทั้งนี้ยังมีงานวิจัยหลายชิ้น ตั้งแต่ช่วงปี 2522–2552 ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยด้วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นเรื่อยๆ และจากการศึกษาคนงานที่มีโอกาสสัมผัสแร่ใยหินไครโซไทล์ทั้งในเหมืองและสถานประกอบการผลิตภัณฑ์ซีเมนต์ใยหิน ท่อใยหิน ฯลฯ พบว่า กลุ่มคนงานนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าประชากรทั่วไป โดยมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไป 1.2-3 เท่า และมีโอกาสเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดมากกว่าคนทั่วไปถึง 3-10 เท่า(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

แร่ใยหิน

รศ.ดร.พญ.พิชญากล่าวต่อว่า มีหลักฐานการเป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลองว่า ทั้งไครโซไทล์และแอมฟิโบลทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ไม่ต่างกัน แต่สำหรับมะเร็งเยื่อหุ้มปอดนั้น ไครโซไทล์มีศักยภาพทำให้เกิดโรคได้น้อยกว่าแอมฟิโบล แต่มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ในการทดลองนั้นไครโซไทล์ที่ให้สัตว์สูดดมมีความยาวมากกว่า 5 ไมครอน แต่สํานักทะเบียนการติดเชื้อและสสารที่เป็นพิษ (ATSDR: Agency of Toxic Substance and Disease Registry) ได้จัดประชุมระดมความเห็นผู้เชี่ยวชาญแล้วกลับสรุปโดยอ้างหลักฐานจากการทดลองว่า การสูดดมเส้นใยขนาดสั้นกว่า 5 ไมครอน ไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง

สำหรับหลักฐานความเป็นพิษต่อสารพันธุกรรม พบว่า ไครโซไทล์ทำลายดีเอ็นเอ มีผลเสียต่อการคัดลอกยีนส์ การผลิตโปรตีน การกระตุ้นการอักเสบและการตายของเซลล์ เนื่องจากแร่ใยหินกระตุ้นอนุมูลอิสระ Reactive oxygen species (ROS) และ Reactive nitrogen species (RNS)

ในหลักฐานด้านคุณสมบัติทางฟิสิกส์และเคมี พบว่า ไครโซไทล์ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ROS และ RNS นอกจากนี้ยังมีรูปร่างคงทนทางชีวภาพ ดังนั้น การเคลื่อนย้ายไปยังอวัยวะต่างและตกค้างอยู่นานๆ จะยิ่งเพิ่มอันตรายต่อเนื้อเยื่อนั้นๆ อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยของกลุ่ม Bernstein มาโต้แย้งเรื่องความคงทนของไครโซไทล์ โดยงานวิจัยของกลุ่ม Bernstein ได้ทดลองให้หนูหายใจเอาเส้นใยไครโซไทล์เข้าไปในเวลาต่างๆ กัน แล้วตรวจนับเส้นใยที่ตกค้างในปอด ผลปรากฏว่า ขนาดเส้นใยไครโซไทล์ที่มากกว่า 20 ไมครอน จะมีค่าครึ่งชีวิตในปอดสั้นมาก และถูกย่อยสลายจนตรวจไม่พบเส้นใยในปอดของหนูทดลองเลยเมื่อติดตามไป 1 ปี ดังนั้น งานวิจัยดังกล่าวจึงสรุปว่าไครโซไทล์ไม่มีอันตรายเนื่องย่อยสลายได้จนหมด

ทั้งนี้งานวิจัยของกลุ่ม Bernstein ดังกล่าวระบุว่ายิ่งเส้นใยมียาวมากขึ้นยิ่งมีค่าครึ่งชีวิตสั้นลง ซึ่งข้อสรุปนี้แตกต่างจากงานวิจัยของกลุ่มอื่นๆ เช่น Roggli, Timbrell, Bellman, Churg, Coin ที่ระบุว่า เส้นใยขนาดสั้นขจัดออกจากปอดได้ดีกว่าเส้นใยยาว และหากเส้นใยยาวมากกว่า 20 ไมครอน จะมีครึ่งชีวิตมากกว่า 100 วัน ไปจนถึงกำจัดไม่ได้

เปรียบเทียบผลการศึกษางานวิจัยของกลุ่ม Bernstein กับกลุ่มอื่นๆ

ในเวลาต่อมา PHD. Henri Pezerat โต้แย้งผลการศึกษาของ Bernstein ในวารสาร International Journal of Occupational and Environmentai Health เมือปี 2552 ว่า Bernstein รับเงินวิจัยจากสถาบันไครโซไทล์ (Chrysotile Institute) ประเทศแคนาดา และบริษัท Union Carbide ซึ่งเป็นเจ้าของเหมืองและโรงบดไครโซไทล์ อีกทั้งการวิจัยนี้ศึกษาหลักฐานด้านเดียวคือเรื่องของความคงทนชีวภาพ (คุณสมบัติทางฟิสิกส์และเคมี) ไม่ได้สนใจหลักฐานที่จะต้องนำมาพิจารณาเรื่องการก่อมะเร็งอีก 3 ด้านที่เหลือ คือ หลักฐานระบาดวิทยาของการเกิดมะเร็งในคน การเกิดมะเร็งในสัตว์ และความเป็นพิษต่อสารพันธุกรรม ทำให้ Bernstein ใช้หลักฐานไม่ถูกต้องในการสรุปว่าไครโซไทล์ไม่อันตราย เพราะต้องพิจารณาหลักฐานด้านอื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ยังถูกวิจารณ์ว่าเป็นการศึกษาในสัตว์ชนิดเดียว และการมีข้อสรุปที่ขัดแย้งกับนักวิจัยกลุ่มอื่นๆ นั่นอาจเกิดจากวิธีการเตรียมเส้นใยที่มีความเปราะบางและแตกง่าย

ในขณะที่หลักฐานด้านพิษวิทยาระบุว่า ความเป็นพิษเกิดตั้งแต่เส้นใยเข้าสู่ปอดและขณะเส้นใยแตกหักออกก็สามารถเกิดปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อปอดได้เช่นกัน นอกจากนี้ เส้นใยขนาดสั้นๆ ที่มีจำนวนมากจนปอดกำจัดไม่ได้ก็ก่อให้เกิดอันตรายได้ รวมถึงมีหลักฐานจากการศึกษาการตกค้างในปอดบ่งชี้ว่าไครโซไทล์สามารถเคลื่อนย้ายไปยังเยื่อหุ้มปอดและอวัยวะอื่นๆ ได้ ซึ่งปัจจุบันหลักฐานเรื่องการก่อมะเร็งทั้ง 4 ด้าน ได้สนับสนุนการเป็นสารก่อมะเร็งของใครโซไทล์

งานวิจัย

สำหรับประเทศแคนาดา ได้แต่งตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญ 6 คน ขึ้นเมื่อวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2550 เพื่อพิจารณาเรื่องการเป็นสารก่อมะเร็งของไครโซไทล์ โดยใช้ข้อมูลจากการศึกษาต่างๆ ที่รวบรวมไว้มากมาย และมีมติเอกฉันท์ว่าการรับสัมผัสไครโซไทล์ที่ปริมาณ 0.1, 1 และ 10 เส้นใยต่ออากาศลูกบาศก์เซนติเมตรต่อปี สามารถก่อให้เกิดมะเร็งปอดและมะเร็งเยื่อหุ้มปอดโดยที่ไครโซไทล์มีความสามารถในการก่อมะเร็งทั้งสองชนิดได้น้อยกว่าแอมฟิโบล อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการรับสัมผัสไครโซไทล์ที่ปริมาณ 0.01 เส้นใยเส้นใยต่ออากาศลูกบาศก์เซนติเมตรต่อปี จะก่อให้เกิดมะเร็งได้

อย่างไรก็ตาม ผลการพิจารณาเรื่องการเป็นสารก่อมะเร็งของไครโซไทล์ข้างต้น ถ่วงเวลานานถึง 1 ปี ก่อนที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยในระหว่างนั้นศาสตราจารย์ Trevor Ogden ได้เขียนท้วงติงถึงการปกปิดข้อมูลดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในวารสารวิชาการของแคนาดา