ThaiPublica > เกาะกระแส > สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่15): 4 ทางเลือกเลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์

สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่15): 4 ทางเลือกเลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์

3 พฤษภาคม 2015


จากมติคณะรัฐมนตรีในปี 2554 ให้ประเทศไทยเป็นสังคมไร้แร่ใยหิน แต่ยังไม่สามารถประกาศให้ยุติได้ทันที ยังต้องดำเนินการอีกหลายขั้นตอน และยังมีคำถามที่ว่า แร่ใยหินไครโซไทล์ที่เป็นแร่ใยหินเพียงชนิดเดียวที่ใช้อยู่ในประเทศไทยนั้นอันตรายจริงหรือ? และอันตรายถึงขั้นที่ต้องประกาศยกเลิกการใช้หรือไม่

จากหลักฐานทางวิชาการเดิมที่มีอยู่ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ พบว่ามี 2 กลุ่มที่เห็นแตกต่างกัน คือ กลุ่มหนึ่งเห็นว่าหลักฐานที่ว่าแร่ใยหินไครโซไทล์เป็นอันตรายต่อสุขภาพนั้นยังมีไม่เพียงพอและไม่ยอมรับ ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่าหลักฐานนั้นมากเพียงพอแล้วและยอมรับได้ว่าสมควรยกเลิกการใช้ไครโซไทล์

จากความเห็นของกลุ่มที่ไม่ยอมรับและเห็นว่าหลักฐานทางวิชาการที่มีอยู่เดิมไม่เพียงพอ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขมีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน” ขึ้น เพื่อทบทวนวรรณกรรมและหาหลักฐานผลกระทบต่อสุขภาพเพิ่มเติม นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังมีแผนเฝ้าระวังสุขภาพ เพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม และเก็บบันทึกข้อมูลผู้ป่วยจากการรับสัมผัสแร่ใยหินด้วย

ล่าสุด คณะกรรมการฯ ดังกล่าวได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่ามีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าแร่ใยหินทุกชนิดรวมทั้งไครโซไทล์เป็นสารก่อมะเร็งและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบแล้วเมื่อ 2 ธันวาคม 2557 โดย ครม. มีมติรับทราบและมอบให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ตั้งคณะทำงานประกอบด้วยกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาและตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับภาพรวมทั้งหมด เช่น ผลกระทบต่อสุขภาพของคนทั่วไปและผู้ที่ปฏิบัติงานในสถานประกอบการ รวมถึงความเหมาะสมคุ้มค่า และความเป็นไปได้ในการใช้วัสดุอื่นมาทดแทนแร่ใยหิน

แร่ใยหิน

ทั้งนี้ถ้าหากมีข้อสรุปที่ชัดเจนและประกาศห้ามใช้แร่ใยหินในประเทศไทย การดำเนินการจะต้องประกาศให้ “แร่ใยหิน” เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 คือ วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง

แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขให้ความเห็นว่าปัจจุบันยังมีความเห็นต่างกัน และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อสรุป ซึ่งคาดว่าจะมี 4 ทางเลือกดังนี้

ทางเลือกแรก คือ ปฏิบัติตามมติ ครม. 2554 คือ ใช้แผนการยกเลิกแร่ใยหินตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำไว้แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เสนอเข้า ครม. คือ แบ่งการยกเลิกใช้แร่ใยหินเป็น 2 ระยะ คือ 2 ปี และ 5 ปี ใน 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กระเบื้องแผ่นเรียบ กระเบื้องปูพื้น ผ้าเบรกและคลัทช์ ท่อซีเมนต์ใยหิน และกระเบื้องมุงหลังคา โดยให้เริ่มดำเนินการตามแผนโดยเร็ว

ทางเลือกที่สอง คือ ยกเลิกการใช้แร่ใยหินทันทีในผลิตภัณฑ์ที่มีวัสดุทดแทนและเทคโนโลยีการผลิตใหม่แล้วตามที่เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (ทีแบน: T-BAN) นักวิชาการ และบุคลากรด้านสาธารณสุขหลายๆ ฝ่ายเสนอ โดยไม่จำเป็นต้องรอถึง 2 ปี หรือ 5 ปี เนื่องจากมีข้อมูลจากการศึกษาจากต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศที่เพียงพอแล้วว่าแร่ใยหินทุกชนิดเป็นอันตราย จึงควรสนับสนุนให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยโดยเร็วที่สุด เพราะในประเทศไทยเองผู้ประกอบการหลายรายมีความพร้อมและสามารถปรับตัวได้ในระยะเวลาอันสั้น

ทางเลือกที่สาม คือ ยกเลิกการใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดโดยแบ่งช่วงระยะเวลาที่แตกต่างจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งอาจเป็นข้อเสนอใหม่ของหน่วยงาน องค์กร หรือเครือข่ายใดๆ ก็ได้

และทางเลือกสุดท้าย ประเทศไทยไม่ต้องประกาศยกเลิกการใช้แร่ใยหินโดยประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ก็ได้ ปล่อยให้แร่ใยหินเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามเดิม แต่หันมาเข้มงวดเรื่องมาตรการการป้องกันและเฝ้าระวังโรคจากการแร่ใยหินให้มากขึ้น

กราฟฟิคแร่ใยหิน final-aw-info-rae_no.2-2

แหล่งข่าวกล่าวว่าไม่ว่าเป็นทางเลือกใด แร่ใยหินจะขับเคลื่อนไปทางไหน สิ่งสำคัญที่ต้องดูแลและเฝ้าระวังคือ “สุขภาพ” ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ทำงานในสถานประกอบการที่ใช้แร่ใยหินและผู้บริโภคที่เลือกใช้วัสดุแร่ใยหิน

ทั้งนี้ในด้านสุขภาพของพนักงานในสถานประกอบการที่ใช้แร่ใยหิน หรือช่างก่อสร้างที่มีโอกาสสัมผัสแร่ใยหินโดยตรง ต้องมีการเฝ้าระวังและป้องกันการสัมผัสแร่ใยหินอย่างเข้มงวด เช่น มีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลสวมใส่ขณะทำงาน อาทิ หน้ากาก ถุงมือ มีการตรวจสุขภาพทุกปีและมีการตรวจสุขภาพปอดทั้งการเป่าปอด เอ็กซเรย์ปอด ฯลฯ หากเป็นโรคแล้วต้องได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง โดยระบุด้วยว่าเป็นโรคจากการทำงานหรือไม่ ซึ่งหากวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคจากการทำงานจริง ผู้ป่วยจะต้องได้รับค่าชดเชยหรือค่าทดแทนจากกองทุนทดแทน

ด้านสุขภาพของผู้บริโภค เช่น ประชาชนทั่วไปที่จะสร้างบ้าน หรือจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่อาจใช้วัสดุแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ ก็ต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างชัดเจน เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคดูแลเรื่องการติดฉลากในผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินทุกชนิด กระทรวงอุตสาหกรรมต้องบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องมีมาตรการควบคุมเรื่องการปนเปื้อนของแร่ใยหินในสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุขต้องป้องกันและเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชน อาทิ ให้ความรู้เรื่องแร่ใยหิน จัดทำคู่มือและวางมาตรการป้องกันรวมถึงหลักเกณฑ์การวินิจฉัยโรค

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่าต้องยอมรับว่าการขับเคลื่อนเรื่องการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยที่ผ่านมานั้น เป็นการขับเคลื่อนที่เริ่มจากองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ทำให้นักวิชาการในประเทศไทยตื่นตัว และเริ่มขับเคลื่อนจากองค์กรภาคสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ จนในที่สุดผลักดันเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปี 2553 และได้มติ ครม. เรื่องมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินออกมาในปี 2554

“จะเห็นได้ว่า เรื่องการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยนั้น แม้ว่าจะมีมติ ครม. มาตั้งแต่ปี 2554 แล้วว่าเห็นชอบกับการผลักดันให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน แต่กลับพบว่าปัจจุบันยังไม่สามารถปฏิบัติได้จริงแม้แต่การเริ่มต้น เนื่องจากเรื่องนี้ต้องอาศัยความร่วมมือในการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย ซึ่งหากบางกลุ่มยังไม่ยอมรับในเรื่องการยกเลิกใยหิน ด้วยมีปัจจัยหลายประการเข้ามามีผล จึงไม่น่าแปลกใจที่เรื่องนี้ยังคงหาข้อสรุปไม่ได้ในสังคมไทย ดังนั้น ในวันนี้เราจึงยังไม่รู้ว่า “สังคมไทยไร้แร่ใยหินในประเทศไทย” จะเดินหน้าไปสู่จุดหมายได้อย่างไร”แหล่งข่าวกล่าว