ThaiPublica > เกาะกระแส > สถาบันอนาคตไทยศึกษาแนะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ถูกที่.. ให้ถูกทาง : เพิ่มการลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุนแบบชั่วคราว

สถาบันอนาคตไทยศึกษาแนะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ถูกที่.. ให้ถูกทาง : เพิ่มการลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุนแบบชั่วคราว

3 เมษายน 2015


วันที่ 3 เมษายน 2558 สถาบันอนาคตไทยศึกษาออกรายงานว่าปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้เกิดความวิตกกังวล มีการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาโดยการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน นโยบายที่มีการหยิบยกขึ้นมาก็เกรงว่าจะซ้ำรอยโครงการประชานิยมที่เน้นการกระตุ้นการบริโภคแค่เพียงระยะสั้น ถึงแม้ว่าเราจะต้องการมาตรการที่เห็นผลในระยะสั้น แต่ผลควรจะต้องช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะยาวด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากจะดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก็ควรจะทำให้ถูกที่ และถูกวิธีโดยการเน้นไปที่กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนผ่านมาตรการเพิ่มการลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุนแบบชั่วคราว

ทำให้ถูกที่

ตัวขับเคลื่อนปกติของเศรษฐกิจไทยไม่ทำงาน เพราะติดข้อจำกัด เช่น การบริโภคก็ถูกปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและหนี้ครัวเรือนที่สูงเป็นตัวจำกัด การเบิกจ่ายภาครัฐประสบปัญหาล่าช้าโดยเฉพาะงบลงทุน การใช้นโยบายการเงินก็ให้ผลที่จำกัด ส่วนการส่งออก ก็ยังไม่ฟื้น ด้านหนึ่งที่ยังไปได้ค่อนข้างดีก็คือการท่องเที่ยว แต่ก็เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเป็นหลัก

ตัวขับเคลื่อนที่เหลืออยู่ตอนนี้ คือ การลงทุนภาคเอกชน ถึงแม้ว่าจะยังมีข้อจำกัดอยู่มาก แต่ก็เป็นตัวเดียวที่พอจะตอบโจทย์และยังพอมีศักยภาพอยู่บ้างด้วย 4 เหตุผล คือ

หนึ่ง การลงทุนภาคเอกชนจะเป็นผลดีทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ต่างจากการกระตุ้นโดยใช้โครงการประชานิยมที่เน้นกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้น แต่ไม่ส่งผลดีในระยะยาว

สอง เราต้องการการลงทุน ที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศเดียวในบรรดาประเทศที่ประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ที่ตัวเลขการลงทุนแท้จริง (หลังหักเงินเฟ้อ) ในปัจจุบันคิดเป็น 84% ของระดับเมื่อก่อนเกิดวิกฤต

สาม การลงทุนจะช่วยให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่าไปกว่านี้ เพราะจะช่วยลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด

สี่ สถานการณ์ตอนนี้เอื้อต่อการลงทุนในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสถานะการเงินของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่ยังแข็งแกร่ง มีความสามารถที่จะกู้เพื่อลงทุนได้ สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ที่ยังสูงอยู่ อัตราดอกเบี้ยต่ำ และต้นทุนนำเข้าสินค้าทุนที่ต่ำลงจากค่าเงินยูโรและเยนที่อ่อนค่า

กระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่การลงทุนกลับไม่เกิด เพราะภาคธุรกิจยังอยู่ในช่วงที่ “รอ” เช่น กลุ่มพลังงานยังคงรอความชัดเจนของนโยบายภาครัฐ กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง และขนส่งกำลังรอการประมูลเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มค้าปลีก และยานยนต์ ยังคงรอเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว ส่วนกลุ่มอิเล็คทรอนิกส์ที่เพิ่งจะลงทุนไปไม่นานก็กำลังรอให้ถึงรอบการลงทุนถัดไป

แล้วจะทำอย่างไรให้เอกชนเลิกรอ?

ทำให้ถูกทาง

ใช้ยาแรงอย่างมาตรการเพิ่มการลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุนชั่วคราว (Temporary Investment Tax Allowance) ที่ให้นำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าทุน เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์และสิ่งปลูกสร้างมาหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยแบ่งเป็น 2 วิธี หนึ่งคือให้นำค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนมาหักจากกำไรได้ตามสัดส่วน ในปีที่มีการลงทุน หรือหักเป็นค่าเสื่อมราคาในอัตราเร่ง (Accelerated Depreciation) คือการคิดค่าเสื่อมราคาในอัตราสูงในปีแรกๆ ทั้งสองวิธีจะทำให้ฐานรายได้ที่นำไปคำนวณเป็นภาษีลดลง เท่ากับว่าเอกชนมีภาระภาษีลดลง เป็นการลดต้นทุนการลงทุนของเอกชน ซึ่งหมายถึงผลตอบแทนจากการลงทุนก็จะเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้การประกาศมาตรการแบบชั่วคราวจะช่วยเลื่อนการลงทุนในอนาคตให้เกิดขึ้นเร็วขึ้นอีกด้วย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ Box: มาตรการเพิ่มการลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุน Investment Tax Allowance หน้า 4)

การกระตุ้นการลงทุนโดยมาตรการเพิ่มการลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุนชั่วคราวนั้นมีข้อดีอย่างน้อย 3 ข้อ คือ

หนึ่ง ทำได้เร็ว เพราะการใช้มาตรการทางภาษีจะทำได้เร็วกว่าการกระตุ้นผ่านรายจ่ายภาครัฐ และยังสามารถผ่านกฎหมายโดยการตราพระราชกฤษฎีกาซึ่งใช้ระยะเวลาน้อยกว่า

สอง ภาระน้อย การใช้มาตรการชั่วคราวโดยกำหนดว่าการลงทุนจะสามารถลดหย่อนได้ภายในระยะเวลาจำกัด (เช่น 18 เดือน) นอกจากจะเร่งให้เกิดการลงทุนได้ในระยะสั้นแล้วยังไม่ตกเป็นภาระการคลังในระยะยาว 1

สาม ความเสี่ยงต่ำ ไม่มีใครรู้จริงๆ ว่ามาตรการนี้จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน แต่ข้อดีคือมีความเสี่ยงต่ำ เพราะในกรณีที่มาตรการนี้ไม่ได้ผลแสดงว่าไม่มีภาคเอกชนขอยื่นใช้สิทธิ์ ซึ่งเท่ากับว่าภาครัฐก็ไม่ได้เสียอะไรเลย หรือถ้ามีเอกชนขอใช้สิทธิ์เข้ามามาก ก็หมายความว่าเกิดการลงทุนมากขึ้น ผลที่ตามมาคือเศรษฐกิจก็จะดีขึ้น รายได้ภาษีโดยรวมก็จะสูงขึ้นด้วย

แต่ถ้าจะให้มาตรการนี้ได้ผลเต็มที่ควรทำให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนระดับชาติ เพื่อให้สามารถระบุอุปสรรคและแก้ปัญหาในแต่ละภาคเศรษฐกิจให้ได้ว่าเกิดจากอะไร เป็นเพราะนโยบายของภาครัฐเองหรือไม่ หรือเป็นเพราะขาดการสนับสนุนด้านอื่นๆ เช่น จัดหาเงินทุน เป็นต้น ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกแผนลงทุนมากมาย ทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงสร้างพื้นฐานระบบราง โทรคมนาคม สนามบิน ถนนและทางด่วน ทั้งที่รัฐลงทุนเอง และร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (PPP) รวมทั้งได้ออกมาตรการหลากหลายเพื่อสนับสนุนการลงทุนเช่น สิทธิประโยชน์จากบีโอไอ มาตรการด้านภาษีจาก สรรพากร และศุลกากร แต่ก็กระจัดกระจาย และขาดเอกภาพ และการบูรณาการในการจัดการ

และเพื่อให้แผนการลงทุนระดับชาติมีประสิทธิผลเต็มที่ ต้องระบุรายละเอียดชัดเจนว่าประชาชนจะเห็นการอะไรในอีก 3 เดือน 6 เดือน และต้องทำตามนั้นจริงๆ เพราะว่าการทำแบบนี้จะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดที่จะให้การลงทุนเกิดขึ้น

หมายเหตุ : 1 และมาตรการภาษีประเภทนี้ยังมีต้นทุนการบริหารจัดการต่ำกว่ามาตรการภาษีแบบอื่นๆเพราะบริษัทต้องประเมินมูลค่าการลงทุนสำหรับหักค่าเสื่อมอยู่แล้ว ถ้าเป็นเครื่องจักรที่นำเข้าก็ต้องผ่านการเสียภาษีศุลกากรมาแล้ว Easson and Zolt (2002), Tax Incentives, World Bank Institute.

มาตรการเพิ่มการลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุนแบบชั่วคราว

มาตรการเพิ่มการลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุนแบบชั่วคราว (Temporary Investment Tax Allowance)คือการอนุญาตให้นำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าทุนอย่างโรงงาน หรือเครื่องจักรมาเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยแบ่งเป็น 2 วิธี หนึ่งคือให้นำค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนมาหักจากกำไรได้ตามสัดส่วน ในปีที่มีการลงทุน หรือหักเป็นค่าเสื่อมราคาในอัตราเร่ง (Accelerated Depreciation) คือการคิดค่าเสื่อมราคาในอัตราสูงในปีแรกๆ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการลงทุนของเอกชน หมายถึงผลตอบแทนจากการลงทุนก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

ที่ผ่านมามีหลายประเทศที่ใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อสนับสนุนการลงทุน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ตุรกี อังกฤษ เป็นต้น บางประเทศใช้เป็นมาตรการดึงดูดการลงทุนโดยทั่วไป เช่น ประเทศอังกฤษ ให้บริษัทเอกชนสามารถนำค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าทุนมาลดหย่อนภาษีได้ 100% แต่ไม่เกิน 24 ล้านบาท ส่วนบางประเทศอนุญาตเฉพาะในสาขาที่ต้องการส่งเสริมโดยเฉพาะ เช่น มาเลเซีย ที่อนุญาตให้เฉพาะบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหักค่าใช้จ่ายได้ 60% ถ้าอยู่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามารถลดหย่อนได้ถึง100% ของค่าใช้จ่าย ภายในระยะเวลา 5 ปี บางประเทศใช้มาตรการหักค่าเสื่อมได้ในอัตราเร่ง อย่างประเทศแอฟริกาใต้ที่ให้หักได้ 33% ในปีแรก
มาตรการเคยถูกนำมาใช้กับประเทศไทยแล้ว เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระภาคธุรกิจในการลงทุนชดเชยความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วม โดยอนุญาตให้นำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าทุนมาหักลดหย่อนได้ 25% ของค่าใช้จ่าย และสามารถหักค่าเสื่อมราคาได้ 40% ในปีแรก สำหรับการลงทุนที่เกิดขึ้นระหว่าง 25 ก.ค. 2554 – 31 ธ.ค. 2555 จึงไม่ใช่เรื่องยุ่งยากที่จะนำมาประกาศใช้ใหม่

มาตการดังกล่าวจะลดต้นทุน เพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน ทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากฐานรายได้ที่นำไปคำนวณเป็นภาษีลดลง เอกชนจึงมีภาระภาษีลดลง ยกตัวอย่างเช่น ระหว่างปีบริษัท A ซื้อเครื่องจักรราคา 10 ล้านบาท อายุ 5 ปี สามารถหักค่าเสื่อมราคาได้ปีละ 20% ของมูลค่าเครื่องจักร เท่ากับ 2 ล้านบาทต่อปี สิ้นปีมีกำไรก่อนหักค่าเสื่อมและภาษี 20 ล้านบาท เมื่อหักค่าเสื่อมแล้วฐานรายได้ที่นำไปคำนวณภาษีอยู่ที่ 18 ล้านบาท ต้องเสียภาษีนิติบุคคล 20% เป็นเงิน 3.6 ล้านบาท การมีมาตรการเพิ่มการลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุนอนุญาตให้สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องจักรมาหักค่าใช้จ่ายได้ 30% เท่ากับ 3 ล้านบาท มาตรการหักค่าเสื่อมราคาในอัตราเร่งในปีแรกหักได้เพิ่มเป็น 40% จากเดิมที่ 20% จะทำให้ค่าเสื่อมเพิ่มเป็น 4 ล้านบาท ฐานรายได้ที่นำไปคำนวณภาษีลดเหลือ 13 ล้านบาท ภาษีนิติบุคคลที่ต้องจ่ายเหลือ 2.6 ล้านบาท เท่ากับว่าทั้ง 2 มาตรการจะทำให้ประหยัดภาษีได้ในปีแรก 1 ล้านบาท หรือ 10% ของราคาเครื่องจักร

Investment Tax Allowance_final