ThaiPublica > เกาะกระแส > กรมควบคุมโรคชี้ผลเลือดเกษตรกรมีสารเคมีตกค้างระดับไม่ปลอดภัยนับแสนราย – 5 จังหวัดอันตราย สุโขทัย อุดรธานี เลย อำนาจเจริญ และเพชรบุรี

กรมควบคุมโรคชี้ผลเลือดเกษตรกรมีสารเคมีตกค้างระดับไม่ปลอดภัยนับแสนราย – 5 จังหวัดอันตราย สุโขทัย อุดรธานี เลย อำนาจเจริญ และเพชรบุรี

13 เมษายน 2015


เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2558 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้ทำการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างผักเพื่อตรวจหาปริมาณสารพิษตกค้าง และได้ทำการแถลงผลการเฝ้าระวังการตรวจสอบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนในผัก ประจำปี 2558 จากตัวอย่างผักที่คนไทยนิยมบริโภคมากที่สุด 10 ชนิด เมื่อวันที่ 26 มีนาคม2558 ที่ผ่านมา

การตรวจสอบปริมาณสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานในผักชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรไทยใช้สารเคมีจำนวนมากในแปลงเกษตรของตน ซึ่งจากข้อมูลผลการสํารวจภาวะการทํางานของประชากรไทยโดยสํานักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2557 พบว่า ประเทศไทยมีผู้มีงานทํา 38.4 ล้านคน เป็นผู้ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีประกันทางสังคมจากการทํางาน หรือเรียกว่าเป็นแรงงานนอกระบบถึง 22.1 ล้านคน คิดเป็น 57.6% ของแรงงานทั้งหมด

และเมื่อตรวจสอบลึกลงไปพบว่า แรงงานนอกระบบมากกว่าครึ่งหนึ่งทํางานในภาคเกษตรกรรม เมื่อพิจารณาถึงปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทํางาน พบว่าแรงงานนอกระบบ ส่วนใหญ่ได้รับสารเคมีเป็นพิษมากที่สุดถึง 62.7%

สถิติข้อมูลประชากรวัยแรงงาน

สถิติปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน

นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ และสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกล่าวถึงสถานการณ์เรื่องของความเจ็บป่วยจากสารกำจัดศัตรูพืชว่า ขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรคได้จัดระบบเฝ้าระวังไว้ โดยดูแลทั้งสิ้น 3 ด้าน เพื่อที่จะดูว่ามีผลกระทบด้านใดบ้าง ด้านที่ 1 เป็นระบบเฝ้าระวังโรค ดูผลกระทบจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยตรง ด้านที่ 2 คือ ความเสี่ยง ด้านที่ 3 คือ พฤติกรรม ว่าชาวบ้านมีพฤติกรรมอะไรบ้างที่จะทำให้เกิดความเจ็บป่วยจากสารนั้น

นายแพทย์ปรีชากล่าว่าในปี 2558 ระบบเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรคสามารถทำงานได้เพียง 2 ด้าน คือ ระบบเฝ้าระวังโรค และเรื่องของความเสี่ยง ซึ่งจากการคัดกรองความเสี่ยงนั้นพบว่ากลุ่มเกษตรกรเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงสุด โดยวัดจากผลจากการตรวจเลือด

ในด้านของระบบเฝ้าระวังโรคนั้น เมื่อดูข้อมูลจากการตรวจทั้งประเทศโดยเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มีการนัดแนะเกษตรกรเข้ามาตรวจสุขภาพในช่วงเดือนหลังเสร็จสิ้นการทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ทางการเกษตร โดยแต่ละปีจะทำการตรวจเกษตรกรจำนวน 200,000-500,000 ราย จึงถือเป็นข้อมูลที่มีความหนักแน่นทางวิชาการ

จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2546-2555 พบว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเคมีกําจัดศัตรูพืชเฉลี่ยปีละ 1,734 ราย สำหรับผลการตรวจปี 2555 ทำการตรวจเกษตรกรไปทั้งสิ้น 244,822 ราย พบเกษตรกรที่มีผลตรวจเลือดอยู่ในระดับไม่ปลอดภัยจำนวน 75,749 ราย คิดเป็น 30.94% ขณะที่ปี 2556 ทำการตรวจเกษตรกรไปทั้งสิ้น 314,805 ราย ในจำนวนนี้พบผลตรวจเลือดอยู่ในระดับไม่ปลอดภัยจำนวน 96,227 ราย คิดเป็น 30.54% และในปี 2557 ที่ได้ทำการตรวจเกษตรกรไปทั้งสิ้น 317,051 ราย พบว่าในจำนวนนี้ 107,820 ราย มีผลตรวจเลือดอยู่ในระดับไม่ปลอดภัย นั่นหมายถึงจำนวน 34% หรือ 1/3 ของเกษตรกรมีความไม่ปลอดภัยจากการใช้สารเคมีเกษตร

ข้อมูลในส่วนนี้จะบอกว่า ทิศทางความเสี่ยงของเกษตรกร ผู้ที่มีการสัมผัสมากที่สุดนั้นยังไม่ได้ลดลง จึงเป็นสิ่งที่ต้องมาดูว่ากระบวนการต่างๆ ที่หน่วยงานจะต้องจัดการนั้นเป็นอย่างไร แม้แต่ละหน่วยงานจะมีแนวทางในการเฝ้าระวังเรื่องสารเคมีตกค้างในพืช แต่ความเสี่ยงของเกษตรกรในปี 2558 ยังไม่แน่ใจว่าจะมีทิศทางอย่างไร แต่จากผลในปี 2557 ชี้ชัดว่าแนวโน้มยังไม่ได้ลดลง เพิ่มขึ้นจากปี 2555 และ 2556

“ที่บอกว่าตรวจนั้น ตรวจหาอะไร เราตรวจเฉพาะกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตเท่านั้น ยังไม่ได้ตรวจในกลุ่มอื่น เนื่องจากเรามีศักยภาพในการตรวจในเลือดเพียงแค่ตัวเดียว ฉะนั้น ตัวนี้จึงบอกเพียงความเสี่ยงด้านเดียว หากเราสามารถตรวจการตกค้างของสารเคมีในกลุ่มอื่นๆ ได้ คาดว่าจะเห็นภาพของความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังทำการพัฒนาเครื่องมือในการตรวจอยู่”

ภายหลังจากตรวจพบว่าเกษตรกรมีความเสี่ยง จะมีการเข้าไปดูแลให้เกษตรกรปลอดโรค ปลอดภัย โดยใช้พืชสมุนไพรในการรักษา คือ รางจืด เป็นสมุนไพรในการช่วยขับสารพิษ เกษตรกรจะได้รับประทานรางจืด โดยกลุ่มที่เข้าไปดูแลคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะทำการแจกรางจืดให้แก่เกษตรกรผู้มีความเสี่ยง ซึ่งในที่นี้นั้นยังไม่ได้หมายถึงผู้เป็นโรค ส่วนนี้จึงช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชในร่างกายให้ลดลง

ด้านความร่วมมือกับโรงพยาบาส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) นั้นจะมีการจัดทีมสุขภาพเกษตร ซึ่ง รพ.สต. ได้ตั้งเป้าว่าจะมีการจัดทีมให้ครบทุกแห่งในปี 2561 สำหรับในปี 2557 ได้มีการจัดทีมประจำโรงพยายาลไปทั้งสิ้น 1,841 แห่ง จากโรงพยาบาล 9,769 แห่ง ชาวบ้านที่เข้าไปตรวจจึงสามารถตรวจได้ทั้งเรื่องความเสี่ยง ว่าแต่ละคนมีความเสี่ยงอะไรบ้าง โดยอธิบายได้จากผลตรวจเลือด ท้ังหมดนี้คือ โครงการที่กรมควบคุมโรคต้องการทำให้มีความครอบคลุมในการคัดกรองเกษตร และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกร ให้ใช้สารเคมีอย่างถูกวิธี โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญในการเข้าไปให้คำแนะนำแก่เกษตรกร

ตารางแสดงข้อมูลผู้ป่วยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

สถานการณ์การเจ็บป่วยด้วยโรคจากสารกำจัดศัตรูพืช

ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพกล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อมูลการป่วยตามรายงานนั้นเป็นข้อมูลจากผู้ที่ได้รับพิษในระยะเฉียบพลัน ซึ่งได้จากโรงพยาบาลต่างๆ ที่ทำการรายงานผลผู้ป่วยในแต่ละปีมายังส่วนกลาง หมายถึงข้อมูลเหล่านี้มีเพียงเฉพาะผู้ที่ได้รับพิษจากสารเคมีและมีอาการเจ็บป่วยจากสารเคมีนั้นจนต้องเข้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น โดยข้อมูลล่าสุดเป็นข้อมูลของปี 2556 ชี้ให้เห็นว่า ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐนั้นมีประมาณ 7,500 ราย โดยไม่ได้แยกว่ามาจากส่วนใดบ้าง ทำให้แนวโน้มของข้อมูลปัจจุบันชี้ชัดถึงจำนวนผู้ป่วยได้ยาก

กระบวนการนี้จึงใช้ได้เพียงแค่เป็นข้อมูลในการดูภาพรวมระยะยาวว่ามีผลกระทบอะไรบ้าง และการที่จะต้องเข้าไปบริการนั้นมีอะไรบ้าง

เมื่อดูตามรายจังหวัด จังหวัดที่มีความเสี่ยงที่จะพบผู้ป่วยจากสารเคมีสูงที่สุดคือ จ.สุโขทัย คิดเป็น 89% อันดับต่อมา จ.อุดรธานี และ จ.เลย อยู่ที่ 75% อันดับที่ 3 คือ จ.อำนาจเจริญ อยู่ที่ 72% อันดับที่ 4 จ.เพชรบุรี อยู่ที่ 68% ทั้งหมดนี้เป็นความเสี่ยงที่เกินครึ่งทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าอาการเจ็บป่วยเหล่านี้เกิดจากการสัมผัสด้วยการใช้และบริโภค ในแต่ละพื้นที่เป็นความเสี่ยงที่สูงมาก

ส่วนการสร้างระบบเฝ้าระวังในด้านความเสี่ยงนั้นเป็นการเฝ้าระวังจากพฤติกรรมเกษตร โดยออกโครงการรณรงค์ที่ชื่อ “อ่าน ใส่ ถอด ทิ้ง” เนื่องจากต้องทำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกร หรือพฤติกรรมของผู้ที่มีความเสี่ยงทั้งหมด โดยที่ใช้คำว่า “อ่าน ใส่ ถอด ทิ้ง” เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2557

นายแพทย์ปรีชาอธิบายความหมายของแต่ละคำ โดยคำว่า “อ่าน” ก็คือ อ่านฉลาก “ใส่” ก็คือ ใส่เครื่องป้องกัน “ถอด” ก็คือ ถอดอุปกรณ์หลังใช้สารเคมีให้ถูกวิธี และ “ทิ้ง” ก็คือ ทิ้งเครื่องใช้หรือภาชนะใส่สารเคมีให้ถูกต้อง

“โดยในส่วนนี้เรามีเป้าหมายหลักๆ คือ เราจะทำให้ตัว รพ.สต. มีความสามารถในการที่จะดูแลเรื่องของผลกระทบจากสารกำจัดศัตรูพืช เพราะฉะนั้น เราจะทำให้ รพ.สต. หรือตัวเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในจุดนั้นมีศักยภาพในการที่จะดูแล และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวบ้าน รวมทั้งส่วนที่จะทำให้เกิดกระบวนการ เรียกว่า สร้างเครือข่ายกับชุมชน เพราะว่าผมเชื่อว่า คงไม่สามารถที่จะเข้าไปปรับเปลี่ยนรายบุคคลได้ จึงเลือกวิธีการปรับเปลี่ยนในระดับชุมชน เพื่อให้เกิดเครือข่ายของชุมชน ในการที่จะลดใช้หรือว่าเลิกใช้”

ทั้งนี้ โครงการรณรงค์ดังกล่าวได้มีการร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นๆ ในการที่จะช่วยให้เกษตรกรในแต่ละพื้นที่ ลดใช้ เลิกใช้ เพื่อปรับเปลี่ยนเกษตรกรให้กลายเป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์เหมือนกันทั้งประเทศ โดยเป้าหมายนี้นายแพทย์ปรีชากล่าวว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่เพียงเฉพาะภาครัฐ แต่รวมไปถึงภาคประชาชนอย่างเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)

นายแพทย์ปรีชาแสดงความกังวลในส่วนของการดำเนินงานด้านระบบเฝ้าระวังด้านความเสี่ยงว่า อาจทำการแก้ไขได้ยากหากไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สารเคมีของเกษตรกร และปัญหาคือจะมีกระบวนการอย่างที่จะทำให้เมื่อมีความเสี่ยงเกิดขึ้นแล้วจะไม่ทำให้ “ความเสี่ยง” นั้นเปลี่ยนกลายเป็น “โรค”

“การสัมผัสระยะเวลานานแล้วเกิดเป็นโรคจะทำอย่างไร เป็นสิ่งที่เรามีกระบวนการศึกษาต่อ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ หากใช้สารชนิดนี้นานๆ แล้วจะเกิดอะไร จะมีการป้องกันอย่างไร ถัดไปคือ เรื่องพฤติกรรม เรายังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ได้ ในการที่จะทำตามโครงการ อ่าน ใส่ ถอด ทิ้ง ตรงนี้ก็มีมาตรการก้าวหน้าพอสมควร ในปีหน้าอาจจะนำเรื่องเกี่ยวกับมะเร็งเข้ามา ว่าเรื่องนี้นั้นมีแนวโน้ม หรือพื้นที่ใดมีความเสี่ยงสูงนั้น มีโรคเกี่ยวกับมะเร็งสูงไหม ก็จะจับคู่มาให้ดู”