ThaiPublica > เกาะกระแส > คลังเตรียมเสนอครม.อัดฉีดกองทุนหมู่บ้านอีก 4 หมื่นล้าน ให้แบงก์ออมสิน-ธ.ก.ส.ลงขัน – แก้กม.ยกระดับเป็น”สถาบันการเงินชุมชนเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง”

คลังเตรียมเสนอครม.อัดฉีดกองทุนหมู่บ้านอีก 4 หมื่นล้าน ให้แบงก์ออมสิน-ธ.ก.ส.ลงขัน – แก้กม.ยกระดับเป็น”สถาบันการเงินชุมชนเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง”

16 เมษายน 2015


นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

วันที่ 16 เมษายน 2558 กระทรวงการคลังได้รายงานมาตรการเพื่อสนับสนุนและพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชน หลังจากนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังได้ลงพื้นที่ในจังหวัดต่างๆเพื่อเยี่ยมเยืยนและสอบถามสภาพการดำรงชีวิตของประชาชน รวมถึงการศึกษาการบริหารจัดการของกองทุนหมู่บ้านที่แข็งแรงและอ่อนแอ พบว่ากองทุนหมู่บ้านฯ จำนวน 79,255 แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีเงินทุนหมุนเวียนอยู่เป็นจำนวน 207,680.7 ล้านบาท หรือเกือบร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 จึงเล็งเห็นว่าเครือข่ายของกองทุนหมู่บ้านฯ มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก จึงควรมีการสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านฯ ที่มีความเข้มแข็งให้สามารถขยายกิจการได้ ฟื้นฟูกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ยังมีความอ่อนแอ และปรับปรุงการบริหารจัดการและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาความยากจน โดยกระทรวงการคลังจะเข้าไปมีบทบาทสนับสนุนในการเร่งแก้ไขปัญหาและการสนับสนุนเงินทุนอย่างเต็มที่ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ

กระทรวงการคลังโดยความร่วมมือของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(สทบ.) พิจารณาแล้วเห็นควรดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนและพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งมาตรการดังกล่าวประกอบด้วย การดำเนินการ 3 ส่วน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงแก่กองทุนหมู่บ้านฯ

เห็นควรพิจารณาปรับปรุง พ.ร.บ. กองทุนหมู่บ้านฯ และระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.)เพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านฯ มีความมั่นคงมากขึ้น เช่น การเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการยกระดับกองทุนหมู่บ้านฯ เป็นสถาบันการเงินชุมชนเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง การปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านในเรื่ององค์ประกอบ คุณสมบัติ และหลักเกณฑ์การคัดเลือกคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน การปรับปรุงระเบียบ กทบ. เกี่ยวกับกระบวนการกู้ยืม แบบของสัญญาเงินกู้ยืมและสัญญาค้ำประกันการกู้ยืม การให้มีหลักเกณฑ์การค้ำประกันการกู้ยืมที่รัดกุมยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนให้กองทุนหมู่บ้านฯ ใช้หลักประกันอื่นนอกเหนือจากบุคคลค้ำประกัน การกำหนดรูปแบบและเกณฑ์การกันเงินสำรองเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากกำไรสุทธิจากการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านฯ การดำเนินการเพื่อขอยกเว้นเงินจัดสรรจากรัฐบาล (บัญชี 1) ไม่ให้เป็นสินทรัพย์ที่เจ้าหนี้ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองใช้ในการบังคับคดี (การขัดทรัพย์) เป็นต้น

2. การปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านฯ และ สทบ.

เห็นควรปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านฯ และ สทบ. ในเรื่องการบริหารจัดการ เช่น การพัฒนาระบบบัญชีและระบบการบริหารจัดการเงินของกองทุนหมู่บ้านฯ ทุกกองทุนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน การผลักดันการจดทะเบียนกองทุนหมู่บ้านฯ ให้ดำเนินการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลให้ครบทุกแห่ง การให้ความรู้ทางการเงินแก่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและสมาชิกเป็นเกณฑ์การรับการสนับสนุนเงินทุนในอนาคต เป็นต้น

3. การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่กองทุนหมู่บ้านฯ

พิจารณาเพิ่มทุนสนับสนุนแก่กองทุนหมู่บ้านฯ จำแนกตามศักยภาพของกองทุนหมู่บ้านฯ โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้

1) เพิ่มทุนให้แก่กองทุนหมู่บ้านฯ ระยะที่ 3 ในส่วนที่เหลือ จำนวน 19,825 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ได้รับการประเมินศักยภาพในระดับพอใช้ (C) และควรปรับปรุง (D) โดยให้กองทุนหมู่บ้านฯ แก้ไขปัญหาอุปสรรคและพัฒนาตนเอง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรับจัดสรรเงินเพิ่มทุน ทั้งนี้ แบ่งกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ยังไม่ได้รับจัดสรรเงินเพิ่มทุน ระยะที่ 3 เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

ทั้งนี้ ให้ ธ.ออมสิน และ ธ.ก.ส. เป็นพี่เลี้ยงดูแลกองทุนหมู่บ้านฯ ในกลุ่มที่ได้รับการประเมินศักยภาพในระดับพอใช้ (C) และระดับควรปรับปรุง (D) อย่างใกล้ชิด

2) สนับสนุนเงินทุนต่อยอดแก่กองทุนหมู่บ้านฯ ที่ได้รับการประเมินศักยภาพในระดับดีมาก (A) หรือระดับดี (B) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 59,874 แห่ง

ให้ ธ.ออมสิน และ ธ.ก.ส. สนับสนุนวงเงินสินเชื่อรวม 40,000 ล้านบาท หรือธนาคารละ 20,000 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาการสนับสนุน 2 ปี เพื่อให้กองทุนหมู่บ้านฯ กู้ยืมเป็นเงินทุนต่อยอด สำหรับให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อการลงทุน การสร้างรายได้ การใช้จ่ายยามจำเป็นฉุกเฉิน การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี และมีระยะเวลาการกู้ยืมไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้ วงเงินการกู้ยืมสำหรับกองทุนหมู่บ้านฯ แต่ละแห่งให้ขึ้นอยู่กับศักยภาพของกองทุนหมู่บ้านฯ แต่ไม่เกินข้อกำหนดของสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเห็นควรเสนอมาตรการเพื่อสนับสนุนและพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อให้คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติพิจารณาและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป