ThaiPublica > คนในข่าว > นิยายชีวิต “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อธิบดี 3 รัฐบาล ผู้ทำงานรับใช้ทุกสี กับบทสรุปที่เลือกจบเองไม่ได้

นิยายชีวิต “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อธิบดี 3 รัฐบาล ผู้ทำงานรับใช้ทุกสี กับบทสรุปที่เลือกจบเองไม่ได้

20 เมษายน 2015


“ธาริต เพ็งดิษฐ์” เคยเปรียบเปรยชะตากรรมชีวิตตัวเองในขณะนี้ว่า เหมือนกำลังมีคนเขียนเรื่องราวชีวิตของตน ให้มีบทสุดท้ายคือการถูกเชือด เพื่อเป็นตัวอย่างไม่ให้ข้าราชการคนอื่นๆ “ทำแบบธาริตมัน”

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ ที่มาภาพ : http://www.bangkokpost.com/news/general/532991/nacc-impounds-b40-9m-assets-of-tarit-and-wife
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มาภาพ: http://www.bangkokpost.com/news/general/532991/nacc-impounds-b40-9m-assets-of-tarit-and-wife

นับแต่ คสช. ยึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มาเกือบ 11 เดือนเต็ม ชื่อของธาริตก็ปรากฏเป็นข่าวใหญ่เพียง 2 ครั้ง

ครั้งแรก – เมื่อถูกย้ายออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี หรือที่ภาษาข่าวเรียกว่า “ย้ายเข้ากรุ”

ครั้งที่ 2 – เมื่อปรากฎตัวที่รัฐสภา ยื่นเอกสารขอสมัครเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับเลือก

หลังจากนั้น ชื่อของธาริตก็ค่อยๆ หายไปจากหน้าสื่อ จนกระทั่งที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติให้อายัดทรัพย์สินของเขาและภรรยา “วรรษมล เพ็งดิษฐ์” ทั้งเงินฝาก บ้าน ที่ดิน รถยนต์ และทรัพย์สินในตู้เซฟนิรภัย รวมมูลค่ากว่า 40 ล้านบาท หลังพบว่ามีพฤติการณ์ยักย้าย-ซุกซ่อน เพื่อหลบหนีการตรวจสอบในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ ชื่อของธาริตจึงได้กลับมาปรากฏบนหน้า 1 อีกครั้ง

ชีวิตของธาริต หากจะว่าไปก็โลดโผนโจนทะยาน แทบไม่ต่างกับการนั่งกระดานหก

คือขึ้นสูงสุดได้เพียงชั่วครู ก็ต้องตกลงต่ำอีกครั้ง

จากเด็กบ้านนอก จ.ชัยนาท เคยมีชื่อเดิมว่า “เบญจ” ที่หลวงพ่อฤาษีลิงดำตั้งให้ เพราะเป็นลูกคนที่ 5 เข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กระทั่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สอนหนังสือที่สถาบันเก่าของตัวเองอยู่พักใหญ่ ก่อนสอบเข้ารับราชการในสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เมื่อปี 2533 และพบรักกับวรรษมล ซึ่งเป็นนักกฎหมายเหมือนกันในระหว่างนั้น

เมื่ออายุ 35 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ธาริต” ตามความเชื่อในตำราโหราศาสตร์

เส้นทางราชการของอัยการหนุ่มรายนี้ก้าวหน้าตามลำดับ ถึงขั้นถูกดึงไปเป็นหน้าห้องของผู้บริหารสูงสุดขององค์กรอัยการ ร่วมกับ “กิตติพงษ์ กิตยารักษ์” อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม สมัยที่ “คณิต ณ นคร” เป็น อสส.

คณิตเคยเอ่ยปากชมธาริต ว่าเป็นคนรอบคอบ ให้รับผิดชอบอะไรก็จะดูแลอย่างดี เป็นทั้งคนเก่งและคนดี ทำงานด้วยแล้วสบายใจ

ธาริตเริ่มเข้าไปข้องแวะกับฝ่ายการเมือง สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เมื่อถูก “หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ชักชวนให้มาทำงานที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยเข้าไปเป็นทีมงานของ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาใหญ่ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีผู้มากบารมี

มีส่วนในการยกร่างกฎหมายและจัดตั้งดีเอสไอ ก่อนถูกโอนย้ายไปเป็นรองอธิบดีดีเอสไอ ในสมัยที่ “พล.ต.ท. นพดล สมบูรณ์ทรัพย์” เป็นอธิบดีคนแรก ชีวิตการทำงานเหมือนรุ่งโรจน์ ได้เป็นซี 9 หลังเข้ารับราชการเพียง 15 ปี

แต่เมื่อ “พล.ต.อ. สมบัติ อมรวิวัฒน์” มาเป็นอธิบดี พร้อมตำรวจที่พาเหรดเข้ายึดดีเอสไอ 4 ปีหลังจากนั้น ธาริตก็ทำได้เพียงก้มหน้าก้มตาทำงานด้านวิชาการอย่างเงียบๆ

ต่อมา เขาก็เข้าไปมีส่วนในการยกร่างกฎหมายจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ก่อนได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการ ป.ป.ท. คนแรก ในปี 2551 สมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ขณะนั้นอธิบดีดีเอสไอมีชื่อว่า “พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง”

เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ขึ้นมาเป็นรัฐบาล มีการย้าย พ.ต.อ. ทวี ซึ่งถูกมองว่าใกล้ชิดกับตระกูลชินวัตรออกจากตำแหน่ง แล้วโยกธาริตที่มีผลงานโดดเด่นในฐานะเลขาฯ ป.ป.ท. ทั้งคดีซานดิก้าผับ คดีทุจริตนมโรงเรียน คดีกองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ ด้วยสไตล์การทำงานแบบกล้าชน ถึงลูกถึงคน ให้เข้ามาเป็น “อธิบดีดีเอสไอ” ด้วยวัยเพียง 50 ปี

อันถือเป็นการก้าวไปสู่ตำแหน่ง ที่ทั้งสร้างชื่อเสียงและวิบากกรรมให้กับชีวิตของธาริต

ในปี 2553 เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขึ้นมาควบคุมการชุมนุมของคนเสื้อแดง บทบาทของธาริตก็ยิ่งโดดเด่น ทั้งในฐานะทีมโฆษก ศอฉ. ร่วมกับ “ไก่อู” พ.อ. สรรเสริญ แก้วกำเนิด และในฐานะอธิบดีดีเอสไอ ผู้เดินหน้าทำคดีกล่าวหาผู้ชุมนุมอย่างไม่ลดละ โดยเฉพาะคดีก่อการร้าย ที่ทำสำนวนส่งฟ้องศาลได้อย่างรวดเร็ว เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.2542/2553

ความโดดเด่นของธาริต เป็นสาเหตุทำให้ถูกฝ่ายพรรคเพื่อไทย (พท.)-คนเสื้อแดง ตรวจสอบอย่างหนัก ทั้งเรื่องการทำงานและเรื่องส่วนตัว โดยเฉพาะกรณีที่ “จตุพร พรหมพันธุ์” แกนนำคนเสื้อแดง ออกมาเปิดเผยเรื่องเสี่ยใหญ่โอนเงิน 1.5 แสนบาท เข้าบัญชีของภรรยาธาริต อ้างว่าเป็นเงินค่าตอบแทนในการเลี่ยงภาษี แต่เขาตอบโต้ว่าเป็นเพียงค่าบริการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย

เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้วอีกครั้ง ในปี 2554 ท่ามกลางคำประกาศว่า จะย้ายธาริตพ้นตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอภายใน 24 ชั่วโมง จากขุนพลของ พท. คนสำคัญ อย่าง “ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง”

ทว่า ตลอด 2 ปี 9 เดือนเศษ ที่ พท. เป็นรัฐบาล คนชื่อธาริตไม่เพียงยังนั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวเดิม ยังได้ต่ออายุราชการ หลังดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี ในปี 2556

หลายคนมองว่า การที่เขายังอยู่ในตำแหน่งเดิมได้ เพราะความแข็งขันในการดำเนินคดีกับฝ่ายค้านรัฐบาล พท.-อย่างสมาชิก ปชป. ทั้งคดีต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส คดีทุจริตก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศ คดีสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ฯลฯ ขณะที่คดีของคนฝ่ายรัฐบาล กลับมีการยกฟ้องอย่างต่อเนื่อง ทั้งคดีผังล้มเจ้า คดีกระสุนพระราชทาน ฯลฯ เป็นเหตุให้ดูโจมตีว่า เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ธาริตก็ “เปลี่ยนสี” ซึ่งเจ้าตัวก็ปฏิเสธพร้อมชี้แจงว่า

“ข้าราชการพลเรือนมีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล หากไม่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลจะมีความผิดทางวินัย นี่เป็นกฎหมายของประเทศที่ผมต้องเคารพและปฏิบัติตาม

“ช่วงรัฐบาล ปชป. บริหารประเทศ ปชป. เลือกนโยบายการบังคับใช้กฎหมายแบบเด็ดขาด ซึ่งส่วนตัวผมเห็นว่าถูกต้อง เพราะความขัดแย้งขณะนั้น ถ้าไม่เด็ดขาดเกมก็ไม่จบ ก็จะเกิดการรบกันมากมาย ความสูญเสียอาจจะมากกว่าที่เห็นพันเท่า แต่เมื่อ พท. เข้ามาจัดตั้งรัฐบาล แล้ว พท. เลือกนโยบายการปรองดอง ผมก็เห็นด้วยอีกเช่นกันว่านโยบายของรัฐบาลชุดนี้ถูกต้อง ผมในฐานะผู้นำองค์กรก็ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ในสถานการณ์ที่ต่างกัน

“นี่คือความจริงที่ต้องยอมรับ เพราะประเทศนี้วางกติกาว่า ฝ่ายการเมืองเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายข้าราชการประจำเป็นฝ่ายปฏิบัติ ข้าราชการประจำคือเครื่องมือของฝ่ายการเมือง เมื่อกติกาของบ้านเมืองเราและกฎหมายเป็นเช่นนี้ เราก็ต้องปฏิบัติตามนี้“

ระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เพื่อขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกฯ ปลายปี 2556 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2557 ทั้งธาริตและดีเอสไอกลายเป็นเป้าในการปิดล้อม-ขับไล่ กระทั่งบ้านภรรยาธาริตซึ่งซื้อไว้ที่เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อทำโฮมสเตย์ ก็ถูกตรวจสอบว่าอาจรุกล้ำพื้นที่ป่าสงวน จนต้องยอมรื้อบ้านบางหลัง และคืนที่ดินบางส่วนให้กับราชการ

เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศกฎอัยการศึก ช่วงตีสามของวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 เขายังถูก “บิ๊กตู่” กล่าวตำหนิกลางที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการ

และเพียง 48 ชั่วโมง หลัง คสช. ยึดอำนาจ ก็มีคำสั่ง คสช. ที่ 8/2557 ย้ายพ้นจากตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ หลังนั่งอยู่บนเก้าอี้นี้ ถึง 4 ปี 7 เดือนเศษ …นานที่สุดในประวัติศาสตร์ดีเอสไอ

ชีวิตของธาริตหลัง คสช. เรืองอำนาจ ส่วนใหญ่จะหมดไปกับการขึ้นศาล เพื่อต่อสู้ 26 คดีความ ที่เขาเป็นทั้งโจทก์และจำเลย

“เราไม่ต้องพูดถึงความแฟร์อะไรนะ แต่ผมอยากจะกระตุ้นเตือนความคิดนิดหนึ่งว่า สิ่งที่มันกำลังเกิดขึ้นกับผมในขณะนี้ กำลังเกิดขึ้นกับข้าราชการประจำคนหนึ่ง ที่ตั้งใจ และทุ่มเทการทำงานตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมาย จากผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ต้องมาเจออะไรแบบนี้ ต่อไปจะมีข้าราชการประจำคนไหนกล้าที่จะมาทำงานกันไหม”

“ตอนนี้ผมคงไม่ทำอะไร ต้องรับชะตากรรมไป เพราะชีวิตข้าราชการประจำมันถูกกำหนดมาแบบนี้ ผมไม่ได้มีพรรคการเมืองอะไรสังกัด จะไปสู้รบปรบมือกับใครได้ แต่ตอนนี้เรื่องมันเริ่มขยายตัวไปแล้ว กลายเป็นว่า ไม่ใช่ผมคนเดียวที่ต้องมาเจออะไรไม่ดี ใครที่เกี่ยวข้องกับผม มีนามสกุลเพ็งดิษฐ์ ซวยกันหมด”

“สถานการณ์ปัจจุบัน ดูเหมือนกำลังมีคนเขียนเรื่องขึ้นมาเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องราวของผม ที่กำลังจะโดนตัดโดนเชือด เป็นตัวอย่างให้ดูว่าอย่าไปทำแบบนี้นะ อย่าไปทำแบบธาริตมันนะ ทั้งที่ผมทำงานตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ผมทำงานตามหน้าที่ของผม”

เป็นถ้อยคำระบายความในใจ-ไม่ใช่ขอความเห็นใจ จากข้าราชการคนหนึ่งที่ยืนยันมาตลอดว่า ตนได้ทำสิ่งที่ถูกต้องทั้งตามบทบาทและกฎหมาย

แต่ช่วงเวลา 3 ปีก่อนเกษียณอายุราชการ นอกจากมองไม่เห็นอนาคตในการงาน ยังต้องวุ่นไปกับการต่อสู้สารพัดคดีความ

และนี่คือนิยายชีวิตของ “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อธิบดีดีเอสไอผู้มากด้วยสีสัน แต่เลือกบทสรุปของตัวเองไม่ได้.