ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เบื้องหลังกฎหมายปิดตำนานคณะบุคคลเลี่ยงภาษี ปลัดคลังเรียกอธิบดีสรรพากร ถกมาตรการแก้ไขหลังสงกรานต์

เบื้องหลังกฎหมายปิดตำนานคณะบุคคลเลี่ยงภาษี ปลัดคลังเรียกอธิบดีสรรพากร ถกมาตรการแก้ไขหลังสงกรานต์

14 เมษายน 2015


ปั่นป่วนกันไปภายหลังกรมสรรพากรแก้กฎหมาย ปิดตำนานคณะบุคคลเลี่ยงภาษี ออกมาตรการบังคับให้แพทย์ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ดารานักแสดง พิธีกร คณะตลก นักดนตรี ที่ร่วมกลุ่มกันเปิดคณะบุคคลเลี่ยงภาษีจ่าย 2 เด้ง หลังจากรับเงินส่วนแบ่งกำไรที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว ผู้ถือหุ้น หรือหุ้นส่วนในคณะบุคคล ต้องนำเงินส่วนแบ่งกำไรมาเสียภาษีเงินได้บุคคลประจำปีรอบ 2 จากเดิมได้รับยกเว้นภาษี ตามมาตรา 42 (14) แห่งประมวลรัษฎากร และยังบังคับให้ผู้เสียภาษีทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายส่งกรมสรรพากรทุกครั้งที่ยื่นภาษีเงินได้ประจำปี เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลภาษี หากผู้เสียภาษีรายใดไม่ปฏิบัติตาม ไม่รู้ หรือแจ้งเท็จ โดนปรับ 2,000 บาท

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร

ทันทีที่กรมสรรพากรออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.149/2558 ปรากฏว่ามาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ฝากเงินที่เปิดบัญชีเงินฝากร่วมกัน เล่นหุ้นร่วมกัน ถือครองกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ไม่มีเจตนาหลบเลี่ยงภาษีเหมือนคณะบุคคลประเภทอื่น ต้องจ่ายภาษี 2 เด้งด้วย และยังสร้างภาระให้ผู้เสียภาษีทำบัญชีแจงรายรับ-รายจ่ายส่งกรมสรรพากรทุกปี

อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังมาตรการปิดตำนานคณะบุคคล แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลรัษฎากร เพื่อแก้ปัญหาคณะบุคคลเลี่ยงภาษีที่กรมสรรพากรนำเสนอคณะกรรมกฤษฎีกา เดิมมี 2 โครงสร้าง คือ ห้างหุ้นส่วนสามัญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อัตรา 20% ของกำไรสุทธิ เพราะรูปแบบการประกอบธุรกิจมีลักษณะใกล้เคียงกับบริษัท ส่วนคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ก็ให้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอัตราก้าวหน้าเหมือนเดิม

ตามขั้นตอนกระทรวงการคลังได้เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12 ที่มี ดร.พนัส สิมะเสถียร เป็นประธานคณะกรรมการ ที่ประชุมฯ ได้สอบถามหลักการจัดเก็บภาษีคณะบุคคลเป็นอย่างไร เจ้าหน้าที่สรรพากรตอบว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนคณะบุคคลเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ที่ประชุมฯ ถามต่อไปว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญมีหลักในการลงบันทึกบัญชีรายได้และรายจ่ายอย่างไร เจ้าหน้าที่สรรพากรชี้แจงว่า กรณีของบุคคลธรรมดาใช้เกณฑ์เงินสด กรณีบริษัทหรือนิติบุคคลใช้เกณฑ์สิทธิหรือเกณฑ์คงค้าง

เมื่อถามต่อว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญเสียภาษีอัตราคงที่ 20% มีหลักเกณฑ์ในการลงบันทึกบัญชีรายได้-รายจ่าย หักค่าเสื่อมราคาอย่างไร กรมสรรพากรตอบไม่ได้ และร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าว ที่ประชุมฯ จึงเห็นควรให้ห้างหุ้นส่วนสามัญเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตามมีกิจกรรมบางประเภทจัดตั้งขึ้นมาเพื่อระดมทุนเป็นการเฉพาะกิจ เช่น นักศึกษาปริญญาโทจัดตั้งคณะบุคคลขึ้นมาระดมทุนทำวิจัย หรือชมรมศิษย์เก่าโรงเรียนต่างๆ จัดตั้งคณะบุคคลเพื่อระดมทุนมาใช้ทำกิจกรรมการกุศล ไม่มีการจัดสรรกำไรให้ผู้ถือหุ้น คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นควรให้คงหลักการของคณะบุคคลเป็นหน่วยภาษีต่อไป

แต่กรณีคณะบุคคลหลบเลี่ยงภาษี เห็นชอบในหลักการให้เก็บภาษี 2 เด้ง โดยเพิ่มคำนิยาม “คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล” ลงในประมวลรัษฎากรให้ชัดเจน และยกเลิกมาตรา 42 (14) ส่วนแบ่งกำไรที่ได้รับจากห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลถือเป็นเงินได้ ผู้รับส่วนแบ่งกำไรต้องนำรายได้ส่วนนี้มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย แต่ถ้าเป็นคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นมาทำกิจกรรมพิเศษจริงๆ ไม่มีการจัดสรรกำไร ผู้ถือหุ้นก็ไม่มีเงินได้ต้องเสียภาษี

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า คำถามคือ กรมสรรพากรทราบได้อย่างไร ว่าคณะบุคคลแบ่งกำไรกันเมื่อไหร่ ผู้ถือหุ้นแต่ละรายรับส่วนแบ่งเท่าไหร่ เจ้าหน้าที่สรรพากรชี้แจงว่า กรมสรรพากรจะออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลต้องจัดทำบัญชีรายได้-รายจ่ายส่งกรมสรรพากรทุกปี นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล กรรมการ มีความเห็นว่า “ไม่ว่ากรมสรรพากรจะกำหนดนิยามคณะบุคคลอย่างไร ในทางปฏิบัติก็จะมีปัญหา เพราะที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สรรพากรไม่ได้ลงไปตรวจสอบภาษีคณะบุคคล จึงไม่มีฐานข้อมูลผู้เสียภาษีกลุ่มนี้ ประเด็นคือ กรมสรรพากรกำลังโอนภาระของเจ้าหน้าที่จากการไม่ไปตรวจสอบภาษีมาเป็นภาระของผู้เสียภาษีส่วนใหญ่ใช่หรือไม่” เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรไม่ตอบคำถาม แต่สุดท้าย ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลรัษฎากรฉบับนี้ ก็ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา และส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป

มาตรการภาษีแก้ปัญหาคณ

“ในชั้นการพิจารณาสรรพากร ต้องออกระเบียบปฏิบัติตามมาในภายหลัง ระดับนโยบายไม่มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ภาคปฏิบัติ ภายหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว กรมสรรพากรออกคำสั่งกรมสรรพากร ป.149/2558 กำหนดนิยามห้างหุ้นส่วนสามัญ ตีความว่าผู้ฝากเงินที่เปิดบัญชีร่วมกัน เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นร่วมกัน และถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมกัน ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 39) พ.ศ. 2557 ส่งผลกระทบต่อผู้เสียภาษีเป็นวงกว้าง”

ตัวอย่าง อาทิ ผู้สูงอายุไม่สะดวกที่จะเดินทางไปติดต่อธนาคาร จึงเปิดบัญชีเงินฝากประจำ โดยใส่ชื่อลูกหรือหลานเป็นเจ้าของบัญชีร่วมกัน ในยามเจ็บไข้ได้ป่วย ลูกหลานสามารถไปเบิกถอนเงินจากธนาคารได้ โดยไม่ต้องทำหนังสือมอบอำนาจให้ยุ่งยาก หรือกรณีกู้ซื้อทาวน์เฮาส์ คอนโดมิเนียม ยูนิตละ 3 ล้านบาท ผู้กู้เงินเดือนไม่ถึงเกณฑ์ตามที่ธนาคารกำหนด ชักชวนแฟน ญาติ พี่น้องกู้ร่วม ต่อมารายได้ดีขึ้น ขายคอนโดมิเนียมเพื่อซื้อบ้านเดี่ยว ตามคำสั่งกรมสรรพากร ป.149/2558 กรณีนี้ถือเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายส่งกรมสรรพากร และผู้เสียภาษีที่เปิดบัญชีร่วมกัน หรือถือครองกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยร่วมกัน ต้องนำเงินได้จากการขายบ้านเก่าซื้อบ้านใหม่ หรือค่าดอกเบี้ย มายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย นอกจากเสียภาษีซ้ำซ้อน ยังสร้างภาระให้กับผู้เสียภาษี

ล่าสุด นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สัปดาห์หลังเทศกาลวันหยุดสงกรานต์ ตนจะเชิญนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร มาหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ถึงแม้นายประสงค์จะออกมาชี้แจงว่า รายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% แล้ว ผู้ที่เปิดบัญชีร่วมกันไม่ต้องนำมายื่นแบบเสียภาษีเงินได้ประจำปีก็ได้ แต่ยังต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายส่งกรมสรรพากรอยู่ ตรงนี้จะมีวิธีการบรรเทาภาระผู้เสียภาษีอย่างไร