ThaiPublica > คอลัมน์ > จะปล่อยให้คนเดียวตายหรือว่าห้าคนตายดี: A lesson on moral dilemma

จะปล่อยให้คนเดียวตายหรือว่าห้าคนตายดี: A lesson on moral dilemma

28 เมษายน 2015


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

วันนี้ผมอยากจะให้คนที่ไม่เคยเรียนวิชาปรัชญาจริยธรรม หรืออ่านปัญหานี้มาก่อน ลองมาเล่น thought experiment (หรือการทดลองทางความคิด) กันดูนะครับ

สมมติว่าคุณผู้อ่านอยู่ในเหตุการณ์นี้ คุณผู้อ่านว่าคุณผู้อ่านจะเลือกทำอะไรมากกว่ากัน

วันหนึ่งคุณเดินไปเห็นรถรางขนาดใหญ่ที่ไม่มีคนขับคันหนึ่งกำลังวิ่งไปตามรางรถไฟด้วยความเร็วสูง อีกสักประมาณร้อยเมตรจากจุดที่รถรางกำลังวิ่งอยู่นั้นคุณมองไปเห็นไกลๆ ว่ามีคนถูกเชือกมัดเอาไว้นอนอยู่บนรางรถไฟด้วยกันถึงห้าคน ซึ่งถ้าปล่อยไว้ทั้งห้าคนจะต้องตายจากการถูกรถรางทับแน่ๆ

แต่ข้างๆ จุดที่คุณผู้อ่านยืนอยู่นั้นได้มีที่สับรางรถไฟตั้งเอาไว้อยู่ ซึ่งคุณผู้อ่านสามารถใช้มันในการสับรางเพื่อที่จะให้รถรางวิ่งไปอีกรางหนึ่งก่อนที่จะวิ่งไปทับห้าคนที่นอนอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม บนรางใหม่นั้นคุณผู้อ่านมองไปเห็นว่าได้มีคนถูกเชือกมัดเอาไว้นอนอยู่บนรางรถไฟหนึ่งคน ซึ่งถ้าคุณผู้อ่านเลือกที่จะสับรางเพื่อช่วยคนห้าคน คนคนนั้นจะต้องตายจากการถูกรถรางทับแน่ๆ

คุณมีทางเลือกอยู่สองทาง ทางที่หนึ่งก็คือไม่ทำอะไรเลยซึ่งผลลัพธ์ก็คือจะมีคนตายจากการถูกรถรางทับห้าคน ทางที่สองก็คือสับรางซึ่งผลลัพธ์ก็คือจะมีคนตายจากการถูกรถรางทับคนเดียว สมมติว่าคุณมองไม่เห็นเลยว่าคนที่นอนอยู่ทั้งหกคนนั้นเป็นใคร เพศอะไร อายุเท่าไหร่ คุณว่าคุณจะตัดสินใจเลือกที่จะสับรางหรือไม่สับราง

A lesson on moral dilemma

คนอ้วนบนสะพาน

โอเค เอาใหม่นะครับ สมมติว่าคุณกำลังยืนชมวิวอยู่บนสะพานข้ามรางรถไฟอยู่ ในขณะที่คุณกำลังยืนชมวิวอยู่นั้นคุณเหลือบไปเห็นว่ามีคนห้าคนถูกเชือกมัดเอาไว้นอนอยู่บนรางรถไฟข้างล่าง และคุณก็ยังเห็นอีกว่ามีรถรางขนาดใหญ่ที่ไม่มีคนขับกำลังวิ่งมาอีกทางด้วยความเร็วสูง ถ้าปล่อยไว้ทั้งห้าคนจะต้องตายจากการถูกรถรางทับแน่ๆ

แต่ขณะเดียวกันนั้นเองคุณก็สังเกตเห็นว่ามีผู้ชายที่อ้วนมากๆ ที่คุณไม่เคยเจอมาก่อนกำลังยืนอยู่ข้างๆ ของคุณ ซึ่งถ้าคุณผลักเขาตกลงไปจากสะพานเพื่อให้ไปทับรางรถไฟคุณก็สามารถที่จะหยุดรถรางคันนั้นจากการวิ่งไปทับคนทั้งห้าคนนั้นได้ แต่ก็จะมีคนที่ต้องตายคนหนึ่งแน่ๆ นั่นก็คือคนอ้วนคนนี้ สมมติว่าแถวๆ นั้นไม่มีใครยืนหรือเดินอยู่เลยแม้แต่คนเดียว (พูดง่ายๆ ก็คือถ้าคุณเลือกที่จะผลักผู้ชายคนนี้ตกลงไปทับรางก็จะไม่มีใครที่จะสามารถมาเอาเรื่องกับคุณทีหลังได้) ถ้าเป็นคุณ คุณว่าคุณเลือกที่จะผลักผู้ชายอ้วนคนนี้เพื่อที่จะช่วยชีวิตคนห้าคนหรือไม่

A lesson on moral dilemma

The Trolley Problem

เหตุการณ์จำลองข้างบนทั้งสองเป็น thought experiment ที่นักปรัชญาฟิลิปปา ฟุต (Philippa Foot) คิดค้นขึ้นมาเมื่อห้าสิบปีที่เเล้วเพื่อใช้ในการทดลองเเละวิจัยรากฐานเเละที่มาของจริยธรรมของคนเรา โดยในสถานการณ์เเรก คนส่วนใหญ่ที่ถูกถามคำถามนี้มักเลือกที่จะเสียสละชีวิตคนหนึ่งคนเพื่อช่วยคนห้าคน (พูดง่ายๆ ก็คือเลือกที่จะสับราง) สาเหตุสำคัญที่คนส่วนใหญ่คิดเช่นนั้นก็คือคนเดียวตายย่อมดีกว่ามีห้าคนตาย ฟิลิปปา ฟุต กล่าวเอาไว้ว่าหลักการคิดเเบบนี้เป็นหลักการคิดเเบบ utilitarianism (หรือประโยชน์นิยม) ซึ่งเป็นหลักการคิดที่เป็นบรรทัดฐานของคนในสังคมส่วนใหญ่

เเต่ในสถานการณ์ที่สอง คนส่วนใหญ่ที่เลือกที่จะเสียสละชีวิตคนหนึ่งคนเพื่อช่วยคนห้าคนโดยการสับรางกลับเลือกที่จะปล่อยให้ห้าคนตายเเทนที่จะเสียสละชีวิตคนหนึ่งคนโดยการผลักเขาตกลงไปทับราง คำถามก็คือทำไมคนส่วนใหญ่ถึงเลือกทำเช่นนั้น

สาเหตุสำคัญที่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการเลือกที่จะสับรางในสถานการณ์เเรกเป็นเรื่องที่โอเค รับได้ ก็เพราะว่าในสถานการณ์เเรกคุณไม่ได้มีความตั้งใจ (หรือ intention) ที่จะทำให้คนเดียวต้องมาตาย เเต่ในสถานการณ์ที่สองนั้นมันมีความตั้งใจของการให้คนหนึ่งต้องมาตายเพื่อที่จะให้มีห้าคนรอดเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่กลับเลือกที่จะให้ห้าคนตายเเทนการมีคนตายเเค่คนเดียวในสถานการณ์ที่สอง

บทเรียนสำคัญจาก thought experiment นี้ก็คือ มนุษย์เรามักจะยอมทำในสิ่งที่ผิดจริยธรรมเพื่อเเลกกันกับผลตอบเเทนที่ดีกว่าสำหรับคนกลุ่มใหญ่ก็ต่อเมื่อเขารู้สึกว่ามันไม่มีทางเลือกอื่นอีกเเล้ว เเต่ถ้าสมมติว่าเขาสามารถหาเหตุผลที่จะมาช่วยรับรองในการตัดสินใจไม่ทำอะไรเลยนั้น (อย่างเช่น คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ผลักคนให้ตกลงไปบนรางเพื่อช่วยชีวิตคนถึงห้าคนในสถานการณ์ที่สองก็เพราะว่าถ้าเขาทำการผลักคนให้ตกไปจริงๆ เขาก็คงจะต้องติดคุกเเน่ๆ ถึงเเม้ว่าจะมีคนรอดชีวิตถึงห้าคน ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็คงจะไม่เกิดขึ้นกับการตัดสินใจสับรางในสถานการณ์เเรก) โอกาสที่เขาจะเลือกอยู่เฉยๆ นั้นก็จะสูง ถึงเเม้ว่าจะมีคนที่ได้รับผลประโยชน์จากการกระทำผิดจริยธรรมของเขามากกว่าการที่เขาเลือกจะอยู่เฉยๆ ก็ตาม

ปัญหา trolley problem อันนี้เป็นปัญหาที่ค่อนข้างสำคัญสำหรับคนที่ต้องเผชิญกับทางแยกของศีลธรรม (moral dilemma) อยู่ตลอดเวลา อย่างเช่นคนที่ทำงานเป็นหมอ (ควรที่จะปิดเครื่องช่วยหายใจให้กับคนไข้ที่มีอาการสมองตายดีหรือไม่ดี) คนที่ทำงานเป็นทหาร (ควรที่จะฆ่าเด็กที่ถือระเบิดเพื่อช่วยชีวิตเพื่อนทหารดีหรือไม่ดี) รวมไปถึงรัฐบาลเป็นต้น เเละก็ควรที่จะเป็นหนึ่งบทเรียนที่ครูควรจะสอนให้กับเด็กนักเรียนไทยให้เข้าใจกับปัญหาเเละที่มาของการตัดสินใจเหล่านี้เสียตั้งเเต่เนิ่นๆ