ThaiPublica > เกาะกระแส > รองปลัด ยธ. ลุยเขาใหญ่รอบ 2 สอบที่ดิน “คีรีมายา” ออกทับ ส.ป.ก. 644 ไร่ – เปลี่ยนแปลงลำรางสาธารณะ

รองปลัด ยธ. ลุยเขาใหญ่รอบ 2 สอบที่ดิน “คีรีมายา” ออกทับ ส.ป.ก. 644 ไร่ – เปลี่ยนแปลงลำรางสาธารณะ

29 เมษายน 2015


พ.ต.อ. ดุุษฎี อารยวุฒิ (เสื้อเทา) กับคณะทำงาน ระหว่างวางแผนก่อนลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการคีรีมายาฯ
พ.ต.อ. ดุุษฎี อารยวุฒิ (เสื้อเทา) กับคณะทำงาน ระหว่างวางแผนก่อนลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการคีรีมายาฯ

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 ชุดปฏิบัติการพิเศษกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นำโดย พ.ต.อ. ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัด ยธ., พ.อ. สมหมาย บุษบา คณะทำงานด้านกฎหมาย กองทัพภาคที่ 2, พล.ต.ต. ธเนษฐ สุนทรสุข รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 3 และเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรมป่าไม้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ฯลฯ ได้ลงพื้นที่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์และการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ซึ่งอาจเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 2 จุด

จุดแรก คือ ที่ดินซึ่งนางพรทวี สุตันติราษฎร์ นายช่างรังวัด ส.ป.ก. นครราชสีมา ได้นำ ส.ค.1 เลขที่ 18 หมู่ที่ 4 ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา มีเนื้อที่ 30 ไร่ มาออกเอกสารสิทธิ์ เป็นโฉนดที่ดินเนื้อที่ 155 ไร่ ในชื่อของสามีตนเอง โดยรุกล้ำเข้าในที่ดิน ส.ป.ก. มากกว่า 130 ไร่ ซึ่งอยู่ติดกับภูพบฟ้า ใกล้ทางขึ้นเขาใหญ่ และมีการจัดสรรขายให้กับข้าราชการหลายคน ราคาไร่ละกว่า 10 ล้านบาท โดยมีการร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. และเจ้าหน้าที่เดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน ทุจริตออกโฉนดที่ดินครั้งนี้

ภายหลังชุดปฏิบัติการพิเศษของ ยธ. ลงพื้นที่ตรวจสอบ ก็มีการให้ชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงมาแจ้งความดำเนินคดีกับนางพรทวี โดยมี พ.ต.อ. บัณฑิต เส็งประชา ผกก.สภ.หมูสี เป็นผู้รับเรื่อง

photo

จากนั้นก็เดินทางต่อไปยังจุดที่สอง โครงการ คีรีมายา กอล์ฟ รีสอร์ต สปา เขาใหญ่ (Kirimaya Golf Resort Spa Khaoyai) ของบริษัท คีรีมายา จำกัด จำนวน 1,696 ไร่ โดยมีการตั้งประเด็นในการตรวจสอบไว้ 2 ประเด็น

1.การออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินของโครงการคีรีมายาฯ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะแม้ที่ดินส่วนใหญ่ จำนวน 1,052 ไร่ จะเคยอยู่ใน “นิคมสร้างตัวเองลำตะคอง” ทำให้มีใบ น.ค.3 ซึ่งตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 หากครอบครองเกินกว่า 5 ปีสามารถไปออกเอกสารสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็น น.ส.3 ก. หรือโฉนดที่ดินได้ แต่ปรากฎว่าที่ดินบางส่วน จำนวน 644 ไร่ อยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. ซึ่งเดิมเคยเป็นป่าเขาใหญ่ ก่อนถูกนำมาจัดสรรเป็นที่ดิน ส.ป.ก. เพื่อให้ชาวบ้านที่ยากไร้ได้ทำกิน

2.การใช้ประโยชน์จากที่ดินของโครงการคีรีมายาฯ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเดิมขออนุญาตใช้พื้นที่ซึ่งมีใบ น.ค.3 ในการทำสนามกอล์ฟ แต่ต่อมามีการทำบ้านจัดสรรด้วย ทั้งที่ไม่ได้ขออนุญาต นอกจากนี้ ในที่ดินของโครงการคีรีมายาฯ ยังมีร่องน้ำสาธารณะประโยชน์ 153 ไร่ และทับที่สาธารณะประโยชน์ อีก 48 ไร่ ซึ่งตามกฎหมายแล้ว หากจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต้องขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมเจ้าท่า

เมื่อชุดปฏิบัติการพิเศษของ ยธ. เดินทางไปถึง ผู้บริหารของบริษัท คีรีมายา จำกัด ได้เปิดห้องประชุม เพื่อชี้แจงถึงที่มาที่ไปของเอกสารสิทธิ์ที่ดินคีรีมายาฯ

โดย นายอรัฐ เศวตะทัต กรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาโครงการ บริษัท คีรีมายา จำกัด กล่าวว่า ที่ดินของคีรีมายาฯ ซึ่งมาตั้งแต่ยังเป็น น.ส.3 ก. จำนวน 50 แปลง โดย 36 แปลง ได้มาตั้งแต่เป็นสนามกอล์ฟในปี 2545 จากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี อีก 14 แปลง ได้จากการเสนอขายที่ดินของบริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (BAM) จึงเป็นข้อสรุปว่า ที่ดินทั้งหมดได้มาจากหน่วยงานรัฐทั้งสิ้น ไม่มีการซื้อที่ดินจากบุคคลหรือชาวบ้านเลยแม้แต่ตารางวาเดียว ซึ่งต่อมาก็มีการนำ น.ส.3 ก. ไปขอออกโฉนดที่ดิน พร้อมจำหน่ายให้โอนกรรมสิทธิ์ให้กับบุคคลภายนอกเรื่อยมา

kiri02
นายอรัฐ เศวตะทัต ผู้บริหารบริษัท คีรีมายา จำกัด ขณะกำลังชี้แจงที่มาของเอกสารสิทธิ์โครงการคีรีมายาฯ ทั้ง 50 แปลง

ข้อสงสัยว่า คีรีมายาฯ ได้บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนหรือเขตอุทยานหรือไม่ นายอรัฐกล่าวว่า ที่ดินของคีรีมายาฯ แยกออกจากเขตอุทยานอย่างชัดเจน โดยมีแนวกันไฟซึ่งสร้างโดยอุทยานเป็นขอบเขต และมีหลักเขตของอุทยานแยกจากคีรีมายาฯ ชัดเจน จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนหรือเขตอุทยาน

ส่วนประเด็นเรื่องรุกล้ำพื้นที่ ส.ป.ก. นั้น นายอรัฐกล่าวว่า ที่ดินของคีรีมายาฯ เดิมเป็นของบริษัท เขาใหญ่เนเชอรัลปาร์ค จำกัด ถูกนำไปสร้างเป็นสนามกอล์ฟ โดยนำเอกสารสิทธิ์ที่เป็น น.ส.3 ก. ซึ่งส่วนใหญ่ออกมาระหว่างปี 2527-2528 ไปค้ำประกันกับสถาบันการเงิน ในปี 2533 จึงเกิดขึ้นก่อนมีการออก พรฎ.กำหนดเขตที่ดินใน อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน และ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อกำหนดพื้นที่ ส.ป.ก. ซึ่งมีขึ้นในปี 2534 อย่างแน่นอน

กรณีลำรางสาธารณะ นายอรัฐกล่าวว่า ขอยืนยันว่ายังมีอยู่ในโครงการทั้งหมดครบถ้วน ไม่เคยมีการก่อสร้างปิดกั้นทางน้ำ หรือทำให้ลำรางหายไปแต่อย่างใด

“เราพร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย และขอกฎหมายให้ความเป็นธรรมกับพวกเรา เพราะเราทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ อยากให้การตรวจสอบให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพราะพวกเราก็ตกเป็นจำเลยสังคม และถูกกล่าวหามานาน หากการออกเอกสารสิทธิ์ไม่ชอบมาตั้งแต่ต้น ก็อยากรู้ว่าใครเป็นผู้ที่กระทำผิดนั้น และพร้อมจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย เพราะคนที่เสียหายไม่ได้มีแค่เรา ยังมีลูกบ้านอีกกว่า 100 คน” นายอรัฐกล่าว

พ.อ. สมหมาย กล่าวชี้แจงว่า การตรวจสอบครั้งนี้ ไม่ได้โทษบริษัท คีรีมายา จำกัด ที่ได้เอกสารสิทธิ์มาโดยชอบ แต่ต้องการดูที่มาของการออกเอกสารสิทธิ์นั้น ว่ามีการออกนอกนิคมสร้างตัวเองลำตะคอง และมีการปิดกั้นหรือเปลี่ยนแปลงลำรางสาธารณะซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินโครงการคีรีมายาฯ หรือไม่ ทั้งนี้ หากดูจากภาพถ่ายทางอากาศ ที่ดินของโครงการคีรีมายาฯ กว่า 600 ไร่ อยู่นอกนิคมสร้างตัวเองลำตะคอง และไปอยู่บนพื้นที่ ส.ป.ก. จึงต้องตรวจสอบให้แน่ชัดถึงที่มาที่ไปของที่ดินผืนนี้

จากนั้นผู้บริหารบริษัท คีรีมายา จำกัด ก็นำ พ.ต.อ. ดุษฎีและคณะ ตรวจสอบโครงการคีรีมายาฯ ทั้งหมด ซี่งพบว่ามีการก่อสร้างอาคารบนส่วนคร่อมบนลำรางสาธารณะและปิดกั้นทางน้ำอย่างชัดเจน แต่ทางนายอรัฐยืนยันว่าได้ขออนุญาตจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องแล้ว

kiri03
ทิวทัศน์บางส่วนของโครงการคีรีมายาฯ

จากนั้น พ.ต.อ. ดุษฎี ให้สัมภาษณ์ว่า จากการตรวจสอบที่ดินโครงการคีรีมายาฯ กรณีที่สงสัยว่ามีที่ดินบางส่วนในเอกสารสิทธิ์อยู่นอกนิคมสร้างตัวเองลำตะตอง ล้ำไปบนพื้นที่ ส.ป.ก. กว่า 600 ไร่ ยังต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบความถูกต้องกับสิ่งที่ผู้บริหาร บริษัท คีรีมายา จำกัด กล่าวอ้างเสียก่อนจึงจะสรุปได้ ทั้งนี้ คงไม่จำเป็นต้องสั่งระงับการก่อสร้างอาคารใดๆ เพราะทางผู้บริหารบริษัท คีรีมายา จำกัด ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

กรณีที่สงสัยว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงลำรางสาธารณะ พ.ต.อ. ดุษฎี กล่าวว่า แค่มองด้วยตาก็จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ต้องไปดูว่ามีการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมเจ้าท่าอย่างถูกต้องหรือไม่

ด้านนายชำนาญ กลิ่นจันทร์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงประเด็นที่ดินโครงการคีรีมายาฯ อาจรุกล้ำพื้นที่ ส.ป.ก. ว่า เรื่องนี้คงต้องรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน หากเอกสารสิทธิ์ออกมาโดยมิชอบต้องเป็นหน้าที่ของกรมที่ดินในการเพิกถอน ไม่ใช่ ส.ป.ก.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงพื้นที่เขาใหญ่ครั้งนี้ของชุดปฏิบัติการพิเศษของ ยธ. ที่นำโดย พ.ต.อ. ดุษฎี เพื่อตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์และการใช้ประโยชน์จากที่ดินโดยมิชอบ ถือเป็นครั้งที่ 2 ภายหลังจากวันที่ 31 มีนาคม 2558 ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสนามแข่งรถ ของบริษัท โบนันซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล สปีดเวย์ จำกัด เลขที่ 235 หมู่ 11 ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่นำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง และเพิกถอนที่ดินซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ์ ภายหลังพบว่า บริษัทโบนันซ่าฯ มีเอกสารสิทธิ์เป็น น.ส.3 ก. เพียง 56 ไร่ แต่ใช้ประโยชน์จากที่ดินถึง 166 ไร่ โดยมีการบุกรุกพื้นที่ ส.ป.ก. เขตป่าสงวน สวนป่า และที่ดินของ อบต.ขนงพระ