ThaiPublica > คอลัมน์ > ข้อเท็จจริง 10 ปี ระบบข้าราชการไทย

ข้อเท็จจริง 10 ปี ระบบข้าราชการไทย

12 มีนาคม 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

เมื่อไม่นานมานี้ พนักงานรัฐวิสาหกิจได้เงินเดือนขึ้นเฉลี่ย 6.5% และก่อนหน้านี้ไม่นานข้าราชการก็ได้เงินเดือนขึ้นเฉลี่ยคนละอย่างน้อย 4% พร้อมกับขยายเพดานเงินเดือนอีก 10% โดยมีเหตุผลว่าทั้งหมดก็เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ลองมาดูกันว่าใน 10 ปีที่ผ่านมาข้าราชการไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างในด้านต่างๆ

เงินเดือนข้าราชการ

มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา ได้ศึกษาหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ 10 ปีที่ผ่านมาของระบบข้าราชการไทย และได้ 6 ข้อเท็จจริงดังนี้

“…..(1) ปัจจุบันฐานเงินเดือนข้าราชการไม่ได้ต่ำอย่างที่คิดอีกต่อไป จากที่เมื่อ 10 ปีที่แล้วเงินเดือนแรกเข้าของข้าราชการวุฒิปริญญาตรีเคยเป็นเพียง 2 ใน 3 ของเงินเดือนแรกเข้าของพนักงานเอกชนที่ระดับการศึกษาเท่ากัน แต่ปัจจุบันข้าราชการได้เงินเดือนแรกเข้าสูงกว่าพนักงานเอกชนโดยเฉลี่ยราว 10% เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีนโยบายปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการวุฒิปริญญาตรีให้ได้ 15,000 บาทต่อเดือน

(2) จำนวนกำลังคนภาครัฐเพิ่มขึ้นเกือบ 50% อยู่ที่ราว 2.2 ล้านคน หลังจากที่มีริเริ่มการปฏิรูประบบราชการ โดยการปรับลดกำลังคน ผลคือจำนวนข้าราชการประจำแทบไม่เพิ่มขึ้นเลยจากสิบปีที่แล้ว แต่ที่เพิ่มขึ้นมากคือลูกจ้างรัฐและพนักงานรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้น 6 เท่า บางกระทรวงมีลูกจ้างและพนักงานมากกว่าข้าราชการประจำ เช่น กระทรวงทรัพยากรฯ มีข้าราชการประจำเพียง 10,000 คนเท่านั้น แต่มีลูกจ้างและพนักงานของรัฐร่วม 50,000 คน เป็นต้น

(3) ข้าราชการตั้งแต่ซี 9 ขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ทั้งๆ ที่จำนวนข้าราชการประจำโดยรวมลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มกระทรวงใหม่ 6 กระทรวง ทำให้มีกรมเพิ่มขึ้นกว่า 40 กรม เป็น 168 กรม เมื่อปี 2545 ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐสุ่มเสี่ยงกับปัญหาขาดแคลนกำลังคนโดยเฉพาะระดับปฏิบัติการ

(4) งบบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า จากเมื่อสิบปีก่อน ถ้าหากรวมเอาภาระงบบุคลากรซึ่งรวมทั้งสวัสดิการข้าราชการอื่นๆ อย่างค่ารักษาพยาบาลและบำเหน็จบำนาญ ก็ร่วม 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ของรัฐบาล

(5) งบบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าจากเมื่อสิบปีก่อน ในขณะที่จำนวนกำลังคนภาครัฐในระดับท้องถิ่นนั้นเพิ่มขึ้น 3 เท่า ตามจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น

(6) เมื่อเทียบกับจีดีพี งบบุคลากรภาครัฐของไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชียรองจากบาห์เรนและมัลดีฟส์ โดยสัดส่วนงบบุคลากรภาครัฐต่อจีดีพีของไทยอยู่ประมาณ 7% สูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย (6%) ฟิลิปปินส์ (5%) หรือสิงคโปร์ (3%)”

เมื่อภาพสำคัญคืองบบุคลากรเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬารเช่นนี้ คำถามก็คืองบนี้ส่งผลต่อผลงานของภาครัฐใน 10 ปีที่ผ่านมาอย่างไร?

ข้อศึกษาที่ได้ระบุดังนี้ “…..(1) ประสิทธิภาพของภาครัฐแย่ลงจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จากผลการวิจัยของธนาคารโลกพบว่าความมีประสิทธิผลของรัฐบาลไทยอยู่อันดับ 74 จาก 196 ประเทศ ตกลงจากอันดับ 65 เมื่อสิบปีก่อน นอกจากนี้ จากการสำรวจความเห็นของนักธุรกิจของ World Economic Forum (WEF) ตั้งแต่ปี 2551-2556 พบว่าความไร้ประสิทธิภาพของภาครัฐเป็น 1 ใน 5 ของปัจจัยที่เป็นปัญหาในการทำธุรกิจในประเทศไทย

(2) ปัญหาคอร์รัปชันในภาครัฐก็แย่ลงเช่นกัน จากผลวิจัยของธนาคารโลกเช่นเดียวกัน พบว่าไทยตกอันดับ 91 เมื่อสิบปีก่อน มาเป็นอันดับ 98 จาก 196 ประเทศ หรือถ้าหากดูจากดัชนีการรับรู้เรื่องคอร์รัปชัน (Corruption Perception Index) ก็ร่วงจากอันดับ 70 เป็นอันดับ 102 จาก 174 ประเทศ WEF จัดอันดับเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวกของข้าราชการไทยอยู่อันดับ 93 จาก 148 ประเทศ อันดับใกล้เคียงกับประเทศอินเดีย (94) และมาลาวี (92)”

หากประสิทธิภาพของภาครัฐลดลงจริงตามที่ธนาคารโลกศึกษา ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายรวมของบุคลากรภาครัฐอันเนื่องมาจากผลตอบแทนเฉลี่ยต่อคนและจำนวนคนในภาครัฐสูงขึ้น คำถามที่พึงพิจารณาก็คือ เส้นทางเพิ่มขึ้นของผลตอบแทนเฉลี่ยต่อคนถึงแม้จำนวนคนจะคงที่ถูกต้องหรือไม่ หากใช้สามัญสำนึกอาจตอบว่าผลตอบแทนเฉลี่ยไม่อาจลดลงได้ แต่สามารถ “รีด” ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้ให้สมกับค่าตอบแทนพร้อมกับลดจำนวนคนในภาครัฐลง มิฉะนั้นภาระงบบุคลากรรวมทั้งสวัสดิการและบำเหน็จบำนาญจะเกินครึ่งหนึ่งของรายได้ของรัฐบาลจากภาษีอากร

การปฏิรูประบบราชการในช่วงเวลานี้เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะในอีก 15 ปีข้างหน้าจะมีข้าราชการราว 40% เกษียณอายุ การเข้มงวดกับจำนวนคนและคุณภาพของคนที่มาทดแทนและ “การรีด” ประสิทธิภาพของคนในภาครัฐทั้งหมดดูจะเป็นคำตอบ

การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐได้เป็นอย่างดีเพราะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพขึ้น (มีไอติมกินเต็มแท่ง ไม่ใช่ได้รับไอติมที่ถูกดูดไปแล้วกว่าหนึ่งในสามของแท่ง) อีกทั้งเป็นการยกระดับความมีจริยธรรมของภาครัฐและสังคมไปด้วย

ข้อเท็จจริงข้างบนนี้ ถ้าพิจารณาให้ดีแล้วจะรู้สึกสยอดสยองเพราะมันโยงใยไปสู่ภาวะการใช้จ่ายมหาศาลของรัฐในภายภาคหน้า จนอาจมีเงินเหลือน้อยสำหรับการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ของชาติ โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี ฯลฯ

คนในสมัยปัจจุบันต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของสังคม เพราะคนที่จะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้านั้นขณะนี้ยังเป็นเพียงทารกและเด็กที่ยังไม่รู้ความ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 24 ก.พ. 2558