ThaiPublica > เกาะกระแส > กลยุทธ์ติวเตอร์-รร.กวดวิชา นวัตกรรมสอนหนังสือใช้ครูน้อยลง-กลไกหาลูกค้า

กลยุทธ์ติวเตอร์-รร.กวดวิชา นวัตกรรมสอนหนังสือใช้ครูน้อยลง-กลไกหาลูกค้า

18 มีนาคม 2015


เมื่อเร็วๆ นี้คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา เนื่องจากปัจจุบันโรงเรียนกวดวิชาที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นมากมายเพราะความต้องการเรียนกวดวิชาที่เติบโตอย่างต่อเนื่องทำให้นักเรียนเรียนกับครูน้อยลง ทั้งนี้ รูปแบบการเรียนการสอนส่วนใหญ่ในปัจจุบันของโรงเรียนกวดวิชาคือนักเรียนเรียนกับวิดีโอและคอมพิวเตอร์ ในขณะที่การเรียนกวดวิชานอกโรงเรียนที่เรียกว่าสอนพิเศษตามบ้าน ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกออนไลน์ ซึ่งสอนโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยหรือที่เรียกกันว่าติวเตอร์

โรงเรียนกวดวิชาเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจากระบบการศึกษาไทยที่เน้นการเรียนการสอนเพื่อสอบ และการสอบใช้คะแนนเป็นตัวชี้วัด จึงทำให้ผู้ปกครองต้องกวดขันบุตรหลานให้เรียนพิเศษมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสแข่งขันด้านการศึกษาและการสอบเข้าศึกษาต่อในสถาบันที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงต่อไป

จากการสำรวจของไทยพับลิก้าพบว่า ในปัจจุบันการเรียนกวดวิชามีรูปแบบการสอน 3 รูปแบบหลัก คือ เรียนกับบุคคล เรียนกับวิดีโอ และเรียนกับคอมพิวเตอร์ โดยแบ่งเป็น 2 ระบบ คือ การเรียนในโรงเรียนกวดวิชาที่มีอาคารเรียนเฉพาะ และการเรียนกวดวิชาที่เรียกว่า “สอนพิเศษตามบ้าน”

ในอดีตที่โรงเรียนกวดวิชายังไม่มีสาขา การเรียนพิเศษหรือการเรียนกวดวิชานั้น นักเรียนจะเรียนกับครูหรือติวเตอร์ หรืออาจจะเรียนแบบตัวต่อตัว หรือเรียนเป็นกลุ่ม เช่น การเรียนพิเศษหลังเลิกเรียนที่โรงเรียนเปิดสอน การเรียนพิเศษในวันหยุดกับครูที่สอนในโรงเรียน การเรียนพิเศษกับโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งการเรียนแบบนี้จะเสมือนกับการเรียนในห้องเรียน ที่ผู้เรียนสามารถสอบถามผู้สอนได้โดยตรงหากไม่เข้าใจ

โรงเรียนกวดวิชาย่านสยามสแควร์
โรงเรียนกวดวิชาย่านสยามสแควร์

ต่อมา เมื่อการเรียนกวดวิชามีความสำคัญมากขึ้น นักเรียนต้องการเรียนกวดวิชามากขึ้น จึงทำให้มีโรงเรียนกวดวิชาเกิดขึ้นจำนวนมาก และสำหรับโรงเรียนกวดวิชาที่มีชื่อเสียงก็เปิดสาขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จนทำให้ในปัจจุบันมีโรงเรียนกวดวิชายอดนิยมเพียงไม่กี่สถาบันซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ

การเรียนกวดวิชาในสถาบันกวดวิชาที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมนั้นเดิมทีจะมีการสอนเพียง 2 รูปแบบ คือการเรียนคอร์สสดและคอร์สวิดีโอ นั่นคือ นักเรียนจะแยกเรียนเป็นห้องตามตารางเรียนที่สถาบันกวดวิชากำหนด โดยจะมีนักเรียนบางกลุ่มที่ได้เรียนกับผู้สอนโดยตรง เรียกว่าคอร์สสด ซึ่งจะสอนที่สาขาเดียวและครั้งเดียวต่อเทอมสำหรับโรงเรียนกวดวิชาบางแห่งแม้ว่าจะมีสาขาจำนวนมากก็ตาม และในระหว่างที่สอนคอร์สสดนี้ก็จะบันทึกวิดีโอไว้ด้วยเพื่อนำไปฉายวิดีโอให้กับห้องเรียนอื่นๆ ที่เหลือ เรียกว่าคอร์สวิดีโอ ซึ่งนักเรียนในคอร์สดังกล่าวจะมีหนังสือเรียนและเรียนไปตามที่วิดีโอสอน ซึ่งแน่นอนว่าหากไม่เข้าใจตรงไหนนักเรียนก็ต้องข้ามไป เพราะไม่มีครูให้ซักถาม

อย่างไรก็ตาม ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้ว่าจะเรียนคอร์สสดหรือว่าคอร์สวิดีโอ ผ่านการโอนเงินที่ธนาคารเพื่อลงเรียนคอร์สนั้นๆ ซึ่งคอร์สสดจะรับนักเรียนจำกัดจำนวนมาก บางสถาบันผู้ที่ได้เรียนคอร์สสดคือผู้ที่โอนเงินเป็นคนแรกของธนาคารในวันแรกที่เปิดให้ลงทะเบียนเรียน พอถึงคิวคนที่สองของธนาคารโอนเงินคอร์สก็อาจเต็มแล้วก็เป็นได้ ดังนั้น นักเรียนส่วนใหญ่ที่เรียนในโรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้มักจะเรียนกับวิดีโอ ทั้งนี้ ตารางเรียนทั้งคอร์สสดและคอร์สวิดีโอจะกำหนดโดยสถาบันที่สอนเท่านั้น

แต่โรงเรียนกวดวิชาบางแห่งจะมีรูปแบบการเรียนการสอนผ่านคอมพิวเตอร์ด้วย คือ ผู้เรียน 1 คนจะเรียนกับคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ซึ่งรูปแบบการเรียนไม่แตกต่างกับคอร์สวิดีโอ แต่การเรียนกับคอมพิวเตอร์ผู้เรียนสามารถกำหนดเวลาเรียนได้เอง สามารถมาเรียนตาม วัน เวลา ที่ผู้เรียนสะดวก โดยทางสถาบันจะบันทึกจำนวนชั่วโมงเรียนไว้ เมื่อครบชั่วโมงเรียนที่กำหนดก็คือจบคอร์สเรียน

ในปัจจุบัน โรงเรียนกวดวิชาแต่ละแห่งจะมีรูปแบบการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับจำนวนสาขา และจำนวนบุคลากรที่มี โดยโรงเรียนกวดวิชาบางแห่งที่มีสาขาเดียวอาจจะมีการเรียนการสอนโดยบุคคลเท่านั้น โรงเรียนกวดวิชาบางแห่งที่มีหลายสาขาอาจจะมีการเรียนการสอนทั้งที่เรียนกับบุคคลและวิดีโอ แต่โรงเรียนกวดวิชาบางแห่งอาจจะมีครบทั้ง 3 รูปแบบ คือ เรียนกับบุคคล วิดีโอ และคอมพิวเตอร์ เช่น เอนคอนเสปต์ อย่างไรก็ตาม โรงเรียนกวดวิชาบางแห่งมีรูปแบบการเรียนการสอนด้วยคอมพิวเตอร์เท่านั้น เช่น นวศึกษา หรือเจี๋ย ซึ่งเป็นการรวมการสอนของอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในแต่ละวิชามารวมไว้ที่เดียวกัน ดังนั้น หากนักเรียนต้องการที่จะเรียนคอร์สสดก็ต้องไปเรียนกับสถาบันของอาจารย์คนนั้นๆ เช่น ครูลิลลี่

ตัวอย่างรายชื่อกลุ่มสอนพิเศษบนเฟซบุ๊ก
ตัวอย่างรายชื่อกลุ่มสอนพิเศษบนเฟซบุ๊ก

นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการกวดวิชานอกสถาบันด้วย โดยผู้ปกครองจ้างติวเตอร์ไปสอนที่บ้านหรือสถานที่ที่สะดวกอื่นๆ เช่น ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า สำนักงาน โรงเรียน ฯลฯ ซึ่งสามารถกำหนดวัน เวลา และวิชาที่ต้องการเรียนได้เอง ผู้ปกครองจะติดต่อผ่านนายหน้าหาติวเตอร์ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์ ไลน์ เฟซบุ๊ก โดยติวเตอร์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยจะรวมกลุ่มกันเป็นติวเตอร์ของสถาบัน เช่น จุฬาฯ ติวเตอร์ ทียูติวเตอร์ เคยูโฮมติวเตอร์ ฯลฯ และบางครั้งกลุ่มติวเตอร์เหล่านี้ก็รวมตัวกันอีกชั้นหนึ่งในการหางานให้กับติวเตอร์ของตัวเอง เช่น ผู้ปกครอง ติดต่อนายเอเพื่อหาติวเตอร์ นายเอก็อาจให้นายบีและนายซีช่วยหาติวเตอร์ให้ด้วย

สำหรับติวเตอร์เหล่านี้มักไม่ได้จัดตั้งเป็นสถาบันที่มีติวเตอร์ในสังกัดของตัวเองที่แน่นอน แต่จะเปิดรับสมัครติวเตอร์โดยให้ผู้ที่สนใจส่งใบสมัครเพื่อสมัครสมาชิกและเก็บไว้เป็นฐานข้อมูล หลังจากนั้น ทางนายหน้าเหล่านี้จะประกาศงานลงในช่องทางออนไลน์ให้สมาชิกทราบ ซึ่งหากสมาชิกคนใดสนใจก็สามารถจองโดยโอนเงิน “ค่าแนะนำ” ให้กับนายหน้า แล้วทางนายหน้าจะให้เบอร์โทรศัพท์ของผู้ปกครองกลับมาที่สมาชิกเพื่อรับงานสอนตามที่ได้ประกาศไว้

โดยส่วนใหญ่นายหน้าจะคิดค่าแนะนำ โดยคาดการณ์จากรายได้ที่สมาชิกจะได้รับจากการสอน 3 ชั่วโมง เช่น หากติวเตอร์ได้ค่าสอนชั่วโมงละ 250 บาท ค่าแนะนำจะประมาณ 800-1000 บาท เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การเรียนพิเศษโดยจ้างติวเตอร์ไปสอนตามบ้านเช่นนี้ผู้ปกครองจะต้องจ่ายค่าเรียนหลังเลิกเรียนทุกครั้งด้วยเงินสด ซึ่งอัตราค่าเรียนโดยทั่วไปต่อคนประมาณชั่วโมงละ 200 บาทสำหรับชั้นประถมศึกษา และชั่วโมงละ 250 บาทสำหรับชั้นมัธยมศึกษา ทั้งนี้ราคาจะปรับสูงขึ้นได้อีก ในกรณีสอนเด็กพิเศษหรือเรียนเร่งรัด หรือเรียนในวิชาหรือภาษาอื่นๆ ที่ยากมากขึ้น

ตัวอย่างการประกาศงานสอนให้ติวเตอร์
ตัวอย่างการประกาศงานสอนให้ติวเตอร์

ส่วนติวเตอร์ที่รับงานสอนมาแล้วนั้นก็มีหน้าที่ไปสอนตามวิชา วัน เวลา และสถานที่ที่ผู้ปกครองกำหนดไว้ ซึ่งการเรียนการสอนในแต่ละครั้งจะสั้นหรือยาวนั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้เรียน ผู้ปกครอง และรูปแบบวิชา เช่น กรณีกวดวิชาเพื่อสอบเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็จะสอนเพียงไม่กี่ครั้งก่อนไปสอบจริงแล้วจบการสอนไป แต่ในกรณีที่สอนกวดวิชาเพื่อเพิ่มผลการเรียนหรือเพิ่มเกรด ติวเตอร์อาจจะได้งานสอนระยะยาวเป็นปี

ทั้งนี้หากค้นหาคำว่า “สอนพิเศษตามบ้าน” บนกูเกิล พบว่ามีผลการค้นหามากถึง 1.36 ล้านรายการ นั่นอาจเป็นเพราะว่า การสอนพิเศษตามบ้านนั้นสะดวกและตรงตามความต้องการของผู้เรียนและผู้ปกครองมากกว่าการไปเรียนในโรงเรียนกวดวิชา อีกทั้งยังมีความปลอดภัยมากกว่าเนื่องจากสามารถดูแลบุตรหลานได้อย่างใกล้ชิด และติวเตอร์กับผู้เรียนก็สอนกับแบบตัวต่อตัวจึงสามารถซักถามและเกิดความเข้าใจได้ง่ายกว่าการเรียนพร้อมๆ กับคนจำนวนมาก รวมถึงเป็นช่องทางหารายได้พิเศษของนิสิตนักศึกษาที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำอีกด้วย

ตัวอย่างรายชื่อกลุ่มtutorบนเฟซบุ๊ก
ตัวอย่างรายชื่อกลุ่มติวเตอร์บนเฟซบุ๊ก