ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” วินิจฉัยอาการ “คนป่วยซ้ำซ้อน” – ความท้าทายของนโยบายการเงินกับการก้าวข้ามพัฒนาการเศรษฐกิจไทย

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” วินิจฉัยอาการ “คนป่วยซ้ำซ้อน” – ความท้าทายของนโยบายการเงินกับการก้าวข้ามพัฒนาการเศรษฐกิจไทย

13 มีนาคม 2015


เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถา งานสัมมนาวิชาการประจำปี 2558 ธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคเหนือ หัวข้อ”ความท้าทายของนโยบายการเงิน กับการก้าวข้ามพัฒนาการเศรษฐกิจไทย”ว่า

หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกปี 2551 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ ที่ฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เราจึงไม่สามารถเดินหน้าได้เต็มกำลังนัก โชคดีที่เรา “ไม่สะดุดล้ม” ไปเสียก่อน ที่เป็นเช่นนั้นได้เพราะ “ผู้ประกอบการไทยเก่ง” อย่างไรก็ดี ปี 2558 นี้ เป็นปีที่ไทยได้พบกับโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ที่เป็นความหวังให้ไทยเดินหน้าและก้าวข้ามอุปสรรคที่เราเผชิญอยู่ได้ ปาฐกถาในวันนี้ ผมจะขอเล่าถึงสภาพปัจจุบันของเศรษฐกิจไทย หน้าที่และการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. การก้าวข้ามพัฒนาการเศรษฐกิจ และบทบาทของผู้ประกอบการในภาคเหนือ เพื่อให้ทุกท่านได้ทราบทิศทางที่ต้องเดินไปในการขับเคลื่อนประเทศไปด้วยกันอย่างมั่นใจ

Part 1: ปัญหาเศรษฐกิจไทยกับศักยภาพในการดำเนินนโยบายการเงิน

ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับเศรษฐกิจไทยปีหนึ่ง โดยตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่แท้จริง ที่สภาพัฒน์ได้ประกาศไปในเดือนที่ผ่านมา ชี้ว่าเศรษฐกิจเติบโตเพียงร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน เรียกได้ว่าแทบจะไม่เติบโตเลย เนื่องจากไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เข้ามารุมเร้าทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีสภาพเหมือน “คนป่วย” ที่มีอาการซ้ำซ้อนในหลายด้าน ทั้งการบริโภค การลงทุนและการส่งออกที่อ่อนแรง ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายภาครัฐที่ถูกคาดหวังให้เป็นพระเอกในช่วงหลังจากมีรัฐบาลใหม่ ยังไม่สามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจให้กลับมาเป็นปกติได้ สาเหตุหนึ่งอาจมาจากรัฐบาลเองมีบทบาทต่อประเทศหลายด้านพร้อมกัน ทั้งการปฏิรูปประเทศและการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยกระบวนการปฏิรูปฯ ส่วนหนึ่งไปชะลอความรวดเร็วในการใช้จ่ายภาครัฐ

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ถ้าพวกเรามาลองสวมบทบาทเป็น “ผู้วินิจฉัย”อาการที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยให้ละเอียดแล้ว เราจะพบว่าเศรษฐกิจไทยป่วยจากการเผชิญกับโรค 3 ชนิด

โรคแรก คือ ไข้หวัดใหญ่ จากเศรษฐกิจไทยที่ติดโรคมาจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ แถมบางประเทศกลับเริ่มแสดงความเปราะบาง ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้ความจำเป็นในการผ่อนคลายนโยบายการเงินลดลง แต่การฟื้นตัวถือว่ายังไม่แน่นอนและเปราะบางอยู่ กลุ่มประเทศยูโรและญี่ปุ่นยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนและจำเป็นต้องได้รับการผ่อนคลายนโยบายการเงิน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและทิศทางนโยบายการเงินของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันและมีความไม่แน่นอนสูงนี้ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าไทยมีไม่มากและตลาดเงินโลกผันผวน ซึ่งไทยย่อมได้รับผลกระทบอย่างปฏิเสธไม่ได้ อีกทั้งจีน พี่ใหญ่ของภูมิภาคกลับมีการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้มาก นอกจากนี้ ไทยยังสูญเสียสิทธิทางศุลกากร (GSP) กับประเทศคู่ค้าหลักของเราตั้งแต่ต้นปี 2558 ทำให้คู่แข่งที่ยังคงได้ GSP อย่างกลุ่ม CLMV ย่อมได้เปรียบมากกว่าโดยเฉพาะสินค้าที่ใช้แรงงานเป็นปัจจัยการผลิตหลัก ดังนั้น ความหวังที่จะดันให้การส่งออกของไทยก้าวขึ้นมาเป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้เศรษฐกิจอาจมีไม่มากนัก

โรคที่สอง คือ โรคข้อเข่าเสื่อม จนทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าไปด้วยความลำบากหรือแทบไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ จากปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ซึ่งได้แก่การขาดแคลนการลงทุนหรือพัฒนาเทคโนโลยีให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ อาทิ มาเลเซีย เกาหลี ขณะเดียวกัน แรงงานก็มีไม่เพียงพอต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมทั้งในแง่จำนวนและคุณภาพ ซึ่งไทยจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และไม่มีแรงงานทักษะเพียงพอสำหรับการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกต่างประเทศ ซึ่งเป็นข้อเข่าที่พยุงเศรษฐกิจได้มานาน ได้เสื่อมสมรรถภาพลงจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง และทำให้ไทยติด “กับดักรายได้ปานกลาง” (Middle Income Trap)

โรคสุดท้าย คือ โรคขาดความมั่นใจ ที่ซ้ำเติมทำให้โรคข้อเข่าเสื่อมไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง เพราะผู้ประกอบการไม่มั่นใจว่า (1) เปลี่ยนเข่าแล้วจะเดินได้เหมือนเดิม หรือจะยิ่งทำให้อาการแย่ลง (2) วิธีการรักษาจะถูกกับโรคหรือเปล่า และ (3) หมอหรือภาครัฐที่ดูแลเราจะตั้งใจรักษาเราแค่ไหน เศรษฐกิจไทยจึงเหมือนคนไข้ที่มุ่งพยุงสังขารตัวเองไปเรื่อยๆ จึงไม่แปลกที่ทุกท่านจะเห็นการบริโภคและลงทุนของภาคเอกชนอ่อนแรงลงอย่างชัดเจน

ภายใต้โรคที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยทั้ง 3 ชนิดนี้ บทบาทที่ ธปท. สามารถเข้ามาช่วยรักษาได้ คือการใช้เครื่องมือนโยบายการเงิน ซึ่งเปรียบเสมือนการจ่าย “ยารักษาโรค” สู่ระบบเศรษฐกิจ เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดูแลความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และควบคุมเงินทุนไหลเข้าไหลออก ซึ่งช่วยดูแลเสถียรภาพด้านราคาและเสถียรภาพทางการเงินให้เกิดบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมและเอื้อต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน แต่เป็นการให้ยาเพื่อบรรเทาอาการของโรคทั้ง 3 นี้ และสามารถช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับเศรษฐกิจและเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้บางส่วนเท่านั้น การจะรักษาที่ต้นเหตุของโรคนั้น จำเป็นต้องอาศัยบทบาทภาครัฐในการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังเพื่อเรียกความเชื่อมั่นในส่วนที่เหลือกลับมา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการปรับตัวเพื่อพยายามรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยตัวเองอีกแรงหนึ่ง ในเรื่องนี้ รัฐบาลปัจจุบันแสดงความตั้งใจที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน จึงเป็นนิมิตหมายอันดีต่อเศรษฐกิจไทย และผมเชื่อว่า “ไม่มีปัญหาไหนจะอยู่กับเราถาวร” เมื่อวันหนึ่งปัญหาคลี่คลาย ผมก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในที่สุด

ที่สำคัญ การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง หรือที่ผมเปรียบเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมนี้ แม้ ธปท. จะไม่มีตัวยาที่สามารถเข้าไปรักษาและกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจด้านอุปทาน (Supply Side) ในการลงทุนเทคโนโลยีและปรับปรุงคุณภาพแรงงานได้โดยตรง แต่ก็ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่ ธปท. จะต้องพยายามดำเนินนโยบายการเงินเพื่อบรรเทาเศรษฐกิจให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมต่อการฟื้นตัวมากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องเอื้อให้ภาครัฐเข้ามาเป็นผู้รักษาได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ “เวลา” ยังเป็นปัจจัยที่บีบคั้นให้ไทยต้องรีบรับการรักษาให้ทันก่อนที่จะสายเกินไป เพราะจากโครงสร้างประชากรของไทยในปัจจุบัน คาดว่าในอีกไม่เกิน 10 ปี ไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างสมบูรณ์ และจะทำให้ประเทศขาดแคลนทรัพยากรแรงงานมากขึ้น การรักษาอาการป่วยไข้ทางเศรษฐกิจก็จะยากลำบากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งเศรษฐกิจไทยช่วงหลังก็มีอัตราการเติบโตที่ชะลอลงมาก ดังนั้น หากเราไม่รีบรักษาโรคที่เป็นอุปสรรคในการเดินหน้าเศรษฐกิจในตอนนี้ ประเทศอื่นๆ ที่เคยวิ่งตามหลังเรา แต่ปัจจุบันมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่า ก็อาจแซงหน้าเราไปได้ในที่สุด

Part 2: โอกาสการก้าวข้ามพัฒนาการเศรษฐกิจไทย

ปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตไทยนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น และไม่ใช่เป็นความรับผิดชอบของเฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ถือเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ต้องได้รับความสนใจและร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน และทุกฝ่ายที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องรับบทบาทที่แตกต่างกันเพื่อให้เราก้าวเดินต่อไปได้ โดยภาครัฐมีบทบาทในการเข้าไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และพัฒนาแรงงานรวมถึงการศึกษาที่จะเป็นทุนติดตัวให้ภาคเอกชนทำงานได้ง่ายขึ้น อีกทั้งใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม สำหรับ ธปท. มีบทบาทผ่านการใช้นโยบายการเงินในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น ในขณะที่ภาคเอกชนเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะต้องลงทุนและปรับปรุงจุดไหนจึงจะทำให้กิจการของท่านรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนต่อไป นอกจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนแล้ว ไทยยังได้รับโอกาสใหม่ๆ ที่สามารถเข้ามาช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยในการพัฒนาผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันทั้ง 3 ด้าน ได้แก่

โอกาสด้านแรก คือการเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนในภูมิภาค เนื่องจากไทยมีทำเลทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญ ทำให้ไทยสามารถเชื่อมโยงกับฐานตลาด ทรัพยากรและการลงทุนที่ใหญ่ขึ้นในระดับภูมิภาค โดยกลุ่มประเทศ CLMV เป็นกลุ่มประเทศที่มีการค้ากับไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีแนวโน้มเป็นความหวังใหม่สำหรับการส่งออกของไทย ประกอบกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ณ ปลายปี 2558 นี้ จะลดข้อจำกัดทางการค้า และเพิ่มอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศในอาเซียนมีความน่าสนใจในการทำการค้าและการลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ให้ความสำคัญกับการค้าและการลงทุนที่จะช่วยเชื่อมโยงไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การค้าบริเวณชายแดนที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากในแต่ละปี สามารถเคลื่อนย้ายสินค้าและทุนผ่านประตูการค้าชายแดนไปสู่ประเทศอื่นๆ ได้สะดวกมากขึ้น รวมถึงมีโอกาสเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมในการสร้างเครือข่ายการผลิต (Production Network) ที่จะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงทรัพยากร เพื่อลดต้นทุนการผลิตสินค้าได้อีกด้วย

โอกาสด้านที่สอง คือการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการผลักดันจากภาครัฐอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อยกเครื่องให้เศรษฐกิจมีทิศทางในการพัฒนาที่ชัดเจนและมีโครงสร้างที่สอดรับกันมากขึ้น อย่างไรก็ดี

ทุกท่านต้องไม่ลืมว่าการปฏิรูปเป็นกระบวนการซึ่งต้องอาศัยเวลาและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เนื่องจากการปฏิรูปเศรษฐกิจนี้ เปรียบเสมือนการผ่าตัดที่จะรักษาโรคของไทยโดยตรง ทั้งนี้ การผ่าตัดคือกระบวนการที่ต้องเจ็บปวดบ้าง และอาจต้องใช้เวลาในการพักฟื้นระยะหนึ่งก่อนจะกลับมาเดินได้เต็มที่ แต่ก็เพื่อสุขภาพที่ดีของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยการปฏิรูปเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ถนนและรางรถไฟ ซึ่งเป็นช่องทางคมนาคมสำคัญเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนในภูมิภาค

นอกจากนี้ ยังมีแผนการปฏิรูปการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งปัจจุบันรัฐวิสาหกิจถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเนื่องจากเป็นเจ้าของทรัพยากรรายใหญ่ของประเทศ และให้บริการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญ เช่น การผลิตไฟฟ้า น้ำประปา หรือการคมนาคม เป็นต้น ดังนั้น การมีแผนจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสมากขึ้น จะช่วยพัฒนาการบริหารจัดการและผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ให้ภาครัฐไม่ต้องแบกรับผลขาดทุนและสามารถรับรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยสำหรับนำไปจัดสรรทรัพยากรอย่างคุ้มค่า นอกจากนี้ หากภาคเอกชนสามารถเข้ามาแข่งขันกับรัฐวิสาหกิจได้อย่างอิสระ จะส่งผลให้ท้ายที่สุด บริการสาธารณูปโภคก็จะมีคุณภาพสูงขึ้น ขณะที่ค่าบริการถูกลง ทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจของเอกชนลดลงด้วย และสุดท้าย การปรับเกณฑ์สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุน (BOI) ซึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของประเทศ จากเดิมที่เคยพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ตามเกณฑ์พื้นที่ มาสู่การส่งเสริมการลงทุนตามเกณฑ์อุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสในการพัฒนาผลิตภาพของประเทศในระยะยาว

โอกาสด้านที่สาม คือการพัฒนาภาคการเงิน เป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของ ธปท. ซึ่งเน้นการพัฒนาการให้บริการทางการเงินและระบบชำระเงินให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการทำธุรกรรมในปริมาณมากขึ้น มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายและตอบโจทย์ภาคเอกชนได้มากขึ้น และมีความทั่วถึงในการให้บริการทางการเงิน นอกจากนี้ การทำข้อตกลงการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศคู่ค้า เช่น การลงนามข้อตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราแบบทวิภาคี (Bilateral Swap Agreement) จะส่งเสริมให้ผู้ทำการค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านสามารถแลกเปลี่ยนเงินตราได้อย่างสะดวกและสามารถลดต้นทุนการทำธุรกิจได้ ดังนั้น การมีระบบบริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้การดำเนินธุรกิจของเอกชนมีความคล่องตัว และเป็นตัวเร่งให้ประเทศสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

วันที่ 22 มกราคม 2557 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท. ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมกนง.
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท.

โอกาสทั้งสามด้านนี้ อาจเป็นเพียงแค่ “โอกาส” ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา แต่ถ้าเราไม่มีความพร้อม เราจะฉวยโอกาสนี้ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก โดยความพร้อมของธุรกิจเกิดจากการปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อมุ่งพัฒนาผลิตภาพ (Productivity) และความสามารถในการแข่งขัน ให้ทันกับรูปแบบธุรกิจที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศ ที่มีความท้าทายและมีระดับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจเพื่อนบ้านที่กำลังเติบโต อาทิ ประเทศกลุ่ม CLMV มีความสามารถในการแข่งขันดีกว่าไทยในแง่ความได้เปรียบด้านค่าแรงมากกว่า และยังได้รับสิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) ในสินค้าส่งออก ฉะนั้น แนวโน้มการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะย้ายไปอยู่ในประเทศเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งระดับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นนี้กดดันให้การแข่งขันด้านราคา ซึ่งเป็นกลยุทธ์เดิมของไทยในการผลิตสินค้าปริมาณมากๆ ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ดังนั้นภาคเอกชนจะต้องเน้นการแข่งขันด้วยคุณภาพของสินค้ามากขึ้น เช่น การใช้นวัตกรรม ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับสินค้า หรือการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น และจากแนวโน้มโครงสร้างประชากรที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) จะทำให้อุตสาหกรรมไม่สามารถพึ่งพาแรงงานเป็นหลักได้อีก ภาคเอกชนจำเป็นต้องฝึกฝนทักษะแรงงานที่มีอยู่ ให้สามารถรองรับการผลิตสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

Part 3: ปัจจัยสู่ความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจในบริบทของภาคเหนือ

หากเราเปรียบเทียบประเทศไทยทั้งประเทศเป็นร่างกายคนแล้ว ภูมิภาคต่างๆ ในประเทศ คงเปรียบเสมือนแขนขา ที่เป็นอวัยวะในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าซึ่งสำคัญไม่น้อยกว่าส่วนอื่นๆ ในร่างกาย ดังนั้น ผมคิดว่าความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภูมิภาค คือองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างง่ายดาย เมื่อเราพิจารณาภาคเหนือ แม้จะมีขนาดของเศรษฐกิจไม่ใหญ่นัก แต่เป็นภูมิภาคที่มีความแข็งแกร่งในหลายมิติ ได้แก่ โครงสร้างเศรษฐกิจที่กระจายตัวดี ทั้งด้านเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว จึงสามารถทนทานต่อความผันผวนจากเหตุการณ์ปัจจัยภายนอกที่กระทบต่อประเทศได้มาก และทุนทางเศรษฐกิจดี สภาพภูมิประเทศและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น รวมถึงแรงงานที่มีคุณภาพ ที่สำคัญคือการมีโอกาสทางเศรษฐกิจดี จากการมีชายแดนติดประเทศเมียนมาร์ และลาว รวมถึง การเป็นประตูสู่จีนตอนใต้ จึงได้รับโอกาสทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการค้าชายแดน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จากภาครัฐ ให้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อสอดรับกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศได้ และสุดท้าย คือการที่ภาครัฐได้เข้ามาจัดเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจภาคเหนือเติบโตได้เต็มศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นการขยายเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) และระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) รวมถึงขยายถนนในเส้นทาง ตาก-แม่สอด และเตรียมผลักดันสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์ แห่งที่ 2 โดยจะทำให้การขนส่งสินค้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจในเมียนมาร์มีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การพัฒนาภาคการเงินของไทยจะทำให้ภาคเหนือได้ประโยชน์มากเมื่อเทียบกับภาคอื่น เนื่องจากบทบาทการค้าและการลงทุนของภาคเหนือกับจีนที่เร่งตัวขึ้น การที่ ธปท. ได้ทำข้อตกลงทวิภาคีว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลหยวนและบาท (Chinese Yuan / Thai Baht Bilateral Swap Arrangements) กับจีน และยังได้ผลักดันให้มีการจัดทำความเข้าใจว่าด้วยการแต่งตั้งธนาคารชำระดุลเงินหยวนในประเทศไทย (RMB Clearing Bank) เพื่อเป็นกลไกรองรับสภาพคล่องและสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคเอกชนในการใช้เงินสกุลหยวนและบาทในการค้าการลงทุนระหว่างกัน เป็นการช่วยลดต้นทุนและเอื้อต่อการทำการค้าระหว่างนักธุรกิจภาคเหนือและนักธุรกิจจีนได้มากขึ้น

จากลักษณะพิเศษของเศรษฐกิจและความพร้อมในด้านโอกาส ผมจึงมั่นใจว่าภาคเหนือมีศักยภาพเป็นแขนขาหนึ่งที่แข็งแรงพอที่จะช่วยให้เศรษฐกิจก้าวต่อไปได้ แต่จะก้าวไปได้เร็วเพียงใดขึ้นกับทุกท่านในที่นี้ว่า เตรียมพร้อมเพียงใดที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้า ผ่านการตีโจทย์ของแต่ละอุตสาหกรรมให้แตก ทั้งในเรื่องการตลาด รสนิยม และความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต นี่คือหัวข้อวิจัยที่สำคัญที่สุด ที่ต้องอาศัย “ประสบการณ์ของทุกท่าน” ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการขนส่ง ผ่านการปรับปรุงเทคโนโลยีและนำระบบ Logistic ที่ทันสมัยมาใช้ รวมถึงสิ่งที่ภาครัฐพยายามผลักดันเพื่อลดต้นทุนด้านธุรกรรมและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ คือ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการประยุกต์ใช้ “Digital Technology” หรือ “Application” ต่างๆ ในกิจการให้มากขึ้น เพราะโลกทุกวันนี้ขับเคลื่อนด้วย Smart Phone และมีแต่จะพึ่งพิงเทคโนโลยีนี้มากขึ้นเป็นลำดับ เราคงปฏิเสธข้อเท็จจริงนี้ไม่ได้

ที่ผ่านมา ธปท. ได้จัดโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจกับผู้ประกอบการในภาคเหนือ ทำให้เราได้เห็นศักยภาพและการเตรียมพร้อมของผู้ประกอบการของภาคเหนือในการพัฒนาธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเน้นการออกแบบสินค้ารูปแบบใหม่ๆ การประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และการปรับกระบวนการผลิตให้สอดรับกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

ผมขอยกตัวอย่างบางอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญและมีศักยภาพสูงในเศรษฐกิจภาคเหนือ เช่น

อุตสาหกรรมอาหาร ภาคเหนือมีวัตถุดิบเกษตรที่มีคุณภาพสูง และมีปริมาณมากสำหรับผลิตอาหารแปรรูปที่มีความหลากหลายและเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ข้าวโพดหวาน ผักผลไม้อบแห้ง ถั่วแระญี่ปุ่น ซอสปรุงรส และผลิตภัณฑ์ปรุงรส แต่หากเราผลิตสินค้าอาหารแปรรูปโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาดูแล ตั้งแต่การเพาะปลูกพืชวัตถุดิบ โดยใช้เทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกับดาวเทียมเพื่อกำหนดพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงและคุณภาพดี มีกระบวนการ Logistic

ที่ทันสมัยในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเป็นวัตถุดิบต้นน้ำ เข้าสู่โรงงานจนผลิตเป็นอาหารสำเร็จรูปปลายน้ำออกสู่ตลาด มี Packaging ที่ทำให้สินค้าดูทันสมัย สะดวกต่อการพกพาของผู้บริโภค โดยอาหารแปรรูปนั้นยังคงความอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการอาหารอยู่ครบ แม้จะเก็บไว้นาน กระบวนการผลิตที่กล่าวมานี้ แม้จะลงทุนสูงอยู่บ้างในครั้งแรกเริ่ม แต่เมื่อผลิตเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจำนวนมากได้แล้ว การกำหนดราคาขายสินค้านั้นให้สูง ยังดูเหมาะสมและคุ้มค่าในสายตาของผู้บริโภค ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าได้เป็นอย่างดี โดยมีการดำเนินงานพื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมอาหารภาคเหนือ (Northern Food Valley) เพื่อประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าและคุณภาพให้กับอาหารมากขึ้น

อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของภาคเหนือมีจุดเด่นในเรื่องแรงงานที่มีทักษะ มีความละเอียดอ่อน และมีขีดความสามารถสูงในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จนเป็นที่ยอมรับของบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ขณะเดียวกัน โดยสภาพภูมิอากาศของภาคเหนือที่เหมาะกับอุตสาหกรรมนี้ คือความชื้นไม่สูงและไม่มีความเค็ม ต่างจากสภาพภูมิอากาศในแถบนิคมอุตสาหกรรมของ Eastern Seaboard หากได้มีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งใช้เทคโนโลยี Know-how ในระดับที่สูงขึ้น จะทำให้อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของภาคเหนือ สามารถยกระดับไปสู่การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชนิดใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้ไม่ยาก ซึ่งเป็นการก้าวข้ามการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แบบเดิมๆ

อีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งภาคเหนือมีความได้เปรียบจากการมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามจำนวนมาก ทั้งทางธรรมชาติและเชิงวัฒนธรรม บวกกับสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการท่องเที่ยว อีกทั้งคนภาคเหนือมีจิตใจที่ให้บริการ (Service mind) หากมีการพัฒนาด้านการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับไปสู่การท่องเที่ยวที่ดี มีคุณภาพและยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งส่วนหนึ่งสามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยได้ โดยเฉพาะด้านการตลาดเชิงรุก ทั้ง Digital Technology และ Social media เพื่อยกระดับการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวในทุกขั้นตอนได้ ตั้งแต่การจองพาหนะเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และทันสมัยในทุกเรื่องอย่างรวดเร็ว รวมทั้งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในยุคของ digital economy ที่ข้อมูลต่างๆ ถูกบรรจุอยู่ในโลก internet และฐานข้อมูล cloud computing นั้น เราสามารถมองไปไกลถึงการใช้เครื่องมือจัดการกับ Big Data เหล่านี้ เพื่อสกัดให้ได้ข้อมูลที่สะท้อนความชอบของนักท่องเที่ยวแต่ละประเภทและงบประมาณการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพื่อนำมาวิเคราะห์การตลาดและกลยุทธ์ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยได้ นอกจากนี้ ควรมีการวางแผนพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว ที่เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว ที่เป็นจุดเด่นของแต่ละจังหวัดในภาคเหนือ ทำเป็น package ทางเลือกให้นักท่องเที่ยวได้เลือกตามความต้องการที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวตลอดทั้งปีซึ่งเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการท่องเที่ยวภาคเหนือวิธีหนึ่ง

แม้อุตสาหกรรมของภาคเหนือมีศักยภาพสูงและช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้ก็ตาม แต่เราจะหยุดที่ “ผลิตเก่ง” อย่างเดียวคงไม่ได้ เราต้องการ “ขายเก่ง” ด้วย การประยุกต์เทคโนโลยีที่ช่วยให้ผลิตภัณฑ์ของเราเข้าถึงผู้บริโภคจึงเป็นความท้าทายสำคัญ เมื่อเรายกระดับจาก “ผู้ผลิตเก่ง” ไปสู่ “นักการตลาดชั้นยอด” ผมเชื่อว่า การพัฒนาเศรษฐกิจไทยไปสู่เป้าหมายที่หวังไว้ก็ “ไม่ไกลเกินเอื้อม”

ทุกท่านคงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะเดินหน้ายกเครื่องเศรษฐกิจร่วมกัน ก่อนที่ประเทศที่พัฒนาทีหลังจะมาตีขนาบและแซงหน้าเราไปในที่สุด ซึ่งในฐานะที่ทุกท่านเป็นแขนขาหลักของเศรษฐกิจ จึงต้องมีบทบาทสำคัญและต้องลงแรงมากกว่าภาคส่วนอื่นๆ แต่ทุกท่านต้องไม่ลืมว่าทั้งภาครัฐและ ธปท. จะไม่ทอดทิ้งภาคเอกชนให้โดดเดี่ยวอย่างแน่นอน และจะคอยดำเนินนโยบายสนับสนุนให้เศรษฐกิจดำเนินไปอย่างราบรื่น เพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายในการก้าวข้ามพัฒนาการเศรษฐกิจไทยร่วมกัน