ThaiPublica > เกาะกระแส > พล.อ. ประยุทธ์ สั่งลดขั้นตอนเบิกจ่ายงบฯ – รธน. ไม่ผ่านอยู่ไม่ได้ – สั่งขรก. ซี10 นั่งเครื่องบินชั้นประหยัด

พล.อ. ประยุทธ์ สั่งลดขั้นตอนเบิกจ่ายงบฯ – รธน. ไม่ผ่านอยู่ไม่ได้ – สั่งขรก. ซี10 นั่งเครื่องบินชั้นประหยัด

3 มีนาคม 2015


เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการขับเคลื่อนงบประมาณของรัฐบาล ว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องของระเบียบวิธีการ ไม่ใช่ความบกพร่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของใครแต่อย่างใด

สำหรับในปี 2558 การจัดสรรงบประมาณแตกต่างไปจากปีที่ผ่านๆ มา โดยรัฐบาลมุ่งเน้นให้งบประมาณกระจายไปสู่ทุกพื้นที่ มีโครงการต่างๆ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เม็ดเงินที่ใช้ในการดำเนินการเพิ่มขึ้น

“เมื่อกระจายโครงการลงไปแล้ว ก็มีปัญหาเกี่ยวกับผู้ประกอบการ เนื่องจากเป็นโครงการก่อสร้างที่ใช้งบประมาณไม่มาก โครงการละประมาณ 5-10 ล้านบาท ทำให้หาผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนยาก ตอนนี้ก็กำลังขับเคลื่อนอยู่ หาผู้ประกอบการและหาทางบูรณาการโครงการต่างๆ ให้มารวมกัน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการ”

โดยงบประมาณเฉลี่ยที่กระจายลงไปในแต่ละพื้นที่นั้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการจัดสรรงบประมาณลงไปมากที่สุด ลำดับถัดมาคือภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นที่ความเดือดร้อน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณต่างๆ นั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองแต่อย่างใด ซึ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการเกษตรเป็นสำคัญ

เมื่อเทียบการจัดสรรงบประมาณในปี 2558 กับย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2555–2557 แล้วงบประมาณในปีนี้มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาอยู่ที่การระดับปฎิบัติการ ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้าไปดูแลปัญหาในการจัดหาเอกชนที่จะเข้ามารับผิดชอบโครงการ เพื่อให้เกิดความทั่วถึงสู่พี่น้องประชาชน รวมทั้งเร่งดำเนินการเรื่องน้ำ ทั้งน้ำที่ใช้อุปโภค/บริโภค ประปา ตลอดจนการดูแลพืชไร่ พืชสวน ของพี่น้องเกษตรกร

ภาพจาก: http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/030315_tro/030315tro-54879.html#joomimg
ภาพจาก: http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/030315_tro/030315tro-54879.html#joomimg

ลดขั้นตอนการเบิกจ่าย-จัดซื้อจัดจ้าง

นอกจากนี้ ได้สั่งการเรื่องขั้นตอนการเบิกจ่ายและขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยการแก้ปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณนั้นไม่ได้เป็นการลดขั้นตอนในการดำเนินงาน แต่เป็นการย่นกรอบระยะเวลาการดำเนินการลง กรณีไหนที่มอบหมายลงไปในระดับล่างได้ก็ต้องหาคนรับผิดชอบ จากเดิมใช้เวลา 45 วัน ก็กำหนดให้ต้องเร่งดำเนินการภายใน 25 วัน

“คำว่าลดขั้นตอนนั้นไม่ได้เป็นการเปิดช่องให้มีการทุจริต แต่เพื่อเร่งให้การดำเนินการเร็วขึ้น เพราะฉะนั้น วันนี้เป็นวาระพิเศษที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ หากใช้ระบบปกติทั้งหมดก็จะไปไม่ได้ วันนี้ก็มีการหารือกันทั้งสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และ ครม. ก็จะออกมาเป็นมติและมีคำสั่งลงไป ซึ่งก็ต้องหาผู้รับผิดชอบให้ได้ โดยวันนี้ผู้รับผิดชอบหลักก็คือผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะต้องมีการปรับเรื่องราคากลางหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ผ่านมาราคากลางก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีการเข้าไปเจรจากับเอกชนในการขอปรับลดวงเงิน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากค่าน้ำมันที่ปรับตัวลดลง

พร้อมกล่าวต่อว่า วันนี้ตนได้สั่งการเพิ่มในเรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับมหภาคและจุลภาค หรือเศรษฐกิจในประเทศ โดยให้กระทรวงมหาดไทยดูแลเรื่องตลาดชุมชนที่มีอยู่ประมาณ 2,000 กว่าแห่ง ซึ่งที่ผ่านมาสร้างมูลค่าในการค้าขายได้ประมาณ 800 ล้านบาท

“ต่อไปจะสั่งการต่อไปในเรื่องของการท่องเที่ยว วันนี้ก็อนุมัติหลักการในเรื่องของการทำถนน ก่อสร้างเส้นทางเพิ่มเติม พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มีการอนุมัติหลักการในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อสร้างถนน-เส้นทางเพิ่มเติม เพื่อเร่งดำเนินการในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในระยะที่ 1 ให้ได้ภายในสิ้นปีนี้”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอให้มั่นใจการทำงานของรัฐบาล ซึ่งอันดับแรกคือการลดความเหลื่อมล้ำ แม้จะไม่สามารถทำให้เกิดความเท่าเทียมกันได้ทั้งหมด แต่งบประมาณส่วนใหญ่ต้องกระจายให้ถึงระดับรากหญ้า อีกหนึ่งเรื่องคือเรื่องการจัดระเบียบในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยตนได้เสนอให้มีการจัดทำแพที่ใช้สำหรับการค้าขายทางน้ำขึ้น จากที่พื้นที่บนบกไม่เอื้ออำนวย ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวเป็นการกระตุ้นเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำ รวมถึงการท่องเที่ยว

“อยากให้มีการสัญจรทางน้ำเพิ่มขึ้นในกรุงเทพฯ ในการลดปัญหาการจราจร สร้างอาชีพเรือจ้าง เรือพาย ซึ่งอาจพัฒนาให้เหมือนกับเรือกอนโดลา (Gondola ) ล่องตามลำคลองดังเช่นในเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี และในอนาคตอาจจะมีการสร้างเส้นทางทับคลอง แต่ไม่ใช่การถมคลอง แต่เป็นลักษณะการสัญจรทางน้ำและบนบกที่สามารถเดินทางได้ไปด้วยกันได้”

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงผลการดำเนินงานของแต่ละกระทรวงว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการปรับปรุงเรื่องการประชาสัมพันธ์ของกระทรวงแต่ละกระทรวงใหม่ โดยให้แต่ละหน่วยงานนำข้อมูลที่ประชาชนต้องเรียนรู้เผยแพร่ทางเว็บไซต์ หรือมีการจัดทำแอปพลิเคชันเฉพาะของแต่ละกระทรวง โดยได้ยกตัวอย่างของกระทรวงคมนาคมที่จัดทำระบบร้องเรียนปัญหาการใช้บริการแท็กซี่ให้กับประชาชน

สำหรับประเด็นการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้ผ่านการพิจารณาไปหลายหมวดแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากการปฏิรูปต้องเป็นการยกเครื่องใหม่ทั้งหมด แต่ทุกวันนี้การบริหารราชการแผ่นดินยังคงใช้รูปแบบเดิม เพียงแต่ว่ามีการใช้วิธีทางทหารเข้าไป แต่พยายามที่จะไม่ใช้อำนาจพิเศษ ซึ่งรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นตัวประสานให้เกิดความต่อเนื่อง ที่ผ่านมาในส่วนของการเลือกตั้งยังไม่ได้ข้อยุติ ยังคงต้องมีการหารือกันต่อไป

“ยืนยันว่าวันนี้สิ่งที่ประชาชนต้องการผมยังไม่ได้กำหนดอะไรเข้าไปเลย นั่นเป็นเรื่องที่ทางสภาปฏิรูป (สปช.) คิดแนวทางแก้ไขขึ้นมาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ผมก็บอกว่าจะเดี๋ยวต้องดูอีกครั้ง เพราะหากคิดในมุมเดียวก็จะถูกมองอีกอย่างหรือเปล่า แต่ไม่มีอะไรที่จะสามารถเป็นประชาธิปไตยได้ 100% ต้องมองให้ทั่วถึง”

สำหรับประเด็นการกำหนดที่มาของนายกฯ ไว้เป็นกรณีพิเศษในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในระบบปกติก็ใช้การเลือกตั้ง แต่หากมีปัญหาเกิดขึ้นดังเช่นที่ผ่านมาจึงจะเป็นการสรรหาบุคคลจากภายนอกเข้ามาดำรงตำแหน่ง หรือกล่าวได้ว่าเป็นการนำคนนอกเข้ามา “ขัดตาทัพ” เพื่อแก้ไขปัญหาชั่วคราว ตามมาตรา 7

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ในการสร้างความเข้าใจกับประชาชน หากพูดทุกวันก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้นทุกวัน การดำเนินการของ สปช. ไม่มีอำนาจในการสั่งการรัฐบาลแต่อย่างใด ยังคงต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาล และผ่านขั้นตอนต่างๆ อีกหลายขั้น

อย่างไรก็ตาม ตนหวังว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นที่ยอมรับของประชาชน เพราะหากสุดท้ายรัฐธรรมนูญไม่เป็นที่ยอมรับ ก็เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่ตนเพียงคนเดียว และเห็นว่าวันนี้ควรเลิกการนำเรื่องการเมืองมาสู้กับกระบวนการยุติธรรม หรือดึงประชาชนมาแบ่งฝ่าย วันนี้จะต้องไม่มีสี คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ไม่ใช่ค้านทุกเรื่อง พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ต้องการปูทางให้ใคร

“ถ้าเลือกตั้ง ผมก็ส่งอำนาจไปหมดแล้ว กลับบ้านพักผ่อน และถ้าทะเลาะกันอีก ใครจะแก้ให้ท่าน ไม่มีแล้ว ถ้าเช่นนั้นไปถามตัวเองให้ได้ก่อนว่า ถ้าอนาคตอยากมีการเลือกตั้ง แล้วตีกันอีก และไม่อยากเลือกตั้ง จะทำอย่างไร อันนี้ผมไม่รู้ แต่ผมไม่ได้เตรียมให้ใคร ให้คนนั้นคนนี้ขึ้น ไม่ได้อยากสักคนเลย เดี๋ยวหาว่าอยากเข้ามา แล้วตีกันทำไมล่ะ ถ้าไม่ตีกัน ใครจะเข้ามา”

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีตอบคำถามสื่อมวลชนถึงกรณีการปรับคณะรัฐมนตรีว่า ยังไม่มีคำสั่งในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด แต่ได้ให้กำลังใจแก่รัฐมนตรีทุกท่าน อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรียืนยันว่าไม่ “ปิดตาย” ในเรื่องนี้ หากมีความจำเป็นก็ต้องทำ

030358_natta_20150303_1674331595

ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร.อ. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกันแถลงโดยมีสาระสำคัญดังนี้

เบิกงบคืบ 42.6% วงเงิน 1,095,709 ล้านบาท

สำนักงบประมาณได้ชี้แจงต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เรื่อง การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 เบิกจ่ายแล้ว 1,095,709 ล้านบาท ร้อยละ 42.6 (ของงบประมาณ 2,575,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 จำนวน 76,259 ล้านบาท สำหรับรายจ่ายลงทุน 449,476 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 80,538 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.9

นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเพิ่มเติมให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงลงไปเร่งรัดในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะโครงการขนาดเล็ก-ขนาดกลาง ตั้งแต่งบประมาณ 5-10 ล้านบาท ผู้ประกอบการอาจจะเห็นว่าโครงการเล็กไม่เป็นที่น่าสนใจมากนัก โดยร่วมมือกับองค์กรส่วนท้องถิ่นเพื่อการ กระจายข่าวสารการจัดซื้อจัดจ้าง

ทั้งนี้เป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณและเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล มีการเบิกจ่ายที่ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 47.4% แต่เบิกจ่ายได้ 42.6% จึงเสนอให้มีมาตรการที่รัฐมนตรีเจ้าสังกัดจะต้องกำกับดูแลให้หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นๆ ของรัฐและผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งดำเนินงานการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายโดยปรับลดระยะเวลาการดำเนินงานในขั้นตอนงบประมาณต่างๆ ได้แก่

1. การปรับปรุงการดำเนินงานตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ 2548 เช่น เร่งรัดให้ส่วนราชการจัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยงานภูมิภาค ให้อำนาจหัวหน้าส่วนราชการ/ผู้ว่าราชการจังหวัด เปลี่ยนแปลงสถานที่ดำเนินการ ค่าที่ดินหรือสิ่งก่อสร้าง และให้อำนาจโอนงบประมาณไปสมทบได้ไม่เกิน 20% ของงบประมาณทั้งหมด รวมสามารถลดระยะเวลาในการเบิกจ่ายได้ประมาณ 42 วันทำการ

2. การปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินการตามระเบียบการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2534 เช่น ให้สำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสมของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างหลังจากที่ ครม. มีการเห็นชอบโดยไม่ต้องการตรวจสอบความเหมาะสมของราคากลาง ให้ส่วนราชการเปลี่ยนแปลงสถานที่ดำเนินงานก่อสร้างที่ไม่ใช่สาระสำคัญได้โดยไม่ต้องขออนุมัติสำนักงบประมาณ เป็นต้น รวมสามารถลดระยะเวลาในการเบิกจ่ายได้ประมาณ 40 วันทำการ

3. การปรับปรุงการปฏิบัติราชการและหลักเกณฑ์การปฏิบัติตามระเบียบของสำนักงบประมาณ ได้แก่

  • การพิจารณาเรื่องเสนอความคิดเห็นต่อ ครม./นายกรัฐมนตรี/สมาชิกรัฐสภาฯ ให้ลดระยะเวลาจาก 5 วันทำการ เป็น 3 วันทำการ ลดระยะเวลาได้ 2 วันทำการ
  • การตอบข้อหารือทั่วไปของส่วนราชการ ให้ลดระยะเวลาจาก 5 วันทำการ เหลือ 3 วันทำการ ลดระยะเวลาได้ 2 วันทำการ
  • การพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ให้ลดระยะเวลาจาก 5 วันทำการ เป็น 3 วันทำการ ลดระยะเวลาได้ 2 วันทำการ
  • การพิจารณาให้ความเห็นชอบอนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลางให้ลดระยะเวลาจาก 5 วันทำการ เป็น 3 วันทำการ
  • การพิจารณาอนุมัติเพิ่มค่างานตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า k) ให้ลดระยะเวลาจาก 14 วันทำการ เป็น 7 วันทำการ ลดระยะเวลาได้ 7 วันทำการ
  • การพิจารณาความเหมาะสมของราคารายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ ให้ลดระยะเวลาจาก 8 วันทำการเป็น 5 วันทำการ ลดระยะเวลาได้ 3 วันทำการ
  • การพิจารณาอนุมัติโอนเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณ ให้ลดระยะเวลาจาก 8 วันทำการเป็น 5 วันทำการ ลดระยะเวลาได้ 3 วันทำการ
  • การจัดสรรงบประมาณตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ให้ลดระยะเวลาจาก 3 วันทำการ เป็น 1 วันทำการ ลดระยะเวลาได้ 2 วันทำการ

รวมสามารถลดระยะเวลาในการเบิกจ่ายได้ประมาณ 23 วันทำการ ทั้งนี้ สำนักงบประมาณจะมีการส่งหนังสือเวียนเพื่อแจ้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบและถือปฏิบัติต่อไปหลังจากที่ ครม. เห็นชอบแล้ว

ต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินกับผู้ประกอบการรายเดิม

ให้กระทรวงคมนาคมการศึกษาทบทวนโดยนำรูปแบบการลงทุนรัฐร่วมเอกชน (พีพีพี) แบบเน็ตครอส คือการให้เอกชนลงทุนในระบบรถไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณ ส่วนรัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มาเป็นแนวทางการลงทุนในลำดับแรกก่อนในการเจรจาตรงกับผู้ประกอบการรายเดิมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง–บางแค และช่วงบางซื่อ–ท่าพระ ให้เกิดความต่อเนื่องในการเดินรถ โดยรวมการเจรจาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน–บางซื่อ (สัญญาที่ 5) ด้วย

อนุมัติ พ.ร.บ.กองทุนการออม รองรับสังคมสูงอายุ

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ อนุมัติหลักการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินการของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยสาระสําคัญของร่างพระราชบัญญัติ ร่างพระราชกฤษฎีกา ร่างกฎกระทรวง และร่างประกาศพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ กําหนดให้ กอช. รับโอนผู้ประกันตนและเงินของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 กรณีบํานาญชราภาพทั้งหมดที่แสดงความจํานงเป็นสมาชิกของ กอช. โดยให้ผู้ที่มีอายุ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปมีสิทธิเป็นสมาชิกต่อไปได้อีก 10 ปี นับแต่วันที่เป็นสมาชิก เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ที่ให้ผู้ที่มีอายุมากที่สมัครในช่วงปีแรก ได้มีระยะเวลาในการออมมากขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลจะไม่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสําหรับเงินสะสมที่โอนมาดังกล่าว เนื่องจากได้รับเงินสมทบจากกองทุนประกันสังคมแล้ว

สํานักงานประกันสังคมจะโอนผู้ประกันตนและเงินของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 กรณีบํานาญชราภาพ ทั้งหมดที่ประสงค์จะเป็นสมาชิก กอช. มาที่ กอช. ซึ่งรวมถึงผู้ประกันตนที่อายุเกิน 60 ปีด้วย ส่วนผู้ประกันตนที่ไม่ประสงค์จะเป็นสมาชิก กอช. จะได้รับเงินที่ผู้ประกันตนส่งเข้ากองทุนเงินสมทบจากรัฐและดอกผลคืนทั้งจํานวน

นอกจากนี้ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กําหนดให้กองทุนจ่ายเงินชดเชยจากบัญชีเงินกองกลางให้แก่สมาชิก ในกรณีที่สมาชิกได้รับผลประโยชน์จากเงินสะสมและเงินสมทบ ตั้งแต่วันที่เริ่มเป็นสมาชิกจนถึงวันที่สิ้นสมาชิกน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจําประเภท 12 เดือน โดยเฉลี่ยของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ 5 แห่ง เพื่อให้สมาชิกได้รับผลตอบแทนเท่ากับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว

สั่งซี10 นั่งเครื่องชั้นประหยัด

นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเกี่ยวกับเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยกำหนดแนวทางให้กับคณะรัฐมนตรีว่า ขณะนี้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตถือเป็นวาระแห่งชาติ และมีคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ จึงเน้นย้ำให้รัฐมนตรีทุกกระทรวง ทบวง กรม ตลอดจนหน่วยงานราชการ ได้กำชับตรวจสอบดูแลหน่วยงานของตนเอง ไม่ว่าในเชิงของการป้องกัน การปราบปราม หรือการปลุกจิตสำนึก เพราะถือว่าส่วนราชการเป็นต้นแบบของการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จะต้องดูแลเรื่องนี้ให้ชัดเจนและรอบคอบ สืบเจตนารมณ์ของรัฐบาลให้ได้

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงเรื่องการเดินทางไปศึกษาดูงานในต่างประเทศว่า กิจกรรมใดที่มีความจำเป็นน้อยก็ปรับลดให้เกิดความเหมาะสม แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีการศึกษาดูงานในต่างประเทศก็ขอให้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะสามารถเชิญวิทยากรมาบรรยายในประเทศได้หรือไม่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง พร้อมทั้งได้ให้ข้อเสนอแนะถึงระดับผู้บริหารที่จะเดินทางโดยเครื่องบินเพื่อไปประชุมในประเทศและต่างประเทศ เช่น อธิบดี ก็ขอให้เดินทางในชั้นประหยัด ส่วนกรณีที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศให้พิจารณาตามความเหมาะสม ขณะที่ระดับรองอธิบดีลงมาก็ให้เดินทางในชั้นประหยัด รวมทั้งได้มอบหมายให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ซึ่งมี พล.ท. อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธาน ดำเนินการตรวจสอบองค์กรมหาชนทุกองค์กร เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการเรื่องงบประมาณและขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรทัดฐานในการปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและเชื่อถือต่อการดำเนินงานบนพื้นฐานของความโปรงใส

ปรับแผนพีอาร์รัฐบาลใหม่

นอกจากนี้ได้กล่าวถึงข้อมูลการประชาสัมพันธ์ โดยได้กำชับคณะรัฐมนตรีและส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานประชาสัมพันธ์ทุกภาคส่วนว่ารัฐบาลได้มีการปฏิบัติภารกิจและดำเนินงานไปแล้วค่อนข้างมาก แต่การสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่และภูมิภาคยังเป็นไปไม่ครบถ้วน เพราะฉะนั้นทุกส่วนทั้งประชาสัมพันธ์ในส่วนกลางของรัฐบาลหรืองานประชาสัมพันธ์ของกระทรวง ทบวง กรม จะต้องช่วยกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลการดำเนินงานและภารกิจของรัฐบาลผ่านช่องทางต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น การเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์หรือเอกสารที่เป็นของรัฐบาล เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ว่าปัญหาในบางเรื่องหรือบางกรณีที่ประชาชนเรียกร้องมานั้น รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขมีความคืบหน้าไปมากน้อยเพียงใดและอยู่ที่ขั้นตอนใด สามารถตรวจสอบได้อย่างไร เป็นต้น

สั่งทำแอปฯ ให้ประชาชนเช็คราคาสินค้า

นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ไปพิจารณารายละเอียดในการนำข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานต่างๆ ของรัฐบาลและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น ราคาพืชผลทางการเกษตร ราคาอาหาร ข้าว ผลไม้ เนื้อสัตว์แต่ละชนิด ฯลฯ มาไว้ในแอปพลิเคชันในโทรศัพท์ เพื่อประชาชนและสื่อมวลชนจะได้ช่วยกันดูแลอีกทางหนึ่ง หากมีผู้ประกอบการหรือผู้จำหน่ายสิ้นค้ารายใดจำหน่ายสิ้นค้าเกินราคาก็สามารถแจ้งมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป

นอกจากนั้นได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งว่ารัฐบาลได้มีการจัดลำดับความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้แล้ว เช่น ลำดับความเร่งด่วนที่ 1 ให้ความสำคัญกับน้ำอุปโภคบริโภค ลำดับที่ 2 คือการเก็บกักน้ำไว้สำหรับผลักดันน้ำเค็มในระบบคูคลอง และแม่น้ำต่างๆ ลำดับที่ 3 คือ น้ำเพื่อการเกษตร อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า สถานการณ์ภัยแล้งดังกล่าวไม่สามารถที่จะคาดการณ์ในอนาคตได้ ดังนั้นจึงให้เพิ่มมาตรการเรื่องปันส่วนแหล่งน้ำ โดยหน่วยราชการในพื้นที่จะต้องไปจัดลำดับความเร่งด่วนในการพิจารณานำแหล่งน้ำที่มีอยู่ไปใช้ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพและสถานการณ์ในพื้นที่เพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นและป้องกันการแย่งแหล่งน้ำในพื้นที่

ตั้งซูเปอร์บอร์ดดูแลการศึกษาชาติ

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงแนวความคิดที่จะให้มีการจัดตั้งซูเปอร์บอร์ดสำหรับการศึกษาขึ้น เนื่องจากกระทรวงศึกษามีปัญหาการสั่งการในเรื่องของการจัดระบบการศึกษา เพราะฉะนั้น การจัดตั้งซูเปอร์บอร์ดไปช่วยดูแลเรื่องนี้ก็จะสามารถช่วยให้การจัดระบบและระเบียบการศึกษาเป็นไปในทิศทางที่กำหนดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางการกำหนดเป้าหมายความสำเร็จในเรื่องดังกล่าวประมาณ 6–7 ประการ อาทิ

1) เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (ป.1) ต่อไปนี้เมื่อจบ ป.1 แล้วจะต้องสามารถอ่านออกเขียนได้ และต้องมีมาตรการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเพื่อยืนยันว่าจบ ป.1 แล้วอ่านออกเขียนได้จริง

2) นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1–6 (ม.1–ม.6) จะต้องให้นักเรียนสามารถเลือกเรียนในวิชาเสริมที่เป็นวิชาชีพพร้อมกันไปด้วยตลอดระยะเวลาการเรียนระดับมัธยมศึกษา เพื่อวันข้างหน้านักเรียนจะสามารถวางแผนในอนาคตและเลือกวิชาชีพที่ตนเองชอบได้อย่างแท้จริง แทนการจบการศึกษา ม.6 แล้วจะต้องเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว ตลอดจนสามารถนำความรู้ในเรื่องวิชาชีพดังกล่าวมารองรับกรณีที่เด็กนักเรียนมีปัญหาและความจำเป็นไม่สามารถที่จะเรียนต่อหรืออยู่ในระบบการศึกษาต้องออกมาทำงาน ให้สามารถมีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพเบื้องต้นได้

3) การจัดการเรียนการสอนจะต้องมีการเชื่อมโยงระหว่างการศึกษากับการส่งเสริมวิชาชีพให้สอดคล้องและตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

4) ในระดับอุดมศึกษา ให้เน้นการวิจัยเพื่อเชื่อต่อระหว่างงานวิจัยกับภาคอุตสาหกรรมของเอกชน เช่น อาจให้มีการทำข้อตกลงกันระหว่างภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของธุรกิจภาคอุตสาหกรรมกับหน่วยงานอุดมศึกษา เพื่อให้การค้นคว้าวิจัยในการเรียนตอบโจทย์ต่อความต้องการของอุตสาหกรรม

5) การยกระดับความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ โดยให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาอังกฤษที่มาจากประเทศต้นทาง เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ ทั้งนี้อาจให้มีการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจากบุคคลที่เป็นประเทศต้นทางดังกล่าวเดือนละครั้งหรือ 2 ครั้ง เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับสำเนียงเจ้าของภาษา

6) การผลิตครูจะต้องมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นเพื่อให้เป็นครูที่มีความรู้ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชื่อครูพันธุ์ใหม่ เพื่อให้การเรียนการสอนเด็กนักเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ส่วนกรณีที่อาชีพครูขาดแคลนผลิตไม่ทัน และมีบุคคลจบการศึกษาที่ไม่ตรงกับวิชาที่จะต้องสอน ก็ขอให้มีการจัดการเรียนการสอนแบบเฉพาะกิจขึ้น เพื่อปูพื้นฐานสำหรับการไปประกอบอาชีพในด้านครูด้วย

รวมทั้งได้สั่งการและให้แนวทางในเรื่องการจัดตลาดนัดข้าว ผลไม้และไม้ดอก ที่จะจัดขึ้นวันที่ 5 มีนาคม 2558 บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล ว่า การจัดตลาดดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องการให้ทุกจังหวัดและทุกชุมชนได้ไปจัดตลาดนัดในลักษณะเช่นนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจในระดับฐานรากอย่างแท้จริง และเกิดการสร้างงานสร้างรายได้ในพื้นที่ ตลอดจนกระตุ้นเรื่องการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ ยังต้องการให้มีการเพิ่มการสัญจรทางน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อแก้ปัญหาการจราจร

ยืดเวลาขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เรื่อง การจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยกลุ่มที่ผ่านการตรวจสัญชาติแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558 จะได้รับการตรวจลงตราและได้รับอนุญาตทํางานจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557) เนื่องจากแรงงานกลุ่มดังกล่าวปฏิบัติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติครบทุกขั้นตอนภายในเวลาที่กําหนด นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ทํางานต่อไปอีก 2 ปี หลังสิ้นสุดการอนุญาต 31 มีนาคม 2559

ส่วนกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ถือใบอนุญาตทํางานที่ออกให้ ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ที่ยังไม่ได้เข้ารับการตรวจสัญชาติภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558 ให้มารายงานตัวเพื่อขอรับบัตรใหม่ ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2558 และขอรับใบอนุญาตทํางาน ซึ่งแรงงานต่างด้าวดังกล่าวจะได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี และได้รับอนุญาตให้ทํางานได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสัญชาติให้แล้วเสร็จ

ทั้งนี้ เมื่อผ่านการตรวจสัญชาติแล้วจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและอนุญาตทํางานต่อไปอีก 2 ปี โดยให้กระทรวงมหาดไทยจัดเตรียมสถานที่ในการจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) และเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกําหนดเวลาเปิดการดําเนินการของศูนย์บริการจดทะเบียนฯ ในวันที่ 1 เมษายน 2558 และสิ้นสุดการดําเนินการได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2558

นอกจากนี้ มีการปรับปรุงบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชา ในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะการปรับระยะเวลาการกลับเข้าทํางานใหม่ของแรงงานต่างด้าวหลังทํางานครบกําหนด 4 ปีแล้ว จากเดิมกําหนดไว้ 3 ปี ให้ลดลงเหลือ 30 วัน เพื่อความต่อเนื่องของการทํางานและสอดคล้องกับระยะเวลาการเตรียมการจัดทําเอกสารเพื่อกลับเข้ามาทำงานใหม่ รวมทั้งแรงงานได้กลับไปเพื่อพักผ่อนอยู่กับครอบครัวหลังจากเข้ามาทํางานในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว

[youtube http://www.youtube.com/watch?v=TS3yer3KAC4&w=560&h=315]