ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > มติ ครม ขายสลากฯ ผ่านเครื่อง-ร้านสะดวกซื้อ คุมราคาไม่เกิน 80 บาท – ดึงเอกชนยักษ์ใหญ่ทำตลาดหนุนส่งออก – เตรียมเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา

มติ ครม ขายสลากฯ ผ่านเครื่อง-ร้านสะดวกซื้อ คุมราคาไม่เกิน 80 บาท – ดึงเอกชนยักษ์ใหญ่ทำตลาดหนุนส่งออก – เตรียมเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา

11 มีนาคม 2015


เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่รัฐบาลจะปรับปรุงการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า ทุกอย่างเป็นการหารือในเบื้องต้น บางครั้งก็เป็นเรื่องเดิมที่ทำไว้หลายรัฐบาลมาแล้ว แต่ได้นำมาพิจารณาเพื่อผ่านความเห็นชอบเพิ่มเติมว่าควรจะมีเก็บภาษีในเรื่องใดบ้าง และเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมในขั้นของคณะกรรมาธิการอีกหลายชั้น ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งก็ต้องมีมาตรการ หรือกรอบข้อกำหนดบางประการที่จะไม่ทำให้ประชาชนที่ยากจนเดือดร้อน ส่วนประชาชนที่มีฐานะก็ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่า แต่ก็มีเพดานจำกัดไว้เช่นกัน ขอประชาชนอย่าวิตกกังวล

“ยังคงต้องมีการหารือกันอีก ประเด็นคือทำอย่างไรจะให้เกิดความเป็นธรรม สามารถลดความเหลื่อมล้ำ ทำอย่างไรจะมีรายได้ในการพัฒนาประเทศ เตรียมความพร้อมในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศในวันหน้า ขอร้องว่าพอได้แล้วเรื่องภาษีในวันนี้ เพราะกระบวนการยังไม่จบ ยังไม่ได้เกิดขึ้นวันนี้พรุ่งนี้”

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า เรื่องภาษีต้องมีการอธิบายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนได้รับทราบว่าระบบภาษีของประเทศไทยเป็นอย่างไร วันนี้มีอะไรที่มีผลกระทบบ้าง วันนี้เศรษฐกิจชะลอตัวก็ต้องมีมาตรการในส่วนนี้เข้ามา ตอนนี้การจัดเก็บภาษีที่รัฐจะดำเนินการก็อาจเป็นการทำในเชิงสัญลักษณ์ไปก่อน โดยเก็บไปตามความเหมาะสม หากประชาชนเดือดร้อนตนก็เดือนร้อนด้วย

http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/100315_tro/100315tro-55238.html
http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/100315_tro/100315tro-55238.html

เรื่องการสร้างความเข้าใจ รัฐบาลได้ทำเอกสารออกมาเพื่อชี้แจงให้ประชาชนทราบว่ารัฐบาลได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง โดยข้อมูลดังกล่าวจะมีความถูกต้องชัดเจนกว่าที่ตนได้ทำการแถลง

สำหรับเรื่องการกำหนดราคาสลากกินแบ่งรัฐบาล นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า ในการประชุม ครม. วันนี้มีการหารือหลายเรื่องด้วยกันว่าจะทำอย่างไรให้สลากกินแบ่งฯ มีราคาจำหน่ายไม่เกิน 80 บาท  ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 ในอีกประมาณ 3 เดือน

“ยังคงต้องแก้กฎหมายในเรื่องเงินส่งรัฐ และเรื่องอื่นๆ จึงจะกำหนดได้ว่าจะสามารถวางจำหน่ายในแหล่งใดได้บ้าง จะขายจากตู้ได้ไหม ซึ่งปัญหายังคงอยู่ที่คดีความ ต้องมีกฎหมายใหม่ออกไปอีก”

โดยประมาณเดือนสิงหาคม หรือเดือนกันยายน 2558 จะมีสลากกินแบ่งฯ ที่ได้รับโควตาจำพวกสลากการกุศลจะทยอยหมดอายุลงเรื่อย ก็จะนำส่วนนี้มาจัดระเบียบ เพิ่มโควตาให้สลากประเภทอื่นที่จะกระจายลงสู่ท้องตลาด คาดว่าประมาณ 3 เดือน จะมีความชัดเจนในเรื่องของกฎหมาย และจะสามารถดำเนินการแก้ไขกฏหมายทั้งระบบให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ให้สามารถวางขายได้ในทุกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการขายผ่านตู้จำหน่ายสลากกินแบ่งฯ การส่งโควตาไปตามแต่ละจังหวัด และการขายผ่านร้านสะดวกซื้อต่างๆ ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการส่งเสริมการพนัน

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปในเรื่องของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และ บางซื่อ–ท่าพระ ว่าตนได้กล่าวถึงไปแล้วเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2558 ในพิธีเปิดเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาอุโมงค์ที่สอง (Eastbound TBM Launching Ceremony) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายฯ สัญญา 2 ช่วงสถานีสนามไชย-สถานีท่าพระว่าจะดำเนินการให้เกิดความเชื่อมโยงกันได้อย่างไร และจะต้องมีการปรับแก้ มติ ครม. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558บางส่วนที่ขัดต่อหลักการ เนื่องจากผลการรายงานจากมติ ครม. เมื่อปี 2553 เคยมีมติในเรื่องดังกล่าวออกมาแล้ว ซึ่งเป็นหน้าที่ให้คณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เป็นผู้พิจารณา หากคณะกรรมการมีความเห็นออกมาเช่นไรรัฐบาลก็จะมีมติเห็นชอบตามนั้น

ด้าน พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทยจีน ครั้งที่ 3 ถึงกรณีการยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 ว่า ตอนแรกกระทรวงคมนาคมต้องการให้โครงการสำเร็จโดยเร็ว เนื่องจากงานก่อสร้างโยธาจะเสร็จปลายปี 2560 ไม่อยากให้การสั่งขบวนรถซึ่งใช้เวลา 3 ปีเกิดความล่าช้า  

“ถ้ามีความล่าช้าเกิดขึ้นเท่ากับว่าเราต้องบำรุงรักษาเส้นทางเป็นเวลา 6 เดือน–1 ปี ยิ่งวิ่งช้าก็จะเป็นภาระ ประชาชนจะไม่ได้ใช้เส้นทาง ตอนนี้มันช้าอยู่แล้ว ถ้าเราสั่งมากลางปีนี้บวกไป 3 ปี จะเป็นปี 2561 เราจึงจะให้มันเร็วที่สุด เราจึงอยากให้รวดเร็วมากขึ้น ลดเวลาการดำเนินการ อยากให้มีการเจรจา แต่ว่าที่ประชุมวันนี้เห็นว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามมาตรา 13 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 ระบุไว้ชัดเจนว่าโครงการที่ไม่สำเร็จให้ใช้แนวทางตาม พ.ร.บ.ปี 2535 เหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ครม. จึงขอยืนยันให้ใช้มติ ครม. ปี 2553 ซึ่งเร็วกว่าที่จะใช้ พ.ร.บ. ปี 2556 ที่จะเริ่มต้นใหม่ ส่วนการตัดสินใจเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ครม. ไม่อยากทำเกินอำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้” พล.อ.อ. ประจินกล่าว

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่าตนได้สั่งการในที่ประชุม ครม. ให้ตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษ  เพื่อเข้าไปช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดในการขับเคลื่อนงาน ซึ่งอาจจะดำเนินการในลักษณะเดิมที่มีโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก หรือ อีสเทิร์นซีบอร์ด (Eastern Seaboard) ซึ่งในส่วนของภาคตะวันตกยังไม่มี จึงให้มีการหารือกันว่าจะทำโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันตก หรือเวสต์เทิร์นซีบอร์ด (Western Seaboard) ได้หรือไม่ ให้มีนิคมอุตสาหกรรม มีโรงเหล็กเพื่อเป็นอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีเอกชนเข้ามาร่วมด้วย เพื่อช่วยขับเคลื่อนงานด้านการตลาด และหาคนมาลงทุน เพราะรัฐบาลบริหารเองไม่ได้ทั้งหมด

ด้านการจัดตั้งคณะกรรมการการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษ สืบเนื่องจากคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการในการเข้ามาดำเดินงาน แต่การดำเนินการต่างๆ ยังคงล่าช้า ภาระงานต่างๆ ตกไปอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้การขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจพิเศษยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงจัดให้มีคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะของแต่ละพื้นที่เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงประเด็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน ที่กำลังจะหมดอายุลงในปี 2558 นี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในประเด็นดังกล่าว กำลังอยู่ระหว่างการหารือ ตามหลักแล้วหากคณะกรรมการ ป.ป.ช. หมดวาระลงก็จะมีการสรรหากันต่อไป แต่ปัจจุบันรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ถูกยกเลิกไป ส่วนนี้อาจต้องไปดูในกฎหมาย ป.ป.ช. แทนว่ามีกำหนดไว้อย่างไร ซึ่งทุกอย่างก็จะเป็นไปตามกระบวนการ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงเรื่องของโรงงานขยะว่า รัฐบาลได้กำหนดพื้นที่ในการดำเนินงานโรงงานขยะไว้ทั้งหมดแล้ว โดยต่อไปจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ถึงผลกระทบและความคุ้มค่า รวมถึงการปรับโครงสร้างด้านพลังงาน สร้างการรับรู้ และจัดเตรียมคณะทำงานในการบริหารราชการ ซึ่งทุกอย่างต้องทำงานตามกระบวนการของกฎหมาย พร้อมเปิดเผยข้อมูลข่าวสารทางราชการผ่านสื่อต่างๆ ให้ประชาชนได้รับรู้มากขึ้น

ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/100315_krit_1/100315krit1-55249.html
ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/100315_krit_1/100315krit1-55249.html

ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ร.อ. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงมติสำคัญโดยสรุปดังนี้

รัฐดึงเอกชนยักษ์ใหญ่ทำตลาดหนุนส่งออก-โครงการ”พี่จูงน้อง”

กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานการผลักดันการส่งออกเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 4% จากการขับเคลื่อนการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน ซึ่งจะเร่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์ส่งออกเพื่อขยายโอกาสทางการค้าในตลาดศักยภาพ และกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดหลักอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ควบคู่ไปกับการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในฐานะผู้ผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ

การส่งออกในเดือนแรกของปี 2558 ยังคงชะลอตัว จากปัจจัยสินค้าเกษตรในตลาดโลกตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ กระทรวงพาณิชย์จึงต้องเร่งรัดมาตรการส่งออกเชิงรุกทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว

มาตรการระยะสั้นนั้นเป็นการเร่งรัดการทำตลาดเชิงกลยุทธ์ มุ่งเน้นการเจาะตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ และขยายช่องทางตลาดที่มีประสิทธิภาพโดยดูความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละตลาดเป็นสำคัญ รวมทั้งเร่งขยายช่องทางการค้าในตลาดต่างประเทศผ่านบริษัทขนาดใหญ่ อาทิ กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)  กลุ่มเซ็นทรัล บริษัท พี พี ซี อุตสาหกรรม จำกัด และกลุ่มสหพัฒนพิบูล  ภายใต้โครงการ “พี่จูงน้อง” เพื่อช่วยสร้างศักยภาพ

และผลักดันผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้สามารถเข้าสู่ตลาดโลกได้ สร้างเครือข่ายพันธมิตรกับผู้นำเข้าที่มีสาขาจำนวนมากเพื่อเป็นช่องทางการกระจายสินค้า ส่งเสริมการใช้อีคอมเมิร์ซผ่าน www.thaitrade.com เพื่อเปิดตลาดและดำเนินการเชิงรุกเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าระหว่างประเทศ และใช้ประโยชน์จากความร่วมมือในอนุภูมิภาค พร้อมทั้งเร่งขยายการค้าผ่านบริษัทเอกชน มีการเจรจาเชิงรุกในเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศไทย อินเดีย ตุรกี และปากีสถาน และมาตรการแข้ไขอุปสรรคไม่ใช้ภาษี

ส่วนมาตรการระยะยาวเป็นการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ส่งเสริมด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการแข่งขันของเอกชน อาทิ ส่งเสริมการข้าว น้ำมันรำข้าว ขนมขบเคี้ยวจากข้าว

เล็งขายสลากฯ ผ่านเครื่อง-ร้านสะดวกซื้อ คุมราคาไม่เกิน 80 บาท

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงประเด็นร่างพระราชบัญญัติสลากกินแบ่งฉบับใหม่ที่ได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่สนใจต่อประชาชน เนื่องจากพระราชบัญญัติใช้มาเป็นระยะเวลานาน 40 ปี โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจากปัญหาที่ผู้ค้ารายย่อยต้องรับความเสี่ยงในกรณีที่ขายสลากไม่หมด 

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ ได้มีการปรับสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายสลากเข้ารัฐจากเดิม 28% เป็นไม่น้อยกว่า 20% โดยในส่วน 8% นั้นจะไปแบ่งในสัดส่วนอื่นๆ เช่น ในสัดส่วน 5% จะนำไปจัดตั้งกองทุนรับซื้อเลขไม่สวย หรือขายไม่หมดกลับคืน เพื่ออุดช่องโหว่ไม่ให้พ่อค้าขายสลากเกินราคา และอีก 3% จะนำไปเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสลากเพิ่มเป็น 15% จากเดิมอยู่ที่ 12% ขณะที่เงินรางวัลประชาชนจะยังคงสัดส่วนรายได้เดิมที่ 60% สำหรับองค์กรที่รัฐดูแล เช่น องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก หรือผู้ด้อยโอกาส จะยังได้รับสัดส่วนโควตาในการจำหน่ายเหมือนเดิม ทั้งนี้จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา และเสนอต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่วนสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จะจัดทำโรดแมปถึงการดำเนินการจัดขายสลากในอีก 3 เดือน 

โดยจะมีการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ผ่านตู้ขายอัตโนมัติ ร้านค้า และผู้ค้ารายย่อย ซึ่งชุดตัวเลขนั้นเป็นชุดตัวเลขแบบเดิมที่เคยจำหน่าย เพียงแต่ไม่มีบริการให้ประชาชนเลือกซื้อตัวเลขที่ตนเองชอบเท่านั้น ทั้งนี้ สลากกินแบ่งรัฐบาลนั้นยังคงเป็นแบบ 6 ตัวเลข รัฐบาลไม่ได้มีการพูดคุยถึงสลากกินแบ่งแบบ 2 ตัว 3 ตัว ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ต้องรอสำนักงานสลากกินแบ่งเสนอรายละเอียดต่อไป

กาชาดต้องเสียภาษีสลาก 0.5%

ร.อ. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการให้สภากาชาดไทย เหล่ากาชาดจังหวัด หรือกิ่งกาชาดอําเภอ ซึ่งเป็นตัวแทนของสภากาชาดไทย ผู้รับใบอนุญาตจัดให้มีการเล่นการพนัน สลากกินแบ่ง หรือสลากกาชาดในปีนี้และปีต่อๆ ไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนํารายได้มอบให้สภากาชาดไทย เหล่ากาชาดจังหวัด หรือกิ่งกาชาดอําเภอ ไปใช้ในกิจการสาธารณกุศลเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 แห่งยอดราคาสลาก ซึ่งมีผู้รับซื้อก่อนหักรายจ่าย ตามข้อ 12 (4) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2503) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ได้ ตามที่ประธานกรรมการอํานวยการจัดงานกาชาดประจําปี 2558 เสนอ

เว้นภาษีโรงเรียนเอกชน ลุยเก็บกวดวิชาอัตรา 20%

 

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้มีการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาเอกชน ที่มีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจ โดยกำหนดให้จัดเก็บภาษีเงินได้ที่ได้รับจากการประกอบกิจการดังกล่าว ทั้งที่เป็นกำไรสุทธิหรือผลตอบแทน และเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร ที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษี ซึ่งกระทรวงการคลังคาดว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้ปีละประมาณ 1,200 ล้านบาท ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบกิจการจะไปปรับขึ้นราคาค่าเรียนหรือไม่นั้นคงไม่สามารถไปควบคุมได้ เพราะถือเป็นสิทธิของผู้ประกอบกิจการไปพิจารณาราคาที่เหมาะสมกับต้นทุนเอง

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้เร่งรัดดำเนินการจัดเก็บภาษีจากโรงเรียนสอนกวดวิชา ซึ่งต้องปรับปรุงข้อกฎหมายและสิทธิประโยชน์ทางภาษี คือ ยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับการประกอบกิจการโรงเรียนเอกชน และยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนประเภทกวดวิชา โดยกำหนดให้เงินได้กำไรสุทธิ หรือผลตอบแทนที่ได้จากกิจการโรงเรียนเอกชน ที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือกิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน รวมถึงเงินปันผล หรือส่วนแบ่งกำไรที่ได้รับจากการประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน แต่ไม่รวมถึงเงินได้หรือกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการของโรงเรียนเอกชนประเภทกวดวิชา

สําหรับการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินใดๆ ให้กับโรงเรียนเอกชน และการโอนกลับคืนเมื่อเลิกใช้ประโยชน์หรือเลิกกิจการ ให้แก่ผู้บริจาคที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ให้แก่โรงเรียนเอกชน และการโอนกลับคืนเมื่อเลิกใช้ประโยชน์หรือเลิกกิจการ เมื่อผู้อํานวยการ ผู้บริหาร ครู หรือบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนเอกชนออกจากงานเพราะเหตุสูงอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย 

ผลงานศูนย์ร้องทุกข์ปี2557 แก้ได้แค่ 30%

รายงานผลงานของศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ที่ผ่านมาว่า ในปีงบประมาณ 2557 สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติเพียง 29.98% โดยยังอยู่ระหว่างการรอผลการพิจารณามากถึง 70.02% อีกทั้งในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2558 สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติเพียง 13.81% โดยยังอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณามากถึง 86.20% สำนักรัฐมนตรีจึงมีความเห็นให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งรัดดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ในส่วนที่รับผิดชอบอยู่โดยเร็ว และให้มีการรายงานผลแก่รัฐมนตรีเจ้าสำนักทุกเดือนด้วย

นอกจากนี้ หน่วยงานระดับกระทรวงและรัฐวิสาหกิจ สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียง 1,010 เรื่อง คิดเป็น 18.41% จากจำนวนเรื่องเกือบ 20,000 เรื่อง ในระดับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียง 160 เรื่อง คิดเป็น 5.35% เท่านั้น

สร้าง GAC ศูนย์กลางข้อมูลรัฐ 80 แอปฯ

 
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารเสนอช่องทางการเข้าถึงบริการของรัฐในรูปแบบแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ (Mobile Applications) ได้จากจุดเดียวผ่านศูนย์กลางแอปพลิเคชันภาครัฐ (Government Application Center) หรือ GAC ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน รวมทั้งสถานภาพการพัฒนา Mobile Applications ภาครัฐ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2558

ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้หน่วยงานภาครัฐที่ทําการพัฒนา Mobile Applications และยังไม่ได้ให้บริการประชาชนผ่านศูนย์กลางแอปพลิเคชันภาครัฐ หรืออยู่ระหว่างการพัฒนา Mobile Applications ใหม่ ให้ประสานงานมายังสํานักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) เพื่อนํา Mobile Applications บรรจุไว้ในศูนย์กลางแอปพลิเคชันภาครัฐ เพื่ออํานวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเข้าถึงบริการต่อไป

ที่ผ่านมามีหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้นํา Mobile Applications ที่ได้พัฒนาขึ้นบรรจุไว้ในศูนย์กลางแอปพลิเคชันภาครัฐแล้วจํานวนทั้งสิ้น 81 แอปพลิเคชัน จาก 18 กระทรวง และ 1 กลุ่มหน่วยงานอิสระ (จากการสํารวจอย่างไม่เป็นทางการ ณ วันที่ 3 มีนาคม 2558) โดยสามารถจัดหมวดหมู่และเรียงลําดับ Mobile Applications ตามประเภทของบริการที่มีการพัฒนามากที่สุด 5 แอปพลิเคชัน หมวดการเดินทาง ขนส่ง และคมนาคม 15 แอปพลิเคชัน หมวดสุขภาพและการสาธารณสุข 15 แอปพลิเคชัน หมวดการเงินภาษีและธุรกิจ 12 แอปพลิเคชัน

หมวดสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน 8 แอปพลิเคชัน และหมวดอื่นๆ 6 แอปพลิเคชัน โดยแอปพลิเคชันทั้งหมดนี้สามารถใช้ได้ทั้งระบบปฏิบัติการไอโอเอสและแอนดรอยด์

ประชุมร่วมญี่ปุ่น รับ 2 กรอบดำเนินงานลดภัยพิบัติ

 
ผลการประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 ณ เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดย อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยร่วมรับรองร่างเอกสาร 2 ฉบับ คือ ร่างกรอบการดําเนินงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติหลังปี 2558 (Post-2015 Framework for Disaster Risk Reduction) และร่างปฏิญญาเซนได (Sendai Declaration) โดยที่สาระสําคัญของร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวสอดคล้องกับกรอบกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 

การรับรองกรอบดำเนินงานเพื่อการลดความเสี่ยงของโลกตั้งแต่ปี 2558 หัวใจสำคัญคือทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม มีมาตรการส่งเสริมป้องกันไม่ให้เกิดภัยพิบัติ ในส่วนของประเทศไทยให้มีการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ในการกระจายข่าวเกี่ยวกับสาธารณภัย เพื่อให้ทันท่วงทีต่อเหตุการณ์

ม.ธรรมศาสตร์-ขอนแก่น เตรียมออกนอกระบบ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. …. และ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. …. ที่สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีฐานะเป็นหน่วยงานในกํากับของรัฐ ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม