ThaiPublica > คนในข่าว > กระชากหน้ากากกลุ่มไอเอส “ญิฮัด จอห์น” เพชฌฆาตเลือดเย็นแห่งยุค

กระชากหน้ากากกลุ่มไอเอส “ญิฮัด จอห์น” เพชฌฆาตเลือดเย็นแห่งยุค

4 มีนาคม 2015


อิสรนันท์

นับตั้งแต่กลุ่มติดอาวุธ “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ในซีเรียได้ลงมือฆ่าตัดคอตัวประกันชาวต่างชาติอย่างน้อย 5 คน เริ่มตั้งแต่ฆ่าตัดคอเจมส์ โฟลีย์ นักข่าวอเมริกัน เมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว ตามด้วยฆ่าตัดคอสตีเฟน ซอตลอฟฟ์ นักข่าวอเมริกัน, เดวิด เฮนส์ อาสาสมัครบรรเทาทุกข์ชาวอังกฤษ, อลัน เฮนนิ่ง คนขับรถแท็กซี่ที่เป็นอาสาสมัครบรรเทาทุกข์ชาวอังกฤษ, ฮารูนะ ยูคาวะ ชาวญี่ปุ่น และเคนจิ โกโตะ นักข่าวชาวญี่ปุ่น

คำถามหนึ่งที่ผุดขึ้นในใจของทุกคน กลายเป็นปมปริศนาที่คนทั่วโลกต่างพยายามเสาะหาคำตอบมานานกว่าครึ่งปีว่าโฉมหน้าแท้จริงของ “ไอ้โม่ง” หรือชายชุดดำผู้คลุมหน้ากากมิดชิดเหลือเพียงดวงตาทั้ง 2 ข้าง เพชฌฆาตเลือดเย็นผู้เป็นคนลงมือสังหารตัวประกันอย่างโหดเหี้ยมเป็นใครกัน

สื่อใหญ่น้อยได้พร้อมใจกันตั้งสมญาว่า “ญิฮัด จอห์น” หรือ “จอห์น เดอะ บีทเทิล” หรือ “เจลเลอร์ จอห์น” จากสำเนียงที่บ่งชัดว่าเป็นสำเนียงชาวลอนดอนเหมือน จอห์น เลนนอน นักร้องนำวง “เดอะบีทเทิลส์” จากนั้นก็แข่งกันขุดคุ้ยหาโฉมหน้าแท้จริงของ “ญิฮัด จอห์น” ผู้ซึ่งหน่วยข่าวกรองซีไอเอของสหรัฐฯ ได้ตั้งรางวัลนำจับ 10 ล้านดอลลาร์ พร้อมๆ กับการนำจับ 3 คู่หูสมญา “จอร์จ”, “ริงโก้” และ “พอล” ครบวง “เดอะบีทเทิลส์” หรือ ” สี่เต่าทอง” ที่โด่งดังในยุคซิกส์ตี้และเซเวนตีส์พอดี

ในที่สุด หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ก็คว้าเส้นชัย สามารถกระชากหน้ากากแท้จริงของ “ญิฮัด จอห์น” ได้เป็นฉบับแรกเมื่อปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมานี้ว่าชายชุดดำที่โลกอยากรู้ตัวมากที่สุดแท้ที่จริงก็คือโมฮัมเหม็ด เอ็มวาซี วัย 27 ปี ชาวเมืองผู้ดีเชื้อสายคูเวต ก่อนหน้านี้ อดัม โกลด์แมน นักข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ที่เกาะติดข่าวของญิฮัด จอห์น อย่างไม่ยอมปล่อยสารภาพว่ายากที่จะหาข้อมูลของเพชฌฆาตเลือดเย็นผู้นี้ว่าเป็นใครทั้งๆ ที่มีชาวอังกฤษราว 700 คนเท่านั้นที่เข้าร่วมกับกลุ่มไอเอส หากเป็นเพราะไม่มีใครยอมปริปากบอกว่าเป็นใคร หนำซ้ำเมื่อสืบรู้ได้ว่าเป็นใครแล้ว ก็ยังเผชิญกับความยากลำบากในการค้นหาข้อมูลรายละเอียดทางออนไลน์ เนื่องจาก “ญิฮัด จอห์น” ไม่เล่นอะไรเลยบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกสำหรับชายหนุ่มวัย 27 ปี ที่ไม่เล่นโซเชียลมีเดียหรือสื่อสังคมออนไลน์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเอ็มวาซีจบด้านคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์ จึงรู้วิธีลบข้อมูลทั้งหมด อุปสรรคสุดท้ายก็คือทุกคนที่รู้จักตัวตนแท้จริงของ “ญิฮัด จอห์น” ล้วนแต่ปิดปากเงียบไม่ยอมกระโตกกระตากอะไรแม้จะรู้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าเป็นใคร จนเมื่อสื่อช่วยกันกระชากหน้ากากไอ้โม่งชุดดำแล้ว คนเหล่านี้จึงอ้อมแอ้มคายข้อมูลบางส่วน

โกลด์แมนเผยด้วยว่า อันที่จริงหน่วยข่าวกรองของตะวันตกสืบรู้มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 ว่า “ญิฮัด จอห์น” เป็นใคร และยังรู้ชื่อจริงของแก๊ง “ญิฮัด บีทเทิลส์” ที่เหลืออีก 3 คนที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัดคอตัวประกันของไอเอส จากการนำสำเนียงการพูดแบบแบบคนอังกฤษแท้ของ “ญิฮัด จอห์น” ผ่านวิดีโอเทปที่บันทึกไว้ทุกครั้งระหว่างประณามประเทศตะวันตกก่อนจะลงมือสังหารตัวประกันอย่างเลือดเย็นและระหว่างสไกป์เจรจาเรียกค่าไถ่แลกกับการปล่อยตัวประกันไปให้ผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานสืบสวนสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) วิเคราะห์หารูปแบบเฉพาะของน้ำเสียงด้วยการเทียบเคียงกับเสียงที่อยู่ในฐานข้อมูลของเอฟบีไอและสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) ที่ได้เก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกจากการดักฟังและเจาะฐานข้อมูลของชาวอเมริกันและเป้าหมายทั่วโลกหลายพันล้านคนผสมผสานกับการพิเคราะห์อย่างละเอียดทั้งความสูง รูปลักษณ์ รูปมือ และเสื้อผ้า แต่หน่วยข่าวกรองทั้งของสหรัฐฯ และอังกฤษกลับปิดปากแน่นไม่กระโตกกระตากให้ใครรู้ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงและด้วยความห่วงใยความปลอดภัยของตัวประกันที่เหลือ

สำหรับความแม่นยำของการชี้ตัว “ญิฮัด จอห์น” นั้น ศูนย์ศึกษาระหว่างประเทศว่าด้วยกระบวนการไปสู่ความรุนแรงของวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน สถาบันชั้นนำแห่งหนึ่งในเรื่องการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับนักรบญิฮัดต่างชาติ แถลงว่าเชื่อว่าการระบุอัตลักษณ์ครั้งนี้ “ถูกต้องและแม่นยำ” ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนให้ความเห็นว่าด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ทำให้สามารถระบุตัว “ไอ้โม่ง” ทุกคนได้ง่าย ไม่ว่าจะพยายามปกปิดตัวเองมากเท่าไหร่หรืออย่างไร ท้ายที่สุดแล้ว ตัวตนที่แท้จริงก็จะถูกเปิดเผยออกมาจนได้

หลังจากสามารถเปิดเผยโฉมหน้าแท้จริงของ “ญิฮัด จอห์น” แล้ว สื่อใหญ่น้อยต่างแข่งกันขุดคุ้ยรายละเอียดของโมฮัมเหม็ด เอ็มวาซี ส่วนใหญ่อาศัยข้อมูลจากครู เพื่อนนักเรียน และญาติสนิทมิตรสหาย นอกเหนือจากสืบค้นทะเบียนประวัติจากโรงเรียนที่เคยเรียนอยู่ซึ่งระบุว่า เอ็มวาซีเกิดเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2531 เป็นบุตรชายของยัสเซม อับดุล คารีม ชาวอิรัก ที่หนีภัยไปอยู่ที่คูเวต จนให้กำเนิดเอ็มวาซีที่นี่ ครอบครัวนี้ได้ยื่นคำร้องขอโอนสัญชาติเป็นคูเวต แต่ได้รับการปฏิเสธเมื่อปี 2537 ด้วยข้อกล่าวหาว่าให้ความร่วมมือกับกองทัพอิรักช่วงที่บุกยึดคูเวตระหว่างปี 2533-2534 ยัสเซม อับดุล คารีม จึงพาลูกเมียเดินทางกลับไปอิรัก ก่อนจะหอบภรรยาและเอ็มวาซีซึ่งขณะนั้นมีอายุ 6 ปี เดินทางไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นอร์ธเคนซิงตัน ทางตะวันตกของกรุงลอนดอน ซึ่งพบข้อมูลที่น่าสนใจในภายหลังว่าเป็นพื้นที่ที่มีคนอาสาไปเป็นนักรบศักดิ์สิทธิ์หรือญิฮัดมากที่สุดพื้นที่หนึ่ง ยัสเซม อับดุล คารีม ซึ่งได้สัญชาติอังกฤษแล้วได้ยึดอาชีพเป็นคนขับรถแท็กซี่ ส่วนแม่เป็นแม่บ้านดูแลลูกๆ บางครั้งก็เอาทองและอัญมณีไปขายให้คนในชุมชน

Mohammed Emwazi ที่มาภาพ : http://3.bp.blogspot.com/-gaKvxJcruTg/VO-ufWbaKcI/AAAAAAAAQjE/JtwJtyVbZnY/s1600/Sem%2BT%C3%ADtulo.png
Mohammed Emwazi ที่มาภาพ : http://3.bp.blogspot.com/-gaKvxJcruTg/VO-ufWbaKcI/AAAAAAAAQjE/JtwJtyVbZnY/s1600/Sem%2BT%C3%ADtulo.png

เอ็มวาซีเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนประถมเซนต์แมรี แมกดาเลน ในย่านไมดาเวลในลอนดอน ภาพถ่ายในวัยเยาว์ที่ปรากฏบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับเป็นภาพของหนูน้อยในชุดนักเรียน กำลังยืนยิ้มท่ามกลางเพื่อนๆ และครู ไม่มีวี่แววให้เห็นแม้แต่น้อยว่าจะเป็นเพชฌฆาตเลือดเย็นไปได้ เพื่อนร่วมเรียนหลายคนเผยว่าเอ็มวาซีเป็นคนกว้างขวางในหมู่นักเรียน แม้ว่าในตอนแรกจะมีปัญหาด้านภาษาอยู่บ้างเนื่องจากพูดภาษาอังกฤษได้ไม่กี่คำนอกจากแค่บอกชื่อและบอกว่ามาจากไหนเท่านั้น แต่ผลจากการชอบเล่นฟุตบอลในช่วงพักเที่ยงและหลังเลิกเรียน ทำให้ภาษาอังกฤษดีขึ้นทันตาเห็น แม้ว่าจะต้องแลกมากับอาการบาดเจ็บจนหัวร้างข้างแตกขณะวิ่งไปชาร์จลูกเต็มเหนี่ยว แล้วเกิดล้มหัวชนกับเสาประตูเหล็กจนสลบเหมือดเลือดอาบเต็มหน้า

หลังจบชั้นประถม เอ็มวาซีได้ย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนควินติน คีนาสตัน ในย่านเซนต์จอห์นวู้ด ทั้งเพื่อนและครูทุกคนต่างชมเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นเด็กน่ารัก สุภาพ เป็นเพื่อนกับทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กชาวอินเดียหรือปากีสถานและไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ครูหลายคนออกปากชมว่าเป็นเด็กสุภาพ ฉลาด ขยันขันแข็ง มีความรับผิดชอบ แต่ค่อนข้างเงียบขรึมและเชื่อมั่นในศาสนา จะไปสุเหร่าทุกวันศุกร์ ครั้งหนึ่งเคยคุยอวดว่าเมื่อโตขึ้นก็จะยิ่งอุทิศตนให้กับศาสนามากขึ้น ถือเป็นนักเรียนตัวอย่างที่ครูอยากให้ลูกศิษย์ทุกอย่างเอาอย่าง อย่างไรก็ดี อดีตครูคนหนึ่งชี้ว่า ถึงแม้ว่าเอ็มวาซีจะเป็นเด็กขยัน แต่เคยมีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ เพราะเป็นคนโกรธง่ายแถมยังหายช้า ในช่วงปีแรกที่ย้ายมาที่โรงเรียนควินติน คีนาสตัน เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทะเลาะวิวาทหลายครั้ง จนครูต้องคอยสอนให้ใจเย็นๆ

เมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมปลายแล้ว เอ็มวาซีได้ไปเรียนต่อด้านคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์จนสำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2552 และได้ทำงานเป็นคอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์ประจำศูนย์ศึกษาระหว่างประเทศว่าด้วยกระบวนการไปสู่ความรุนแรงของวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ในกรุงลอนดอน ช่วงนี้ เอ็มวาซียังเป็นคนสุภาพและศรัทธาในศาสนา ได้รวมกลุ่มกับเพื่อนร่วมโรงเรียนและไปสุเหร่าเดียวกันตั้งเป็นกลุ่มเยาวชนมุสลิมมีกิจกรรมหลักก็คือเล่นฟุตบอลด้วยกัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าสมาชิกกลุ่มนี้ต่อมากลับชักจูงกันเป็นมุสลิมสุดโต่ง เป็นเหตุให้เพื่อนเก่า 2 คนที่กลายเป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธเสียชีวิตระหว่างการสู้รบที่ซีเรียและโซมาเลีย อีกคนหนึ่งหลบอยู่ในซูดานหลังจากถูกถอนสัญชาติอังกฤษ อีกคนหนึ่งถูกคุมเข้มห้ามเดินทางออกจากประเทศ และอีกหลายคนถูกจับกุมคุมขัง

“เคจ” ซึ่งเป็นกลุ่มรณรงค์สิทธิพลเรือนของอังกฤษและเคยมีการติดต่อกับเอ็มวาซีเผยว่า หน่วยสืบราชการลับในประเทศ (เอ็มไอ 5) ได้เริ่มสะกดรอยตามเอ็มวาซีตั้งแต่ปี 2552 การกระทำเช่นนี้กดดันให้เอ็มวาซีเปลี่ยนจากคนสุภาพกลายเป็นพวกหัวรุนแรงในที่สุด แต่เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการหน่วยสืบราชการลับในต่างประเทศ (เอ็มไอ 6) ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ ขณะที่สื่อต่างๆ รายงานว่าเอ็มวาซีเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อราว 5-6 ปีมาแล้วนี้เองจากการได้คลุกคลีกับคนกลุ่มหนึ่งที่กำลังถูกหน่วยข่าวกรองเอ็มไอ 5 และสก็อตแลนด์ยาร์ดจับตามอง และมาถึงจุดหักเหสำคัญเมื่อเจ้าตัววางแผนไปท่องซาฟารีพร้อมกับเพื่อนอีก 2 คน คนหนึ่งเป็นชาวเยอรมนีที่เปลี่ยนไปนับถืออิสลามและมีชื่อใหม่ว่าโอมาร์ แต่แทนที่จะไปเที่ยวซาฟารี ทั้ง 3 คนกลับบินไปที่กรุงดาร์เอสซาลาม นครหลวงของแทนซาเนียแทน ก่อนจะถูกจับขัง 1 คืนแล้วถูกเนรเทศ เอ็มวาซีได้บินไปที่กรุงอัมสตอร์ดัม นครหลวงของเนเธอร์แลนด์ เพื่อพบกับสายลับเอ็มไอ 5 ที่เชื่อว่าเอ็มวาซีวางแผนจะเดินทางต่อไปที่โซมาเลียเพื่อเข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายอัล-ชาบับ แต่เจ้าตัวปฏิเสธทุกข้อหา สุดท้ายรัฐบาลอังกฤษก็ยอมให้เอ็มวาซีเดินทางกลับกรุงลอนดอนในปี 2553

สื่ออังกฤษรายงานรายงานด้วยว่าเมื่อเดินทางกลับลอนดอนแล้ว รัฐบาลสมัยนายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ อาจจะสั่งควบคุมตัวเอ็มวาซีภายในบ้านโดยปราศจากการเข้าถึงโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต อันเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายของอังกฤษ เอ็มวาซีเคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เดอะเมล์ เมื่อปลายปี 2553 ว่าเคยคิดจะฆ่าตัวตายตอนที่ถูกหน่วยข่าวกรองตามประกบตัวหลังจากตัดสินใจขายเครื่องแล็บท็อปให้ชายผู้หนึ่งทางอินเทอร์เน็ตก่อนจะรู้ภายหลังว่าชายผู้นี้เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง พร้อมกันนั้นก็ยังสารภาพว่ารู้สึกเหมือนกับ “เดด แมน วอล์กิ้ง” หรือ “ศพเดินได้” ไม่ได้กลัวว่าจะถูกฆ่า แต่กลัวว่าสักวันหนึ่งจะเกิดอารมณ์ชั่ววูบคว้ายานอนหลับมากินหวังจะให้หลับตลอดกาล

สุดท้าย เอ็มวาซีก็ตัดสินใจย้ายไปทำงานที่บริษัทคอมพิวเตอร์แห่งหนึ่งในคูเวต ที่ซึ่งเขามีญาติอยู่หลายคนที่ถือสัญชาติอังกฤษและทำงานอยู่ในประเทศนี้ แม้กระทั่งยัสเซม อับดุล คารีม ผู้เป็นพ่อก็ไปๆ มาๆ ที่คูเวตหลายครั้ง โดยหน่วยงานความมั่นคงได้แอบติดตามความเคลื่อนไหวของบรรดาญาติเหล่านี้อย่างเงียบๆ ระหว่างนั้นเอ็มวาซีได้บินกลับลอนดอน 2 ครั้ง โดยครั้งหลังมีขึ้นเมื่อกลางปี 2553 กลับถูกหน่วยตอบโต้การก่อการร้ายอังกฤษจับกุมและถูกระงับวีซ่าไม่ให้เดินทางไปคูเวตเพื่อเข้าพิธีแต่งงานกับแฟนสาว เจ้าตัวได้เขียนอีเมลหลายฉบับถึงกลุ่ม “เคจ” ระบายอารมณ์ว่า “ผมรู้สึกเหมือนกับเป็นนักโทษ เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในกรงขังเท่านั้น อยู่ในลอนดอนนี่แหละ” ทั้งยังฟ้องด้วยว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้พยายามหยุดยั้งไม่ให้ตัวเองไปใช้ชีวิตใหม่ในคูเวต สถานที่เกิดของตัวเอง

เอ็มวาซีลงทุนเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโมฮัมเหม็ด อัล อายัน ในปี 2556 ตามคำแนะนำของพ่อ แต่คูเวตก็ยืนกรานปฏิเสธถึง 3 ครั้ง ไม่ยอมให้เข้าประเทศ เช่นเดียวกับซาอุดีอาระเบีย ที่เจ้าตัววางแผนจะไปสอนภาษาอังกฤษหลังจากลงทุนเรียนหลักสูตรการสอนภาษาอังกฤษระยะสั้น แต่ด้วยแรงกดดันจากอังกฤษ จึงไม่มีสถานศึกษาใดๆ ในซาอุฯ ยอมรับเอ็มวาซีเข้าทำงานด้วย สุดท้ายเจ้าตัวจึงเดินทางไปตุรกีแทนเพื่อทำงานกับผู้ลี้ภัยซีเรีย แต่แค่ 4 เดือนหลังจากนั้นหรือในต้นปี 2555 ครอบครัวของเอ็มวาซีก็ได้รับข่าวจากตำรวจว่าลูกชายหลบหนีข้ามพรมแดนไปที่ซีเรียแล้ว

และเป็นปฐมบทสู่การเป็น “ญิฮัด จอห์น” ชายชุดดำซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 18 เดือนเท่านั้นจนได้เป็นผู้นำญิฮัดที่เป็นชาวต่างชาติซึ่งรู้จักเขาในชื่ออาบู อับดุลเลาะห์ อัล บริตานี เพชฌฆาตผู้ไร้ความปรานีและพร้อมฆ่าเหยื่อทันทีที่ได้รับคำสั่งจากระดับนำที่เป็นชาวซีเรียและอิรัก ดิดิเยร์ ฟรองซัวส์ เหยี่ยวข่าวสงครามชาวฝรั่งเศสวัย 53 ซึ่งเคยถูกไอเอสลักพาตัวเป็นเวลาเกือบ 8 เดือน เผยว่า “ญิฮัด จอห์น” และเพื่อนร่วมแก๊ง “ญิฮัด บีทเทิลส์” ต่างมีรสนิยมรักความป่าเถื่อน และมักจะบังคับให้ตัวประกันชาวต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกขังในใต้ดินที่มืดมิด เข้าร่วมสาธิตการประหารชีวิตนับครั้งไม่ถ้วน รวมไปถึงการบังคับเจมส์ โฟลีย์ ให้ยืนในท่าตรึงกางเขนติดกำแพงก่อนจะถูกฆ่าตัดคอเป็นรายแรกเมื่อครอบครัวไม่ยอมจ่ายค่าไถ่จำนวน 132 ล้านดอลลาร์ “ญิฮัด จอห์น” ยังชอบบังคับตัวประกันให้ดูวีดิโอเกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้ายอัล ชาบับ ในโซมาเลีย อันเป็นกลุ่มที่ตัวเองสนใจก่อนที่จะตัดสินใจเดินทางไปเข้าร่วมกับไอเอสในซีเรีย

ดิดิเยร์ ฟรองซัวส์ เผยด้วยว่า ในฐานะผู้นำหน่วยญิฮัดชาวต่างชาติ “ญิฮัด จอห์น” ได้สั่งการให้เคลื่อนย้ายที่คุมขังตัวประกันไม่น้อยกว่า 10 ครั้งเพื่อปกปิดร่องรอยไม่ให้ถูกตามตัวได้ง่ายๆ อีกทั้งยังรับบทบาทสำคัญในฐานะเป็นตัวแทนการเจรจาต่อรองเรียกเงินค่าไถ่จากครอบครัวตัวประกันผ่านโปรแกรมสนทนาสไกป์ กระทั่ง สามารถระดมทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์จากครอบครัวเหยื่อตัวประกันชาวตะวันตกอย่างน้อย 8 คนเข้ากระเป๋ากลุ่มไอเอสเมื่อปี 2557

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากอีกมุมมองหนึ่งกลับบ่งชี้ว่า “ญิฮัด จอห์น” เป็นคนที่คอยเอาใจใส่สหายร่วมรบเสมอมา โดยแพทย์ฝึกหัดชาวอังกฤษ 2 คน เผยว่า “ญิฮัด จอห์น” ซึ่งชอบสวมชุดพร้อมรบและง่วนอยู่กับการโทรศัพท์ติดต่องานตลอดเวลา มักจะเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนพ้องที่บาดเจ็บอยู่ในโรงพยาบาลเสมอพร้อมกับถุงขนมหวานและไอศกรีม

ข้อมูลเหล่านี้ล้วนแต่สร้างปมปริศาซ้ำซ้อนขึ้นมาว่าอะไรเป็นสาเหตุทำให้คนดีๆ ในสายตาๆ ของครูและเพื่อนนักเรียนจึงกลายเป็นคนเหี้ยมโหดไปได้ “ญิฮัด จอห์น” เป็นคนเหี้ยมโหดโดยกมลสันดานหรือไม่แต่ซ่อนไว้ลึกมากภายใต้ความสุภาพอ่อนโยน หรือเป็นพราะถูกรัฐกดดันจน “จำใจต้องเป็นโจร” เพราะไม่มีทางเลือกอื่น

ที่มาข้อมูล
www.washingtonexaminer.com
en.wikipedia.org/wiki/Jihadi_John
www.latimes.com
www.independent.co.uk
www.telegraph.co.uk
www.theguardian.com
โทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นและบีบีซี
เอเอฟพี ดีพีเอ