ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้บริหารสหกรณ์ฯ คลองจั่นซักซ้อมความเข้าใจสมาชิกก่อนศาลล้มละลายกลางชี้ขาดฟื้นฟูกิจการ 20 มี.ค. – คดีวัดพระธรรมกายเจรจาคืนเงิน 684 ล้านหรือไม่16 มี.ค.นี้

ผู้บริหารสหกรณ์ฯ คลองจั่นซักซ้อมความเข้าใจสมาชิกก่อนศาลล้มละลายกลางชี้ขาดฟื้นฟูกิจการ 20 มี.ค. – คดีวัดพระธรรมกายเจรจาคืนเงิน 684 ล้านหรือไม่16 มี.ค.นี้

9 มีนาคม 2015


ความร้อนแรงของข่าวสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นได้รับการนำเสนอข่าวในทุกสื่อ หลังจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการให้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ประกอบกับการบริจาคของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการดำเนินงาน สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ให้กับวัดพระธรรมกาย พระธฺมมชโย ที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าเคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ จนนำมาสู่การฟ้องร้องให้คืนเงินบริจาค นอกจากนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอที่ดำเนินการเรื่องนี้กว่า 1 ปี ได้มีการเปลี่ยนเจ้าหน้าที่รับผิดชอบชุดใหม่ โดยมีการแถลงข่าวทุกเที่ยงวันศุกร์เพื่อรายงานความคืบหน้าของคดีการเอาผิดกับผู้อดีตผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้อง

ที่มาภาพ : http://www.thairath.co.th/content/485417
ที่มาภาพ: http://www.thairath.co.th/content/485417

จากแรงกดดันดังกล่าว เวลา10.00 น. วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2558 นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการดำเนินการ (ชุดที่ 29) สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ได้แถลงข่าว ชี้แจงกรณีวัดพระธรรมกาย พระราชภาวนาวิสุทธิ์(พระธัมมชโย) ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และเรื่องที่ถูกกล่าวหาว่ายักยอกทรัพย์สหกรณ์ฯ นั้น ตนขอชี้แจงว่าตนไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด โดยเงินที่นำมาบริจาคให้วัดพระธรรมกายจำนวน 386 ล้านบาท และที่บริจาคให้พระราชภาวนาวิสุทธิ์ 248 ล้านบาท เมื่อปี 2552 และปี 2553 เพื่อใช้ในการสร้างศาสนสถานนั้น เป็นเงินที่ตนยืมจากสหกรณ์ฯ โดยถูกต้องตามระเบียบสหกรณ์ฯ และได้มีการคืนเงินที่ยืมมาในจำนวนดังกล่าวให้แก่สหกรณ์ฯ เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งมีบันทึกในรายงานประจำปีและที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ฯ

ส่วนเรื่องทำบุญบริจาคให้กับวัดพระธรรมกายและพระราชภาวนาวิสุทธิ์นั้น มิได้มีการนำไปบริจาคหรือถวายให้หลวงพ่อโดยลำพังสองต่อสองแต่อย่างใด ตนได้บริจาคเงินดังกล่าว โดยนำเช็คใส่ซองและใส่ถุงทองอีกชั้นหนึ่งและเข้าแถวบริจาคเหมือนสาธุชนทั่วไปที่ถวายในพานรับประเคน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ของวัดเป็นผู้เก็บถุงทองและของบริจาคไปดำเนินการ โดยที่หลวงพ่อไม่ทราบว่าเงินที่บริจาคมานั้นเป็นจำนวนเท่าใด ดังนั้น ขอยืนยันว่าวัดพระธรรมกายและพระราชภาวนาวิสุทธิ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการแถลงข่าวเสร็จสิ้นภายในเวลาประมาณ 10 นาที โดยนายศุภชัยได้อ่านตามเอกสารที่เตรียมมาและตอบคำถามอีกเล็กน้อย และพยายามตัดบทโดยลุกขึ้นเดินออกจากเวทีแถลงข่าวและเดินทางกลับทันที

และในวันเดียวกัน กรมสอบสวนพิเศษได้แถลงการตรวจสอบเช็คสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำนวน 878 ฉบับ เป็นเงิน 11,367 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม

สำหรับประเด็นนายศุภชัยแถลงข่าวนั้น นางประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล เลขานุการและกรรมการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ได้ตอบคำถามสมาชิกในการประชุมสมาชิกสหกรณ์ฯ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 ว่า “ขอเรียนว่าสิ่งที่อ้างเมื่อปี 2552 มีการลงรายการว่ามีการคืนเงินในงบดุลของสหกรณ์ฯ คลองจั่นนั้น งบดุลสหกรณ์ต้องส่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ทุกปี และเรื่องนี้ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ก็ได้สอบถามมาว่ามีรายการนี้หรือไม่ ทางสหกรณ์ฯ ได้ส่งรายละเอียดให้กับกรมส่งเสริมในวันนี้ (วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม 2558) ว่าไม่มีในรายการนี้แน่นอน ประเด็นที่สอง หากคุณศุภชัยยืมเงินจากสหกรณ์ไป เวลานำไปถวายวัดก็ควรใช้ชื่อตัวเอง ทำไมเช็คทุกใบเป็นชื่อสหกรณ์ฯ คลองจั่น ทำไมไม่ใช้ชื่อตัวเอง จึงยืนยันว่าไม่มีในงบดุลตามที่คุณศุภชัยอ้าง ดังนั้น คดีที่เราขึ้น เป็นคดีที่ขึ้นว่าคุณศุภชัยเอาเงินจากสหกรณ์ฯ ไปเต็มจำนวน”

นอกจากนี้ นางประภัสสรได้กล่าวชี้แจงสมาชิกในสิ่งที่คณะกรรมการสหกรณ์ชุดที่ 30 ว่ากำลังดำเนินการอยู่ และทำความเข้าใจกับสมาชิกถึงขั้นตอนทางคดี ความคืบหน้าของคดีต่างๆ ว่าได้ดำเนินการฟ้องร้องไปกี่คดี แต่ละคดีเป็นวงเงินเท่าไหร่ และจะมีการนัดพิจารณาคดีวันไหน รวมทั้งจำนวนเงินที่ได้มีการยึดอายัดทรัพย์มาแล้ว ขั้นตอนการพิจารณาของศาลล้มละลายในวันที่ 20 มีนาคม 2558 นี้ และกระบวนการหลังจากศาลล้มละลายชี้ขาด สหกรณ์จะต้องทำอะไรอย่างไรต่อไป (ดูรายละเอียดคดีทั้งหมด)

คดีฟ้อง

คดีเรียกเงินคืน

คดีฟ้อง_1

“สำหรับหนี้ 818 ล้านบาท กรณีวัดพระธรรมกาย จะมีการพิจารณานัดไกล่เกลี่ยในวันที่ 16 มีนาคม นี้ ที่ศาลธัญญบุรี ทางวัดเปิดเผยมาแล้วว่าพร้อมที่จะคุย ซึ่งคุณไพบูลย์และคุณวิษณุ (อ่านในล้อมกรอบ) ได้ให้ความเห็นเรื่องเงินบริจาค ทำให้วัดมาคุยกับสหกรณ์ฯ ตัวเลขที่จะไกล่เกลี่ยก็มีการหารือกันแล้ว เอกสารต่างๆ หากเราไม่มั่นใจ เราไม่ขึ้นคดี เรามีเลขที่เช็คครบถ้วน รวมทั้งเส้นทางเงิน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะไกล่เกลี่ยได้เงินคืนมาเท่าใด และจะถอนฟ้องหรือไม่ เราจะมาชี้แจง”

ส่วนกรณีท่านพระครูปลัดวิจารณ์ที่รับเงินไป คดีนี้ศาลนัดพิจารณาวันที่ 28 เมษายน 2558 และอีก 2 คดี ศาลนัดวันที่ 28 เมษายน 2558 นี่คือการพิจารณาคดีรวม เพื่อให้คดีเสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว และคดีที่ขึ้นว่า พ. คือคดีพิเศษ เมื่อสืบพยานแล้ว จะสืบติดๆ กันทุกเดือนเลย จนกระทั่งตัดสิน ไม่เกินหนึ่งปี

นางประภัสสรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ 5 คดี เราคาดว่าจะได้เงินประมาณ 5,000 ล้านบาท เงินตัวนี้ที่จะมาเสริมสภาพคล่อง และถ้าศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ก็ทำให้เราสามารถทำแผนฟื้นฟูและสามารถจ่ายเงินคืนสมาชิกได้อย่างรวดเร็ว เราทำคดีได้รวดเร็วเท่าใด เงินจะกลับเข้ามาในระบบรวดเร็ว สหกรณ์ฯ จะฟื้นได้เร็ว ส่วนเงินที่เรายืมจากรัฐบาล 5,000 ล้านบาท เราก็ต้องเอามาลงทุน เพราะเงินนี้ต้องคืน และถ้าหากเงินที่ได้คืนจากคดีต่างๆ และเมื่อมีสภาพคล่องมากขึ้น การกู้ยืมน้อยลงได้ สิ่งที่ทำได้ดีคือหลุดจากการฟื้นฟูได้เร็วขึ้น

“ถ้ามีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ช่วงที่อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ จะไม่มีคณะกรรมการสหกรณ์ แต่จะมีผู้บริหารแผนฟื้นฟู และเจ้าพนักงานบังคับคดี ทั้งหมดจะเดินบนกระบวนการของศาลล้มละลายกลาง ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย”

นางประภัสสรได้ชี้แจงขั้นตอนให้สมาชิกเข้าใจว่า สมาชิกต้องส่งเงินค่าหุ้นให้สหกรณ์ทุกเดือน ตลอดแผนการฟื้นฟูกิจการ ทางผู้บริหารแผนจะไม่เอาขาดทุนสะสม 15,100 ล้านบาท มาตัดขาดทุน จะเอาไปแขวนไว้ก่อน เพื่อให้ผลประกอบการของสหกรณ์ฯ แต่ละปีจะเป็นไปตามที่เกิดขึ้นจริง ทำให้สหกรณ์ฯ สามารถจ่ายปันผลให้กับสมาชิกได้ ไม่เช่นนั้น สหกรณ์ฯ ไม่สามารถรักษาน้ำใจคนส่งหุ้นด้วยความสม่ำเสมอ และยังมีความรับผิดชอบต่อสหกรณ์ฯ ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์บอกให้เขียนเรื่องนี้ไว้ในแผนฟื้นฟู

“ในแผนฟื้นฟู จะแขวนขาดทุนสะสมนี้ไว้ก่อน และการทำกำไรที่เราคาดว่าปีที่ 1 ของการทำแผนเราจะสามารถจ่ายปันผลได้ นี่คือสิ่งที่เป็นหัวใจของการทำแผนฟื้นฟู ทั้งของสมาชิกที่ฝากเงินและผู้ถือหุ้น”

หากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ส่วนจะมีการแต่งตั้งผู้ทำแผนเลยหรือไม่ ถ้าศาลสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผน กระบวนการจะสั้นทันที เพราะเราจะประกาศโฆษณาคำสั่งได้เลย แต่ถ้าสั่งให้ฟื้นฟูและมีผู้บริหารชั่วคราว จะต้องมีการโหวตแต่งตั้งผู้ทำแผนฟื้นฟู การเข้าสู่กระบวนการเยียวยาจะช้าไปอีก

นางประภัสสรกล่าวถึงผู้ทำแผนฟื้นฟูว่า กฎหมายอนุญาตให้ลูกหนี้เป็นผู้ทำแผนได้ และกฎหมายอนุญาตให้บุคคลซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ทำแผนได้ด้วย แต่ในวันนี้ผู้ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงยุติธรรมไม่มี จึงมีลูกหนี้ที่ขอเป็นผู้ทำแผน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลว่าจะให้ลูกหนี้ทำหรือไม่ กล่าวคือศาลตัดสินได้เลย หรือสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปประชุมเจ้าหนี้เพื่อจะถามว่าจะรับผู้ทำแผนรายนี้ไหม หากสั่งเช่นนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องไปประชุมเจ้าหนี้ และต้องโหวตเจ้าหนี้ให้ได้เสียง 2 ใน 3 ว่าจะรับผู้ทำแผนรายนี้หรือไม่ หากเลือกโหวตแบบหลังนี้จะทำให้เกิดความล่าช้าและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

“วันนี้ไม่คนแข่งขันเป็นผู้ทำแผน ผู้ทำแผนคือลูกหนี้ แต่เนื่องจากสหกรณ์ฯ คลองจั่นเป็นนิติบุคคล จะต้องมีผู้ทำการแทน ผู้ทำการแทนลูกหนี้ที่ขอทำแผน คือคณะกรรมการชุดที่บริหารอยู่ในขณะนี้ ในวันนี้คือกรรมการชุดที่ 30 แต่ในอนาคตอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เพราะกรรมการอาจจะลาออกมีการแต่งตั้งเข้ามาใหม่ได้”

อย่างไรก็ตามขณะนี้ไม่มีคนรับจ้างทำแผนฟื้นฟู เพราะถ้าเป็นบุคคลที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงยุติธรรม หากเขาเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู เขาต้องวางประกัน 10 ล้านบาท เพราะมูลหนี้ที่เราขอฟื้นฟู 21,000 ล้านบาท เขาจึงขอเป็นที่ปรึกษากฎหมาย แต่ถ้าผู้ทำแผนเป็นลูกหนี้ กฎหมายอนุญาตให้ลูกหนี้เป็นผู้ทำแผนได้ และลูกหนี้ไม่ต้องวางประกัน นี่คือข้อกฎหมายที่มองว่าลูกหนี้เท่านั้นที่จะรู้ว่าตัวเองเสียหายตรงไหน แล้วก็การที่ลูกหนี้เข้ามาทำ ลูกหนี้จะรู้ดีและทำได้ดีกว่าคนอื่น

“ค่าจ้างที่ปรึกษาการเงินไม่ธรรมดา เราต้องตัดออกมาเป็นส่วนๆ เพื่อให้สามารถจ่ายเงินเขาได้ แต่จำเป็นต้องจ้าง เพราะเวลาคิดการใหญ่ในเรื่องใดก็ตาม ไม่ใช่เรื่องที่มโนเอาเอง ต้องมีเหตุและมีที่มา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนเขียนแผนฟื้นฟูและต้องไปขอยืมเงิน และส่งให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ดู และต้องระบุว่าใครเป็นผู้รับรองแผนฟื้นฟู ผู้ให้กู้เงินจึงจะให้กู้เงิน เมื่อให้กู้เงินแล้ว ทางกระทรวงเกษตรฯ ยอมช่วยเหลือในการจ่ายชดเชยดอกเบี้ยให้ ทำให้ต้นทุนเงินก้อนนี้ของสหกรณ์ต่ำ เพราะฉะนั้น คนที่จะมารับรองแผนฟื้นฟูจะต้องเชี่ยวชาญทางด้านการเงิน มีใบอนุญาต ดังนั้น การมาช่วย ก็ต้องมีค่าตัว ฆ่าเนื้อต้องไม่เสียดายเกลือ ไม่งั้นเนื้อจะเน่า แต่อันไหนที่เราทำเองได้ เราทำเอง”

ขณะเดียวกัน เราได้ทำแผนงาน ที่ส่งไปขอความเห็นชอบจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ว่าแผนนี้น่าจะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับสหกรณ์ ซึ่งได้มีการนำเสนอเพื่อตอบคำถามซักค้านครบถ้วนหมดแล้ว รวมทั้งคุณสมบัติผู้ทำแผน ทางคณะกรรมการสหกรณ์ก็มองบวกว่าผู้คัดค้านจะมีความเข้าใจและนึกถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งเพื่อให้กระบวนการฟื้นฟูกิจการเดินหน้าต่อไปได้

“สำหรับผู้คัดค้าน 56 ราย ถือว่าทุกคนได้เปิดเผยตัวตนในศาลแล้ว ท่านใช้สิทธิของท่านตามกฎหมายเพื่อคัดค้านการขอฟื้นฟูกิจการแล้ว ก็หวังว่าท่านจะยอมรับกระบวนการในการคัดค้านและคำตัดสินของศาล ทุกคนเป็นผู้เสียหาย อยากได้เงินคืน จึงคิดว่าเมื่อทุกคนมาในจุดเดียวกัน ยุติคือยุติ ไม่ว่าการทำแผนโดยไม่มีการประชุมเจ้าหนี้(แผนที่ยื่นประกอบขอฟื้นฟูกิจการ) เราได้ชี้แจงแล้วว่ายังไม่มีการทำแผนจนกว่าศาลจะสั่งให้ฟื้นฟู และที่บอกว่าไม่สุจริตเพราะไม่มีกฎกระทรวง หากเรายื่นใหม่อีกครั้งมีกฎกระทรวงเรียบร้อย การไม่มีกฎกระทรวงครั้งแรกศาลไม่ได้ติดใจ และการที่สหกรณ์ต้องล้มละลายเป็นเรื่องทุจริต ต้องถามว่าใครทุจริต กรรมการชุดนี้ (ชุดที่30) หรือการทุจริตเกิดขึ้นในยุคไหน มันเป็นการทุจริตตัวบุคคลหรือการทุจริตอะไร รอศาลตัดสิน”

นางประภัสสรชี้แจงต่อว่า “วันนี้คดีที่สหกรณ์ฯ ถูกฟ้องแล้ว 318 คดี ทุนทรัพย์ 2,000 กว่าล้านบาท จากสมาชิกและสหกรณ์ต่างๆ มีคำพิพากษาแล้ว 237 คดี และมีการจำหน่ายคดีไปชั่วคราว 33 คดี ถอนฟ้องไป 40 คดี ถ้าวันนี้คุณทำให้การหยุดพักหนี้ชั่วคราวหลุด คนเหล่านี้ที่ชนะคดีไปแล้ว จะมาเฉลี่ยหนี้กับคุณ บางคนที่ศาลพิพากษาแล้ว เขาคนเดียวเฉลี่ยหนี้เกลี้ยงเลย 800 กว่าล้าน เขาถือคำพิพากษาอยู่ในมือ ตอนนี้เขาบังคับสหกรณ์ไม่ได้เพราะคำสั่งศาลให้หยุดพักชำระหนี้ชั่วคราว นี่คือความสาหัสที่สหกรณ์ต้องฝ่าฟัน”

และวัตถุประสงค์ของการฟื้นฟูก็คือต้องการให้เจ้าหนี้ทุกคนได้รับการชำระหนี้เท่าเทียมกัน ไม่ว่าคุณเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเจ้าหนี้ที่ยังไม่ได้ฟ้องคดีหรือเจ้าหนี้ที่พิพากษาคดีและบังคับคดีสหกรณ์ฯคลองจั่นด้วย แต่คำบังคับของคุณถูกคาไว้ จากผลการขอฟื้นฟูกิจการ

“เราทำตัวเลขออกมา หากศาลให้สหกรณ์ฯล้มละลาย คุณจะได้รับเงินคืน 7% จากการขายทรัพย์ทุกชิ้นที่มีและใช้เวลา 3-4 ปีกว่าจะขายหมด วันนี้เรามีเงินเหลืออยู่เพราะไม่ต้องจ่ายเจ้าหนี้ 14 ล้าน ที่ดินที่เรานั่งอยู่ (อาคารยูทาวเวอร์ ถนนศรีนครินทร์) ก็ถูกอายัด เพราะสิทธิของเจ้าหนี้ที่เขาเข้าถึง เขาฟ้องและมีคำพิพากษาแล้ว ต้องถามในห้องนี้มีกี่คนที่เข้าถึงเช่นนี้บ้าง เรามีสมาชิก 56,000 ราย มี 300 กว่ารายที่เข้าถึงทรัพย์ด้วยการฟ้องคดี คนที่เข้าไม่ถึงและเสียเปรียบอยู่ขณะนี้คืออะไร นี่คือวิกฤติของสหกรณ์ก่อนที่เราจะขอฟื้นฟูและก่อนที่จะหยุดพักชำระหนี้ชั่วคราว วันนี้เรารักษาสิทธิของท่านที่ไม่สามารถเข้าถึง และให้สมาชิกได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในสหกรณ์นี้ หากทุกคนลุกขึ้นมาฟ้อง แล้วเกิดอะไรขึ้นกับสหกรณ์ คือล้มละลาย สหกรณ์มีทุน 4,000 ล้านบาท มีหนี้ 15,000 ล้านบาท สมาชิกลองเฉลี่ยหนี้เลยว่ามีเงินเท่านี้ เฉลี่ยแล้วคุณจะได้เงินกี่บาท”

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อภายหลังเรียกหารือ 4 หน่วยงาน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อภายหลังเรียกหารือ 4 หน่วยงาน

“วิษณุ” เผย 16 มี.ค. สหกรณ์-ธรรมกาย เคลียร์เงิน 684 ล้าน

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 ณ ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเรียก 4 หน่วยงาน คือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เข้ามารายงานความคืบหน้าที่ตนมอบหมายให้ไปตรวจสอบที่มาที่ไปของเงิน ในกรณีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ว่าโดยทั่วไปก็พอใจที่กับรายงานความคืบหน้าที่ได้รับ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ถูกต้องเรียบร้อยดีแล้ว โดยเน้นย้ำว่า จุดยืนเรื่องนี้คือ การให้ตรวจสอบการทุจริตในสหกรณ์ฯ คลองจั่น ส่วนเรื่องจะโยงไปที่ใครก็สุดแล้วแต่ หากพบว่าใครทำความผิดก็ต้องดำเนินคดี

นายวิษณุกล่าวต่อไปว่า จากรายงานตนได้ทราบว่า คดีในส่วนของสหกรณ์ฯ คลองจั่นนั้น มีทั้งในส่วนของคดีอาญา 3 คดี ที่เป็นการดำเนินคดีกับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ คลองจั่น กับพวก ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการในชั้นพนักงานสอบสวน หรือในชั้นพนักงานอัยการ และส่วนของคดีแพ่งอีก 3 คดี ที่สหกรณ์ฯ คลองจั่น ได้ฟ้องเรียกเงินกับนายศุภชัยกับพวก ซึ่งศาลจะนัดพิจารณาเรื่องนี้ในปลายเดือนเมษายน 2558

ส่วนกรณีที่สหกรณ์ฯ คลองจั่น จะดำเนินคดีกับวัดพระธรรมกาย หรือกับพระนั้น นายวิษณุกล่าวว่า ในส่วนนี้ยังมีคดีอีกหลายคดี ทั้งนี้ในเบื้องต้น ตนได้ทราบว่าโจทก์คือสหกรณ์ฯ คลองจั่น และจำเลยได้ตกลงว่าเงินในส่วนที่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายมีจำนวน 684 ล้านบาท

“หากเป็นการฟ้องว่าพระรูปนั้นรับเงินไป บัดนี้ก็ได้มีการแถลงรับกันเรียบร้อยแล้วว่า กรณีให้พระ ก ไม่เกี่ยวอะไรกับวัดก็ไปเรียกคืนจากพระองค์นั้นเอง กรณีที่บอกว่าพระ ข รับเงินไป รับเช็คไปไม่ได้เกี่ยวอะไรกับวัดก็ไปฟ้องเรียกเงินเอง ในส่วนที่เกี่ยวกับวัดแล้ววัดได้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นการให้วัดหรือให้พระไม่ว่าพระอะไรก็ตามตัวเลขนิ่งอยู่ที่ 684 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้ในวันที่ 16 มีนาคม 2558 ทั้งหมดก็จะต้องไปศาลก็จะต้องไปตกลงอีกทีว่าตัวเลขที่ตกลงกันแล้ว 684 ล้านบาท จะทำอย่างไรต่อไป”

ขณะเดียวกัน นายวิษณุระบุว่า ตนได้ทราบมาอย่างไม่เป็นทางการว่า ทางวัดพระธรรมกายมีดำริที่จะตั้งกองทุนรับบริจาค เพื่อที่จะหาทางนำเงินมาคืน ซึ่งวันนี้เรื่องที่เร่งด่วนที่สุดคือ การหาเงินมาคืนสหกรณ์ ไม่ว่าจะออกไปจากแหล่งไหนก็ตาม เพื่อที่จะชดใช้คืนให้กับสมาชิกสหกรณ์ โดยเฉพาะสมาชิกรายย่อย

ทั้งนี้นายวิษณุเปิดเผยว่า ในวันที่ 16 มีนาคม 2558 ภายหลังมีการตกลงกันในชั้นศาลของทั้ง 2 ฝ่าย เรื่องราวต่างๆ จะชัดเจนขึ้น พร้อมย้ำว่า วันนี้เรื่องที่พยายามทำอยู่คือเรื่องของการเอาเงินคืนมา เป็นเรื่องทางแพ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็พยายามเร่งรัด เนื่องจากไปเกี่ยวพันกับข้อกฎหมายหลายเรื่องจึงอาจเกิดความล่าช้าไปบ้าง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่อาจเกิดเหตุการณ์ม็อบชนม็อบ ส่วนเรื่องการจัดม็อบชนม็อบ ระหว่างพระ 2 ฝ่าย นายวิษณุกล่าวว่า ตนได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวเป็นระยะ แต่ยังไม่ต้องการจะพูดอะไรตอนนี้ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันคาดว่าทั้ง 2 ฝ่ายคงทำความเข้าใจกันได้แล้ว

“ณ นาทีนี้ ถ้าถามเมื่อเช้าคำตอบอย่างหนึ่ง ตอนนี้คำตอบอีกอย่าง กรณีนี้ไม่มีใครเป็นคนกลางไปทำความเข้าใจ แต่เป็นเพราะเมื่อทุกฝ่ายเริ่มมองเห็นประเด็น ซึ่งเริ่มต้นเป็นการออกมากดดันให้รัฐบาลยกเลิกคณะกรรมปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ซึ่งรัฐบาลก็ชี้แจงไปแล้วว่าไม่อยู่ในอำนาจ เพราะรัฐบาลไม่เป็นคนตั้ง ทางพระท่านก็เริ่มเข้าใจ หากถามว่าใครตั้ง ก็เป็นเรื่องของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และเมื่อบ่ายนี้ก็มีข่าวออกมาว่าคณะกรรมการปฏิรูปพุทธศาสนาขอยุบตัวเองเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้ว ก็เบาลงไปในระดับหนึ่ง”

ในวันเดียวกัน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ประกาศยุติการทำงานของคณะกรรมการดังกล่าว โดยเปิดเผยว่า คณะกรรมการได้พิจารณาศึกษาแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ในประเด็นสำคัญของพระพุทธศาสนาในสังคมไทย ผ่านการประชุมทั้งหมด 5 ครั้ง ได้เชิญผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้แทนสำนักพระพุทธศาสนา ผู้แทนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มาให้ข้อมูลเพื่อนำไปประกอบแนวทางการปฏิรูป

ขณะนี้ถือว่าคณะกรรมการชุดนี้ได้ปฏิบัติหน้าที่จนบรรลุเป้าหมายแล้ว จึงขอจบภารกิจหน้าที่ของคณะกรรมการเพียงเท่านี้ พร้อมทั้งส่งรายงานผลการพิจารณาศึกษาต่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. โดยมีประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น คือ 1. เรื่องศาสนสมบัติของวัดและของพระภิกษุสงฆ์ 2. เรื่องปัญหาของสงฆ์ที่ไม่ประพฤติไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย 3. เรื่องการทำให้พระวินัยวิปริตและการประพฤติ และ 4. เรื่องปกป้องคุ้มครองกิจการของฝ่ายศาสนจักร พร้อมให้มีกลไกในการปฏิรูปพระพุทธศาสนา และนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาปรับปรุงให้เกิดความชัดเจนต่อไป

นายไพบูลย์ยืนยันว่า แม้คณะกรรมการชุดนี้จะจบการทำงานแล้ว แต่ในฐานะอดีตคณะกรรมการปฏิรูปฯ จะประเด็นปัญหาทางพุทธศาสนาต่อไป อาทิ ความคืบหน้าเรื่องของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กรณียักยอกทรัพย์ให้กับพระธมฺมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายต่อไป รวมทั้งติดตามกรณีเรื่องพระภิกษุสงฆ์ถูกกลั่นแกล้ง พร้อมย้ำว่าแม้คณะกรรมการชุดนี้จะได้รับแรงกดดันจากสังคมเป็นอย่างมาก แต่การยุติบทบาทของคณะกรรมการไม่ได้เป็นผลจากกระแสคัดค้านแต่อย่างใด