ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > เปิดตัวโครงการ CoST เพิ่มความโปร่งใสก่อสร้างภาครัฐ – เปิดเผยข้อมูลทุกขั้นตอน

เปิดตัวโครงการ CoST เพิ่มความโปร่งใสก่อสร้างภาครัฐ – เปิดเผยข้อมูลทุกขั้นตอน

7 มีนาคม 2015


เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ จัดงานสัมมนาโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency Initiative หรือ CoST)
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ จัดงานสัมมนาโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency Initiative หรือ CoST)

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ จัดงานสัมมนาโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (หลักเกณฑ์ Construction Sector Transparency Initiative หรือ CoST) นำเสนอความจำเป็น รูปแบบ และแนวทางในการนำหลักเกณฑ์มาใช้กับโครงการก่อสร้างในประเทศไทย เพื่อลดความเสียหายจากการคอร์รัปชัน

นายเพตเตอร์ แมทธิว (Petter Matthews) เลขาธิการองค์กร CoST สากล (CoST International Secretariat) กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า ปัจจุบันโลกสูญเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล เนื่องจากการคอร์รัปชัน โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งที่เป็นภาคส่วนที่กระทบต่อประชาชนจำนวนมาก เป็นเครื่องมือที่จำเป็นต่อการสู้กับความยากจน รวมไปถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศผ่านงบลงทุนของรัฐ ขณะที่ในระยะยาวจะส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตสินค้ามากขึ้น และหักล้างหนี้สินต่างๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากโครงการเหล่านี้จะให้ผลตอบแทนจากตัวมันเองอย่างคุ้มค่า

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าโครงการก่อสร้างพื้นฐานจะถูกคอร์รัปชันไปประมาณ 10-30% ของมูลค่ารวม หรือคิดเป็น 4.86–145.9 ล้านล้านบาท จากมูลค่าคาดการณ์รวมของภาคก่อสร้างทั่วโลก ณ ปี 2568 ที่ 486 ล้านล้านบาท (15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) นอกจากความสูญเสียจากคอร์รัปชันแล้ว ความเสียหายจากการจัดการที่ไม่ดีและขาดประสิทธิภาพอาจจะมีมูลค่าระดับเดียวกันได้ การแก้ไขปัญหาจนสามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะสามารถรักษาความเสียหายทั่วโลกได้ปีละ 162 ล้านล้านบาท จากความเสียหายดังกล่าว สุดท้ายในปี 2555 ทั่วโลกจึงได้ริเริ่มนำระบบ CoST มาใช้งานอย่างเป็นทางการ หลังจากบทเรียนการโครงการนำร่อง 3 ปีก่อนหน้า

ผลลัพธ์อย่างย่อของโคร

ทั้งนี้ หลักการพื้นฐานของระบบ CoST จะพยายามเพิ่มความโปร่งใสในทุกๆ ขั้นตอนของโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งความโปร่งใสจะถือว่าเป็น “ตัวเร่งปฏิกิริยา” ที่จะช่วยลดการจัดการที่ไม่ดี, การคอร์รัปชันต่างๆ อีกด้านจะช่วยเพิ่มความคุ้มค่าของการใช้เงินงบประมาณ และสุดท้ายส่งส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นถนนที่ดีขึ้น โรงเรียนที่ดีขึ้น หรือโรงพยาบาลที่ดีขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ ระบบ CoST ยังยืดหยุ่นและเปิดโอกาสให้ปรับมาตรฐานระดับโลกที่ถูกกำหนดไว้ให้เข้ากับ “บริบทของท้องถิ่น” ผ่านการทำ “โครงการทดลอง” ในแต่ละประเทศ

นายเพตเตอร์กล่าวต่ออีกว่า ระบบ CoST มีส่วนประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ 1) การเปิดเผย (Disclosure) ต้องสร้างกลไกเปิดเผยข้อมูลที่ดี โดยอาจจะมีข้อตกลงได้ว่าข้อมูลประเภทใดควรเปิดเผยหรือไม่เปิดเผย 2) ความน่าเชื่อถือ (Assurance) ต้องมีการตรวจสอบว่าข้อมูลที่ถูกเปิดเผยมาน่าเชื่อถือและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง 3) ทำงานอย่างมีส่วนร่วม (Multi-Stakeholder Working) เป็นส่วนที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบและตัดสินใจจัดการให้ทุกส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะไม่มีทางที่ภาคส่วนเดียวจะขับเคลื่อนได้สำเร็จ และ 4) การมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง (Stakeholder Engagement) คือนอกจากเปิดเผยข้อมูลแล้ว ผู้มีส่วนได้เสียจะต้องเข้าร่วมกันอย่างจริงจัง เช่น ร่วมประเมินข้อมูลต่างๆ ว่าถูกต้องจริงหรือไม่ หรือตั้งคำถามเพิ่มเติมในเรื่องที่มีข้อสงสัยอยู่ เป็นต้น

ในทางปฏิบัติ ภาครัฐจะต้องเริ่มต้น “จัดตั้งกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย” หรือ Multi-Stakeholder Group (MSG) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ร่วมมือกันภายใต้หลักการการมีส่วนร่วม เท่าเทียมและเคารพซึ่งกันและกัน หลังจากนั้นจึงเริ่มออกแบบ “กระบวนการเปิดเผยข้อมูล” (Disclosure) และสร้าง “กระบวนการตรวจสอบข้อมูล” (Assurance) โดยกระบวนการหลัง อาจจะตั้งกลุ่มคนและมอบหมายให้ตรวจสอบข้อมูลที่เปิดเผยว่าถูกต้องแค่ไหนและเข้าใจง่ายหรือไม่ เป็นต้น เมื่อได้กระบวนการเปิดเผยข้อมูลและการตรวจสอบแล้ว จึงเลือกโครงการมา “ทดสอบ” ตามกระบวนการดังกล่าว ก่อนจะปรับปรุงและ “ขยายผล” ไปยังโครงการอื่นๆ ต่อไป

นายเพตเตอร์กล่าวถึงประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายจะได้รับจากระบบ CoST ว่า ภาครัฐจะใช้งบประมาณได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการบริการดีขึ้น ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการลงทุน สาธารณชนเชื่อมั่น และได้รับความไว้วางใจทางการเมือง (Political Reputation) ด้านภาคธุรกิจ ได้รับประโยชน์จากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่คาดเดาได้ ลดความเสี่ยง เพิ่มผลตอบแทนต่อการลงทุน ทำสัญญาทางธุรกิจที่ราคาเหมาะสมและมีคุณภาพ และมีการแข่งขันอย่างเท่าเทียม สุดท้าย ภาคประชาสังคม จะได้รับประโยชน์จากภาษีที่เสียอย่างเต็มที่ ได้รับบริการที่ดีขึ้น มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย มีความรับผิดรับชอบมากขึ้น และมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยมากขึ้น

“ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะประเทศไทย แม้แต่ในประเทศอังกฤษของผมก็มีปัญหาคอร์รัปชันในภาคก่อสร้าง แต่อีกด้านหนึ่ง ผมไม่คิดว่าจะมีประเทศที่ปราศจากประชาชนที่กล้าหาญ มีวินัย ตื่นตัว และพร้อมจะทำสิ่งที่ถูกต้อง และกำจัดคอร์รัปชันออกไป ด้วยเหตุนี้ ผมจึงอยากขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันก่อตั้ง CoST ขึ้นในประเทศไทย” นายเพตเตอร์กล่าว

 นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ
นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ

ด้านนายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า จากการศึกษาเปรียบเทียบเบื้องต้น (Scoping Study) เมื่อเปรียบเทียบมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของไทยเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าประเทศไทยยังไม่ค่อยมีการนำหลักการความโปร่งใส่ต่างๆ มาใช้ ไม่ว่าจะเป็น CoST, ความร่วมมือรัฐบาลเปิด (Open Government Partnership: OGP), และข้อตกลงว่าด้วยความโปร่งใสภาคอุตสาหกรรมขุดเจาะ (Extractive Industries Transparency Initiative: EITI) ขณะที่สัญญาคุณธรรม (Integrity Pact) ริเริ่มนำมาใช้บ้างแล้ว แต่ยังน้อยอยู่

นอกจากนี้ เมื่อดูดัชนีความมีส่วนร่วมและการรับรู้ของประชาชนเรื่องงบประมาณ (Open Budget Index) ประเทศไทยมีคะแนนที่ค่อนข้างต่ำที่ 23 คะแนน เทียบกับเกาหลีใต้, ฟิลิปปินส์, อินโดนิเชีย, มาเลเซีย, เวียดนาม และกัมพูชา  ที่ 81, 40, 25, 12, 10 และ 0 คะแนน  ตามลำดับ เช่นเดียวกับดัชนีความมีส่วนร่วมออนไลน์ (E-Participant Index) ของสหประชาชาติที่ประเทศไทยมีคะแนน 0.55 คะแนน เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วไปที่ 0.5 คะแนน ขณะที่เกาหลีใต้, สิงค์โปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, อินโดนิเชีย, กัมพูชา และ สปป.ลาว มีคะแนน 1.0, 0.9, 0.53, 0.5, 0.29, 0.2, 0.2 คะแนนตามลำดับ

ขณะที่เมื่อดูการเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่แล้ว พบว่ายังมีการละเลยที่จะปฏิบัติตามอยู่ ไม่ว่าจะมาจากช่องโหว่ของกฎหมายหรือแรงจูงใจบางอย่างที่จะไม่เปิดเผย แม้กฎหมายของไทยจะทันสมัยไม่แพ้ประเทศที่พัฒนาแล้ว ตัวอย่างเช่น รัฐวิสาหกิจ 1 ใน 4 ในปี 2555 ไม่ได้ส่งรายงานการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2540 ส่วนการเปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์ในปี 2556 มี 8% ที่ไม่มีการเผยแพร่เอกสารจัดซื้อจัดจ้างใดๆ  25% ไม่เผยแพร่ผลจัดซื้อจัดจ้าง และ 1.2% ไม่มีประกาศหรือหนังสือเชิญชวนใดๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างแยกแต่ละหน่วยงาน ไม่ได้ออกเป็นกฎหมายกลางหรือมาตรฐานเดียวกัน ทำให้เปิดเผยข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้

นายธิปไตรกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีเวทีอะไรที่ให้ภาครัฐ ประชาสังคม และเอกชน มาทำงานร่วมกัน ดังนั้น CoST จะเป็นระบบที่ทำให้การทำงานร่วมกันเป็นเวทีแรกๆ และจะเปิดเผยข้อมูลตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการและมีประสิทธิภาพ เช่น การคัดสาระสำคัญออกมา การแนบเอกสารจริง หรือเปิดเผยผ่านเว็บไซต์ซึ่งเข้าถึงได้ง่าย เป็นต้น โดยจะตั้งเป้าไปที่สามส่วน คือ ก่อสร้าง เทคโนโลยีสารสนเทศ และประชาสัมพันธ์ เนื่องจากมีการคอร์รัปชันมากที่สุด

“คำว่าความโปร่งใสบางทีอาจจะหมายถึงว่าเปิดเผยข้อมูล แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ แต่ต้องหมายถึงว่าข้อมูลที่เปิดเผยต้องเอาไปเผยแพร่ต่อและนำไปใช้ต่อไปได้ด้วย” นายธิปไตรกล่าว

นายบรรยง พงษ์พานิช
นายบรรยง พงษ์พานิช

ด้านนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) และหนึ่งใน คนร. กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจาก คนร. ให้ประสานงานมาตั้งแต่สิงหาคม 2557 ก่อนจะได้รับการตอบรับในเดือนพฤศจิกายน 2557 โดยปัจจุบันได้ตั้งคณะอนุกรรมการผู้มีส่วนได้เสีย 3 ฝ่าย หรือ MSG แล้วในการประชุมครั้งล่าสุด แบ่งเป็นภาครัฐ 4 ตำแหน่ง, ภาคประชาสังคม 3 ตำแหน่ง และธุรกิจก่อสร้าง 3 ตำแหน่ง ซึ่งคาดว่าจะใช้โครงการก่อสร้างของสนามบินสุวรรณภูมิเป็นโครงการนำร่อง

นายบรรยงกล่าวถึงข้อกังวลต่างๆ ว่า โครงการ CoST จะไม่เพิ่มต้นทุนให้แก่โครงการก่อสร้าง เนื่องจากความโปร่งใสเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่แล้วตั้งแต่แรก และถ้าจะมีต้นทุนจริงคงไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้ CoST ไม่ควรจะทำให้การก่อสร้างสะดุดได้ ถ้าไม่มีความผิดปกติอย่างร้ายแรง เพราะเป็นการนำข้อมูลมาเปิดเผยเท่านั้น

สุดท้าย นายบรรยงยังกล่าวถึงปัจจัยที่จะทำให้ระบบ CoST ประสบความสำเร็จว่าประกอบด้วย 1) คุณภาพของประชาชน ต้องทำการติดตาม ตรวจสอบอย่างจริงจัง 2) หน่วยงานตรวจสอบต่างๆ จะต้องรับลูกงานไปจัดการต่อ เนื่องจากระบบ CoST เป็นเพียงการเปิดเผยข้อมูลเท่านั้น 3) สื่อมวลชนต้องมีอิสระ พร้อมทำหน้าที่ตรวจสอบ ติดตาม โดยปราศจากอิทธิพล 4) ออกกฎหมายที่เอื้อต่อระบบ CoST และความโปร่งใส เช่น ต้องปกป้องบุคคลที่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เป็นต้น และ 5) ระบบ CoST ต้องต่อเนื่อง มีการขยายผลจากโครงการนำร่องต่อไป

“ที่ผ่านมาเรามักจะคิดว่า ถ้ามีคอร์รัปชัน ก็ตั้งองค์กรใหม่ องค์กรอิสระ ปราบปรามต่างๆ แต่องค์กรเหล่านี้มักจะตามไม่ทัน หรือไม่ก็เอาอำนาจต่างๆ ที่ได้เป็นสินค้าแทน ผมไม่กล่าวหาใครนะครับ เพราะอำนาจกับดุลพินิจมักจะเป็นสินค้าที่ดีที่สุดของคอร์รัปชันเสมอ แต่กระบวนการ CoST เป็นการใช้ความโปร่งใส มีส่วนร่วม สุดท้ายไปถึงประชาชน เป็นหลักการที่มีพลวัตและได้ผลมากที่สุด จริงๆ ความโปร่งใสไม่ใช่เป้าหมายในตัวมันเอง มันปราบคอร์รัปชันไม่ได้หรอก สิ่งที่เราต้องการคือความรับผิดรับชอบ แต่ความโปร่งใสจะเป็นตัวกลางที่กดดันให้รัฐมีความรับผิดรับชอบเอง” นายบรรยงกล่าว