ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม.อนุมัติงบ 6.5 หมื่นล้านช่วยเหลือ SMEs ผ่าน “เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ-ค้ำประกันสินเชื่อ”

ครม.อนุมัติงบ 6.5 หมื่นล้านช่วยเหลือ SMEs ผ่าน “เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ-ค้ำประกันสินเชื่อ”

17 มีนาคม 2015


ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/100315_krit_1/100315krit1-55249.html
ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ (ขวา) โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/100315_krit_1/100315krit1-55249.html

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการให้ความช่วยเหลือวิสาหกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs จำนวน 1 โครงการและ 1 มาตรการ ประกอบด้วย

1.โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Policy Loan เพื่อช่วยเหลือประคับประคอง SMEs ขนาดเล็ก ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ในขณะที่สภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวและสถาบันเอกชนยังชะลอการปล่อยสินเชื่อ และส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็กที่พอจะมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องปรับปรุงกิจการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้สามารถก้าวข้ามวัฏจักรขึ้นเป็นขนาดกลาง และเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC สามารถขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาด เป็นการสร้างเครดิตให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการมีสถาบันการเงินของรัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุน วงเงินทั้งหมด 15,000 ล้านบาท แต่ในส่วนอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนยังต้องให้กระทรวงการคลังไปดูรายละเอียดต่อไป

2.มาตรการเพิ่มวงเงินที่รัฐบาลชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน SMEs ในปีแรก โดยให้บรรษัทประกันสิเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อผ่านโครงการ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 5 เพิ่มอีกจำนวน 50,000 ล้านบาท เพื่อช่วยให้ SMEs สามารถได้รับสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ และช่วยให้เกิดสภาพคล่องทางการเงิน และมีการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจไทยมากขึ้น

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า เดิมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (กขย.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้เสนอให้ที่ประชุมเห็นชอบ จำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย1.โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Policy Loan 2.โครงการ Machine Fund เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและกระบวนการผลิตให้กับ SMEs โดยการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพและรองรับการขาดแคลนแรงงานในอนาคต 3.โครงการขยายธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ให้ครอบคลุมพื้นที่ๆ เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ 4.โครงการจัดตั้งเว็บไซต์เพื่อสร้างช่องทางจัดจำหน่วยสินค้าในประเทศไทยและในกลุ่ม ASEAN+5 5.โครงการศูนย์ให้บริการธุรกิจ SMEs แบบครบวงจร

และอีก 5 มาตรการ ประกอบด้วย 1.มาตรการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐสามารถผ่อนปรนการวิเคราะห์สินเชื่อให้กับ SMEs ที่ติดแบล็กลิสต์กับเครดิตบูโร โดยพิจารณาจากความตั้งใจของผู้ประกอบการ สถานะ และผลประกอบการธุรกิจในปัจจุบัน 2.มาตรการผ่อนปรนการปฏิบัติตามมติคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) วันที่ 17 ธันวาคม 2557 โดยให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอีแบงก์)ปล่อยกู้แก่ลูกค้าเอสเอ็มอีจากเดิมไม่เกิน 15 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย 3.มาตรการเพิ่มวงเงินที่รัฐบาลชำระเงินค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน SMEs ในปีแรกที่ให้บสย.ค้ำประกันสินเชื่อผ่านโครงการportfolio guarntee Scheme ระยะที่5 เพิ่มอีก 50,000 ล้านบาท

4.มาตรการโอนอำนาจจากกระทรวงการคลังเพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย กำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 ออกไปจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว 5.มาตรการทบทวนการกำหนดตัวชี้วัดของ SFIs ให้สอดคล้องกับพันธกิจ

แต่ที่สุด ที่ประชุม ครม.ก็มีมติเห็นชอบเพียง 1 โครงการและ 1 มาตรการ ในการช่วยเหลือ SMEsตามรายละเอียดข้างต้น

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การดูแลผู้ประกอบการ SMEs ก็มีการทบทวนมติต่างๆ เพราะหลาย SMEs ก็อยากมีเงินไปปรับปรุง แต่ต้องเข้าใจว่า SMEs ส่วนใหญ่ ถ้าเป็นลูกค้าชั้นดี ธนาคารก็คงให้กู้ไปหมดแล้ว ดังนั้นที่เราจะช่วยเหลือคือ SMEs กลุ่มที่ยังอยู่ระหว่างตั้งไข่ ก็จะหาทางไปดูว่าจะช่วยเหลือได้อย่างไร