ThaiPublica > คอลัมน์ > กรณีกรมการบินพลเรือนสอบตก ICAO ระเบิดเวลาลูกแรกได้เริ่มปะทุขึ้นแล้ว

กรณีกรมการบินพลเรือนสอบตก ICAO ระเบิดเวลาลูกแรกได้เริ่มปะทุขึ้นแล้ว

30 มีนาคม 2015


บรรยง พงษ์พานิช

สืบเนื่องจากบทความ “ระเบิดเวลา ประเทศไทย” ของ ดร.วิรไท สันติประภพ ในคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์พเนจร” วันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา

“ดร.ก็” ได้พูดถึงความกังวลที่มีต่อความอ่อนแอและบกพร่องของระบบราชการไทยที่มีอยู่อย่างมากมาย มีปัญหาที่ถูกละเลยและซุกซ่อนไว้ใต้พรมกระจายอยู่แทบทุกหน่วยงานตลอดมา โดยหนึ่งในตัวอย่างที่ยกมา ก็ได้แก่ความบกพร่องร้ายแรงของกรมการบินพลเรือน ที่ทำให้ประเทศไทยต้องเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติร้ายแรงด้านอุตสาหกรรมการบิน และอาจลามไปสู่การท่องเที่ยวและด้านอื่นๆ ด้วย ดร.ก็ ระบุว่า ความอ่อนแอของระบบราชการไทยจะเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่จะทำให้เกิดปัญหาถึงขั้นวิกฤติได้

ผมเองก็ได้พยายามวิเคราะห์ให้เห็นตลอดมาว่า ทั้งๆ ที่โลกได้พิสูจน์แล้ว ว่ารัฐที่ “แสนดี และ แสนเก่ง” นั้นไม่มีอยู่จริง แต่ประเทศเรากลับมุ่งขยายภาครัฐไม่หยุดหย่อน ทั้งรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงินของรัฐ นโยบายประชานิยมสุดขั้วที่ซ่อนความเสียหายไว้ รวมทั้งระบบราชการที่สถาบันอนาคตไทยศึกษาระบุว่าขยายจำนวนถึง 50% ในสิบปีที่ผ่านมา และมีเงินเดือนสวัสดิการรวมเพิ่มถึงสามเท่าตัว นี่เองคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เรากลายเป็น “คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย” (The New Sick Man of Asia)

เหตุการณ์ที่เกิดที่กรมการบินพลเรือน ซึ่งถือว่าเป็นกรมเกรดเอ นี่เป็นเรื่องเหลือเชื่อจริงๆ International Civil Aviation Organization (ICAO) ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ ทำหน้าที่กำหนดและตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ทางด้านการบินพลเรือน ได้เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานการควบคุมสายการบินของเราพร้อมๆ กับประเทศอื่นๆ ใน ASEAN เมื่อต้นปี แล้วประกาศผลไปเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งผลนั้นคงทราบกันดีแล้วว่า เด็กชายไทยแลนด์สอบตกยับเยินได้ที่โหล่ เราได้คะแนนแค่ 35.6% แพ้แม้กระทั่งเขมร (40.2%) อินโดฯ (45.1%) ซึ่งเป็นอีกแค่สองชาติที่สอบตกได้ไม่ถึงครึ่ง ส่วนบรูไน พม่า ลาว ที่ต่างก็มีเครื่องบินพลเรือนไม่กี่ลำ ต่างก็ได้ 65% คะแนน เกือบสองเท่าเรา ในขณะที่มาเลเซีย ที่เครื่องเพิ่งตกไป 3 ลำในปีเดียวก็ผ่านฉลุย 81% ส่วนสิงคโปร์ของท่านลีนั้นไม่ต้องพูดถึง ฟาดไป 98.9% เกือบสูงสุดในโลก ควบคู่ไปกับ UAE ที่มี Emirates กับ Etihad (เห็นได้ชัดว่าคู่แข่งเจ้าจำปีเราอยู่ในประเทศที่มาตรฐานสูงลิ่วทั้งนั้น แล้วจะไปเหลือเหรอครับ)

การตรวจสอบครั้งนี้เป็นไปตามมาตรฐานที่ชื่อว่า ICAO Universal Safety Oversight Audit Program (USOAP) ซึ่งล้วนเป็นข้อสอบที่ทุกคนรู้โจทย์อยู่ล่วงหน้าหมดแล้ว ทุกคนรู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้างเมื่อไหร่ ต้องทำเข้มข้นแค่ไหน (เขาถึงได้เกือบเต็มกันหมดไงครับ) นับว่าง่ายกว่าการที่ให้เด็กไทยไปสอบแข่ง PISA เป็นไหนๆ แต่ข้าราชการไทยก็ทำขายหน้ายิ่งกว่าเด็กได้ถึงเพียงนี้ จาก 100 กระบวนการที่เขาตรวจสอบ เราสอบผ่านแค่ 21 กระบวนการเท่านั้น เรียกได้ว่ามีแต่ประเทศด้อยพัฒนาแถวแอฟริกาเท่านั้นที่ได้คะแนนห่วยขนาดนี้ มันช่างอัศจรรย์ ไม่น่าเชื่อเลยจริงๆ และมันก็เลยชวนให้เข้าใจได้อย่างเดียวเท่านั้นว่า ไม่ทำงาน ไม่เอาใจใส่ ไม่รับผิดชอบ ไม่…ฯลฯ และถ้าจะคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า เขาได้ตักเตือนถึงข้อบกพร่องตลอดมา กับไอ้สำนักงาน ICAO ของภาคพื้น Asia-Pacific ก็ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครเรานี่เอง โดยรัฐบาลไทยหาที่ดินพร้อมก่อสร้างให้ฟรีๆ ด้วยซ้ำ ก็ยิ่งจะต้องชอกช้ำกลัดหนองขึ้นไปใหญ่

การสอบตกนี้มีผลอย่างไร ก็จริงอย่างที่กระทรวงคมนาคมพยายามชี้แจงแหละครับว่า ICAO ไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายอะไร มันขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่าจะนำไปใช้บังคับมากน้อยอย่างไรหรือไม่ และขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกเรื่องความปลอดภัย เพราะมันหมายถึงผู้ตรวจสอบไม่ได้มาตรฐานเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าแต่ละสายการบินจะไม่ปลอดภัย แต่นั่นแหละครับ มันเปรียบเสมือนว่า คุณครูเฉื่อยแฉะ นั่งหลับพุงยื่นน้ำลายไหลทั้งวัน ไปสอบก็ตกยับ แล้วจะให้ใครเชื่อล่ะครับ ว่านักเรียนในชั้นล้วนเก่งกาจแข็งแรง มีระเบียบวินัยยอดเยี่ยม ตอนนี้เลยเห็นได้ชัดว่า หลายชาติ (เช่น ญี่ปุ่น) ได้เริ่มมีมาตรการเข้มงวดกับสายการบินจากไทยแล้ว ห้ามเพิ่มเที่ยวบิน ห้ามเปลี่ยนแบบเครื่องบิน ห้ามเช่าเหมาลำ กับทั้งยังขึ้นตรวจตามเที่ยวบินต่างๆ อย่างเข้มงวด (ซึ่งในอดีต Garuda ของอินโดนีเซีย ที่ประเทศเคยสอบตกเหมือนกัน เคยถูกตรวจพบข้อบกพร่องเพียงเล็กน้อย ก็เลยถูกสั่งห้ามบินเข้ายุโรป 18 เดือน เกือบเจ๊งไป ซึ่งถ้าการบินไทยที่ย่ำแย่สาหัสอยู่แล้วโดนเข้าไปก็คงต้องเอวังแน่นอน)

ตอนแรกที่เป็นข่าวในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ กรมฯ และกระทรวงคมนาคม พยายามบอกว่า น่าจะแก้ไขได้ภายใน 90 วัน แต่มาวันนี้กลับบอกว่า คงจะทำอะไรไม่ได้ ไม่ทันแล้ว คงต้องยอมให้ ICAO ยกธงแดงหน้าชื่อประเทศไทย ซึ่งก็หมายความว่า 28 สายการบินที่ได้รับใบอนุญาตจากไทย เครื่องบินหลายร้อยลำ จะต้องอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะถูกข้อจำกัดต่างๆ ตามแต่ที่แต่ละประเทศจะเห็นสมควร ตั้งแต่จำกัดเที่ยวบิน ลดเที่ยวบิน หรืออาจไปถึงงดบินเลยก็ได้ ซึ่งก็ยังหมายความว่า อุตสาหกรรมการบินของไทยที่มีขนาดร่วมสี่แสนล้าน กำลังเดินเข้าสู่ภาวะวิกฤติอย่างน่าเป็นห่วง และอาจลามไปกระทบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมูลค่ากว่าหนึ่งล้านล้านไปด้วย ทั้งหมดนี่มาจากสาเหตุที่ข้าราชการกรมเดียวไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่

ยิ่งไปฟังคำแก้ตัวของกรมการบินพลเรือน ก็ยิ่งขมขื่นจนอยากเอาหัวโขกต้นหูกวางหน้ากระทรวงนัก ท่านอธิบดีบอกว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะเราขาดงบประมาณ ขาดกำลังคน มีเจ้าหน้าที่ด้านนี้แค่ 11 คน ต้องดูแลใบอนุญาตตั้ง 46 สายการบิน แถมงานนี้ต้องการช่างเทคนิคที่มีทักษะ แต่เงินเดือนข้าราชการไม่สูงพอ เลยหาคนไม่ได้ ทีงบประมาณสร้างสนามบินตั้ง 28 แห่ง กำลังคนดูแลสนามบินที่มีค่าใช้จ่ายสูง จัดหาได้สะดวกตลอดมา

ดูวิธีแก้ปัญหายิ่งเศร้าหนัก มีแต่คำว่าอาจจะ อาจจะขอให้บางประเทศส่งทีมมาช่วย จะลองติดต่อออสเตรเลียบ้าง สิงคโปร์บ้าง ว่าว่างมาดูแลให้หรือเปล่า (ผมว่ากราบขอร้องลาวเถอะครับ อย่างน้อยก็พูดกับเรารู้เรื่องดี) บ้างก็ว่าจะขอให้ท่านนายกฯ โทรขอร้องท่านอาเบะ นายกฯ ญี่ปุ่น ที่คุ้นเคยกันให้ผ่อนผันให้ไปก่อน (ผมอยากพนันว่าท่านอาเบะคงไม่กล้าเอาเรื่องความปลอดภัยของประชาชนมาแลกเปลี่ยนกับความคุ้นเคยนะครับ บิ๊กตู่ของเรามีสิทธิ์หน้าแตกสูงถ้าเขาปฏิเสธมา) ดูไม่เห็นมีแผนที่น่าเชื่อถือเป็นรูปธรรมสักเท่าใด เอาเป็นว่าเหมือนลอยแพสายการบินให้ช่วยเหลือตนเอง ต่างคนต่างวิ่งวุ่นเพื่อเอาตัวรอดให้ยังดำเนินกิจการต่อไปได้

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากที่ควรนำมาเป็นบทเรียนและหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก จะต้องดำเนินการสืบสวนและเปิดเผยออกมาว่า “มันเกิดขึ้นได้อย่างไร” ใครต้องรับผิดชอบบ้าง อธิบดีและอดีตอธิบดีกี่คนที่ละเลย ทำให้เกิดความเสียหายได้มากถึงเพียงนี้

นี่แหละครับ “ระบบราชการไทย”… ยังไม่รู้ว่ามีเรื่องน่ากลัวอื่นๆ ซุกซ่อนอยู่อีกมากน้อยเท่าไหร่ ระเบิดเวลาได้เริ่มระเบิดขึ้นแล้ว ยังไม่รู้เลยว่าจะลุกลามใหญ่โตก่อให้เกิดความเสียหายสักเท่าใด และก็ไม่รู้ว่าลูกระเบิดอื่นๆ ที่เหลือจะระเบิดเมื่อไหร่ จะมีคนถอดสลักมันได้สำเร็จสักเท่าใด

Amazing Thailand

ตีพิมพ์ครั้งแรก: เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 29 มีนาคม 2558