ThaiPublica > คอลัมน์ > ปราบคน “โกงชาติ” “โกงแผ่นดิน”

ปราบคน “โกงชาติ” “โกงแผ่นดิน”

17 กุมภาพันธ์ 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ที่มาภาพ : https://pbs.twimg.com/profile_images/1650003464/logo.jpg
ที่มาภาพ : https://pbs.twimg.com/profile_images/1650003464/logo.jpg

เห็นภาพคนพลิกดูประกาศเปิดเผยทรัพย์สินของคณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่แขวนไว้ข้างฝาเป็นปึก ตลอดจนสถิติการมาประชุมและลงคะแนนของสมาชิกรัฐสภาแล้วรู้สึกขำ คนเราจะพยายามหลบความโปร่งใสอะไรกันได้ขนาดนั้น ถ้าเราต้องการปราบคอร์รัปชันกันจริงจังแล้ว ข้อมูลนี่แหละเปรียบเสมือนอาวุธที่คมกว่าคำพูดมนุษย์ และคมกว่าดาบเป็นไหนๆ

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ บรรยายที่ วปอ. เมื่อเร็วๆ นี้ในลักษณะที่ฝรั่งกล่าวถึงคนสูงอายุที่พูดอย่างไม่ต้องเกรงใจใครแล้วว่าท่าน “speak his mind” ท่านพูดได้โดนใจคนไทยค่อนประเทศ ในตอนหนึ่ง “…ผมเคยถามเรื่องคดีว่าทำไมคดีโกงเรื่องนี้ไม่เสร็จเสียทีนานแล้ว เขาก็จะตอบว่าขั้นตอนเยอะ แต่ผมก็บอกว่าขั้นตอนสามารถแก้ได้ ประเทศไทยมีศาลมากมาย ทั้งศาลยุติธรรม ศาลภาษี ซึ่งถ้าเราจะตั้งศาลฉ้อราษฎร์บังหลวงดีหรือไม่ เอาคดีนี้ไปดำเนินการให้เร็ว เพื่อลดขั้นตอนให้เร็ว ช่วยกันตั้งดีหรือเปล่า …

การใช้กฎหมายกับคนโกงชาติ โกงแผ่นดิน ต้องใช้ในลักษณะหลักนิยมของทหารม้า ที่บอกว่ารวดเร็ว รุนแรง เด็ดขาด ผมคิดว่าการเล่นงานคนโกงต้องใช้หลักการเหล่านี้ ต้องเร็ว ลงโทษรุนแรง มีความเด็ดขาดในการปราบปราม เพื่อให้มีคนดีมากกว่าคนโกง…”

สิ่งที่พลเอก เปรมพูดตรงกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ซึ่งเป็นแนวศึกษาสมัยใหม่ว่า “มนุษย์ไม่กลัวภัยไกลตัว หากกลัวสิ่งที่คิดว่าเป็นภัยใกล้ตัว” มนุษย์รู้ดีว่าเหล้าบุหรี่ การบริโภคอาหารมากเกินความพอดีบั่นทอนสุขภาพแต่ก็ไม่กลัว ยังคงดื่ม สูบ กิน เป็นปกติเพราะเห็นว่าภัยอยู่ไกลตัว แต่ถ้ามีใครเอาปืนไปจ่อหัวบังคับไม่ให้ทำสิ่งเหล่านี้แล้ว มนุษย์จะหยุดทันทีเพราะคิดว่า (ไม่ต้องคิดละเพราะเห็นกันจะจะ) ถูกยิงตายแน่หากไม่หยุด

ถ้าคดีคอร์รัปชันใช้เวลาเป็น 10 ปี และมีโอกาสหลุดสูง ระหว่างเวลานั้นก็ใช้เงินทองที่โกงมาอย่างสนุกสนานแถมเอาเงินที่โกงมาไปต่อยอดให้รวยยิ่งขึ้นอีกด้วย อย่างนี้ไม่มีใครกลัวคอร์รัปชัน แต่ถ้าการลงโทษรวดเร็ว รุนแรง และเด็ดขาดแล้ว ความกล้าที่จะโกงก็หดหายไปเพราะเปรียบเสมือนกับถูกเอาปืนจ่อหัว

คำพูดของพลเอกเปรมสะใจคนจำนวนมากที่หน่ายใจกับความไม่ศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายในเรื่องคอร์รัปชัน การดูเหมือนว่าไม่มีใครใส่ใจจริงจัง ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ท่านใช้คำแรง เช่น “โกงชาติ” “โกงแผ่นดิน” “การติดเชื้อโรคการโกง”

แกร์รี เบกเกอร์ (Garry Becker) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลในปี 1992 ได้นำเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์กับสังคมวิทยาเพื่ออธิบายปรากฏการณ์หลายเรื่องเช่นในเรื่องคอร์รัปชันซึ่งก็คือ “การเอาอำนาจที่รัฐมอบให้เพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะมาเป็นประโยชน์แก่ตนเอง”

เบกเกอร์เชื่อว่ามนุษย์ใช้เหตุใช้ผลในการตัดสินใจโดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามที พฤติกรรมของมนุษย์เป็นไปตามแรงจูงใจ โดย “แต่ละคนพยายามแสวงหาสิ่งที่ตนเข้าใจว่าเป็น ‘สวัสดิการ’ (welfare) ให้มากที่สุด ซึ่ง “สวัสดิการ” ในที่นี้มิได้หมายถึงรายได้เท่านั้น หากหมายถึง “ความพอใจจากการทำสิ่งดีๆ ให้คนอื่น หรือความตื่นเต้นจากอะไรที่แหกคอกออกไปก็ตามที”

ในการคอร์รัปชัน ผู้กระทำเป็นคนมีเหตุมีผลในการลงมือ เมื่อใดที่ “สวัสดิการ” หรือผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดจากคอร์รัปชันสูงกว่าต้นทุน หรือผลเสียแล้วจะลงมือเสมอ

ในด้านผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับประกอบด้วยสองส่วนคือ (ก) ความเป็นไปได้ในการได้รับผลประโยชน์กับ (ข) ขนาดของประโยชน์ กล่าวคือถ้าคอร์รัปชันนั้นง่ายก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับสำหรับด้านผลเสียก็ประกอบด้วยสองส่วนคือ

(ก) ความเป็นไปได้ในการถูกลงโทษและ (ข) กับบทลงโทษ ด้วยคำอธิบายเช่นนี้ เบกเกอร์ชี้ทางสวรรค์ให้เห็นว่าสิ่งที่จะหยุดยั้งคอร์รัปชันนั้นไม่ใช่บทลงโทษแต่เพียงอย่างเดียวหากแต่เป็นความเป็นไปได้ในการถูกลงโทษอย่างหนักซึ่งขึ้นอยู่กับการถูกจับและความรุนแรงของบทลงโทษ

ถ้าคอร์รัปชันแล้วไม่เคยมีใครถูกจับเลย ไม่ว่าบทลงโทษสูงแค่ไหน คอร์รัปชันก็จะเกิดขึ้นเสมอ ดังนั้น ประสิทธิภาพของการลงโทษซึ่งก็คือประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการสู้กับคอร์รัปชัน

ถ้าทุกการคอร์รัปชันถูกจับลงโทษอย่างรุนแรง เด็ดขาด อย่างทันควัน คนทำก็จะเห็นเป็นภัยใกล้ตัว ความเกรงกลัวก็จะเกิดขึ้น แต่ถ้าคดีเรื่อยเฉื่อยแฉะและเพียงถูกเขกเข่า ในท้ายสุดคอร์รัปชันก็บานเป็นดอกเห็ด

การตั้งคณะกรรมการระดับชาติที่นาน่ายินดีที่ขณะนี้มีการเคลื่อนไหวกันในเรื่องปราบคอร์รัปชันจากภาครัฐ มียกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกรรมการอีกหลายชุด ทั้งหมดเป็นความพยายามที่ดี แต่ถ้าจะให้ประชาชนซาบซึ้งในความเอาจริงในเรื่องคอร์รัปชันแล้ว เรื่องที่สามารถทำได้ทันทีเป็น Quick Wins ก็คือ (1) ขอให้ ป.ป.ช. DSI ตำรวจ และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องรายงานความก้าวหน้าของคดีคอร์รัปชันที่อยู่ในมือทั้งหมดให้ประชาชนทราบว่าขณะนี้เดินทางถึงจุดไหนแล้ว และคดีจะหมดอายุความเมื่อใด (คดีที่คนร้ายจำนวนเท่าทีมฟุตบอลเข้าไปขนเงินบ้านปลัดกระทรวงคมนาคม คดีรับสินบนของผู้ว่าการการท่องเที่ยวที่ยาวนานจนฝรั่งผู้จ้างได้ติดคุกจนออกมาแล้ว คดีคอร์รัปชันก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิหลายคดี ฯลฯ)

(2) ขอให้มีการเร่งรัดคดีคอร์รัปชันทุกคดีในทุกหน่วยงานให้เห็นผลชนิดที่เห็นว่ามีการเคลื่อนไปอีกก้าวหนึ่งในทิศทางที่เอาคนผิดเข้าคุกในเวลาหนึ่งเดือน

แค่นี้คนก็จะแซ่ซ้องกันทุกแห่งหน และมิได้เป็นการแทรกแซง มิได้ทำลายความปรองดอง (เอาคนคอร์รัปชันเข้าคุกมันเกี่ยวกับการให้คนเลิกขัดแย้งกันตรงไหน) หากแต่เป็นการดำเนินการทางกฎหมายที่ประเทศใดๆ ในโลกเขาก็ทำกันทั้งนั้น เกาหลีเอาอดีตประธานาธิบดีติดคุกมา 2 คนแล้ว อดีตประธานาธิบดีไต้หวันยังอยู่ในคุก อดีตประธานาธิบดีอิสราเอลก็ติดคุก อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียก็ยังอยู่ในคุก ฯลฯ

ความโปร่งใส (transparency) เป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ที่ป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันได้ชะงัด ถ้าข้าราชการและพนักงานของรัฐระดับสูงเช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาต้องเปิดเผยทรัพย์สินต่อสาธารณชนแล้ว ข้อมูลที่เปิดเผยเหล่านี้แหละจะตามมาปาดคอถ้าฉ้อราษฎร์บังหลวงไว้ อีกทั้งเป็นจุดอ้างอิงของทรัพย์สินที่จะเพิ่มขึ้นในวันหน้า

แต่ถ้าเป็นการเปิดเผยแบบปะข้างฝาแล้วก็น่าขบขัน มันจะต้องเป็นข้อมูลที่อยู่ในรูปที่สามารถนำไปวิเคราะห์ต่อได้เชิงอิเล็กทรอนิกส์ดังที่เรียกว่า machine processable อีกทั้งต้องเปิดเผยให้รู้เสมอหน้ากันไม่ใช่ให้บางกลุ่มรู้ และต้องเป็นข้อมูลพื้นฐาน มิใช่สรุปวิเคราะห์มาเรียบร้อยแล้วซึ่งอาจถูกบิดเบือนได้

คนขี้โกงนั้นกลัวความโปร่งใสเหมือนผีกลัวใบหนาด ประเด็นการปราบคนโกงแผ่นดินให้ได้ผลชะงัดอยู่ตรงที่การทำให้ใบหนาดสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผีได้จริงๆ ไม่ใช่แค่เพียงทำให้คันๆ เพราะใบหนาดถูกธนบัตรลูบขนไปหมดแล้ว

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคาร 10 ก.พ. 2558