ThaiPublica > คนในข่าว > รักษ์ป่าน่าน : เมื่อนายแบงก์เปลี่ยนบทบาทเป็นนักพัฒนา “บัณฑูร ล่ำซำ” รู้รักษ์ป่า รู้รักษ์น้ำ

รักษ์ป่าน่าน : เมื่อนายแบงก์เปลี่ยนบทบาทเป็นนักพัฒนา “บัณฑูร ล่ำซำ” รู้รักษ์ป่า รู้รักษ์น้ำ

20 กุมภาพันธ์ 2015


รักษ์น้ำ “น้ำคือชีวิต” ดังพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2529 “…หลักสำคัญต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…”

รักษ์ป่า พระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถให้ดำเนินโครงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและการอยู่ร่วมกันของคนและป่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า…”

รักษ์น่าน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงสานต่อโครงการรักษ์น้ำรักษ์รักษ์ป่าด้วย “..รักษ์ป่า สร้างอาชีพ ปลูกจิตสำนึก…”

โครงการรักษ์ป่าน่านได้เริ่มขึ้นและประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2557 โดย “บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย นายแบงก์ที่ผันตัวเองมาเป็นนักพัฒนา มาเป็นชาวน่านหรือ “นันทบุรีศรีเมืองน่าน” บอกว่า วันนี้เราต้องตั้งโจทย์ว่าจะหยุดการทำลายป่าได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาเราปลูกป่าแต่ปลูกเท่าไรก็ไม่ทันการทำลายป่า เป็นโครงการรักษ์ป่าน่านครั้งที่ 1[รักษ์ป่าน่าน (ตอน1) …”บัณฑูร ล่ำซำ” ชี้ยุทธศาสตร์ตาจากฟ้าแจกสมุดพกชุมชน เครื่องมือ “ดูแลป่าต้นน้ำ” ป้องกันป่าหายปีละแสนไร่]

นายบัณฑูร ล่ำซำ บรรยายหัวข้อ"รู้รักษ์ป่า รู้รักษ์น้ำ"
นายบัณฑูร ล่ำซำ บรรยายหัวข้อ “รู้รักษ์ป่า รู้รักษ์น้ำ”

16 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นปีที่ 2 ของโครงการรักษ์ป่าน่าน เพื่อติดตามโจทย์ที่ตั้งไว้ “บัณฑูร ล่ำซำ” บอกว่าแม้จะมีเครื่องมือที่ทันสมัยคอยติดตามความเป็นไปของป่า แต่ก็ไม่สามารถทำได้ตามที่คาดหวัง จึง “ไม่แน่ใจ” ว่าสามารถหยุดยั้งการทำลายป่าได้หรือไม่ แต่ประเด็นสำคัญที่สุดในการหยุดยั้งการทำลายป่าคือ ทำอย่างไรให้ประชาชนมี “น้ำ” เป็นโจทย์ที่ต้องทำควบคู่กับการรักษาป่าต้นน้ำ โดย “บัณฑูร” ได้บรรยายในหัวข้อ“รู้รักษ์ป่า รู้รักษ์น้ำ” ว่า

เรื่องยุทธศาสตร์ของการรักษาป่า ต่อจากปีที่แล้ว การสัมมนาปีที่แล้วเราได้ตีกรอบของโจทย์ แล้วก็วางจับประเด็นยุทธศาสตร์ของการที่เราจะแก้ปัญหา การที่ป่าเมืองน่านสูญเสียไปในแต่ละปี ที่หลายๆ สิบปีที่ผ่านมา อันนี้ก็เป็นภาพสรุปอีกครั้งหนึ่งของจังหวัดน่านที่แสดงให้เห็นว่า พื้นที่สีเขียวนั้นคือพื้นที่ที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นประมาณ 85% ของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดน่าน และส่วนใหญ่ของพื้นที่ที่เป็นป่าสงวนนี้เป็นภูเขา เป็นลักษณะพิเศษ ที่จังหวัดอื่นในประเทศไทยไม่มี

แต่ที่เห็นเป็นจุดสีน้ำตาลๆ ซึ่งเป็นภาพที่เสนอไปแล้วในปีที่แล้ว คือจุดที่จริงๆ แล้ว ไม่น่าจะเป็นจุดสีน้ำตาล ที่เป็นจุดสีน้ำตาลก็เพราะว่าป่าไม่มีแล้ว กลายเป็นที่ปลูกพืชไร่ประเภทต่างๆ ด้วยเหตุผลต่างๆ ของการที่จะต้องมีความจำเป็นของคนที่อยู่อาศัย ที่จะหาพื้นที่ที่จะปลูกพืชไร่เพื่อดำรงชีพ

รักษ์ป่าน่าน-2

ในขณะนี้สิ่งที่เป็นป่า ที่ไม่เป็นป่าอีกแล้วในวันนี้ ซึ่งเป็นประมาณ 20% ของพื้นที่ป่า ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติปี 2507 ว่าป่าสงวนของจังหวัดน่านมีจำนวนเท่านั้นเท่านี้ แต่ขณะนี้หายไปไม่เป็นป่าจริงๆ แล้วประมาณ 20% ซึ่งยังหายไปในอัตราที่ดูแล้วน่ากลัว ดังภาพนี้ ที่ได้จากการเก็บสถิติโดยใช้ดาวเทียมเป็นเครื่องมือในการวัด หลายๆ สิบปี จะเห็นได้ว่าในช่วงแรกที่เราเริ่มเก็บสถิติพวกนี้ ป่าของจังหวัดน่านสูญไปปีละประมาณ 50,000 ไร่ แต่เวลาผ่านไปจนกระทั่งมาถึงช่วงหลังนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราความสูญเสียของป่าเร็วขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วปีละ 150,000 ไร่ ปีที่แล้วเราก็จะบอกว่า ปีนี้เรามาดูสิว่า ใน 1 ปีที่ผ่านมาของความเพียรพยายามทั้งหลายที่เราทำกัน สถานการณ์ของการสูญเสียของป่าดีขึ้นหรือไม่ ตั้งแต่ที่ประชุมกันปีที่แล้วจนถึงปีนี้

จริงๆ ก็ตอบได้ว่า ไม่แน่ใจว่าเราดีขึ้น หรือเลวลง หรือเท่าเดิม เพราะว่าสิ่งที่ค้นพบก็คือว่า ตัวเลขที่ได้จากดาวเทียมมีข้อจำกัดใน 2-3 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรก การอ่านป่าจากภาพดาวเทียม แต่ละวันไม่เหมือนกัน เพราะสภาวะของอากาศไม่เหมือนกัน อาจจะมีเมฆบังวันนี้ ประเด็นที่สอง เราไม่ได้ตัวเลขของทุกวันของป่า เพราะการที่จะได้ตัวเลขเช่นนั้น ค่าใช้จ่ายของการเช่าเวลาดาวเทียมสูงมาก ฉะนั้น ถ้ามีงบประมาณจำกัด ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีงบประมาณจำกัดด้วยกันทั้งนั้น ก็สามารถได้ภาพเป็นระยะๆ ซึ่งอาจจะไปเจอวันที่ฟ้าใส วันที่ฟ้ามีเมฆ ตัวเลขต่างๆ ก็ไม่นิ่ง ประเด็นที่สาม ช่วงเวลา 1 ปี เป็นช่วงเวลาสถิติศาสตร์ที่น้อยเกินไป ต้องดูข้าม 3 ปี 4 ปี ดูกันระยะยาว แต่แนวโน้มชัดเจนก็คือ ป่าสูญเสียไปมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ได้เคยกล่าวไปแล้ว

รักษ์ป่าน่าน-3

ความเดิมประเด็นยุทธศาสตร์ที่เราคุยกันก็คือว่า เราจะติดตามผลการฟื้นฟูและรักษาป่าซึ่งทำกันอย่างกว้างขวางในจังหวัดน่านโดยหลายๆ คณะด้วยกันด้วย ตัวเลขที่เป็นคณิตศาสตร์ เราต้องทำคณิตศาสตร์ให้เป็นเงื่อนไขสำคัญของการทำงาน มิฉะนั้นเราจะไม่รู้ว่าความคืบหน้าของเรามีจริงหรือไม่มีจริง ว่าเรากำลังเดินหน้าด้วยดีหรือกำลังถอยหลัง เรากำลังชนะหรือกำลังแพ้ เราก็จะใช้คณิตศาสตร์เป็นตัวตั้ง แม้คณิตศาสตร์เป็นคณิตศาสตร์ที่ไม่ชัดเจน เพราะว่าอย่างที่ได้พูดไว้คือตัวเลขดาวเทียมไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง 100% ในเวลาหนึ่งๆ มีความคลาดเคลื่อนได้ แต่แนวโน้มไม่พลาดแน่ ความสูญเลียป่ามีอยู่ตลอดเวลา ตัวเลขดาวเทียมในช่วงเวลาที่กว้างขึ้น ยาวขึ้น จะฟ้องทันทีว่าเราสูญเสียป่าไป

ประเด็นที่ 2 เรากำหนดหน่วยรับผิดชอบเป็นตำบล ยิ่งในจังหวัดน่าน จะตามงาน ต้องมีคนรับผิดชอบ คนรับผิดชอบก็คือคนเจ้าของพื้นที่ คือตำบลทั้งหลายแหล่ คือผู้บริหารตำบล ตำบลในจังหวัดน่านมี 99 ตำบล จาก 15 อำเภอ เราก็กำหนดว่าตำบลนั้นเป็นเขตภูมิศาสตร์ที่น่าจะกระชับพอที่จะจับต้องได้และติดตามผลได้ และมีคนรับผิดชอบ คนรับผิดชอบก็คือกำนัน นายก อบต. กับประธานสภาชุมชน ซึ่งเป็น 3 หัวหน้าของชุมชนนั้นๆ อยู่ในพื้นที่ภูมิศาสตร์เดียวกัน ก็ต้องจับมือกันเพื่อหาทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ไปด้วยกัน

ข้อที่ 3 คือความรู้ในเชิงของเทคนิค จำเป็นต้องมี ไม่ใช่ทุกชุมชนจะรู้ว่าการแก้ปัญหาในเชิงเทคนิคต่างๆ จะรู้หมดทุกอย่าง ก็ต้องมีหน่วยงานจากข้างนอก ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานจากรัฐโดยตรงของหน่วยงานราชการก็ดี กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องก็ดี หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องป่ามาช่วยในการให้ความรู้ ด้วยการบริหารดิน บริหารน้ำ ถ้าพืชจะต้องมีการแก้ปัญหาในพันธุกรรม เพื่อที่จะให้ผลผลิตดีขึ้น เพื่อทนกับดินฟ้าอากาศ ทนกับแมลง เชื้อโรคต่างๆ ได้ ก็ต้องมีคนมาแนะนำ การตลาดก็เป็นประเด็นสำคัญ เพราะว่าจะแพ้ชนะกัน กว่าจะได้เป็นเงินมา พอหรือไม่พอใช้ ก็ตรงนี้ ในการที่จะขายสินค้าที่ผลิตขึ้นมาได้ ที่สูงกว่าต้นทุนที่ผลิตไป ควบคุมไปกับการจัดการชุมชนตรงนั้นให้เป็นชุมชนที่อยู่ได้ เป็นชุมชนที่มีสภาพแวดล้อม ชีวิตที่ดี เช่น มีน้ำสะอาด มีการศึกษา มีการปลอดจากยาเสพติด ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในชุมชนชนบท ที่แน่ๆ ก็คือมีความตั้งใจที่จะไม่ทำลายสภาพแวดล้อม บ้านของตัวเองในระยะยาว อันนี้ก็เป็นประเด็นทางยุทธศาสตร์ที่เราจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง

ความเห็นเกี่ยวกับชุมชนของจังหวัดน่านที่ผมได้ไปพบมากับการที่เดินทางไปพบตำบลต่างๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา ก็ยังไม่ได้พบทุกตำบล แต่ว่าก็ไปมาบ้าง ผมคิดว่าชุมชนป่าน่านในจังหวัดน่านมีจิตวิญญาณที่ดีมาก เป็นชุมชนที่ในเชิงของจิตวิญญาณเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาในระยะยาว อันนี้พูดถึงแต่ละตำบลที่เคยเจอ คนที่เป็นผู้นำที่ได้ไปเจอไม่ว่าจะเป็นนายก อบต. กำนัน หรือทางสภาองค์กรก็ดี บางที่ก็เป็นคนคนเดียวกัน เป็นผู้นำที่มีความตั้งใจดี เป็นผู้นำที่มีพลังและมีความเพียร ที่จะรวบรวมความรู้สึกของทั้งชุมชนนั้นๆ ให้มาด้วยกันในการที่ไม่หาทางออกง่ายๆ ในการแก้ปัญหาปากท้อง คือแก้ปัญหาให้อย่าทำลายบ้านเราเอง อะไรทำนองนี้ เค้าต้องเจอโจทย์ที่ยาก

ได้รับการสนับสนุนพอสมควรและได้รับการสนับสนุนจากทางราชการทางจังหวัดน่าน ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิที่มีวัตถุประสงค์ในเรื่องลักษณะเช่นนี้ เช่น มูลนิธิปิดทองหลังพระ มูลนิธิทับเมืองน่าน กองทัพบก และตำรวจชายแดน ตำรวจภูธร เข้ามาเกี่ยวข้องในการที่จะช่วย เพราะลำพังกำลังของชุมชนเท่านั้นสู้ไม่ได้ ก็จบ

แต่ประเด็นที่บีบคั้น ชีวิตต้องเดินไปในแต่ละวัน ปัญหาไม่ได้หยุดนิ่งๆ ให้แก้แล้วมีชีวิตต่อไปได้ ชีวิตก็ต้องมีชีวิตในแต่ละวัน ต้องมีกินมีใช้ ของที่เคยเป็นรายได้ในจังหวัดน่าน เช่น ข้าวโพด ยางพารา ซึ่งเป็นพืชที่ทำให้เคยทำให้พอกินพอใช้ มีตลาดมีคนรับซื้อไปในราคาที่ดีพอสมควร เดี๋ยวนี้ก็ไม่จริงแล้ว ราคาพืชผลเป็นสิ่งที่ทำนายไม่ได้ว่าจะเข้าข้างชนบทหรือไม่ ในขณะนี้ก็พูดได้ว่า ราคาข้าวโพด ราคายางพารา โดยกลไกของตลาดโลกของพืชผล ก็เป็นราคาที่ตกต่ำลงไป เป็นประเด็นไม่ใช่เฉพาะจังหวัดน่าน เป็นประเด็นของทั้งประเทศไทยที่แก้กันอยู่ในทุกวันนี้ มิหนำซ้ำในบางที่ ต้นทุนของการผลิตก็ต่ำกว่าที่ตรงนี้เยอะ ข้าวโพดในลาวก็อาจจะซื้อได้ถูกกว่าที่ตรงนี้ มันก็ฉุดราคากันลงไป ก็ทำให้มีราคาที่ขายได้ ต่อให้มีผลผลิตก็ตาม เผลอๆ ยังไม่คุ้มต้นทุนที่ลงไป นี่เป็นประเด็นบีบคั้น

ประเด็นบีบคั้นที่โป่งออกมาเป็นเชิงคณิตศาสตร์ชัดเจนคือหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ไปตรงไหนคนก็บอกว่าฉันมีหนี้มากๆ ก็ทำไมจะไม่มีหนี้มากขึ้นล่ะ ในเมื่อรายได้ไม่พอกับรายจ่าย รายจ่ายต้องจ่ายอยู่แล้ว รายได้มาไม่ถึงก็ต้องกู้ แม้กระทั่งการผลิตในรอบต่อไป และหลายจุดของชุมชนชนบทไม่คำนวณเป็นตัวเลข เพราะลงก่อน แล้วก็ไปตายเอาดาบหน้า ตอนจบราคาพืชผลไม่มา แต่รายจ่ายลงไปแล้ว ถ้าไม่มีเงินสดของตัวเอง ส่วนใหญ่ก็จะไม่มีเงินสดของตัวเอง ก็ไปกู้จากที่ต่างๆ กู้ภายในระบบก็กู้ กู้ธนาคารการเกษตร ถ้ากู้นอกระบบก็ยิ่งแล้วใหญ่ ตอนจบก็คือหนี้ครัวเรือนค่อยๆ สูงขึ้น ในชุมชนชนบทที่ไม่สามารถสร้างคุณค่าทางการเงินให้กับสินค้าที่ตัวเองผลิตได้ ซึ่งประเด็นนี้ในจังหวัดน่านมีอยู่อย่างมาก

รักษ์ป่าน่าน-4

สมมติฐานอันนี้เป็นสมมติฐานที่เราคุยกันมาในหลายๆ ภาคในหลายๆ คณะด้วยกัน ถ้าคนมีพอกินพอใช้ ความจำเป็นที่จะต้องลุกมาตัดป่าก็ไม่มี ที่ตัดป่าไม่ได้เอาไม้ไปขาย แต่ตัดป่าเพราะว่าไม่มีพื้นที่เพาะปลูก เหมือนกับโรงงานผลิตไม่พอใช้ ก็ต้องหาพื้นที่โรงงานเพิ่ม ในกรณีนี้ก็คือว่า ตัดป่าอีกนิด พอตัดอีกนิดจะได้มีพื้นที่ปลูกพืชไร่ต่างๆ ที่จะเลือกที่จะปลูก ซึ่งอันนี้เป็นประเด็นใหญ่ของจังหวัดน่าน ส่วนเรื่องที่เป็นโจรมาตัดไม้ทำลายป่าก็มีเหมือนกันแต่ก็น้อยถ้าเทียบกับที่อื่น ส่วนใหญ่จะเป็นคนในท้องถิ่นนั่นแหละที่มีความจำเป็นของชีวิตเพราะมีพื้นที่ไม่พอปลูก แล้วพื้นที่ในจังหวัดน่าน เมื่อกี้พูดให้ฟัง ส่วนใหญ่เป็นภูเขาอยู่แล้ว พื้นที่ราบๆ ริมลำน้ำที่ปลูกง่ายๆ ก็มีแค่นิดเดียวเท่านั้นเอง ที่เหลือต้องขึ้นไปบนเนิน ก็ยากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ในโครงสร้างพื้นฐานของภูมิศาสตร์ ก็ท้าทายต่อการทำมาหากินอยู่แล้ว

แต่ปัญหาก็คือว่าเราเข้าใจว่ามีน้ำอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่จริง บางครั้งเราเข้าใจว่าแต่ละที่ของจังหวัด หรือของพื้นที่นั้นๆ เรามีระบบชลประทานซึ่งใช้ได้ แล้วทำให้เรามีน้ำใช้ตลอดเวลา มันไม่จริง มันมีช่องโหว่อยู่มาก ไม่ใช่ในเฉพาะจังหวัดน่าน ทั้งประเทศไทยมีช่องโหว่อยู่มากมาย ต่อให้เราทำชลประทานมาเท่าไหร่ก็ตาม มันก็มีหลายพื้นที่ที่ไม่ได้น้ำใช้ตลอดทั้งปี และการที่ไม่ได้ใช้น้ำตลอดทั้งปี มันเป็นประเด็นใหญ่ของสังคมชนบท

เราเป็นสังคมชนบท สังคมเกษตรตื่นเช้ามาน้ำไม่มีก็แพ้ตั้งแต่ในมุ้งแล้ว จ.น่าน แม่น้ำน่าน ไหลลงมา ไหลลงไปข้างล่างเร็วมาก ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติ มันก็มาแค่ครึ่งปี อีกครึ่งปีก็ไม่มีน้ำพอที่จะใช้ ก็ต้องกักน้ำเอาไว้ วัตถุประสงค์ของชลประทานคือกักน้ำเอาไว้เพื่อให้มีน้ำใช้ทั้งปี ก็ลองดูว่าโครงการการเก็บกักน้ำสามารถแบ่งตามขนาดได้ ที่มนุษย์จะทำขึ้นมา แบ่งได้เป็น 4 ระดับด้วยกัน

รักษ์ป่าน่าน-5

อันนี้ก็เป็นตุ๊กตาที่ทำขึ้นมาระดับใหญ่ เขียนไว้เฉยๆ ไม่ต้องทำ คือระดับที่ไปกั้นเขื่อนแม่น้ำ เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้แล้ว โครงการเขื่อนไม่มีทางผ่านการประท้วงทั้งหลายแหล่ได้ ไม่มีทางที่ที่ไหนในประเทศไทยจะสร้างเขื่อนกันได้อีกแล้ว เขียนไว้ให้ดูเท่านั้นเองว่าเป็นสิ่งที่เคยทำได้ แต่เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้ ด้วยปัจจัยของโลกสมัยใหม่ซึ่งจะค้านในเรื่องอย่างนี้อย่างยิ่ง การที่จะมีเขื่อนกั้นแม่น้ำน่านไม่ว่าตอนไหนก็ตามของแม่น้ำน่าน เป็นสิ่งที่ในปัจจุบันเหลือที่จะคิดเท่านั้นที่ทำได้

ต้องลงมาถึงโครงการระดับกลางๆ ที่จะดักน้ำเอาไว้เพื่อที่จะเป็นอ่างที่ใช้ดูด ใช้ได้ตลอดทั้งปี พวกนี้ก็ประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็พอมองเห็นเป็นสระใหญ่เลย เหมือนกับเป็นสระเล็กๆ อันหนึ่ง โครงการนี้ก็จะปัญหาในเรื่องที่ว่า ต่อให้มีความคิดที่จะทำก็ตาม ทำไม่ได้ ทีนี้ถ้ากลางได้ พูดให้จบตรงนี้ก่อน ระดับเล็ก ระดับจิ๋ว ที่เป็นฝาย อันนี้เทคโนโลยีไม่ถึงกับสูงมาก ถ้ามีงบประมาณก็ทำได้ ถ้ามีระดับจิ๋ว ระดับ 50,000 บาท ก็พอไปสร้างขุดหลุมแล้วเอาผ้าพลาสติกไปปูก็เป็นพอ ทำได้แล้ว

แต่ถ้าขนาดกลางไม่มีน้ำจะแจก หมายความว่าพื้นที่ของจังหวัดน่านนี้ ไม่มีการดักเอาน้ำมาไว้ ก็ต้องไปหาวิธีดักน้ำ เพราะว่าเรากั้นจากแม่น้ำน่านไม่ได้ ต้องมีวิธีดักน้ำในดินมาใส่โครงการระดับกลางไว้ให้เต็ม ต่อให้มีโครงการระดับเล็ก ระดับจิ๋วก็ตาม จะให้ผลได้ไม่เต็มที่ เพราะว่าไม่มีน้ำให้ใช้ เราต้องมีน้ำให้ใช้ทั้งปีก่อน แล้วกักเอาไว้ในโครงการอ่างระดับกลาง ในพื้นที่ที่กว้างพอสมควรที่จะทำให้ทั้งจังหวัด เสร็จแล้วไปต่อยอดหรือต่อปลาย โครงการระดับเล็ก ระดับจิ๋ว แล้วก็ใช้น้ำไปทั้งปีได้ ถึงจะได้เรียกว่า เรามีน้ำส่งให้ชนบทใช้ได้ทั้งปี จะได้ไม่มีความรู้สึกจำเป็นว่า ต้องไปตัดต้นไม้เพิ่ม เพื่อเพิ่มพื้นที่การผลิต

ปัจจุบันความจำเป็นส่วนหนึ่งของการที่ไปตัดเพิ่มก็เพราะ พอโรงงานเปิดได้ครึ่งปี อุปมาอุปมัยก็คือโรงงานเปิดได้ครึ่งปี เพราะอีกครึ่งปีโรงงานปิดเพราะไม่มีน้ำใช้ การที่จะเพิ่มกำลังการผลิตก็คือเพิ่มพื้นที่ เพิ่มพื้นที่ก็ไม่มีทางเลือกก็ไปตัดต้นไม้ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเขตที่เป็นป่าซะส่วนใหญ่

ให้ดูภาพโครงการระดับกลางๆ จะเป็นแบบนี้ ซึ่งมีอยู่บ้างในที่ต่างๆ ในจังหวัดน่านที่ไปดู แต่ ณ ขณะนี้ยกเป็นตัวอย่างขึ้นมา โครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ซึ่งอยู่ในแผนของชุมชนเลย ก็มีประมาณ 15–16–17 โครงการ มีการเดินเรื่อง ตั้งเรื่องขึ้นมาแล้ว ที่จะตั้งเป็นอ่างเก็บน้ำในขนาดที่พูดถึง 50-100 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งถ้าได้ล้านลูกบาศก์เมตรจะดีมาก สำหรับที่ฝาย ระดับเล็ก ระดับจิ๋ว ต่างๆ จะได้มาต่อปลายจากตรงนี้ไป และส่งต่อไปตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้น้ำถึงชุมชนต่างๆ ได้หมด

แต่ไปตรวจสอบความคืบหน้าของโครงการ 15-16-17 ติดอยู่ที่ว่าตกลงกันไม่ได้กับชุมชน ไม่มีปัญหาทางวิศวกรรมศาสตร์ ไม่มีปัญหาทางงบประมาณ มีงบประมาณรองรับ แต่ไม่มีใครเซ็นผ่านได้ เพราะตกลงกันไม่ได้กับชุมชน หรือแม้กระทั่งหน่วยราชการกันเอง ที่ทับที่อุทยาน ทับที่กรมป่าไม้ ตกลงกันไม่ได้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องประเด็นตกลงกันไม่ได้กับชุมชน เพราะไปทับที่คนนั้น ทับที่คนนี้ ก็เถียงกันอยู่นั่น และไม่มีข้อสรุป

กลายเป็นว่าปัญหาใหญ่ของเรื่องชลประทานในระดับนี้ คือการที่รัฐมีปัญหากับประชาชน ถ้ารัฐมีปัญหากับประชาชนในระดับท้องถิ่น ประเทศไทยแพ้ คือไม่ต้องทำอะไรมันก็ติดอยู่แบบนี้ โครงการ 15-16-17 โครงการจะอยู่อย่างนี้ อยู่เป็นโครงการให้เห็น จะมีในคอลัมน์สุดท้ายของโครงการ สรุปหมายเหตุ อยู่ระหว่างเจรจากับชุมชน มีข้อขัดแย้งอย่างนั้นอย่างนี้ ไปตรวจสอบความเป็นจริงของการทำงาน ก็ไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจน ไม่มีคนลงไปเจรจาในแต่ละวันว่าจะหาทางออกกันยังไง ก็ติดค้างกันไว้ ไม่ว่าจะด้วยขีดจำกัดของข้าราชการที่ทำงานในเรื่องนี้ก็ตาม หรือแม้กระทั่งมีประเด็นต่างๆ ที่เกินกำลังของจังหวัดที่จะแก้ได้ เช่น ประเด็นเรื่องกฎหมาย ตรงนี้เป็นอุทยานไม่เป็นอุทยาน

บัณฑูรบรรยาย2

คือหลายที่คนที่อยู่ตรงนั้นมาก่อนกฎหมาย อยู่มาตั้งนานแล้ว กฎหมายมาที่หลังบอกว่านี่ผิดกฎหมาย เค้าก็ไม่เถียงแต่ไม่รู้จะไปไหน ก็อยู่มาตั้งแต่สมัยปู่อยู่แล้ว ประเด็นก็คาราคาซังกันอยู่อย่างนี้ นี่ก็ต้องเป็นการแก้ปัญหาในระดับประเทศที่ผลักดันประเด็นนี้ขึ้นมา

จะมีการศึกษา สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) จะศึกษาในประเด็นว่าควรจะปรับเปลี่ยนทางกฎหมายอย่างไรให้พออยู่กันไปได้ คือ ในเมื่อความเป็นจริง มนุษย์อยู่ตรงนี้อยู่แล้ว มันต้องทำให้มนุษย์อยู่กับป่าได้โดยไม่ทำลายป่า มันต้องมีวิธีเทาๆ แบบไทยๆ ให้พอแถไถกันไปได้ ถ้าบอกจะเอาผิดเอาถูกแบบกฎหมายเขียนกันชัดเจน ข้าราชการก็กระดิกตัวทำอะไรกันไม่ได้ ถ้ากฎหมายเขียนไว้ชัดเจน ข้าราชการก็ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็ปฏิบัติตามหน้าที่ ก็ต้องไปทะเลาะกับประชาชน ซึ่งก็ไม่รู้จะไปทะเลาะกันทำไม เพราะตอนจบก็ไม่มีใครจะแก้ปัญหา เช่น จะสร้างโครงการน้ำระดับกลาง ซึ่งนี่เป็นเส้นเลือดกลางเส้นสำคัญที่จะช่วยให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ทำก็ไม่พ้นสักที จะผ่านไปกี่ปีต่อกี่ปีก็จะติดในคอลัมน์หมายเหตุนี่แหละ ว่ายังตกลงกับชุมชนไม่ได้

อันนี้ผมเอาเรื่องไปปรึกษาในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ไปหารัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรคนปัจจุบัน ไปหาท่านปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ปลัดกระทรวงเกษตร ไปหาอธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมอุทยาน ผมเอาภาพเหล่านี้ไปวางบนโต๊ะให้แล้ว บอกว่าถ้าเป็นอย่างนี้เราก็ไม่ต้องไปตรงไหนกัน เราก็อยู่กันแค่นี้ มันก็ไม่มีใครผิดใครถูก ตอนจบประเทศไทยก็แก้ปัญหาไม่ได้

และนี่มันแก้ตรงปลายไม่ได้ มันต้องแก้ลงมาจากข้างบน มันต้องเป็นความตั้งใจของระดับสูงสุดของการจัดการของประเทศก่อน ที่จะผลักดันให้มีช่องทาง ให้มีกระบวนการ มีวิธีทำงานที่รัฐไม่มาทะเลาะกับประชาชน จนกระทั่งหาข้อตกลงไม่ได้ เลยไม่ต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องใช้ความรู้ทางอุทกศาสตร์ ไม่ต้องใช้งบประมาณที่อยากใช้จะตายอยู่แล้ว เพราะว่าตกลงกันไม่ได้ ไม่มีใครเซ็นผ่าน ก็ค้างไปอีกปี ตรงนั้นก็ไม่มีน้ำใช้ไปอีกปีหนึ่ง ความกดดันของการทำมาหากินก็มีต่อไป

ถ้าทนกดดันไม่ได้ ก็ถางป่าต่อไปอีกนิด เพื่อที่จะได้ปลูกได้ ปลูกพืชไร่ ซึ่งก็ปลูกไป ไม่รู้ว่าปลูกแล้วจะกำไรหรือเปล่าก็ขอปลูกไว้ก่อน เพราะก็ไม่รู้ว่าจะทำมาหากินอะไร มันเป็นโจทย์ที่ไม่ได้อยู่นิ่งๆ

นอกเหนือประเด็นนี้ ต่อให้เราแตะประเด็น 15–16-17 โครงการที่อยู่บนจอนี้ก็ตาม เรายังไม่รู้เลยว่าแค่นี้พอหรือึเปล่า ที่จะทำให้จุดที่ควรจะมีน้ำทั้งปีของจังหวัดน่านเป็นอย่างนั้นจริง เราไม่ได้ทำโจทย์ทางคณิตศาสตร์เลยว่าจริงๆ แล้วทั้งจังหวัดน่านมันจะมีโครงสร้างอ่างเก็บน้ำระดับกลาง ระดับเล็ก ระดับจิ๋ว สักเท่าไหร่ ยังไม่มีการศึกษาในเชิงของวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริงเลย ไม่มีแม้กระทั่งถามคำถามว่าจริงๆ แล้วควรจะมีสักเท่าไหร่ สิ่งที่เห็นตรงกลางนี้เป็นเพียงแค่ตุ๊กตา ซึ่งทำขึ้นมาโดยไม่แน่ใจว่าถูกต้อง 100% มันคงไม่ถูกต้อง 100% แต่คำตอบมันจะดีกว่า 0 คำตอบดีกว่าไม่รู้

ระดับใหญ่อย่างที่ผมเรียนก็คือ เขื่อนไม่ต้องพูดถึง ไม่มี มีไม่ได้ ระดับกลาง ถ้าสมมติว่าเรามี 15 อำเภอ ในจังหวัดน่านมีสักอำเภอละ 3 อ่างใหญ่ๆ ตั้งเป็นตุ๊กตาก่อน ระดับเล็กเรามี 99 ตำบล มีอ่างเล็กๆ หรือฝายเล็กๆ สัก 6 ฝายต่อตำบลได้ไหม หรือหลักระดับจิ๋วลงไป ตำบลหนึ่งสัก 9 จุด ได้ไหม คำนวณออกมาเป็นตัวเลข เราก็ควรมีโครงการระดับกลาง 45 โครงการ ระดับเล็กเกือบ 600 ระดับจิ๋วเกือบ 1000 อย่างน้อยเรายังตั้งคำถาม ตัวเลขนี้คงเปลี่ยนได้เรื่อยๆ ลงไปมีการศึกษาในระดับตำบลในรายละเอียดมากกว่านี้ ตอบได้ใกล้เคียงขึ้นไปอีกนิดว่า จริงๆ จังหวัดน่านและในจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยด้วย มันจะมีโครงสร้างชลประทานสักเท่าไหร่ ถึงจะทำให้พื้นที่ชนบทนั้นได้น้ำเต็มที่อย่างที่ควรจะได้ ชีวิตจะได้มีความหวังขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง มีน้ำขึ้นมาใช้ก็มีความหวังขึ้นมาขั้นหนึ่งแล้ว แต่ว่าต้องใช้น้ำให้เป็นประโยชน์ ก็ว่ากันต่อไปอีก

ความล้มเหลวของการจัดการเรื่องนี้ก็คือว่า 1. ที่พูดไปแล้วคือ ต้องการเพิ่มพื้นที่เพราะปลูก ก็ต้องตัดป่า 2. อันนี้เป็นอยู่แล้ว ใส่สารเคมีเร่งผลผลิต ใส่จนกระทั่งน้ำในชุมชนบริโภคกันเองยังไม่ได้ มีบางอำเภอสูญเสียไป ในจังหวัดน่านสูญเสียไปประมาณ 50% ของป่าที่ถูกระบุว่าเป็นป่าสงวน มีอัตราการใช้ยาฆ่าแมลง และใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตสูงมาก สูงจนระบบน้ำที่อยู่ใต้ดินจะดูดเอามาใช้ เป็นน้ำที่ใช้ไม่ได้ พอในขณะเดียวกัน โครงสร้างระบบประปาของอำเภอนั้นใช้มา 20 ปีแล้ว เครื่องอะไรก็ใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะไม่มีเงินที่จะสร้างใหม่ด้วย น้ำถ้าเข้าไปในห้องน้ำ ดูแล้วไม่กล้าแตะ กลัวตาย เพราะว่าดูแล้วกลิ่นก็น่ากลัว สีก็น่ากลัว ไม่รู้จะบริโภคยังไง กลายเป็นว่าชุมชนต้องไปซื้อน้ำขวดบริโภค แทนที่จะได้ใช้ตามธรรมชาติ เพราะน้ำธรรมชาติใช้ไม่ได้แล้ว ดันใส่สารพิษฆ่าตัวตาย ในทำนองนี้

3. เป็นสัญญาณชัดเจนว่าเป็นความล้มเหลวของชีวิตของการทำมาหากิน มีหนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งก็จะเป็นประเด็นระดับใหญ่ของประเทศ ว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยตอนจบก็คือหนี้ท่วมหัว ก็เป็นโจทย์ที่รัฐบาลพยายามจะแก้อยู่แล้วในที่ต่างๆ แต่ถ้าชุมชนชนบทไม่สามารถที่จะหารายได้มาคุ้มรายจ่ายได้ มันก็จะมีหนี้มากขึ้น มันก็จะเป็นประเด็นทางสังคมทางการเมืองต่อไปในอนาคต

หน่วยงานของภาครัฐที่ควรจะมีบทบาทในเรื่องอย่างนี้ ก็คือกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงและก็กรมทั้งหลายแหล่ที่เกี่ยวข้อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมที่เกี่ยวข้อง จังหวัดต้องเป็นเจ้าภาพ แต่จังหวัดมีกำลังจำกัด ต้องรับโจทย์หลายอย่าง ก็ต้องมีการแบ่งเวลามาให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่าต้องเป็นตัวแทนที่ช่วยให้การเจรจาระหว่างชุมชนกับรัฐหาทางออกได้

กองทัพบก รวมทั้งตำรวจชายแดน ตำรวจภูธร เป็นกองกำลังที่ช่วยประเทศไทยอย่างมากในระดับชนบท มีทรัพยากรมนุษย์ที่พร้อมจะลงไปปฏิบัติหน้าที่ มีอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ และก็จะมียุทโธปกรณ์ บางครั้งไปเจอกรณีที่ฝั่งหนึ่งที่มาตัดไม้ถืออาวุธเหมือนกัน ในเมืองน่านไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่ที่สุด แต่ก็มี ชาวบ้านสู้ไม่ได้ ชาวบ้านไม่ถือปืน อีกฝั่งถือปืน ก็ต้องเอาทหารถือปืนเข้าไป ไม่ใช่ไปยิงกัน แต่ให้รู้ว่าทางฝั่งนี้ก็มีปืนเหมือนกัน จะได้ไม่มาข่มขู่และตัดไม้ตามใจชอบ มีบางจุด บางอำเภอ อำเภอตาน้อย อำเภอนาหมื่น อุทยานแห่งชาติขุนสถาน มีประเด็นพวกนี้อยู่ ท้องที่รู้พวกนี้ดี ก็ถือปืนให้พอที่จะไม่มาทำร้ายกันง่ายๆ

รักษ์ป่าน่าน-1

สรุปสั้นๆ ก่อนจะไปพูดประเด็นอื่นที่จะสร้างรายได้ ขอน้ำมาก่อน โครงสร้างน้ำต้องทำให้เสร็จ เป็นหน้าที่ของประเทศไทย เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยในทุกระดับ และเป็นหน้าที่ของชุมชนด้วย ที่ต้องมาพบกันในจุดที่ตกลงกันให้ได้ ในโครงสร้างน้ำมันเกิดขึ้นอย่างถาวร ซึ่งจะทำให้ชุมชนชนบท ชุมชนเกษตร ของประเทศไทยมีน้ำใช้ ถ้าไม่ทั้งปีอย่างน้อยก็ 9-10 เดือน ปีหนึ่งจะได้เพาะปลูกได้เรื่อยๆ ก็ต้องมาคิดกันอีกว่าจะเพิ่มผลผลิต จะปลูกอะไร จะเพิ่มผลผลิตอะไรดี ให้มีราคาที่กลับมามีรายได้ที่จุนเจือชีวิต เพิ่มผลผลิตในพืชเดิมๆ ข้าว ข้าวโพด ยางพารา ก็ทำได้ผลขั้นหนึ่ง เพราะว่าจะไปสู้กับโจทย์ใหญ่ว่าราคามันตกทั่วโลก ก็ไม่ใช่สิ่งที่เรากำหนดได้ตรงนี้ เพิ่มผลผลิตได้ ก็ยังดีกว่าเพิ่มผลผลิตไม่ได้

2. เปลี่ยนเป็นพืชอื่นที่มีคุณภาพสูง ผัก ผลไม้ สมุนไพร ต่างๆ แผ่นดินนี้ยังมีศักยภาพต่างๆ มีโอกาสต่างๆ มากมาย ก็ต้องหาความรู้ว่าจะต้องไปเอาพืชอย่างอื่นอะไรดีที่มีราคา

ในที่สุดแล้วเราอยู่ในโลกของทุนนิยม จะไม่ทำความเข้าใจกับความเป็นจริงของทุนนิยมไม่ได้ ถ้าจะมีพอกินพอใช้มันต้องเข้าใจว่าสิ่งที่จะผลิตมันต้องมีราคาของมันในตลาดโลก ทุนนิยมตัวเองไม่ได้แปลว่าไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องเผชิญ อยู่ได้ก็ทุนนิยม โดยไม่ให้ทุนนิยมมาทำลายเรา

3. แปรรูปยิ่งแล้วใหญ่ เอาเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง มีวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้อง ขณะนี้ท้องถิ่นคงมีได้จำนวนจำกัด ต้องมีองค์กรมาเกี่ยวข้อง แปรรูปก็หมายความว่ายกระดับราคาและมูลค่าของสินค้าที่ผลิตจากพื้นดินในจังหวัดน่านให้สูงขึ้น ให้คนมีรายได้มากขึ้น

4. สร้างยี่ห้อ ขายความเป็นน่าน ทำได้ ยี่ห้อสร้างได้ทั้งนั้น สร้างให้เป็นระบบจริงๆ การมียี่ห้อคือการที่แน่ใจว่าตลาดอยู่กับเรา มีเส้นทางไป ขายของจากน่าน ของน่านดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก่อนอื่นของต้องดีจริงก่อน ละก็ไปสร้างให้ความรู้สึกว่าของตรงนี้ดีจริงให้คนในตลาดโลกเขายอมรับว่าของมาจากน่าน เมืองน่านควรจะซื้อในราคาที่ดี

5. ระบบขนส่งสินค้า คนกลาง อะไรต่างๆ ทำกันเท่าไหร่ คนที่คุมเส้นทางเดิน เอาไปกินหมดเลย คนที่อยู่ต้นทางปลูกกันแทบตายได้นิดเดียว นี่ก็เป็นความเป็นจริงๆ ของโลกทุนนิยมที่น่ากลัว เราต้องทำความเข้าใจประเด็นนี้ของทุนนิยม แล้วทำยังไงถึงจะหาทางจัดการให้คุณค่าของสินค้าที่เราสร้างได้ในจังหวัดน่าน อยู่กับท้องถิ่นในเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้น มันจะได้มีพอกินพอใช้แล้วก็สามารถมีชีวิตที่ดีได้ และมีความรู้สึกกดดันที่จะลุกขึ้นไปตัดไม้ ตัดพื้นที่ป่ามากขึ้น เหมือนกับที่ต้องทำที่ผ่านมา

ขอจบท้ายด้วยภาพอันนี้ ภาพอันนี้ เป็นภาพที่อยู่ในป่า เป็นเนินเขาลงไป เป็นลักษณะภูมิประเทศที่ จังหวัดน่านมีเยอะมาก สิ่งที่คนเหล่านี้ทำก็คือ สิ่งที่เรียกว่าตะบันน้ำขึ้นเขา เพราะว่าพื้นที่จังหวัดน่านต้องเอาน้ำขึ้นเขา ก็ตะบันน้ำใช้หลักของกลศาสตร์โดยที่ไม่ต้องใช้ปั๊ม ถ้าอยู่กลางป่า ไม่มีปั๊ม ไม่มีน้ำมัน ไม่มีไฟฟ้า ใช้หลักกลศาสตร์ตะบันน้ำขึ้นภูเขาให้ได้ อันนี้ทำได้ ความรู้นี้มี แต่สิ่งที่ขาดคือเงิน เพราะโครงสร้างแบบนี้ใช้เงินประมาณ 2-3 แสนบาท ซึ่งท้องถิ่นไม่มีงบประมาณนี้แน่ จังหวัดไม่แน่ใจจะมีหรือเปล่า โครงสร้างที่เห็นอยู่ตรงนี้ ที่ทำตรง เข้าใจตรง ถ้าไม่ผิด เป็นอำเภอนาน้อย ใช้เงินของเอกชนมาช่วย แต่จริงๆ แบบนี้ต้องมีเป็นร้อยๆ ที่ ที่จะทำตรงนี้ได้

มีภาษิตไทยที่บอกว่า อะไรที่ยากๆ เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา แต่นี่ในจังหวัดน่าน ที่ยากคือตะบันน้ำขึ้นภูเขา มันก็ต้องมีโจทย์ที่ต้องทำกันต่อไปในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะเข็นครกขึ้นภูเขาและตะบันน้ำขึ้นภูเขาให้จังหวัดน่านมีความชุ่มชื้นพอที่จะปลูกพืชผล ให้มีความกินดีอยู่ดีได้ต่อไป