ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > สภาพัฒน์คาดปี ’58 หนี้ครัวเรือนพุ่ง 88% ของจีดีพี เหตุรายได้เพิ่มน้อย-ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

สภาพัฒน์คาดปี ’58 หนี้ครัวเรือนพุ่ง 88% ของจีดีพี เหตุรายได้เพิ่มน้อย-ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

23 กุมภาพันธ์ 2015


IMG_3873
นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ (ซ้าย) และ นางปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล (ขวา) รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์

นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์แถลงภาวะสังคมไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2557 ทั้งนี้ในประเด็นหนี้ครัวเรือนและแนวโน้มของหนี้ครัวเรือนปี 2558 ว่าอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 87-88% ต่อจีดีพี แนะเฝ้าระวังการผิดชำระของครัวเรือนกลุ่มเสี่ยงรายได้ปานกลางและรายได้น้อย เนื่องจากอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจ ภัยพิบัติ และจำเป็นฉุกเฉินต่างๆ นอกจากนี้ นโยบายนาโนไฟแนนซ์ของรัฐบาลในอนาคต อาจจะมีส่วนทำให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นได้ แม้จะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้นอกระบบ

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนยังคงมีลักษณะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่มากนักจากค่าจ้างขั้นต่ำที่คงที่และราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง ทำให้ครัวเรือนชะลอการใช้จ่ายสินค้าคงทน ขณะเดียวกัน กลุ่มแรงงานรายได้ปานกลางและรายได้น้อยจะชะลอการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นเพิ่ม เนื่องจากไม่สามารถรับภาระหนี้เพิ่มและกู้เพิ่มไม่ได้ สอดคล้องกับการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินในช่วงที่ผ่านมาตามภาวะเศรษฐกิจ

“เราพยายามเตือนให้มีการเฝ้าระวัง แต่ต้องเรียนว่าภาพรวมที่ชี้อยู่ตอนนี้ มันไม่ได้ส่งสัญญาณว่ามีความเสี่ยง ในระยะยาวอาจจะไม่แน่ เราพูดมาเยอะว่าจะทำอย่างไรให้คนมีวินัยในการออม เพราะว่าพอมีปัญหาหนี้สูง สัดส่วนการออมเราจะต่ำ ตรงนี้เป็นประเด็นที่หยิบยกมาโดยตลอด” นางชุตินาฏกล่าว

ทั้งนี้ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่า 10.22 ล้านล้านบาท (84.2% ต่อจีดีพี) เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่ 9.79 ล้านล้านบาท (82.3% ต่อจีดีพี) ขณะที่ตัวเลขของไตรมาส 4 ปี 2557 สภาพัฒน์คาดการณ์ว่าเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 85% ต่อจีพีดี อย่างไรก็ตาม การก่อหนี้ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งมีสาเหตุหลักจากมาตรการรถคันแรกที่สิ้นสุด ความกังวลเกี่ยวกับรายได้ การมีงานทำในอนาคต และภาระหนี้สินเดิมที่ต้องชำระคืน โดยสินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภค (มูลค่า 3.39 ล้านล้านบาท ณ ไตรมาสสุดท้าย ปี 2557) ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง จากที่เติบโต 10.7% ในไตรมาสแรก ปี 2557 เป็น 8.8%, 8% และ 7.4% ในไตรมาสถัดมา ตามลำดับ

หนี้ต่อครัวเรือน

เช่นเดียวกันกับยอดคงค้างของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ซึ่งมีมูลค่า 312,851 ล้านบาท ณ ไตรมาสสุดท้าย ปี 2557 ได้ปรับชะลอตัวลง จากในไตรมาสแรก ปี 2557 ที่ 10.5% เป็น 8.8%, 6.6% และ 4.6% ตามลำดับ ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งมีมูลค่า 318,141 ล้านบาท ณ ไตรมาสสุดท้าย ปี 2557 ได้ชะลอตัวลงจาก 11.7% เป็น 9.6%, 9% และ 9.5% ตามลำดับ

ส่วนปัญหาหนี้เสียหรือเอ็นพีแอล ยังไม่ส่งสัญญาณความเสี่ยงต่อภาพรวม แต่ต้องเฝ้าติดตามกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ คนงานเกษตรและคนงานทั่วไป ซึ่งค่าใช้จ่ายต่อรายได้สูงถึง 85-89% และมีภาระหนี้สิน 17-18% ของรายได้ โดยสินเชื่ออุปโภคบริโภคในไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่า 83,451 ล้านบาท คิดเป็น 2.4% ของสินเชื่ออุปโภคบริโภครวม และเติบโตขึ้น 16% ชะลอลงจาก 2 ปีก่อนหน้าที่เติบโต 20.5% และ 26.6% ตามลำดับ ด้านหนี้เสียของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับมีมูลค่า 14,238 ล้านบาท คิดเป็น 4.6% ของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับรวม และเติบโตขึ้น 30.4% ชะลอลงจาก 28.1% และ 45.8% ในช่วงสองปีก่อนหน้าตามลำดับ ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตมีหนี้เสียมูลค่า 8,316 ล้านบาท คิดเป็น 2.6% ของสินเชื่อบัตรเครดิตรวม และเติบโตขึ้น 25.3% ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ 31.3%

Print

ด้านนางปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการ สศช. กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งที่อาจจะรุนแรงจนส่งผลต่อเกษตรกรและปัญหาหนี้ครัวเรือนในอนาคตว่า “หนี้สินครัวเรือนเราแยกตามประเภทของการเป็นหนี้ คือจุดประสงค์ของการเป็นหนี้ ว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ แต่ยังไม่ได้แยกเป็นกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มรายได้ ถ้าบอกว่าน่าเป็นห่วงไหม มันมีเกณฑ์ต้องดูหลายอย่าง อันแรกต้องดูว่ารายได้เกษตรกรลดลงจริง แต่หนี้สินส่วนหนึ่งเป็นเพื่อใช้ด้านปัจจัยการผลิต หลังจากมีผลผลิตออกมา รายได้ออกมาแล้ว ผลจะเป็นอย่างไร พูดรวมๆ ว่าเป็นห่วงไหม ต้องบอกว่าทุกกลุ่มหนี้เพิ่มขึ้นจริงแต่ชะลอลงแล้ว หนี้เสียไม่มากนัก เกษตรกรเองก็มีมาตรการจากรัฐบาลมาดูแลมากขึ้น ตอนนี้มีเครื่องมือจัดการแล้ว”

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม