ThaiPublica > เกาะกระแส > สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยถอนตัวจากทุกคณะกรรมการกระทรวงศึกษาฯ – แก้ปัญหาไม่คืบหน้า

สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยถอนตัวจากทุกคณะกรรมการกระทรวงศึกษาฯ – แก้ปัญหาไม่คืบหน้า

25 กุมภาพันธ์ 2015


สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) แถลงถอนตัวออกจากคณะกรรมการเครือข่ายการศึกษาทางเลือกโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนชุมชน และคณะทำงานพัฒนาการศึกษาทางเลือกในสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) หลังทำงานร่วมกันมานานแล้วพบว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาการศึกษาทางเลือกได้และการทำงานไม่มีความคืบหน้า พร้อมเสนอกลไกใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาได้จริงโดยมีรัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการมาทำงานร่วมด้วย

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 นายชัยณรงค์ ฉิมชูใจ นางรัชนี ธงไชย นายเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย นายศีลวัต ศุษิลวรณ์ และนางกนกพร สบายใจ ตัวแทน สกล. แถลงขอถอนตัวออกจากคณะกรรมการเครือข่ายการศึกษาทางเลือก โรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนชุมชน และคณะทำงานพัฒนาการศึกษาทางเลือกใน สกศ.

นายชัยณรงค์ ฉิมชูใจ นางรัชนี ธงไชย นายเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย นายศีลวัต ศุษิลวรณ์ และนางกนกพร สบายใจ (จากซ้าย) ตัวแทน สกล. แถลงข่าวที่กระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558
(จากซ้าย) นายชัยณรงค์ ฉิมชูใจ นางรัชนี ธงไชย นายเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย นายศีลวัต ศุษิลวรณ์ และนางกนกพร สบายใจ ตัวแทน สกล. แถลงข่าวที่กระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558

นายเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย รองเลขาธิการ สกล. กล่าวว่า คณะกรรมการเครือข่ายการศึกษาทางเลือก โรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนชุมชน จัดตั้งขึ้นตั้งแต่พฤษภาคม 2556 เพื่อแก้ปัญหาการศึกษาทางเลือกให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 โดยมีตัวแทนจาก สกล. เข้าร่วม 3 คนจากคณะกรรมการรวม 72 คน ส่วนที่เหลือเป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งการทำงานของคณะกรรมการฯ ที่ผ่านมา ปัญหาการศึกษาทางเลือกก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขใดๆ การประชุมนานๆ จะมีครั้ง และแจ้งนัดประชุมตัวแทน สกล. ล่วงหน้าทางโทรศัพท์ไม่ถึง 24 ชั่วโมง

นายเทวินฏฐ์กล่าวต่อว่า ในปี 2557 นางสิริกร มณีรินทร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการดังกล่าว ก็เห็นว่าคณะกรรมการทำงานไม่ได้ จึงตั้งคณะทำงานพัฒนาการศึกษาทางเลือกใน สกศ. ขึ้น เพื่อเป็นหน่วยเฉพาะกิจในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ โดยมีคณะกรรมการกว่า 30 คน และมีตัวแทนจาก สกล. มากขึ้น แต่การแก้ไขปัญหาการศึกษาทางเลือกก็ไม่คืบหน้าเช่นเดิม เนื่องจากการขาดแคลนงบประมาณ บุคลากร และกลไกโครงสร้างการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยังมองไม่เห็นปัญหา และไม่เห็นด้วยกับการศึกษาทางเลือก เพราะมองว่าการศึกษาในระบบดีอยู่แล้ว

“คณะกรรมการและคณะทำงานดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาของเรา แต่การทำงานกลับไม่คืบหน้า ดังนั้นจึงขอถอนตัวออกมาและเสนอกลไกใหม่ที่มีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนมากขึ้น เช่น ชุมชน เยาวชน ผู้ปกครอง และรองรับการทำงานตาม 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 บัญญัติไว้ แบ่งเป็น กลไกระยะยาวที่พัฒนาการศึกษาทางเลือก และกลไกเฉพาะหน้า เช่น หลักสูตรที่ยืดหยุ่น และการจดทะเบียนศูนย์การเรียนรู้” นายเทวินฏฐ์กล่าว

นายศีลวัต ศุษิลวรณ์ ตัวแทน สกล. กล่าวว่า จริงๆ แล้วการแก้ไขปัญหาการศึกษาทางเลือกเริ่มมาตั้งแต่ปี 2553 สมัยนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในที่ประชุมกับนักวิชาการ นักเรียน ครูอาจารย์ และผู้ปกครองกว่า 500 คนว่า หากเสนอแนวทางพัฒนาการศึกษาได้ ก็จะไม่ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งหลังจากนั้น สกล. และเครือข่ายก็ประชุมและสรุปแผนพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กได้สำเร็จ แต่เรื่องกลับเงียบไปเนื่องจากการเปลี่ยนเลขาธิการ สพฐ. จนกระทั่งนายกมล รอดคล้าย เป็นเลขาธิการ สพฐ. เรื่องนี้จึงกลับเข้ามาประชุมในกระทรวงใหม่อีกครั้งโดย สพฐ. แต่การทำงานทั้งหมดเริ่มนับหนึ่งใหม่ โดยที่ไม่สนใจแผนพัฒนาเดิมที่ สกล. เคยทำมาแล้ว

“การประชุมในคณะกรรมการแต่ละครั้งมีการบันทึกประชุมที่ผิดไปจากมติที่ประชุม หากเราไม่ประท้วงก็ไม่เกิดการแก้ไข และแม้แก้ไขสรุปการประชุมแล้วก็ไม่ได้มีผลในการขับเคลื่อนใดๆ อีกทั้งการประชุมแต่ละครั้งขาดความต่อเนื่อง เช่น วาระเดิมยังไม่สรุปแผนงานหลัก แต่ประชุมครั้งใหม่ไม่ต่อวาระประชุมเดิมและมีแผนงานย่อยและงบประมาณมาเสนอแล้ว ซึ่งทำงานแบบนี้เรารับไม่ได้และเดินต่อด้วยไม่ไหว เพราะไม่รู้ว่าจะเดินหน้าต่อไปเพื่อเป้าหมายอะไร อีกทั้งเราไม่อยากเป็นเพียงแค่ผู้ร่วมรับรองมติ” นายศีลวัตกล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า คณะทำงานพัฒนาการศึกษาทางเลือกฯ ใน สกศ. ก็ไม่มีผลผลักดันเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะอำนาจทั้งหมดอยู่ที่ สพฐ. “เมื่อ สพฐ. ไม่ฟังเรา ไม่ฟัง สกศ. วิธีการเดียวที่จะทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการฟังเราคือ เราลาออก เพื่อหวังให้รัฐมนตรีลงมาทำงานเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง มีการทำงานที่โปร่งใส ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และใช้เหตุผลอย่างรอบด้านในการทำงาน เพราะที่ผ่านมาการทำงานของ สพฐ. เหมือนเขาวงกต คือแม้ สพฐ. จะไม่มีอำนาจปฎิเสธข้อเสนอของเรา แต่เขาก็อ้างว่ากำลังดำเนินการอยู่เสมอ นั่นคือทุกอย่างไม่เดินหน้า”

นายศีลวัตกล่าวต่อว่า อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือ จดทะเบียนศูนย์การเรียนรู้ซึ่งเป็นการศึกษาทางทางเลือกได้ยาก โดยอ้างว่าเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ ซึ่งทาง สกล. ก็ห่วงใยเรื่องความมั่นคงของชาติเช่นเดียวกัน และไม่ปล่อยให้เกิดความเสียหายต่อชาติแน่นอน ดังนั้น หากรัฐบาลกลัวว่าจะมีปัญหาก็สามารถให้ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาช่วย สกล. คิดแนวทางการแก้ไขได้

ทั้งนี้นายเทวินฏฐ์กล่าวเสริมว่า ปัญหาการจดทะเบียนศูนย์การเรียนรู้ รัฐมนตรีฯ สามารถจัดตั้งกลไกแก้ไขเฉพาะหน้าได้ เพราะปัจจุบันเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาก็อาจไม่อยากจดทะเบียนให้ เพราะสถานศึกษามากขึ้น งบประมาณก็จะแบ่งย่อยมากขึ้น

ด้านนางรัชนี ธงไชย ตัวแทน สกล. กล่าวว่า การศึกษาทางเลือกมีมากว่า 30 ปีแล้ว โดย สกล. ตั้งใจทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ แต่แม้จะมีกฎหมายบัญญัติให้การศึกษาทางเลือกทำงานสะดวกแต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่กลับไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้าราชการไม่เอาใจใส่ ทำให้ สกล. ทำงานลำบากมาก อีกทั้งยังทำให้มีผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษามากขึ้น แม้แต่คนรวยเพราะขาดการศึกษาที่มีความสุข นอกจากนี้ ทุกคนทุกเพศทุกวัยต่างต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่แม่ที่ตั้งครรภ์ที่ต้องเรียนรู้การดูแลลูก จนถึงวัยชราที่ต้องเรียนรู้เพื่อดูแลตัวเอง แต่ปัจจุบันแค่เฉพาะการศึกษาของเด็กวัยเรียนก็มีปัญหาแล้ว แล้วจะสร้างคนที่มีคุณภาพในทุกระดับได้อย่างไร ซึ่งถ้าคุณภาพการศึกษาไม่มีก็จะเกิดปัญหาคุณภาพชีวิตตามมา

นายชัยณรงค์ ฉิมชูใจ ตัวแทน สกล. กล่าวว่า การประชุมแต่ละครั้งขาดความต่อเนื่อง เช่น วาระเดิมยังไม่สรุปแผนงานหลัก แต่ประชุมครั้งใหม่ไม่ต่อวาระประชุมเดิมและมีแผนงานย่อยและงบประมาณมาเสนอแล้ว ซึ่งทำงานแบบนี้เรารับไม่ได้และเดินต่อด้วยไม่ไหว เพราะไม่รู้ว่าจะเดินหน้าต่อไปเพื่อเป้าหมายอะไร อีกทั้งเราไม่อยากเป็นเพียงแค่ผู้ร่วมรับรองมติ การแก้ไขปัญหาต้องให้รัฐมนตรีลงมาช่วย มิฉะนั้นการแก้ปัญหาก็จะวนเวียนอยู่แบบเดิม ไปไหนไม่ได้ อย่างที่เป็นมาตลอดหลายปี

“รัฐทำงานติดอยู่กับกรอบความคิดเดิมๆ ซึ่งเราไม่อยากติดอยู่ในกรอบเหล่านี้ และแม้ว่ากฎหมายจะกำหนดชัดเจนมาตลอดว่าทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษา แต่กระทรวงศึกษาธิการกลับบ่ายเบี่ยง หลีกเลี่ยง และขวางด้วยซ้ำ จนทำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ไม่แท้จริง” นายชัยณรงค์กล่าว

ด้านนางกนกพร สบายใจ ตัวแทน สกล. กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาขาดความต่อเนื่อง โดยมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 กำหนดให้มีการศึกษาทางเลือกโดยบุคคล ครอบครัว เอกชน สถานประกอบการ สถานวิชาชีพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่เพิ่งมีกฎกระทรวงที่เกิดจากการขับเคลื่อนของภาคประชาชนในปี 2547 และมีแนวปฏิบัติเรื่องการศึกษาครอบครัวปี 2549 อีกทั้งแนวปฏิบัติดังกล่าวก็ทำงานร่วมกันเพียงแค่ปีแรกเท่านั้น และก็มีปัญหาเรื่องเปลี่ยนหน่วยงานรับผิดชอบ การศึกษาทางเลือกก็มีปัญหาเรื่องการประเมินผล ปัญหาเด็กที่อยู่บ้านเรียนไม่สามารถเรียน ร.ด. ได้ ฯลฯ ซึ่งทุกปัญหา สกล. ต้องแก้ปัญหาเองเป็นรายกรณีไปโดย สพฐ. ไม่ได้เข้ามาร่วมแก้ไขด้วย จนบางครั้งก็ต้องฟ้องศาลปกครองฐานเจ้าหน้าที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ พ.ร.บ. กำหนด ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็มีปัญหาสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ

“การศึกษาทางเลือกไม่ใช่การศึกษาของเด็กด้อยโอกาส แต่เป็นของเด็กทุกคนที่จะเลือกการศึกษาที่เหมาะสมกับตัวเองได้” นางกนกพรกล่าว

แถลงการณ์

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) ได้แถลงการณ์ เรื่อง ขอถอนตัวออกจากคณะกรรมการเครือข่ายการศึกษาทางเลือก โรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนชุมชน กระทรวงศึกษาธิการ และคณะทำงานพัฒนาการศึกษาทางเลือกในสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดยเสนอกลไกใหม่ในการสนับสนุนการจัดการปัญหาและพัฒนาการศึกษาทางเลือกอย่างแท้จริง

โดยระบุว่า สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เป็นองค์กรเครือข่ายการศึกษาทางเลือกในประเทศไทยซึ่งมีสมาชิกองค์กรจัดการศึกษาทางเลือกจากทุกภาคส่วนกว่า 400 องค์กร เกิดการรวมตัวกันเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยภาคประชาชน ตามมาตรา 12 ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เข้าร่วมแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวและศูนย์การเรียนโดยบุคคล องค์กรชุมชน และองค์กรเอกชน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาและพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก 15,000 โรง ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยได้รับแต่งตั้งเข้าร่วมเป็น “คณะกรรมการเครือข่ายการศึกษาทางเลือก โรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนชุมชน กระทรวงศึกษาธิการ” ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556

“ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เราผิดหวังกับการทำงานของ สพฐ. ที่ใช้ท่าทีการคิดและทำเพียงฝ่ายเดียว ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกระดับ/ทุกขั้นตอนอย่างเหมาะสม ไม่สนใจการมีส่วนร่วมของตัวแทนสมาคมฯ ในส่วนภาคประชาชน ดังกรณีการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาทางเลือก ที่สำนักนโยบายและแผน สพฐ. จัดประชุมโดยขาดการปรึกษาหารือและให้เกียรติรับฟัง ที่สำคัญไปกว่านั้น ไม่เกิดความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคประชาชน เกิดปัญหาจากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ ทำให้การขออนุญาตจัดการศึกษาโดยครอบครัวและศูนย์การเรียนยังคงเป็นไปโดยล่าช้า พบเจออุปสรรคโดยที่กลไกของ สพฐ. ละเลยที่จะร่วมแก้ปัญหา ขาดการเอาใจใส่/ติดตามดูแล/รับผิดชอบอย่างจริงจัง”

แม้ว่า ในปี 2557 ตัวแทนของสมาคมฯ และภาคประชาชน ได้เข้าร่วมเป็น “คณะทำงานพัฒนาการศึกษาทางเลือก ในสำนักเลขาธิการสภาการศึกษา” ก็ยังไม่สามารถผลักดันให้ สพฐ. เกิดระบบและมาตรการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มผู้เรียนการศึกษาทางเลือกด้วยความรับผิดชอบอย่างจริงใจ ด้วยเหตุนี้ สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย ขอแถลงต่อสาธารณะและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังนี้

1. สกล. ขอถอนตัวออกจาก “คณะกรรมการเครือข่ายการศึกษาทางเลือก โรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนชุมชน กระทรวงศึกษาธิการ” และ “คณะทำงานพัฒนาการศึกษาทางเลือก” ในสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

2. สกล. เสนอให้มีคณะกรรมการการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ ซึ่งทาง สปช. ด้านการศึกษากำลังผลักดันให้เป็นกลไกใหม่แทนที่กระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่ดูแล พัฒนา สนับสนุนสิทธิการจัดการศึกษาทางเลือกที่หลากหลายตามมาตรา 12 ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งจำเป็นต้องมีกลไกองค์กรที่มีความพร้อมและความเข้าใจในระบบการศึกษาทางเลือกและให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รองรับการปฏิบัติงานพัฒนาการศึกษาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง มั่นคง และต่อเนื่อง

3. สกล. จะเคลื่อนไหวแก้ปัญหาให้กับการจัดการศึกษาโดยครอบครัวและศูนย์การเรียน โดยขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยราชการเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกับเรา

ปัญหาการจัดการศึกษาโดยภาคประชาชนตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

1. การจดทะเบียนจัดการศึกษาโดยครอบครัว (Home School)
2. การจดทะเบียนศูนย์การเรียนของ บุคคล องค์กรชุมชน และองค์กรเอกชน
3. ระบบการจัดสรรเงินอุดหนุนและสิทธิประโยชน์ทางการศึกษาของบ้านเรียนและศูนย์การเรียน
4. การดำเนินงานรับรองสิทธิในการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดทำหลักสูตร/แผนการศึกษา การวัดผลและประเมินผลที่สอดคล้องกับผู้เรียนและสถานศึกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางฯ สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
5. สิทธิการเทียบโอนผลการเรียนตามมาตรา 15 (พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542)