ThaiPublica > เกาะกระแส > ประกาศิต “บิ๊กตู่” ดีเอสไอจัดทีมไล่ล่า 5 ชุดใหญ่ ตรวจทางเดินเงิน-เอาผิดอดีตผู้บริหารยักยอกทรัพย์“สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน”

ประกาศิต “บิ๊กตู่” ดีเอสไอจัดทีมไล่ล่า 5 ชุดใหญ่ ตรวจทางเดินเงิน-เอาผิดอดีตผู้บริหารยักยอกทรัพย์“สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน”

28 กุมภาพันธ์ 2015


จากที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำเสนอข่าวอดีตผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นยักยอกเงินสมาชิกกว่าหมื่นล้านบาทมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2556 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สมาชิกสหกรณ์ฯ ยังไม่สามารถเบิกถอนเงินจากสหกรณ์ฯ แห่งนี้ได้ ขณะที่ทางการทำได้แค่ยึดอายัดเงินและทรัพย์สินบางส่วนที่ถูกถ่ายโอนออกจากสหกรณ์ฯ แต่ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ คดีไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร จนกระทั่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 ว่า “ส่วนกรณีที่พระสงฆ์จะทำผิดหรือถูกนั้น ต้องว่ากันไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตนไม่ต้องการให้เข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหาบานปลายกระทบกับความเชื่อของประชาชน อยากให้ประชาชนมองในสิ่งที่รัฐมีส่วนรับผิดชอบมากกว่า คือ กรณีของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ก็ให้มุ่งไปที่การดำเนินการตามกฎหมายเรื่องการทุจริต ขณะนี้ตนได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามกฎหมายแล้ว”

คดียักยอกเงินสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น แม้ผู้บริหารชุดที่ 30 พยายามเข้ามาดำเนินการเพื่อฟื้นฟูสหกรณ์ฯ โดยดำเนินคดีบุคคลที่ยักยอกเงิน และผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะพระบางรูปและวัดธรรมกาย ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้รับความสนใจมากนัก แต่กลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 พ.ต.อ. ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้แถลงข่าวเปิดตู้เซฟของบริษัท เอส.ดับบลิว.โฮลดิ้งกรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัดที่เกี่ยวข้องกับคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 สำนักงาน ปปง.

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ซ้าย) และพ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 (ขวา) แถลงข่าวความคืบหน้าในการดำเนินคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ณ ห้องแถลงข่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มาภาพ :  ประชาสัมพันธ์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ซ้าย) และพ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 (ขวา) แถลงข่าวความคืบหน้าในการดำเนินคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ณ ห้องแถลงข่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มาภาพ : ประชาสัมพันธ์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

หลังจากนั้นวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 พ.ต.ท. สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 และ พ.ต.ต. วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI หน่วยงานซึ่งรับผิดชอบคดีนี้โดยตรง เปิดแถลงข่าวความคืบหน้าในการดำเนินคดีอดีตผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดย พ.ต.ต. วรณันเปิดเผยว่า หลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเปลี่ยนแปลงทีมพนักงานสอบสวนใหม่ โดยมีนางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าทีม ได้แบ่งทีมงานรวบรวมพยานหลักฐานออกเป็น 5 ชุด ดังนี้

ชุดแรก ติดตามเส้นทางการเงินของเช็ค 878 ฉบับ และการถอนเงินสดออกจากเคาน์เตอร์ ชุดที่ 2 ทีมตรวจสอบกระบวนทางบัญชีสหกรณ์ ตรวจสอบการกระทำความผิดและผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้อง ชุดที่ 3 ทีมงานด้านกฎหมาย มีหน้าที่ตรวจสอบกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวกับสหกรณ์ ชุดที่ 4 ทีมงานติดตามด้านทรัพย์สิน ทีมนี้จะประสานงานกับทีมตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพื่อติดตามสืบทรัพย์สิน ชุดที่ 5 เป็นทีมเลขานุการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบงานด้านคดีทั้งหมด รวมทั้งสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมี พ.ต.ท. สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 เป็นหัวหน้าทีม โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะจัดให้มีการประชุมติดตามความคืบหน้าของคดีทุกวันศุกร์ของสัปดาห์และเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

พ.ต.ต. วรณันกล่าวต่อว่า ทีมตรวจสอบและติดตามเส้นทางการเงิน ได้รายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุมวันนี้ว่าจากการตรวจสอบทรัพย์สิน, เช็ค 878 ฉบับ และการถอนเงินสดที่หน้าเคาน์เตอร์ในช่วงปี 2552-2555 เป็นมูลค่า 1,900 ล้านบาท กรมสอบสวนคดีพิเศษแบ่งคดีออกเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 วัดพระธรรมกายและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย ขณะนี้ได้หลักฐานทางการเงินมาบางส่วนแล้ว กลุ่มที่ 2 บริษัท เอส.ดับบลิว.โฮลดิ้งกรั๊ป (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีนายสถาพร วัฒนาศิรินุกุล และพวก เข้าไปเกี่ยวข้อง กลุ่มที่ 3 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี เป็นกลุ่มที่เส้นทางการเงินเชื่อมโยงกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กลุ่มที่ 4 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนรัฐประชา โดยมีนายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ และพวกเข้าไปเกี่ยวข้องอีกสายหนึ่ง กลุ่มที่ 5 กลุ่มญาติธรรมที่มีเส้นทางเงินจากสหกรณ์ไหลส่วนใหญ่เป็นสมาชิกที่อยู่ต่างจังหวัด กลุ่มที่ 6 กลุ่มผู้ที่มีการกู้ยืมเงินกับสหกรณ์ฯ

“ขณะนี้ทีมตรวจสอบด้านกฎหมายพบว่า นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กระทำผิด พ.ร.บ.สหกรณ์ และระเบียบข้อบังคับต่างๆ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีจนนำไปสู่การยักยอกเงินจำนวนมากออกจากสหกรณ์ฯ ทางกรมสอบสวนคดีกำลังรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์เจตนาในการกระทำผิด” พ.ต.ต. วรณันกล่าว

สาเหตุที่กรมสอบสวนคดีพิเศษกลับให้ความสำคัญกับคดีนี้อีกครั้ง พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นว่าคดีนี้มีความสำคัญมาก เพราะเกี่ยวข้องกับสมาชิกผู้ฝากเงินจำนวนมาก กรมสอบสวนคดีพิเศษเริ่มรับทำคดีนี้เป็นคดีพิเศษเมื่อปี 2556 ในข้อกล่าวหา “ยักยอกทรัพย์” พนักงานสอบสวนจึงพิจารณาเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการยักยอกทรัพย์ ส่วนผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องจึงไม่ได้ดำเนินคดี จากนั้นก็มีการร้องทุกข์กล่าวโทษเพิ่มอีก 2 คดี ในข้อหา “ฉ้อโกงเงินประชาชน” ซึ่งมูลหนี้หรือ ทรัพย์สินที่ฉ้อโกงเชื่อมโยงกับคดีแรก จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณากันใหม่ ต้องทำการตรวจสอบเส้นทางการเงิน จึงมองว่าทีมพนักงานสอบสวนคณะเดิมมีจำนวนไม่เพียงพอจะตรวจสอบคดีที่ขยายวงออกไป ประกอบกับคดีนี้มีความเสียหายเกิดขึ้นคิดเป็นมูลค่าสูง ต้องประสานกับหน่วยงานภายนอก และอาศัยอำนาจอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษใช้อำนาจสั่งการ จึงจำเป็นต้องมีการตั้งทีมสืบสวนชุดใหญ่ โดยใช้ทีมพนักงานสืบสวนจากสำนักคดีต่างๆ เช่น สำนักคดีการเงิน สำนักเทคโนโลยี มาทำงานร่วมกัน ทีมพนักงานสืบสวนชุดใหม่ได้รับสำนวนจากทีมงานชุดเก่าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 มี 3 คดี คือ คดีเลขที่ 146/56 พนักงานสอบสวนชุดเดิมส่งให้อัยการไปแล้ว อัยการสั่งสอบเพิ่มเติม คดีที่ 63/2557 และคดีที่ 64/2557 อยู่ระหว่างการดำเนินการของพนักงานสอบสวน

ส่วนข้ออ้างของวัดธรรมกายนำเงินที่นายศุภชัยบริจาคไปก่อสร้างศาสนสถานบนที่ดินสงฆ์ไม่สามารถบังคับคดีได้ พ.ต.ท. สมบูรณ์เปิดเผยว่า เบื้องต้นต้องตรวจสอบเส้นทางการเงินให้ชัดเจนก่อน และต้องพิจารณาที่เจตนาการรับเงิน และข้อยกเว้นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย กลุ่มนี้จะมีเช็คไหลเข้ากลุ่มวัดธรรมกาย 15 ฉบับ ประมาณ 818 ล้านบาท แต่เช็คถูกนำมาขึ้นเงินกับธนาคาร 13 ฉบับเป็นเงิน 731 ล้านบาท หากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเอกสารทางการเงินจากธนาคารมาตรวจสอบเสร็จเรียบร้อย จากนั้นจะเรียกผู้รับเช็คทั้งหมดมาสอบปากคำ รวมทั้งพระธัมมชโยด้วย