ThaiPublica > คนในข่าว > “ชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์” ใช้ Thai Gap มาตรฐานล้างพิษ ผัก-ผลไม้ ยกระดับความปลอดภัยสินค้าเกษตรไทย

“ชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์” ใช้ Thai Gap มาตรฐานล้างพิษ ผัก-ผลไม้ ยกระดับความปลอดภัยสินค้าเกษตรไทย

1 กุมภาพันธ์ 2015


นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ ประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ ประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ทางโน้มของโลกที่เน้นเรื่องความปลอดภัยในสุขภาพ รวมทั้งการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดี ส่งผลให้มีมาตรการคุมเข้มการนำเข้าผักปลอดสารพิษ-ผลไม้ปลอดสารเคมี

อาหารไทยเป็นที่รู้จักระดับโลก วัตถุดิบที่ใช้จำเป็นต้องได้มาตรฐานการส่งออก ที่ผ่านมาไทยยังมีปัญหาการส่งออกผักที่เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารเหล่านี้ หรือแม้แต่การบริโภคในประเทศเอง ยังมีการปนเปื้อนของสารเคมีตกค้าง ต่อประเด็นเรื่องนี้ นาย“ชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์” ประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งรับอาสาเป็นคนกลางระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิต ผลักดันให้ผัก-ผลไม้ไทย มีระบบล้างพิษระดับมาตรฐานสากล หรือ Global GAP ให้สัมภาษณ์ถึงความมุ่งมั่นที่จะให้ผลผลิตทางการเกษตรของประเทศไทยมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเป้าหมายใหญ่ที่ต้องการให้สินค้าเกษตรไทยแข่งขันได้ในมาตรฐานตลาดโลก จะสำเร็จหรือไม่ อะไรคือตัวช่วย อะไรคือตัวฉุดว่า

ไทยพับลิก้า: กระบวนการของเกษตรปกติ ต่างจากเกษตรแบบ GAP อย่างไร

GAP ในความหมายก็คือ Good Agriculture Practice เป็นการปฏิบัติทางการเกษตรที่ถูกต้อง หากเขาไม่มีเลยก็ถือเป็นการใช้สารเคมีหรือทำการเกษตรแบบสะเปะสะปะ ทำให้ปริมาณการปนเปื้อนของตัวสินค้าภาคเกษตรมีปริมาณที่สูง เพราะเกษตรกรไม่ได้อยู่ในระบบ GAP

เมื่อไม่อยู่ในระบบจึงเป็นผลกระทบต่อผู้บริโภค ที่ไม่ทราบว่าตนเองบริโภคอะไร ปัจจุบันสินค้าเกษตรในประเทศไทยยังไม่สามารถตรวจสอบได้มากว่ามาจากที่ไหน ทำอะไรมา แม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะพยายามทำทุกอย่างแต่ก็ยังตอบไม่ได้ นี่คือที่มาที่ไปของปัญหาที่สภาหอการค้าฯ คิดว่าหากปล่อยไปเรื่อยๆ ขีดความสามารถด้านการเกษตรของประเทศไทยจะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เพราะนี่คือการยกระดับที่จะทำให้ประเทศไทยหนีจากปัญหาที่ค้างคาอยู่มานานแล้ว

การทำเกษตรระบบ GAP ต้องตรวจวิเคราะห์ประวัติการทำเกษตร วิเคราะห์ว่ามีปริมาณน้ำเพียงพอหรือไม่ รวมไปถึงดินและน้ำที่จะใช้ทำการเพาะปลูกนั้นมีการปนเปื้อนหรือไม่อย่างไร ฯลฯ นี่คือวิธีการแรก แล้วก็นำความรู้ความเข้าใจในการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ความเข้าใจในการจัดการเรื่องระบบฟาร์ม และสุดท้ายคือมีตลาดมารองรับ

ไทยพับลิก้า: แล้วอะไรคือ Global GAP

สิ่งที่ไม่เหมือนในระบบค้าปลีกในประเทศไทยกับต่างประเทศ คือว่า บริษัทที่ทำค้าปลีกในต่างประเทศนั้นปฏิบัติตามข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด และห้างค้าปลีกแต่ละห้างจะมีระบบตรวจสอบคุณภาพของตนเอง คือระบบ QA (Quality Assurance) ระบบ QC (Quality Control) ยกตัวอย่าง Tesco หรือ Walmart ก็จะมีมาตรฐานของเขา

ดังนั้น ผู้ผลิตที่ต้องส่งสินค้าให้ห้างค้าปลีกต่างๆ นี้ก็จะต้องการให้ผ่านระบบทุกห้าง จึงมีแนวคิดในการทำมาตรฐานเดียวให้เป็นค่ากลาง จึงต้องใช้ Global GAP เนื่องจากเป็นระบบตรวจสอบคุณภาพที่มีความครอบคลุม ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่าย และมีข้อกำหนดมาตรฐานที่ตรงกับห้างค้าปลีกแต่ละห้าง

นอกจากนั้น Global GAP ยังเป็นมาตรฐานที่กำหนดให้ผู้ส่งสินค้าไปขายในสหภาพยุโรปปฏิบัติตามเพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของสินค้าเกษตรทั้งพืชผัก ประมง ปศุสัตว์ ตามข้อกำหนดของกฎหมายของสหภาพยุโรป

ในประเทศไทยห้างค้าปลีกยังไม่มีระบบการจัดการคุณภาพที่เป็นการจัดการฟาร์ม (farm management) ขณะที่ต่างประเทศมีมานานแล้ว และประเทศไทยก็กำลังตื่นตัวเรื่องของกฎหมาย เรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม รับผิดชอบต่อผู้บริโภค จึงได้นำระบบ Thai GAP เข้าไปช่วย ผู้ประกอบการก็จะไม่ต้องมานั่งทำการจัดการคุณภาพอีก ถือเป็นเครื่องมือที่ใช้ทั้งสำหรับทำการเกษตรและตรวจสอบผลิตภัณฑ์เกษตร

ในกรณี ตลาดสดที่ระบบของ Thai GAP ไม่สามารถเข้าถึงได้ ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ แต่ทางตลาดก็มีความต้องการที่จะเข้าร่วมโครงการ Thai GAP ทางสภาหอการค้าจึงบอกไปว่าให้ทางตลาดคัดเลือกเกษตรกรที่พร้อมมาเข้าร่วมโครงการ เพราะเกษตรนั้นมีหลายระดับดังที่กล่าวไป สภาหอการค้าฯ ทำทั้งหมดไม่ไหว

แต่ในต่างประเทศนั้นเป็นไปโดยกฎหมายของเขา ระบบ Global GAP ของต่างประเทศนั้นเกิดขึ้นหมดแล้ว คือเขาเข้าใจว่า “ต้องทำ” ซึ่งทุกประเทศที่เจริญแล้วจะเป็นแบบนี้ทั้งหมด ระบบความปลอดภัยเป็นเรื่องทางกฎหมายไปแล้ว เป็นค่าบังคับตามกฎหมายกำหนด

ไทยพับลิก้า: แล้วโครงการ Thai GAP หรือมาตรฐาน Thai GAP เกิดขึ้นได้อย่างไร

โครงการ Thai GAP เป็นการสร้างมาตรฐานของการปฏิบัติการทางการเกษตรที่ดี (good agriculture practice) ของภาคเอกชน ทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมมือกับทีมงานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยนำมาตรฐานของต่างประเทศ คือ Global GAP ซึ่งเป็นของเอกชนเช่นกัน มาเป็นหลักในการพัฒนา

การตั้ง Thai GAP ขึ้นมา ก็เพื่อให้มาตรฐานที่นำมาจากข้อกำหนดภาษาอังกฤษ สามารถนำไปเทียบเคียงกับ Global GAP ให้เกิดการรับรองว่ามาตรฐาน Thai GAP กับมาตรฐาน Global GAP ก็คืออันเดียวกัน เพียงจะต่างในเฉพาะเรื่องของภาษาเท่านั้น เนื่องจาก Global GAP มีภาษาอังกฤษและภาษาสเปน เป็นภาษาหลัก

การนำมาตรฐาน Global GAP มาแปลเป็นภาษาไทย ก็เพื่อให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยเข้าใจง่ายขึ้นและนำไปปฏิบัติได้ง่ายขึ้น แต่การแปลตรงนี้ใช้เวลานานหลายปี ก็มีสำนักงานความช่วยเหลือทางวิชาการของเยอรมัน ประจำประเทศไทย หรือ GTZ ได้เข้ามา ก็ช่วยเหลือในเรื่องงบประมาณที่จะนำ Thai GAP ไปเทียบเคียงกับมาตรฐานของ Global GAP ซึ่งการเทียบเทียบเคียงนี้ทำสำเร็จเมื่อ 3 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2554)

จากซ้ายไปขวา นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ ประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรกรไทย, นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช., นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สทอภ.
จากซ้ายไปขวา นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ ประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรกรไทย, นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช., นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สทอภ.

ไทยพับลิก้า: การลงนามความร่วมมือกับ สวทช. และ GISTDA [สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)] มีขึ้นเพื่ออะไร

ในช่วงจังหวะที่ Thai GAP ได้รับการรับรองเทียบเท่ากับ Global GAP นั้น เป็นจังหวะที่การส่งออกผักและผลไม้ไปสหภาพยุโรปมีปัญหาเกิดขึ้น เนื่องจากมีการตรวจสอบพบว่าสินค้าที่ส่งเข้าไปใสสหภาพยุโรปไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด สินค้าไม่ปลอดภัย จึงทำให้การสั่งซื้อลดลง

ทั้งนี้ เมื่อเกิดปัญหา ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศไทยก็ลดลงด้วย เพราะว่าทางมูลนิธิชีววิถี หรือ Bio Thai ก็มีการสุ่มตรวจสินค้าผักและผลไม้ตามตลาด หรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่จำหน่ายผักและผลไม้ ก็มีการตรวจพบสารเคมีตกค้างในปริมาณที่ไม่ค่อยจะปลอดภัยเท่าไรนัก จึงทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่เชื่อมั่นว่าสินค้าที่ตนเองบริโภคในประเทศนั้นมีความปลอดภัย

เกิดความไม่เชื่อมั่นในเครื่องหมาย Q GAP จึงคิดว่า Thai GAP น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้บริโภคสามารถเลือกได้ ว่าสินค้าหากมีตราสัญลักษณ์ Thai GAP จะมีความปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตลาดผู้บริโภค

ทางหอการค้าจึงได้มีการจับมือให้โครงการนี้เกิดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้ยกระดับขีดความสามารถของการพัฒนาระบบมาตรฐาน โดย สวทช. จะสนับสนุนด้านงบประมาณบางส่วนให้กับผู้ประกอบการในการตรวจรับรอง Thai GAP เป็นรูปแบบสำหรับในประเทศ

ส่วนห้างค้าปลีกในประเทศที่มีการร่วมมือกัน และเห็นพ้องว่าควรนำเรื่องนี้มาทำเพื่อให้เกิดการเตรียมตัวของผู้ประกอบการกับสินค้าที่ปลอดภัยในประเทศก็มี อาทิ แมคโคร ซีพี ท็อปส์ เทสโก้โลตัส ซึ่งทั้ง 4 ก็จะนำผู้ประกอบการในเครือข่ายมาร่วมในโครงการ Thai GAP

และสิ่งหนึ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ก็คือเรื่องของระบบตรวจสอบย้อนกลับ หรือ testability ทางสภาหอการค้าได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ที่เป็นหน่วยงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางอวกาศ มีดาวเทียมคอยตรวจสอบ

โดยนำเทคโนโลยีที่เขามีมาตรวจสอบระบบฟาร์มที่ได้รับการรับรอง เกษตรกรรายไหน หรือผู้ประกอบการรายไหนได้รับรอง Thai GAP ก็จะมี QR Code ประจำตัวของเขา สามารถตรวจสอบได้โดยสมาร์ทโฟนต่างๆ ทำให้สามารถทราบได้เลยว่าเกษตรกรนั้นมีตัวตนจริงๆ อยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่

และในอนาคต หากผู้ประกอบการได้รับการรับรองเรียบร้อยแล้ว ทางสภาหอการค้าฯ ก็คิดว่าจะทำการ “รับประกัน” ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองด้วย มีการทำฉลากให้เหมือนต่างประเทศ

ไทยพับลิก้า: ในการเข้าร่วม Thai GAP ต้องผ่านกระบวนการใดบ้าง

อันดับแรก สภาหอการค้าฯ จะเป็นตัวเชื่อม และก็เป็นเจ้าของมาตรฐาน เนื่องจากเกษตรกรระดับไม่เท่ากัน ด้วยมาตรฐานเป็นขั้นสูง จึงต้องมีการคัดคนที่มีความพร้อม เข้าใจว่าผู้บริโภคต้องการอะไร แต่การเลือกก็จะค่อยๆ พัฒนาออกไปเรื่อยๆ ต้องใช้เวลา โดยปัจจุบันอาศัยกลุ่มห้างค้าปลีก หรือผู้ส่งออกเป็นผู้คัดกรองเกษตรกรที่อยู่ในเครือข่ายเข้ามา

ระบบของThai GAP มี 2 รูปแบบ คือ แบบที่เป็นมาตรฐานที่เทียบเท่า (benchmark) กับ Global GAP ก็จะทำการตรวจสอบทุกอย่างในการรับรอง ทุกอย่างจะเหมือนของ Global GAP เพียงแต่ระบบการทำและการตรวจสอบเป็นภาษาไทย และใช้เจ้าหน้าที่คนไทยที่ได้รับการรับรองจากต่างประเทศทำการตรวจและรายงานผลเป็นภาษาไทย

โดยระบบ Global GAP เมื่อมีการตรวจแปลง ไม่ได้ประเมินเพียงเรื่องความปลอดภัยจาการให้สารเคมีเพียงอย่างเดียว แต่ยังตรวจสอบไปถึงเรื่องของการรักษาสภาพแวดล้อม ข้อกำหนดในเรื่องสวัสดิการทางสังคม รวมไปถึงสวัสดิภาพของสัตว์ในฟาร์ม ฯลฯ

แต่สำหรับ Thai GAP รูปแบบที่ 2 สำหรับสินค้าในประเทศ เป็นส่วนที่ สวทช. GISTDA และสภาหอการค้าฯ ลงนามบันทึกความร่วมมือกัน จะยังไม่มีข้อกำหนดเหล่านี้ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่ต้องการข้อกำหนดตรงนี้เท่าไรนัก ผู้บริโภคยังไม่ได้เรียกร้องมากมายว่าจะต้องมีการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ หรือการควบคุมมลภาวะต่างๆ

เนื่องจากการจะปฏิบัติตามข้อกำหนดต้องมีการลงทุน ซึ่งต้นทุนเหล่านี้ผู้บริโภคเป็นผู้รับภาระ จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปสร้างค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้เกิดขึ้น

ในต่างประเทศจะเห็นว่าสินค้าเหล่านี้ราคาแพง ก็เนื่องมาจากข้อกำหนดในการปฏิบัติของเขาเป็นต้นทุนทั้งหมด ฉะนั้น จึงต้องให้ผู้บริโภคในประเทศไทยเรียนรู้สักระยะ สักวันหนึ่งก็อาจจะเป็นข้อกำหนดที่คนไทยต้องการ แต่ก็คงจะไม่ใช่คนไทยทุกคนที่ต้องการ คนระดับหนึ่งต้องการ แต่คนอีกระดับหนึ่งก็อาจจะอีกอย่าง ก็จะเป็นการแยกขายกันไป

QR Code ที่สามารถแสกนได้
QR Code ที่สามารถแสกนได้

ไทยพับลิก้า: เท่ากับว่าต้องยกระดับราคาขึ้น

ตรงนี้เป็นข้อตกลงทางการค้าระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายอยู่แล้ว คือแน่นอนที่สุดผู้ซื้ออยากได้ของที่ปลอดภัย คนที่จะทำสินค้าปลอดภัย ตามข้อปกติของการค้าเขาก็ต้องซื้อสินค้าที่แพงขึ้น แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าแพงขึ้นเท่าไร อย่างไร อยู่ที่ข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย

จากทัศนคติของภาครัฐเองที่มักมองว่าผู้ที่ทำ GAP หรือไม่ทำนั้นก็ได้ราคาเดียวกัน ส่วนผู้ที่ทำได้ราคาสูงก็เป็นผู้ส่งออกต่างประเทศ เท่ากับว่าทำ GAP เพื่อให้คนต่างประเทศทาน ไม่ยุติธรรมกับคนไทย งบประมาณที่กระทรวงเกษตรฯ ใช้ทำระบบ GAP เป็นงบประมาณจากภาษีคนไทย คงต้องปรับเปลี่ยนความคิดนิดหน่อยว่า GAP ไม่ได้ทำเพื่อส่งออก แต่เป็นระบบที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยของสินค้า ไม่ว่าจะในประเทศหรือส่งออก

ไทยพับลิก้า: ที่บอกว่าประกันจะประกันอย่างไร

ความจริงมีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว คือ กฎหมายที่ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคในการเยียวยาความเสียหายในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย (Product Liability Law: PL LAW) ที่ผู้บริโภคสามารถทำการฟ้องร้องได้

ส่วนสารพิษตกค้างที่สะสมระยะยาวกฎหมายต้องกำหนดให้เลย ในระยะเวลา 10 ปี แต่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าทานอันนั้นมา แต่มันก็ยาก เพราะใครจะมานั่งพิสูจน์ตัวเอง ทางสภาหอการค้าฯ จึงคิดว่าจะจัดทำการคุ้มครองรูปแบบใหม่ คือรับประกันให้เลย ในกรณี ตัวอย่างของต่างประเทศที่หากทานอะไรเข้าไปแล้วท้องเสีย สามารถฟ้องได้เลย แล้วประกันจะเป็นผู้จ่าย

ส่วนนี้จะเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคเลือกเอง แต่ว่าตอนนี้ยังไม่มีทางเลือกให้เขา เขาจึงจำเป็นต้องบริโภคในสิ่งที่เขาไม่รู้ แต่ถ้ารู้แล้วทำแล้วทำแล้วตรวจสอบได้แล้ว เขาจะเลือกหรือเปล่าอันนี้เป็นทางเลือกของเขา ทางสภาหอการค้าตอบแทนผู้บริโภคไม่ได้ แต่คิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่ดีสำหรับการพัฒนาผู้ประกอบการและผู้บริโภคในประเทศไทย

ไทยพับลิก้า: GAP ที่ทางสภาหอการค้าฯ ทำกับ GAP ที่กระทรวงเกษตรฯ ทำหน่วยงานใดเริ่มทำก่อน

จริงๆ แล้วก็เป็นการทำคู่ขนานกันมา คือ Q GAP ของกระทรวงเกษตรฯ เขาก็ทำของเขา Thai GAP ของสภาหอการค้าฯ ก็ทำมา คือ Thai GAP นั้นล้อมากับ Global GAP ซึ่งได้นำมาใช้ในประเทศไทยประมาณ 10 ปีได้แล้ว

โดยบริษัทผม (บริษัท กำแพงแสนคอมเมอร์เชียล จำกัด) เป็นผู้เริ่มต้นนำ Global GAP มาใช้กับกลุ่มเกษตรกรในที่เป็นเครือข่ายของบริษัท ตอนนั้นระบบ GAP ในประเทศไทยยังไม่มี แต่หลังจากเกิดขึ้นแล้วทางกระทรวงเกษตรฯ คงจะเห็นภาพว่าเป็นข้อกำหนดที่เกษตรกรควรจะต้องไปทำ เพราะทิศทาง (Trend) ของโลกมันมาในลักษณะที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นเรื่องของการผลิตให้ได้ นี่คือการเริ่มทำ GAP ในประเทศไทย

การนำ Global GAP ไปทำก็ยากมาก เนื่องจากเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด และเนื่องจากต้องจ้างเจ้าหน้าที่จากต่างประเทศมาตรวจสอบทำให้ค่าใช้จ่ายสูงมาก และเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ภาษาอังกฤษและข้อกำหนดที่เป็นสากล สภาหอการค้าฯ จึงร่วมกับทีมงานมหาวิทยาลัยเกษตรฯ จึงเห็นว่าควรจะแปลข้อกำหนดที่เป็นภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย

ขณะที่กระทรวงเกษตรก็จัดทำเรื่อง Q GAP ส่วน Thai GAP ก็เป็นของเอกชน ซึ่งก็เป็นทางเลือกให้กับผู้ประกอบการว่าจะใช้รูปแบบใดในการตรวจรับรอง แต่ทั้งมาตรฐาน Q GAP และThai GAP นั้นเป็น “มาตรฐานสมัครใจ” ไม่ได้มีการบังคับ

ไทยพับลิก้า: ถ้าอย่างนั้นพ่อค้าคนกลางจำเป็นที่จะต้องเข้ามาดูแลในเรื่องนี้โดยตรง

เขาจำเป็นที่จะต้องมีความรู้เรื่องนี้ และเข้าใจว่าต้องปฏิบัติอย่างไร แต่ที่ผ่านมาเขาไม่รู้ ทั้งส่งออกและในประเทศ

ไทยพับลิก้า: เกษตรกรที่อยู่ในโครงการมีเท่าไร

เกษตรกรที่อยู่ในโครงการ GAP เฉพาะส่วนของ Global GAP มีประมาณ 400 ราย ส่วนที่เป็น Thai GAP มีเพียง 3-4 รายเท่านั้น แต่เกษตรกรส่วนของ Global GAP ลดจำนวนลงไปพอสมควร เนื่องจากภายหลังเกิดปัญหาที่สินค้าไทยถูกตีกลับตลาดส่งออกก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าไร

สินค้าส่งออก สินค้าในห้างสรรพสินค้าบางส่วน หรือสินค้าที่นำไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสำเร็จรูปบางชนิดก็ใช้วัตถุดิบที่ได้ผ่านมาตรฐาน Global GAP ทั้งหมด เนื่องจากผู้ซื้อในต่างประเทศยื่นคำขาดว่าหากสินค้าที่ออกจากฟาร์มไม่ได้รับ Global GAP เขาก็ไม่ซื้อเหมือนกัน เพราะฉะนั้น สินค้าสำเร็จรูปหรือสินค้าที่เป็นอาหารก็ต้องผ่านมาตรฐาน Global GAP

แต่ผลิตภัณฑ์ในห้างค้าปลีกส่วนใหญ่จะใช้ Q GAP ของกระทรวงเกษตรเป็นพื้นฐาน ปัจจุบันยังไม่มีการนำผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ Thai GAP มาจำหน่ายเนื่องจากปริมาณยังไม่มาก หากผู้ที่มาลงนามร่วมอีก 19 ราย ผ่านการรับรองมาตรฐานก็จะมีสินค้ามากพอที่จะวางจำหน่ายโดยมีสัญลักษณ์ Thai GAP กำกับ โดยสินค้าจะอยู่ภายใต้แบรนด์ของเอกชน

ไทยพับลิก้า: ประเทศในอาเซียนที่มี GAP รับรองมีใครบ้าง

ก็มีประเทศเวียดนามที่เป็นประเทศที่พัฒนาเรื่องนี้สูงมาก สำหรับเรื่องสารเคมีที่มีการตกค้างในผัก ผลไม้ของเวียดนามนั้นเขาก็กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อยู่ด้วยกระบวนการที่เป็นสากลเหล่านี้ กระบวนการแบบเดียวกับประเทศไทย เขานำมาใช้ทีหลัง แต่กำลังจะก้าวหน้ากว่าประเทศไทย

ความก้าวหน้าที่ว่านี้ก็เป็นผลพลอยได้จากระบอบการปกครองที่เป็นคอมมิวนิสต์ที่ทำให้เกษตรกรเวียดนามทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ การนำระบบมาบังคับใช้จึงเป็นไปอย่างกว้างขวาง ในขณะที่เกษตรไทยอิสรเสรีบังคับไม่ได้

ไทยพับลิก้า: ทราบไหมว่า Q GAP ของกระทรวงเกษตรฯ มีเกษตรกรอยู่ในโครงการกี่ราย

ได้ยินว่ามีหลายแสนราย เฉพาะพืชผักนะ แต่ก็ไม่ทราบว่าเขาดูแลอย่างไร

DSC_7345

ไทยพับลิก้า: เคยพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานบ้างไหม ในผลผลิตจาก Thai GAP หรือ Global GAP

ยังไม่เคยพบ แต่หากมีการเจอการปนเปื้อน ก็จะมีการตักเตือน หากไม่แก้ไขก็จะทำการยกเลิกการรับรอง โดยจะไม่มานั่งประนีประนอมให้กับคนทำผิด ในเกษตรกรที่ได้รับมาตรฐาน Global GAP ก็ไม่เคยมี เพราะหลังจากที่คนได้รับมาตรฐานแล้วถูกสอนโดยหลักการว่าต้องปฏิบัติอย่างไร จึงกลายเป็นกิจวัตรที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งก็เป็นตัวเพิ่มโอกาสทางการค้า

ทั้งนี้ GAP เป็นระบบที่จะช่วยให้เกษตรกรใช้สารเคมีได้อย่างถูกต้อง คือสารเคมีไม่ใช่ตัวศัตรูนะ ไม่ใช่ศัตรูตัวร้าย แต่ว่าคนไปวางภาพให้เป็นเช่นนั้น จริงๆ ในทุกวันชีวิตคนเราต้องเผชิญกับสารเคมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการเผชิญนั้นมนุษย์เรารู้จักป้องกันหรือรู้จักใช้มันแค่ไหน ชีวิตปัจจุบันเป็นโลกของวิทยาศาสตร์แล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะปราศจากสารเคมี

แต่ก็มีกรณีกลุ่มที่เป็นลักษณะของเกษตรอินทรีย์ หรือออร์แกนิก ก็จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง แต่เกษตรกลุ่มนั้นก็มีเครือข่ายของเขา ซึ่งก็ดี ใช้ได้เลยทีเดียว แต่ว่าไม่มีปริมาณมากพอที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภค ระบบ GAP ก็เป็นเสมือนทางสายกลางที่ได้ทั้งคุณภาพและปริมาณ เพราะฉะนั้น เกษตรที่เป็นเกษตรอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีระบบนี้รองรับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น

สำหรับพืชเล็กพืชน้อย หรือพืชพื้นเมือง ที่อยู่ระบบ GAP ของทางหอการค้าฯ ก็มี ในส่วนนี้จะใช้ค่า MRLs จากต่างประเทศที่มีการกำหนดค่าเอาไว้มาตรวจสอบ และเนื่องจากค่าของต่างประเทศกำหนดไว้ต่ำอยู่แล้วจึงมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัย

ไทยพับลิก้า: เรื่องของการควบคุมการใช้สารเคมีเป็นหน้าที่ของใคร

เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่เพียงให้รัฐเข้ามาดูแล เนื่องจากเกษตรกรก็เป็นผู้ใช้ คือเขาต้องรู้ และรัฐที่มีหน้าที่ในการกำกับดูและตรวจสอบ แต่ก็ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างสมบูรณ์ เกษตรกรจึงอาศัยโอกาสการทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์แบบของรัฐเป็นช่องว่างในการหลบเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม

ผลลัพธ์จึงไปเกิดกับผู้บริโภค แต่สิ่งเหล่านี้ทางสภาหอการค้าฯ ไม่ต้องการให้เกิดในกระบวนการของการผลิต หากประเทศไทยต้องการสร้างขีดความสามารถในอนาคต จุดนี้เป็นเป้าหมายที่สภาหอการค้าฯ คิดว่าน่าจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยยกระดับได้ แต่ว่ามันไม่ง่ายหรอกนะ ไม่ง่ายที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้

ไทยพับลิก้า: จะเป็นปัญหามากไหมเมื่อเปิดประเทศ เข้าสู่เสรีอาเซียนไปแล้ว

คาดว่าหนักหนาสาหัสมาก เพราะปัญหานี้ทางสภาหอการค้าฯ ก็พยายามผลักดันไปให้กระทรวงเกษตรฯ ที่ดูแลเรื่องนี้ ต้องมีกติกาควบคุมสินค้าขาเข้าให้ดีกว่านี้ เพราะปัจจุบันตอนนี้ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรทั้งสิ้น

ประชาชนซื้อส้มซื้อผักยังไม่รู้เลยว่ามาจากไหน ตรวจสอบได้ไหม ก็เป็นโครงการที่ทาง Bio Thai ก็กำลังทำหน้าที่คอยสอดส่องดูแล แต่ฟังเขาแล้วก็ไม่อยากทานอะไรเลย ดูแล้วมันเป็นพิษเป็นภัยไปหมด ซึ่งมันไม่ใช่ คนเราต้องบริโภค เมื่อกระทรวงสาธารณสุขกำลังมีนโยบายให้คนไทยกินผักผลไม้มากๆ เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น แล้วจะไปกันได้อย่างไร

ไทยพับลิก้า: แนวโน้มของตลาดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผักและผลไม้ ในอนาคต

หากกระทรวงสาธารณสุขประกาศนโยบายว่าอยากให้คนไทยบริโภคผัก 400 กรัม/วัน/คน เพราะปัจจุบันคนไทยบริโภคผักและผลไม้ไม่ถึง 400 กรัม/วัน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ เนื่องจากผักเป็นตัวที่ทำให้เกิดสุขภาพที่ดี แต่การจะบริโภคได้ทุกวันนั้นหมายความว่าอาหารนั้นต้อง “ปลอดภัย” ทุกวัน แต่เขาก็ยังไม่กล้าพูดเนื่องจากปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัย

ทีนี้ เมื่อทำสิ่งนี้ออกไปแล้วเกิดมีผู้ประกอบการหรือเกษตรกรเข้ามาร่วมกระบวนการมากขึ้น ก็จะเกิดสินค้าที่ปลอดภัยให้คนไทยได้บริโภคครบปริมาณ 400 กรัม/วัน/คน หากเป็นไปตามโครงการนี้ในอนาคตจะมีธุรกิจที่เกิดขึ้นและทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งใน 200,000 ล้านบาทที่เกิดขึ้นเป็นในส่วนของการค้า แต่สิ่งที่จะตามมาคือการลดการรักษาพยาบาล เนื่องจากคนมีสุขภาพดี ซึ่งยังคาดไม่ได้ว่าเท่าไร

ขณะเดียวกัน ทางเอกชน ผู้ประกอบการก็ต้องหาเครื่องมือมาช่วยตัวเองเช่นกันว่าเครื่องมือตัวไหนจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในสินค้า ก็หวังว่า Thai GAP จะเป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในหลักประกันของการตรวจรับรองฟาร์มที่ได้รับรองมาตรฐานนี้

เอกาสารประกอบการอบรม ThaiGAP: GlobalGAP Standard

[youtube http://www.youtube.com/watch?v=bI5ygkcM3V0&w=420&h=315]