ThaiPublica > คอลัมน์ > ศาลตัดสินแล้ว! ปตท. คืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติครบถ้วนหรือไม่

ศาลตัดสินแล้ว! ปตท. คืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติครบถ้วนหรือไม่

23 กุมภาพันธ์ 2015


ฉกาจนิตย์ จุณณะภาต
นักกฎหมายพลังงาน

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ศาลปกครองชั้นต้นได้อ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ซึ่งต้องถือว่าเป็นคำวินิจฉัยสำคัญที่ทำให้ประเด็นการถกเถียงเรื่องการส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ครบถ้วนหรือไม่นั้นสิ้นสุดลง

เรื่องท่อส่งก๊าซธรรมชาตินี้นับว่าเป็นประเด็นร้อนเรื่องหนึ่งของสังคมไทยเลยทีเดียว เนื่องจากแม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะได้มีคำพิพากษาตั้งแต่ปี 2550 แต่ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันเป็นอย่างมากระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงการคลัง หรือในกลุ่มประชาชนที่อยู่ในแวดวงพลังงานรวมถึงผู้สนใจทั่วไป จนมาสู่ข้อถกเถียงที่ว่า ปตท. คืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่กระทรวงการคลังครบถ้วนหรือไม่

ดังนั้น ผู้เขียนจะขอลำดับถึงเหตุการณ์ที่มาพอสังเขป เพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นว่า คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้เป็นการยุติเรื่องการตีความเรื่องการส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. อย่างไร

หมายเหตุ: ข้อถกเถียงเรื่องการส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. สามารถอ่านได้ที่นี่

ความเดิม: คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ ฟ 35/2550 (คดีแปรรูป ปตท.)

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีแปรรูป ปตท. สรุปได้ดังนี้

1. ให้ยกคำฟ้องที่ขอให้เพิกถอนการแปรรูป บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กลับไปเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
2. ให้คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ปตท. ร่วมกันแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและสิทธิการใช้ที่ดินที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อกลับมาเป็นของรัฐ

ภายหลังที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาแล้วนั้น เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ สรุปดังนี้

1. รับทราบคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
2. เห็นชอบหลักการแบ่งแยกทรัพย์สินอำนาจและสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลัง
3. มอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินดังกล่าว โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณา

กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงได้ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีแปรรูป ปตท. ในการรับทรัพย์สินคืนจาก ปตท. ดังนี้

1. ที่ดินที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้มาโดยการใช้อำนาจเวนคืน
2. สิทธิการใช้ที่ดินเหนือที่ดินของเอกชน โดยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจ่ายค่าทดแทน
3. ท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ ที่อยู่ในที่ดินตามข้อ 1 และข้อ 2

ในช่วงระหว่างดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนให้แก่กระทรวงการคลัง (ช่วงปี 2550-2551) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ก็ได้มีการรายงานให้ศาลปกครองสูงสุดรับทราบมาโดยตลอดเป็นจำนวนหลายครั้ง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ศาลปกครองสูงสุดจึงได้มีคำสั่งว่า “ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

ข้อโต้แย้งจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

หลังจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 แล้ว ปรากฏว่า สตง. ยังคงไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ดังนั้น เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 สตง. จึงได้มีหนังสือถึง ปตท. แจ้งว่า ปตท. ยังส่งมอบทรัพย์สินให้กระทรวงการคลังไม่ครบถ้วน และ สตง. ก็ได้ลงท้ายหนังสือไว้อีกว่า ทั้งนี้ การดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินจะครบถ้วนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลเป็นสำคัญ (วันที่ สตง. มีหนังสือส่งมาที่ ปตท. ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยผ่านไปแล้ว 24 วัน – ผู้เขียน) นอกจากนี้ สตง. ยังได้ส่งหนังสือที่มีข้อความทำนองเดียวกันนี้ไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น เลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานศาลปกครอง กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน เป็นต้น

…ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่า ทำไมอยู่ๆ สตง. จึงได้ออกมาดำเนินการเรื่องนี้ภายหลังจากศาลได้มีคำสั่งไปแล้ว เหตุผลที่ สตง. อ้างก็คือ ในการรายงานการคืนทรัพย์สินต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 นั้น ไม่ได้มีการยื่นความเห็นของ สตง. เข้าไปเพื่อให้ศาลรับทราบตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 18 ธันวาคม 2550 ด้วย และ สตง. เห็นว่าเรื่องนี้มีผลทำให้คำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวอาจจะไม่ถูกต้องเลยทีเดียว…

อย่างไรก็ดี แม้ สตง. จะได้ส่งความเห็นของตนไปยังหน่วยงานต่างๆ แล้วนั้น ต่อมาเมื่อราวกลางเดือนมีนาคม 2552 สำนักงานศาลปกครองก็ได้มีหนังสือแจ้งกลับไปยัง สตง. ว่า ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 คณะรัฐมนตรี (รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) จึงได้มีมติรับทราบการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีแปรรูป ปตท. ตามรายงานของกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานเป็นที่เรียบร้อย

15 ตุลาคม 2555 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอีกครั้ง

แม้ว่าเรื่องท่อส่งก๊าซธรรมชาติจะได้ยุติไปแล้วกว่า 2 ปี ทว่าอย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวกรวม 1,455 คน ได้ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ปตท. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อศาลปกครองอีกครั้ง เพื่อขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ราย ร่วมกันดำเนินการแบ่งแยกระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกและระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลคืนให้แก่กระทรวงการคลัง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ขอให้ท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ทั้งบนบกและทะเลทั้งหมดเป็นของกระทรวงการคลังนั่นเอง

ต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 ไม่รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวกรวม 1,455 คน เนื่องจากเรื่องนี้ศาลปกครองสูงสุดได้เคยมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ 35/2550 (คดีแปรรูป ปตท.) ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวกรวม 1,455 คน ยังคงไม่เห็นด้วยกับศาลปกครองชั้นต้น จึงอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด

ประเด็นเรื่องท่อส่งก๊าซธรรมชาติถูกจุดขึ้นมาเป็นกระแสสังคมอีกครั้งหนึ่ง

ระหว่างที่ศาลปกครองสูงสุดกำลังพิจารณาคำอุทธรณ์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวกรวม 1,455 คน อยู่นั้น (ตั้งแต่ 2 พฤศจิกายน 2555) ก็ได้มีการเคลื่อนไหวของหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอให้ ปตท. ส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมดให้กระทรวงการคลัง สรุปได้ดังนี้

1. ก่อนหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวกรวม 1,455 คน จะยื่นฟ้องศาลปกครองกลางนั้น เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2555 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งหนังสือมายัง ปตท. ขอให้ชี้แจงเรื่องการส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติว่าครบถ้วนตามคำพิพากษาหรือไม่อย่างไร ซึ่ง ปตท. ได้มีหนังสือชี้แจงกลับไปว่า ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งว่า ปตท. ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

2. เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 สตง. ได้เสนอความเห็นของตนต่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ปตท. ยังคงส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้กระทรวงการคลังไม่ครบถ้วน เนื่องจากยังไม่ได้ส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลและบนบกบางส่วน

3. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2557 สตง. จึงได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอให้ตีความคำพิพากษาในคดีแปรรูป ปตท. ว่า ปตท. ได้ส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้กับกระทรวงการคลังครบถ้วนแล้วหรือไม่

4. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือไปถึง พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. แจ้งว่า ปตท. ยังส่งมอบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลและบนบกคืนให้แก่กระทรวงการคลังไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้รายงานต่อศาลปกครองสูงสุด โดยไม่ได้เสนอความเห็นของ สตง. ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 นั้น ส่งผลต่อการออกคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 26 ธันวาคม 2551 อย่างมีสาระสำคัญ (ในหนังสือของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้กล่าวว่า คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ได้กล่าวในทำนองที่ว่า คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดน่าจะบกพร่องเพราะได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน – ผู้เขียน)

5. เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนยืนยันว่า ปตท. ส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติคืนกระทรวงการคลังไม่ครบถ้วน แต่ปรากฏว่าการแถลงข่าวครั้งนี้ สตง. ถูกสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์ว่ากำลังก้าวล่วงหรือละเมิดคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

6. ดังนั้น เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2557 สตง. จึงได้เปิดการชี้แจงต่อสื่อมวลชนอีกเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งนี้มีประธานการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินร่วมกันชี้แจงยืนยันว่า ปตท. ส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติคืนกระทรวงการคลังไม่ครบถ้วน

คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557

ท่ามกลางกระแสถาโถมจากหน่วยงานต่างๆ ในที่สุดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลชั้นต้นก็ได้ออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ที่มาจากการอุทธรณ์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวกรวม 1,455 คน ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 สามารถสรุปได้ดังนี้

1. ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนยันตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง คือ ไม่รับคำฟ้องอุทธรณ์ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความ เนื่องจาก ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาในคดีแปรรูป ปตท. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
2. การที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวกรวม 1,455 คน ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ปตท. ส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งในทะเลและบนบก จึงเป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดในประเด็นที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่ต้องห้าม
3. สำหรับประเด็นข้อกล่าวอ้างที่ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 กำหนด (เรื่องที่ให้ สตง. รับรอง) ไม่ใช่เหตุที่จะกล่าวอ้างว่าการดำเนินการตามคำพิพากษายังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมาย

สรุป

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าจากคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ได้อ่านเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 นี้ จึงเป็นการวินิจฉัยที่ยุติประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องการส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ทั้งหมด โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ปตท. ได้ส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่กระทรวงการคลังครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้วตั้งแต่ปี 2551 การขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ ปตท. ส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมดอีกนั้น จึงเป็นการดำเนินคดีซ้ำ ศาลไม่อาจรับฟ้องไว้พิจารณาได้อีก

นอกจากนั้น ประเด็นที่กล่าวอ้างกันว่าคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 อาจจะไม่ถูกต้องเนื่องจากไม่ได้แนบความเห็นของ สตง. เข้าไปด้วยตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การแนบความเห็นของ สตง. ดังกล่าว ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นการกำหนดขึ้นเองจากคณะรัฐมนตรีเท่านั้น คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 จึงชอบด้วยกฎหมายทุกประการ

อนึ่ง ขอให้ท่านผู้อ่านสังเกตว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 คณะรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้มีมติรับทราบการดำเนินการเรื่องท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเรียบร้อยแล้ว โดยไม่ได้มีประเด็นโต้แย้งเรื่องความเห็นของ สตง. แต่อย่างใด